ฤดูหนาวมาเยือน อุณหภูมิลด การได้สัมผัสอากาศเย็นๆ หลายคนคงดีใจโดยเฉพาะหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน แต่น้อยคนจะรู้ว่าอากาศเย็นในช่วงหน้าหนาวนั้น อาจทำให้ “ผู้สูงอายุ” ต้องทุกข์ทรมานกับโรคในหน้าหนาวจากร่างกายเสื่อมถอยตามอายุ
นอกจากโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป เช่น ไข้หวัด ที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวแล้ว มีอีก “ภัยเงียบ” มักเกิดกับผู้สูงอายุ คือ โรคเกี่ยวกับกระดูกและข้อ แต่โรคเหล่านี้มีวิธีป้องกันและดูแลไม่ให้อาการปวดกำเริบในช่วงหน้าหนาวได้ เรามาฟังคำแนะนำจาก อ.นพ.ธเนศ อริยะวัตรกุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ มาฝากกันค่ะ
: สาเหตุผู้สูงอายุ ปวดข้อเข่าในฤดูหนาว :
โรคข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of knee) เป็นโรคพบบ่อยในผู้สูงอายุอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นๆ ไปอีก เพราะในปี 64 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว
...
สาเหตุที่ในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศหนาวเย็น มักพบผู้สูงอายุส่วนใหญ่ปวดข้อเข่า บางคนปวดกำเริบมาก อ.นพ.ธเนศ อธิบายว่า เกิดจาก ผู้สูงอายุเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกและข้ออยู่แล้ว เมื่อเข้าฤดูหนาว อากาศเย็นกระตุ้นให้ปวดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเกิดจากการเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อตามวัย โดยอายุ 40 ปี เร่ิมมีข้อเสื่อม พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ได้แก่
1. น้ำหนักตัวมากเกิน ทุกๆ 0.5 กิโลกรัมที่น้ำหนักตัวเพิ่ม จะเพิ่มแรงที่ข้อเข่า 1-1.5 กิโลกรัม ขณะเดียวกันเซลล์ไขมันที่มากเกินไปจะมีผลต่อเซลล์กระดูกอ่อนและเซลล์กระดูก ส่งผลให้ข้อเสื่อมเร็วขึ้น
2. การใช้งาน ท่าทาง รวมถึงกิจกรรมที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น นั่งคุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ขึ้นลงบันไดบ่อยๆ
3. กรรมพันธุ์
: 6 อาการปวดข้อเข่าในฤดูหนาว :
หากคุณเข้าข่ายข้อใดข้อหนึ่งตามที่กล่าวไว้ข้างต้น นั่นแปลว่าคุณอาจเริ่มเป็นข้อเข่าเสื่อม ซึ่งระยะของโรคข้อเข่าเสื่อมแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ทำงานทุกอย่างได้ตามปกติ ระยะที่ 2 ทำงานหนักไม่ได้ ระยะที่ 3 ทำกิจวัตรประจำวันได้ ระยะที่ 4 เดินไม่ไหว เพราะฉะนั้นต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองตามคำแนะนำของ อ.นพ.ธเนศ ดังนี้
1. ปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเดิน ขึ้นลงบันได นั่งพับเข่า อาการดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ข้อ
2. มีอาการข้อฝืดขัดเมื่อหยุดเคลื่อนไหวนาน หากขยับข้อจะรู้สึกถึงการเสียดสีของกระดูก หรือมีเสียงดังในข้อ
3. เมื่อมีภาวะข้อเสื่อมรุนแรง จะปวดเข่ารุนแรงมากขึ้นในเวลากลางคืน อาจมีกระดูกงอกข้างข้อ
4. หากข้อเข่าอักเสบ ข้อจะบวม ร้อน
5. หากปล่อยให้ข้อเข่าเสื่อมนาน จะไม่สามารถเหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่สุด
6. มีความผิดปกติบริเวณกล้ามเนื้อต้นขาลีบ ข้อเข่าโก่ง หลวม หรือบิดเบี้ยวผิดรูป จนเดินและใช้ชีวิตลำบาก และมีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับ
: วิธีรักษาข้อเข่าเสื่อม โรคไม่มีวันหายขาด :
โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคไม่สามารถรักษาให้หายขาด การรักษาขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ร่วมกับอาการของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นหากรู้สึกผิดปกติกับข้อเข่าควรพบหมอเร็วที่สุดโอกาสรักษาด้วยยา หรือผ่าตัดก็มีน้อย สำหรับการรักษาโดยไม่ใช้ยาเพื่อลดอาการปวด ลดการอักเสบของข้อ ประคับประคองลดแรงกดที่ข้อเข่า และทำให้กล้ามเนื้อต้นขาแข็งแรงขึ้นจากร่างกายที่ค่อยๆ ซ่อมแซมส่วนของข้อ หมอจะให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ ดังนี้ เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ข้อ การควบคุมน้ำหนักตัว การบริหารกล้ามเนื้อและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ รวมถึงพิจารณาการใช้อุปกรณ์เครื่องช่วย
...
