“ก็ซื้อราคาแค่นี้ จะให้พาเที่ยวแค่ไหน!”

วลีสุดจี๊ดให้ปวดตับ เมื่อเจอสวนกลับกับคำพูดนี้...

มาแรง เที่ยวญี่ปุ่น 5 วัน 4 คืน 9,875 บาท
โปรสุดฮอต เที่ยวเกาหลี 4 วัน 3 คืน 8,900 บาท
ของเราถูกกว่า 6,500 บาท ก็เที่ยวฮ่องกงได้ 4 วัน

ภาพที่เห็นกันจนชินตา ในยุคเที่ยวนอก ด้วยสายการบินราคาถูก ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันช่วยให้คนไทยเรา นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศกันมากขึ้น เพราะบางครั้งมันกลับมีราคาถูกกว่าการเดินทางไปพักผ่อนในบางจังหวัด ของสยามประเทศ ในระยะเวลาเท่าๆ กัน เสียอีก (เรื่องจริงที่สุดเหลือเชื่อ)

ฉะนั้น เมื่อมีคนนิยมเดินไปต่างประเทศมากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดาบริษัททัวร์ (จริง) จะแย่งกัน หั่นโปรโมชั่นมาล่อตาล่อใจ ด้วยราคาที่สุดแสนจะเหลือเชื่อ ในขณะที่ บรรดาพวก 18 มงกุฎ จอมหลอกลวงเอง ก็เห็นเป็นอีกช่องทาง เช่นเดียวกัน ที่จะทำทีเปิดทัวร์ (ปลอมๆ) มาหลอกชาวบ้านตาดำๆ ที่มีความฝัน อยากจะไปเที่ยวต่างประเทศสักครั้งหนึ่งในชีวิต

แต่สุดท้ายถูกลอยแพ กลางสนามบินสุวรรณภูมิ จนเป็นข่าวเกรียวกราวไป เมื่อเร็วๆ นี้

...

มีวิธีการอย่างไร ไม่ให้ตัวเองกลายเป็น เหยื่อ ทัวร์หลอกลวง หรือจะทำอย่างไรไม่ให้ตัวเองกลายเป็น เนื้อสมัน วิ่งเข้าชนปังตอ จนหลงเป็นเหยื่อ ทางการตลาดของบริษัททัวร์จริง (แต่ไม่จริงใจ) จนมานั่งโอดโอยภายหลังว่า เสียทั้งเงิน และเสียรู้ เพราะไปหลงเชื่อทัวร์ราคาถูกๆ

ไปเที่ยวเหมือนไม่ได้เที่ยว จนถูกเรียกขานกันว่า "ชะโงกทัวร์"

ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ

หากไม่อยาก ตกเป็นเหยื่อ สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ข้อที่ 1 ไปตรวจสอบบริษัททัวร์ ที่มาเสนอขายทัวร์ กับทางกระทรวงการท่องเที่ยวก่อนว่า มีใบอนุญาตประกอบกิจการทัวร์ ถูกต้องหรือไม่ หากมี ก็พอเบาใจได้ระดับหนึ่ง ว่า นอกจากบริษัททัวร์นั้น จะมีตัวตนอยู่จริงแล้ว หากเกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมา เช่น จู่ๆ บริษัทเกิดล้ม ไม่สามารถพาไปเที่ยว หรือคืนเงินให้กับลูกทัวร์ได้ ผู้เสียหายสามารถไปร้องกับกระทรวงการท่องเที่ยว เพื่อขอให้เอาเงินจากกองทุนตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ มาจ่ายชดเชยคืนได้

เพราะเงินจากกองทุนที่ว่านี้ ก็มาจาก บริษัททัวร์ ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการทัวร์ ต้องเจียดผลกำไรส่วนหนึ่ง ไปจ่ายให้กับ กองทุน ตามกฎหมาย อยู่แล้ว สรุปง่ายๆ คือ ซื้อทัวร์ จากบริษัทที่กฎหมายรับรอง ยังไงก็ปลอดภัยเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าไม่โดนหลอก หรือหากโดนหลอก ก็มีสิทธิได้เงินคืนสูง

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำในเบื้องต้นให้กับแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ได้รับรู้ ในประเด็นที่สำคัญที่สุด ของการสนทนาในวันนี้

ลำดับต่อไป ในสิ่งที่ต้องรู้ หากคิดจะตัดสินใจซื้อทัวร์ราคาถูก ก็คือ

...

