วิกฤติโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ จุดเริ่มจากตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร หลายพื้นที่ชื่อดังจังหวัดต่างๆ งดจัดกิจกรรม "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" การระบาดครั้งนี้คนไทยต้องร่วมมือกันอีกครั้งเพื่อสกัดกั้นเชื้อและป้องกันตัวเองตามสุขอนามัย ซึ่งเป็นเรื่องต้องให้ความสำคัญที่สุดในช่วงนี้แล้ว การดูแล “สุขภาพจิต” ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะบางคน “ถูกกักตัว” 14 วัน เนื่องจากเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือแม้ผลตรวจเป็น “ลบ” ไม่ติดเชื้อโควิด แต่จำเป็นต้องกักตัวเอง 14 วัน เหตุจากเชื้ออาจจะยังไม่ออกอาการ อันเป็นผลมาจากเชื้อไวรัสโควิดที่กำลังระบาดอยู่เป็นสายพันธุ์ GH ที่แม้จะยังไม่มีอาการก็สามารถแพร่เชื้อได้
การกักตัว 14 วันอยู่แต่คอนโดเล็กๆ 28 ตร.ม. ภายใต้สถานการณ์ที่กดดัน “จิตใจ” ย่อมได้รับผลกระทบไม่ใช่น้อย และปฏิเสธไม่ได้ว่า มีคนไทยอีกหลายคนรู้สึกเครียด กังวลใจที่ต้องระมัดระวังตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อไวรัส จนอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ เช่น โรควิตกกังวล, โรคซึมเศร้า, โรคนอนไม่หลับ ดังนั้นนอกจากระวังสุขภาพกาย เราอาจต้องปรับสุขภาพจิตตนเองให้แข็งแรงด้วยเช่นกัน จากคำแนะนำดีๆ ของ นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ รพ.ศรีธัญญา และโฆษกกรมสุขภาพจิต ที่จะมาชี้แนวทางในการดำเนินชีวิตไม่ให้เครียด เพื่อฝ่าด่านจากวิกฤติในครั้งนี้ไปได้อีกครั้ง
...
: ผุดแอปพลิเคชัน ช่วยคนไทยขจัดเครียด โควิดระบาดระลอกใหม่ :
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 นพ.อภิชาติ ให้ข้อมูลว่ามีคนโทรมาปรึกษามากขึ้น เพราะมีความเครียดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ตกงาน ขาดรายได้ เงินไม่พอใช้ บางคนก็กลัวว่าจะติดโควิด สูญเสียญาติ ซึ่งในภาพรวมสภาพจิตใจของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิดมี 3 ลักษณะ ดังนี้
1. คนกังวลน้อยเกินไป ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนอื่น เพราะไม่ปฏิบัติตามหลักแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
2. คนกังวลมากเกินไป จะมีอาการบ่งชี้ อาทิ นอนไม่หลับ ไม่กล้าออกไปไหนมาไหนตามปกติ กักตุนอาหาร
3. คนที่กังวลแบบพอดี ซึ่งปัจจุบันคนไทยจำนวนมากมีความเข้าใจถูกต้องในการดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะมีข้อมูลมากขึ้น ดูแลตัวเองดีขึ้น
เพื่อช่วยบรรเทาความเครียดเบื้องต้น กรมสุขภาพจิตได้ออกแอปพลิเคชัน Mental Health Check Up ให้ประชาชนสามารถประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตัวเองในระดับหนึ่ง และหากใครเครียดสูง ให้รีบปรึกษาจิตแพทย์ หรือโทรสายด่วนเพื่อขอรับคำปรึกษาได้ สำหรับผู้กักตัว 14 วัน ในช่วงอาทิตย์แรกอาจเกิดปัญหาความเครียดมากนัก แต่อาทิตย์ต่อมา ด้วยสภาพแวดล้อมเดิมๆ ทำให้รู้สึกจำเจก็อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ ห่อเหี่ยว
: 9 เทคนิค กักตัว 14 วัน ไม่ให้น่าเบื่อ :
นพ.อภิชาติ อธิบายว่า ความรู้สึกกังวลเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ในการเผชิญวิกฤติและความเครียดมีความสัมพันธ์กับการทำงานต่างๆ ของร่างกาย เมื่อเกิดความเครียด สมอง ต่อมหมวกไต จะหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา สิ่งเหล่านี้จะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติจากเดิมจนเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ
สิ่งที่จะตามมาจากความเครียด คือ
1. มีปัญหาสุขภาพกาย เช่น นอนไม่หลับ ปวดหัว ปวดบ่า ปวดไหล่ ท้องผูก ท้องเสีย
2. อาการของโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ อาจกำเริบแปรปรวนมากขึ้น
3. อารมณ์และความรู้สึกผิดปกติ เปลี่ยนแปลง แปรปรวน เช่น ท้อแท้ เบื่อไปหมดทุกสิ่งรอบตัว เฉยชา
ส่วนวิธีคลายเครียดเพื่อช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น ทำจิตใจให้สงบได้ด้วยตัวเองนั้นทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. สูดหายใจช้าๆ ลึกๆ จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและสบายใจขึ้น
2. เปลี่ยนโฟกัส หากิจกรรมสร้างสรรค์ทำ อย่าให้ว่างจนคิดมาก เช่น ทำอาหาร ออกกำลังกาย ทำความสะอาดบ้าน อ่านหนังสือ ดูทีวี
3. สั่งอาหารอร่อยๆ มารับประทานที่บ้านบ้างเพื่อลดความจำเจ
4. เชื่อมต่อกับคนอื่นผ่านโลกโซเชียล โทรคุยกัน หรือจะ Video Call ให้เห็นหน้ากันบ้าง และพยายามอย่าคุยกันเรื่อง Covid-19 ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หรือจะอวยพรปีใหม่ก็ทำได้
...
5. เรียนรู้สิ่งใหม่ทางโลกออนไลน์ เช่น ลงคอร์สเรียนออนไลน์ที่ชื่นชอบ ร้องเพลง ทำขนม
6. เมื่อรู้สึกลบต้องพยายามปรับให้เป็นบวก และให้กำลังใจตัวเองเสมอ เช่น ไม่ได้มีเราเพียงคนเดียวที่ถูกกักตัว 14 วัน คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้
7. ก่อนนอน คิดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำในวันรุ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความกระตือรือร้น ลดความจำเจ
8. กินอาหารน้อยๆ แต่กินบ่อย และกินหลากหลายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง หากกินมากทุกมื้อ เสี่ยงโรคอ้วนตามมาได้
9. จัดมุมต่างๆ ในห้องใหม่ เช่น เปลี่ยนชุดผ้าปูที่นอนทุก 3 วัน, ย้ายมุมโต๊ะทำงาน, จัดย้ายโซนโซฟาที่นั่งไปมุมอื่นๆ
ทุกปัญหามีทางออกเสมอ ขอเพียงมี "สติ" วิกฤติโควิดนี้ก็เช่นกัน คนไทยเคยรับมือมาแล้วก่อนสงกรานต์ ครั้งนี้เราก็จะผ่านกันไปได้ และปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง สุขกาย สบายใจ ผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันให้ได้ค่ะ.
: ข่าวน่าสนใจ :
...