: 9 วิธีถนอมข้อเข่า เมื่อเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม :
หลักการดูแลตนเอง หรือผู้สูงอายุในช่วงหน้าหนาวเพื่อป้องกันมิให้ข้อเข่าเสื่อมมากขึ้น และยืดอายุการใช้งานของข้อให้ยาวนานที่สุดได้อย่างไรนั้น อ.นพ.ธเนศ ให้ความรู้เพื่อให้ลูกนำไปปฏิบัติกับพ่อแม่ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ที่นอกจากดูแลร่างกายพ่อแม่ให้อบอุ่นแล้ว ต้องพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้ปวดบริเวณข้อและกระดูกดังนี้
1. นั่งบนเก้าอี้ ควรมีที่รองแขนเพื่อช่วย ในการพยุงตัวลุกขึ้นยืนได้สะดวก
2. ไม่ควรนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ หรือนั่งราบบนพื้น จะทำให้ผิวข้อเข่าเสียดสีกันมากขึ้น ข้อเข่าเกิดความเสื่อมเร็วขึ้น
3. หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนนิ่งๆ นานๆ เพราะข้อเข่าอยู่ในท่าเดียวทำให้กระดูกอ่อนขาดสารอาหารและออกซิเจน
4. นอนบนเตียงสูงระดับเข่า ไม่นอนราบกับพื้น เพราะระหว่างล้มตัวนอนหรือลุกขื้นยืน ต้องใช้แรงจากข้อเข่าในการเปลี่ยนท่าทางสูง
5. ให้พ่อแม่พักอาศัยชั้นล่าง ขึ้นลงบันไดน้อยเที่ยวที่สุด และจับราวบันได เพื่อไม่ให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมาก
6. เลี่ยงการเดินขึ้นลงที่ลาดชันจะมีแรงกดที่ข้อเข่ามากกว่าการขึ้นลงบันได
7. การปลดทุกข์ ควรใช้ชักโครก และมีที่จับด้านข้างที่นั่งชักโครกเพื่อช่วยพยุงตัวขึ้นยืน ได้สะดวก ถ้าเป็นห้องส้วมซึม หรือส้วมนั่งยอง ควรใช้เก้าอี้นั่งมีรูตรงกลาง หรืออุปกรณ์ 3 ขาวางคร่อมบนส้วมซึมแทน
8. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สมส่วน ผู้มีน้ำหนักเกินควรลดน้ำหนัก หรือควบคุมไม่ให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มาก จะเพิ่มแรงกด หรือกระแทกบนข้อต่อในทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหว
9. บริหารร่างกายเบาๆ เพื่อทำให้ข้อแข็งแรง ผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่า น้ำหนักตัวมากควรออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดเนื่องจากน้ำช่วยพยุงตัว ทำให้ข้อเข่ารับน้ำหนักน้อยลง เช่น แอโรบิกในน้ำ
...
: 9 ข้อปฏิบัติการกินอาหาร เสริมสร้างความแข็งแรงข้อเข่า :
สิ่งสำคัญที่ทำให้ข้อเข่าแข็งแรง "อาหาร" มีส่วนอย่างมาก ซึ่งอาหารที่ควรกิน ไม่ควรกิน อ.นพ.ธเนศ แนะนำสุขอนามัยที่ดี หลังพักผ่อนให้เพียงพอ ไว้ดังนี้
1. กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลาย กินแต่พออิ่ม อย่ากินมากเกินส่งผลทำให้อ้วนได้
2. กินข้าวเป็นอาหารหลัก เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ สลับกับอาหารประเภทแป้งเป็นบางมื้อ
3. กินพืชผัก และผลไม้เป็นประจำ
4. กินอาหารที่ช่วยบำรุงข้อ ได้แก่ อาหารจำพวกธัญพืช เมล็ดถั่ว งา ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย
5. กินปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ เต้าหู้ และอาหารที่มีไขมันแต่พอควร
6. ดื่มน้ำให้มากวันละ 8 แก้ว เพราะกระดูกอ่อนตามข้อต่างๆ มีน้ำเป็นส่วนประกอบสูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการหล่อลื่น และรับแรงกระแทกข้อ
7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารรสหวานจัด เค็มจัด
8. งด หรือลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
9. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทหน่อไม้ เครื่องในสัตว์ อาหารหมักดองᅠᅠ
...
โอว... “โรคข้อเข่าเสื่อม” ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ กันเลยนะเนี่ย อย่าชะล่าใจเด็ดขาดว่า ปวดเข่านิดปวดหน่อยไม่เป็นไรหรอกน่า เดี๋ยวก็หาย เพราะในอนาคตอาจส่งผลให้เกิด “โรครูมาตอยด์” หรือ “โรคไขข้ออักเสบเรื้อรัง” ได้ ไม่คุ้มค่าจะเสี่ยงเป็นโรคแล้วค่อยมารักษาทีหลัง ระวังและป้องกันไว้ก่อนเป็นวิธีดีที่สุดค่ะ
: ข่าวน่าสนใจ :