ข้อที่ 2 ตรวจสอบเส้นทางการบิน จาก บริษัทสายการบิน ที่บริษัททัวร์เสนอ ว่ายังมีบินอยู่จริงหรือไม่? อีกหนึ่งวิธีการตรวจสอบที่สุดแสนง่าย เพียงคลิกไปดูตามเว็บไซต์ของสายการบินต่างๆ ก็จะพบข้อมูลแล้ว หากไม่มีเที่ยวบิน ที่ระบุไว้เวลามาเสนอขาย ก็ GAME OVER ทัวร์ที่ว่า ไม่มีจริงแน่นอน! และสำหรับประเด็นที่ควรพิจารณาอีกข้อก็คือ ราคาค่าตั๋ว หากมี “ราคาแพงกว่า” หรือ “พอๆ กับราคาทัวร์ที่นำเสนอขาย” ก็ควรจะพิจารณาได้แล้วว่า ไอ้ทัวร์ที่ว่านี้ บริษัททัวร์จะมาเสนอขายกับเรา ไปได้อย่างไร?

ข้อที่ 3 จงจำเอาไว้เลยว่า หลักการทางกฎหมาย วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค การโฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา แม้มิได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร ฉะนั้น รายละเอียดทั้งหมด คือ ส่วนหนึ่งของสัญญา แม้แต่คำพูดของเซลส์ขายสินค้า ก็คือ ส่วนหนึ่งของสัญญา หากทำไม่ได้ตามที่โฆษณาเอาไว้ ก็เท่ากับ เป็นการโฆษณาเกินจริง

ฉะนั้น ง่ายๆ เลย จงเก็บโบรชัวร์ ตารางการท่องเที่ยวในแต่ละวัน แผ่นป้ายโฆษณา ของบริษัททัวร์ที่เราสนใจเอาไว้ให้ดี หรือหากจะให้ดี ควรหาสักขีพยานจำนวนหนึ่งไปร่วมฟัง เวลาเซลส์บริษัททัวร์ มาเสนอขาย โปรแกรมท่องเที่ยวด้วย เพราะทั้งหมดที่ว่าไปนั้น คือ สัญญาที่บริษัทท่องเที่ยวมีกับเราในฐานะลูกทัวร์ โดยปริยายนั่นเอง

หากบริษัททัวร์ เกิดมีลูกเล่น บิดพลิ้วพยายามออกท่าที ไม่ยอมทำตามโปรแกรมที่โฆษณาเอาไว้ จะเท่ากับเป็นการทำผิดสัญญา ลูกทัวร์สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ นอกจากนี้ หากมีการรวมตัวไปร่วมฟ้องร้องกันจำนวนมากๆ ก็จะกลายเป็น "คดีฉ้อโกงประชาชน" ยอมความไม่ได้ ถึงขั้นติดคุกติดตะราง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

...

ข้อที่ 4 ต้องมีสติ อย่ารีบร้อนจ่ายเงิน ก่อนดูรายละเอียดตารางทัวร์ เพียงเพราะกลัวหมดโปรราคาถูกเด็ดขาด!

