โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (COVID-19) หรือ โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ในไทย จุดเริ่มต้นจาก “ตลาดกลางกุ้ง” จ.สมุทรสาคร คนไทยทั้งประเทศต้องป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด การ์ดอย่าตก เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์จีเอช (GH) ที่แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาติดเชื้อไปพันกว่าคนนั้น สามารถแพร่เชื้อได้แม้ไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นการมีสุขภาพแข็งแรงเพื่อรับมือสู้เชื้อไวรัสร้ายจึงเป็นสิ่งที่คนไทยต้องให้ความสำคัญมากที่สุด

นอกเหนือจาก “การออกกำลังกาย” สม่ำเสมอ นั่นคือ “การกินผัก” เพื่อให้ได้รับ “วิตามินซี” ซึ่งร่างกายไม่สามารถสังเคราะห์เองได้ เพื่อช่วยสร้างเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายให้เม็ดเลือดขาวขจัดเชื้อโรค ลดการระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ลดการจาม น้ำมูกไหล ในช่วงการระบาดโควิด-19 นี้

วันนี้เราจึงมีความรู้จาก นางวสุนธรี เสรีสุชาติ นักโภชนาการชำนาญการพิเศษ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย แนะ “พืช ผัก 4 ชนิด” ช่วยเสริมสร้างวิตามินซีในแต่ละวัยให้เหมาะสม ซึ่งเด็กควรได้รับวิตามินซี 25-40 มิลลิกรัม, วัยรุ่น 60-100 มิลลิกรัม, ผู้ใหญ่ 85-100 มิลลิกรัม ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 85 มิลลิกรัม ซึ่งวิตามินซีที่มีในพืชผัก ดังนี้

...

พริกหวานแดง และพริกหวานเขียว

มีชื่อภาษาอังกฤษ Capsicum หรือชื่อสามัญ Bell pepper ชื่อวิทยาศาสตร์ Capsicum annuum L. และยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ว่า  พริกยักษ์, พริกระฆัง, พริกตุ้มใหญ่ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและเจริญเติบโตได้ในดินที่มีสภาพอากาศอบอุ่น ในพริกหวานแดงและพริกหวานเขียวมีวิตามินซีสูงกว่าวิตามินซีในผลส้ม ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน หากรับประทานพริกหวานแดงปริมาณ 100 กรัม จะได้รับวิตามินซี 190 มิลลิกรัมส่วนพริกหวานเขียว มีปริมาณวิตามินซี 183.5 มิลลิกรัม

ผักคะน้า

มีชื่อสามัญ Kai-Lan (Gai-Lan), Chinese broccoli, Chinese kale จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด เป็นผักที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดปี แต่ช่วงเวลาเพาะปลูกที่ดีที่สุด เดือนตุลาคม-เมษายน ในบ้านเรามี 3 สายพันธุ์ที่นิยมปลูก คือ พันธุ์ใบกลม พันธุ์ใบแหลม พันธุ์ยอดหรือก้าน ผักคะน้าหาซื้อง่าย ราคาไม่แพง นำรับประทานได้ตั้งแต่ต้นยังเล็กจนออกดอก แต่เปลือก ลำต้น และใบจะมีความแข็งเพิ่มขึ้นตามอายุ คะน้า 100 กรัม มีปริมาณวิตามินซี 120 มิลลิกรัม 

บรอกโคลี

มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Brassica oleracea var. italica จัดอยู่ในตระกูลผักกาด (Cruciferae) นิยมนำส่วน “ดอก” มาบริโภค แต่น้อยคนจะรู้ว่าคุณค่าทางอาหารมีอยู่มากที่ “ลำต้น” พันธุ์บร็อคโคลี่ ที่นิยมปลูกในไทยมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เดซิกโก (De Cicco), พันธุ์ซากาต้า (Green Duke), พันธุ์กรีนโคเมท (Green Comet) และสายพันธุ์เจียไต๋หากกิน บรอกโคลี 100 กรัม จะได้รับปริมาณวิตามินซี 93.2 มิลลิกรัม

...

มะระขี้นก

มีชื่อสามัญ Bitter gourd ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantia L. จัดอยู่ในวงศ์แตง เป็นพืชไม้เถาเลื้อย ผลของมะระขี้นกจะมีผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่ม หากผลอ่อนจะสีเขียว แต่ถ้าผลแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ด้านปลายของผลจะแตก 3 แฉก มะระขี้นกมีรสขม หากกินมะระขี้นกในปริมาณ 100 กรัม จะได้รับวิตามินซี 116 มิลลิกรัม

แต่เพราะเจ้า “วิตามินซี” มักไม่ทนความร้อนจากการปรุงอาหารทำให้สลายได้ง่าย นางวสุนธรี แนะนำ ควรกินสด เช่น นำพริกหวานเขียว พริกหวานแดงใส่ในสลัด หรือกินสดแนมกับน้ำพริกต่างๆ กรณีหากนำมาต้ม หรือผัด ต้องไฟร้อนๆ และ ทำเร็วๆ คน 2-3 ที อย่าให้โดนความร้อนนาน แล้วกินทันที อย่าทิ้งค้างไว้

นี่คือข้อแนะนำดีๆ เพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากโควิด

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการกินเพื่อสุขภาพที่ดีและแข็งแรง ต้องไม่พลาดติดตามอ่านในครั้งหน้านะคะ

...

: ข่าวน่าสนใจ :