หลังมีข่าว "ตูน บอดี้สแลม" หรือ อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องร็อกชื่อดัง ป่วยกระดูกคอกดทับเส้นประสาท ทีมแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ที่ให้การรักษาระบุเกิดจาก “กระดูกคอเสื่อม” และตูนต้องรักษาอาการป่วยเป็นเวลาเกือบ 2 เดือน แฟนคลับและคนไทยทั้งประเทศรู้สึกห่วงใยและส่งกำลังใจมากมายผ่านโลกโซเชียลให้หายป่วยไวๆ 

“กระดูกคอเสื่อม” (Cervical Spondylosis) เกิดได้กับทุกคน แต่จะทำอย่างไรไม่ให้เสื่อมก่อนวัย นพ.ธเนศ อริยะวัตรกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ มีคำแนะนำดีๆ พร้อมแนะวิธีปฏิบัติตัวไม่ให้กล้ามเนื้อคอเสื่อมเร็วเกินไป

: สาเหตุกระดูกเสื่อม 5 ปัจจัยเสี่ยงทำร้ายตัวเองไม่รู้ตัว :

นพ.ธเนศ อริยะวัตรกุล ให้ข้อมูลว่า ภาวะกระดูกเสื่อมเกิดได้ทุกอาชีพ สาเหตุที่พบมากเกิดจากความเสื่อมของกระดูกท่ีถูกใช้งานในชีวิตประจำวันไปเรื่อยๆ ยาวนานตามอายุ พบได้ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป และพบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งกระดูกกดทับเส้นประสาท สามารถเกิดได้ทุกจุดตั้งแต่ฐานกะโหลก กระดูกคอจนถึงกระดูกก้นกบ รวมถึงส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อสะโพก ข้อศอก หรืออาชีพหมอนวดที่ต้องใช้แรงนวดจากมือ ทำให้กระดูกข้อมือเสื่อมได้ตามอายุการใช้งานที่มากในบริเวณข้อนั้นๆ

...

นอกจากนี้ ยังมีท่าทางและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันอื่นๆ ที่เราทำร้าย “คอ” ตัวเองไม่รู้ตัว ทั้งๆ ที่ “กระดูกคอ” มีหน้าที่สำคัญ ทำให้ศีรษะเคลื่อนไหวต่างๆ ตามที่เราต้องการ เช่น ก้ม เงย เอียง หันหน้าซ้ายหรือขวา และแบกรับน้ำหนักของศีรษะและคอรวมกันประมาณ 10% ของน้ำหนักตัวไว้ตลอดเวลาทีเดียว สิ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มความเสื่อมของกระดูกคอเร็วขึ้น นพ.ธเนศ ให้ข้อมูลเพิ่ม ดังนี้

1. ใช้คอมากๆ เช่น ใช้ภาษาคอ สะบัดคอ ขยับคอเร็วๆ กระแทกคอ หรือขยับคอบ่อยทั้งที่ไม่จำเป็น
2. ใช้คอผิดวิธี อยู่ในท่าผิดปกตินานๆ เช่น นอนคว่ำอ่านหนังสือ
3. ขยับคอซ้ำในท่าเดิมๆ
4. ก้มคอกดดู เล่นโทรศัพท์นานเกิน 15 นาที ในทางทฤษฎีหากอยู่ในท่าก้มคอจะทำให้สรีระกระดูกคอไม่อยู่ในตำแหน่งที่ควรจะเป็น ทำให้กระดูกคอรับภาระน้ำหนักเพิ่มขึ้น
5. สูบบุหรี่

: 7 วิธีปฏิบัติตัว ป้องกันกระดูกคอเสื่อมเร็วเกินไป :

สัญญาณเตือนว่ากระดูกคอเริ่มเสื่อม จะเริ่มต้นด้วยการปวดคอ คอแข็ง มักปวดหลังคอบริเวณ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง อาจปวดร้าวขึ้นไปถึงท้ายทอย หรือ ลงมาบริเวณสะบัก และปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือออกแรง หากปล่อยให้ปวดเรื้อรังต่อไปจนเกิด “กระดูกงอก” หรือ “หินปูนเกาะ” จนกดทับเส้นประสาท จะทำให้ปวดร้าวตามแขนจนถึงนิ้วมือ เกิดอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ลุกลามจนกระทั่งเดินไม่ได้เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นหากมีอาการเข้าข่ายควรรีบพบแพทย์ โดยแพทย์จะเริ่มรักษาด้วยยาร่วมกับกายภาพบำบัด หากไม่ได้ผล จะให้การรักษาโดยวิธีผ่าตัดต่อไป และต้องใช้เวลารักษาฟื้นฟูหลายเดือน หรือนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยด้วย

แล้วเราจะมีวิธีป้องกันตัวเองเพื่อชะลอการเสื่อมของกระดูกคอ หรือไม่ให้เสื่อมเร็วเกินไปนั้นต้องปฏิบัติตัวเช่นไร นพ.ธเนศ บอกวิธีดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และการรับควันบุหรี่มือสองจากผู้อื่น
2. หลีกเลี่ยงการบิดหมุนคอ โยกคอ สะบัดคอบ่อยๆ โดยไม่จำเป็น
3. นั่งทำกิจวัตรต่างๆ ไม่ว่าจะทำงาน อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ควรให้คออยู่ในลักษณะตรงปกติ อย่าก้มคอมากเกินไป
4. หลีกเลี่ยงการทำงานโดยแหงนคอเป็นเวลานานๆ บ่อยๆ

...


5. การนอนพักผ่อน หรือนอนหลับควรใช้หมอนหนุนศีรษะที่มีส่วนรองรับใต้คอให้กระดูกคออยู่ในลักษณะปกติ
6. มนุษย์ที่ชอบก้มหน้าดูโทรศัพท์อย่าก้มนานเกิน 15 นาที
7. บริหารกล้ามเนื้อคอให้ยืดหยุ่นและแข็งแรงสม่ำเสมอ การทำให้กล้ามเนื้อคอยืดหยุ่น ให้ใช้มือนึงจับท้ายทอย อีกมือจับศีรษะแล้วค่อยๆ กดศีรษะลงมาเรื่อยๆ จนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง กดค้างไว้และนับ 1-10 แล้วคลาย ทำวิธีนี้ให้ครบทั้ง 4 ด้านของคอ ส่วนการทำกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง ใช้มือจับท้ายทอย อีกมือจับศีรษะโยกหัวไปด้านหลัง

ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยทีเดียวกับอาการแค่ "ปวดคอ" เพราะฉะนั้นอย่าละเลยสุขภาพตัวเองนะคะ หากมีความผิดปกติเล็กๆ น้อยๆ รีบไปพบแพทย์ เป็นอีกวิธีป้องกันที่ดีที่สุดเช่นกันค่ะ

: ข่าวน่าสนใจ :

...