อย่างที่บอกไว้ในข้อที่แล้ว! โบรชัวร์โฆษณา หรือตารางการท่องเที่ยว ก็คือ ส่วนหนึ่งของสัญญา หากเรายังไม่จ่ายเงิน บริษัททัวร์จัดโปรแกรมท่องเที่ยว หรือที่พักมาไม่ถูกใจ เรายังสามารถขอให้เปลี่ยนแปลงได้ แต่กลับกัน หากเรารีบร้อนจ่ายเงินไป เพียงเพราะกลัวว่าจะหมดโปรโมชั่นราคาถูก โดยที่ยังไม่ได้เห็นโปรแกรมทัวร์ที่ทางบริษัทเซตเอาไว้ นั่นเท่ากับ เป็นการ ยอมรับข้อตกลงที่ทางบริษัทเสนอ หรือให้บริษัททัวร์จัดโปรแกรมได้ตามชอบใจ ซึ่งหากโปรแกรมทัวร์ไม่มีอะไรซุกซ่อนเอาไว้ ก็ถือว่าโชคดีไป แต่หากโชคไม่ดี ไปเจออะไรต่อมิอะไรที่ไม่พึงประสงค์เข้า ลูกทัวร์จะไม่สามารถ “ปฏิเสธ” ได้เลย

...

ข้อที่ 5 จงจำไว้ว่า หากพลาดท่าเสียที ร้องทุกข์ 1 ครั้ง ดีกว่าบ่น 1,000 ครั้ง

สำหรับประเด็นนี้ คุณนฤมล กล่าวกับทีมข่าวฯ ด้วยสีหน้าซีเรียสน้ำเสียงจริงจังว่า จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา เวลาเกิดปัญหาขึ้น ผู้บริโภคไทย มักจะชอบเอาแต่บ่นกันอย่างเวลาจะให้ไปเดินเรื่องเอาผิดใคร มักจะมีคำพูดในลักษณะที่ว่า กลัวจะเสียเวลา ทำไปก็คงไม่ได้อะไร หรือที่หนักๆเลย ก็คือ พวกคุณมีหน้าที่ทำ ก็ทำไปสิ!

คำถามสำหรับท่าทีในลักษณะนี้ก็คือ ถ้าคุณไม่รู้สึกเดือดร้อน คนที่เขาทำคุณเดือดร้อน เขาจะเดือดร้อนไหม? และที่สำคัญ ในเมื่อคุณไม่รักษาสิทธิของตัวเอง ใครเค้าจะมารักษาสิทธิให้คุณ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่สถิติการร้องเรียนให้ช่วยเอาผิด กรณีถูกหลอกทัวร์ราคาถูก จึงน้อยมาก

แต่กลับกัน หากลองเข้าไปดูตามเว็บบอร์ดที่มีการตั้งกระทู้ต่างๆ จะพบว่า มีคนเข้าไปบ่นกันเยอะมาก เสียจนแทบจะอ่านกันไม่ทัน จนกระทั่งสามารถเช็กรายชื่อบริษัททัวร์ที่มีปัญหา ก็ยังได้เลย...แต่เหตุใด จึงไม่ใช้ความพยายามขนาดนั้น เอาเรื่องเอาราวกับบริษัททัวร์ที่มีปัญหาอย่างจริงจัง จนไม่สามารถกลับมาหลอกลวงประชาชนเสียที

กระทุ้ง กระทรวงท่องเที่ยว เก็บสถิติร้องเรียน ขึ้นแบล็กลิสต์ ไม่ต่อใบอนุญาตบริษัททัวร์มีปัญหา

ขณะเดียวกัน ก็อยากฝากไปถึง กระทรวงการท่องเที่ยว ว่า ควรจะเริ่มทำระบบเก็บสถิติการร้องเรียน และไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการทัวร์ กับบริษัทที่มีปัญหาอย่างจริงจังได้แล้ว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อซ้ำซาก

นอกจากนี้ สิ่งที่ทางกระทรวงการท่องเที่ยว ควรเร่งตรวจสอบก็คือ ปัจจุบัน พบว่า บริษัททัวร์หลายแห่ง พยายามหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินเข้ากองทุน ตาม พระราชบัญญัติการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อลดต้นทุนของตัวเอง โดยการไปจ้าง Outsource มารับทัวร์ต่อไปอีกทีหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา Outsource เหล่านี้ ได้สร้างความเสียหายให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก และหนำซ้ำ เมื่อเวลาเกิดปัญหาขึ้น ผู้บริโภคก็ไม่สามารถไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากใครได้ รวมถึงจะไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย จากกองทุน ตามพระราชบัญญัติการท่องเที่ยวและมัคคุเทศก์อีกด้วย เพราะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการทัวร์ อย่างถูกต้อง หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอฝากผ่านทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ไปถึง กระทรวงการท่องเที่ยว

ต้องรู้ให้ทัน! 3 ลูกเล่นสุดแสบ ทัวร์ราคาถูก นิยมนำมาใช้หลอกล่อ

1. ตารางทัวร์ เข้าพักโรงแรมหรู...แต่ของจริง นอนโรงแรมจิ้งหรีด แถมกินข้าวราคาถูก

พักโรงแรม...ระดับ 3 ดาว หรือเทียบเท่า ข้อความนี้ใครคิดไปซื้อทัวร์ต่างประเทศต้องเจอแน่นอน กลเม็ดนี้ บรรดาพวกหลอกขายทัวร์ราคาถูกนิยมนำมาใช้มากที่สุด เพราะจะสามารถประหยัดต้นทุนในการใช้จ่ายได้ดีที่สุด เพราะไปเที่ยวยังไงๆ ราคาที่พักเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อประหยัดตรงจุดนี้ กำไรที่ได้น้อยก็จะได้มากขึ้น...

วิธีดัดหลัง เก็บโบรชัวร์ตารางทัวร์ ที่ระบุข้อความดังกล่าวเอาไว้เป็นหลักฐาน ถ่ายรูปตัวเองกับโรงแรมที่ทัวร์พาเข้าพักไว้เป็นหลักฐาน ตรวจสอบข้อมูล และราคาของโรงแรมที่ทัวร์นำมาเสนอขาย กับโรงแรมที่พาไปพักจริง ว่ามีราคาและระดับการให้บริการ อยู่ในระดับเดียวกันจริงหรือไม่

เพราะหากไม่ตรงกัน สามารถฟ้องร้อง หรือเรียกค่าเสียหาย ในส่วนต่างของค่าโรงแรมที่พักได้ เพราะถือว่า เข้าข่ายผิดสัญญา

2. ตารางทัวร์ เที่ยวลูกเดียว แต่ของจริง เชิญแวะฟังความรู้นิด ซื้อของที่นี่สิคะ ของเขาดีมากเลย เสียทั้งเวลาเที่ยว เสียทั้งเงิน

เดี๋ยวแวะลงตรงนี้ แป๊บนึงนะคะ ไปฟังสาระดีๆ มีประโยชน์กัน น้ำเสียงอันชวนระรื่นหูของบรรดาไกด์ ที่คนไปเที่ยวต่างประเทศอาจจะเคยได้ยิน แต่ไอ้สาระดีๆ มีประโยชน์ที่ว่า เมื่อคุณก้าวลงจากรถทัวร์ สิ่งที่คุณจะพบก็คือ การยัดเยียดเสนอขายสินค้าที่ราคาแพงเกินจริง แถมดีไม่ดีจะต้องนั่งทนฟังการล่อหลอกให้ซื้อสินค้าชิ้นหนึ่งชิ้นใด 1-2 ชั่วโมง! หรือหากยังไม่ยอมควักกระเป๋า การเสนอขายแบบบ้าเลือดนี้ อาจจะไม่ยอมจบลงง่ายๆ เสียด้วย โดยเฉพาะทัวร์ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศจีน

วิธีดัดหลัง เก็บโบรชัวร์ตารางทัวร์ เอาไว้เป็นหลักฐาน ตรวจสอบดูว่า ในตารางทัวร์ประจำวัน มีสถานที่ยัดเยียดขายสินค้าดังกล่าว ระบุอยู่ในตารางทัวร์ประจำหรือไม่ หากมี (กรณีผู้น้อยประสบการณ์ ไม่ทันสังเกตว่าทริปนี้ มีสถานที่ออกนอกลู่นอกทางแบบนี้) นั่นก็คงถือว่า เป็นเคราะห์ร้ายของคุณเข้าให้แล้ว เพราะบริษัททัวร์ จะอ้างได้ว่า ได้มีการระบุให้ลูกทัวร์ได้รับทราบล่วงหน้าแล้ว

แต่ไม่ต้องห่วง วิธีการแก้ไขก็คือ ให้จับเวลาเลยว่า ตามตารางทัวร์ระบุให้เราอยู่สถานที่นี้กี่ชั่วโมง หากเลยเวลาที่กำหนดไว้ สามารถสั่งให้ไกด์พาออกจากสถานที่ดังกล่าวได้ทันที

ส่วนกรณีที่จู่ๆ ถูกทัวร์อุ้มมาลง โดยไม่มีระบุไว้ในโปรแกรม เพราะบริษัทหวังได้เปอร์เซ็นต์จากร้านค้าเหล่านั้น สามารถปฏิเสธได้ทันที โดยนำโบรชัวร์ตารางทัวร์ มายืนยัน ว่าสถานที่นี้ไม่มีระบุไว้ในโปรแกรม

3. พาไปเที่ยวตามตารางทัวร์จริง แต่ของจริง ทำได้แค่ ถ่ายรูป ชะโงกหัวตัวยืดตัวยาว อยู่หน้าสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนอยากจะเข้าไปข้างในน่ะหรือ? ต้องจ่ายเงินเพิ่มเองนะ

กลเม็ดนี้ น่าจะทำให้บรรดาลูกทัวร์ (ผู้เสียรู้) เจ็บใจและเป็นเดือดเป็นแค้นกันมากที่สุดก็ว่าได้ เพราะเชื่อได้เลยว่า ไอ้ข้อความที่ระบุว่า หากจะเข้าไปสถานที่นั้นๆ ต้องเสียเงินเพิ่ม จะเป็นตัวอักษรที่เล็กแสนเล็ก ชนิดที่แทบสังเกตไม่เห็น หรือดีไม่ดี อาจจะไม่มีเอาเสียเลยด้วยซ้ำไป หรือหากคุณไปบ่นดังๆ ให้ไกด์ฟังในเรื่องนี้ อาจจะเจอตอกหน้ากลับมาให้เจ็บใจหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำไปว่า “ก็ทัวร์ราคาแค่นี้ จะไปเอาอะไรกันมากมาย”

วิธีดัดหลัง ก่อนซื้อทัวร์ ต้องมีสติ ซักถามตรวจสอบตารางทัวร์ กับทางบริษัทให้ชัดเจน เช่น หากบอกว่าพาไปดิสนีย์แลนด์ ตกลงจะพาไป แค่ถ่ายรูปด้านหน้าดิสนีย์แลนด์ หรือจะพาเข้าไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมข้างในด้วย เพื่อป้องกันเล่ห์เหลี่ยมของบริษัททัวร์ ที่มักจะใช้ยุทธวิธีพูดความจริงไม่ครบถ้วน และหากสามารถบันทึกเสียงการสนทนา ในช่วงเวลาที่มีการเสนอขายเอาไว้เป็นหลักฐานด้วย ก็จะเป็นการดี

สิ่งสำคัญ สำหรับผู้ที่จะตัดสินใจซื้อทัวร์ราคาถูก ต้องพึงระลึกเอาไว้ในใจเสมอก็คือ ยิ่งทัวร์ถูก บริษัททัวร์ก็จะยิ่งได้กำไรน้อย ฉะนั้น วิธีการที่จะช่วยทำให้บริษัทเหล่านั้นได้กำไรมากขึ้น ก็คือ ต้องพาลูกทัวร์ไปในสถานที่ที่เขาไม่ต้องจ่ายเงินเลย!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน