ทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับ “โรคเกาต์” (Gout) โรคที่พบบ่อยในคนไทย หลายคนเข้าใจว่าการกิน “สัตว์ปีก” เช่น เป็ด ไก่ ทำให้เป็นโรคเกาต์นั้น ในความเป็นจริง สาเหตุของโรคเกาต์ไม่ใช่เพราะสัตว์ปีก ทว่าเกิดจากร่างกายของเราเอง รวมถึงพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ชอบดื่มน้ำหวาน คนอ้วน ยิ่งใกล้ช่วงฉลองปีใหม่ ผู้ชอบดื่มเหล้าเบียร์ยิ่งมีความเสี่ยงสูงทำให้อาการกำเริบได้
ทางที่ดีเรามาดูแลตัวเองให้ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่เนิ่นๆ ไว้ดีกว่า เพราะโรคเกาต์หากเกิดป่วยขึ้นมาแล้ว จะทุกข์ทรมานอย่างมากจากอาการปวดข้ออย่างรุนแรง ปวดมากกว่าการคลอดลูก แม้การปวดเพราะโรคมะเร็งยังชิดซ้าย จนได้ฉายาว่า “King of pain” เลยทีเดียว หากไม่ป้องกันหรือรักษายังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อันตรายได้
: สาเหตุโรคเกาต์ ไม่ใช่เพราะกินสัตว์ปีก เป็ด ไก่ ยอดผัก :
รองศาสตราจารย์ นพ.ชยวี เมืองจันทร์ สาขาวิชาโรคข้อและรูมาติซั่ม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้โรคเกาต์กับทีมข่าวฯ ว่า โดยส่วนมากคนมักเข้าใจและโทษว่า โรคเกาต์เกิดจากการกินอาหาร เช่น สัตว์ปีก เป็ด ไก่ ยอดผัก ในความเป็นจริงไม่ได้เกิดจากอาหารเหล่านั้น แต่สาเหตุเกิดจากกรดยูริค (uric acid) ในเลือดสูงกว่าปกติ
...
“กรดยูริค” จะมีอยู่ในร่างกายของทุกคน สร้างมาเองเพื่อต่อต้านสารอนุมูลอิสระ โดยระดับกรดยูริคในเลือดที่ดี ผู้ชายควรมีกรดยูริคในเลือดน้อยกว่า 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนผู้หญิง ควรมีกรดยูริคในเลือดน้อยกว่า 6 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
เพื่อความสมดุลของร่างกาย กรดยูริคร่างกายสร้างมาก็ต้องขับออก 2 ทาง คือ ทางปัสสาวะโดยผ่านการกรองของไต 70% และทางอุจจาระโดยผ่านลำไส้ 30% แต่เมื่อไตไม่สามารถขับกรดยูริคได้ตามปกติ อันเนื่องจากไตเสื่อมสมรรถภาพ ทำให้กรดยูริค (uric acid) สะสมในเลือดสูงเกิน 6.8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ทำให้ตกตะกอนเป็นผลึกรูปเข็มไปอยู่ในเนื้อเยื่อร่างกายที่เย็น เช่น ข้อต่อ กระดูก เนื้อไต หรือในทางเดินปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการของโรคต่างๆ
หากเกิดตามข้อจะทำให้เกิดอาการอักเสบ ปวดแสบร้อน บวมแดง ตำแหน่งที่พบบ่อยต่ำกว่าตาตุ่มคือ ข้อนิ้วหัวแม่เท้า เพราะอุณหภูมิต่ำกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ในคนที่เป็นเกาต์เรื้อรัง อาจพบอาการอักเสบเป็นได้หลายข้อจนเป็นปุ่มโปนและแตกเป็นแผลเรื้อรังได้ และหากไม่ได้รับการรักษา ปล่อยให้ป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน อาการปวดจะไล่สูงไปเรื่อยๆ จาก นิ้วเท้า ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อศอก เมื่ออาการกำเริบหนักข้อจะอักเสบบวมแดง ร้อน และปวดมากจนไม่สามารถเดินลงน้ำหนักได้ บางครั้งต้องคลานแทนเดิน
: 6 อาหารควรเลี่ยง ผู้ป่วยโรคเกาต์ :
โรคเกาต์พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง พบได้ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป และพบมากสุดอายุ 50-70 ปี เนื่องจากผู้ชายมีระดับของกรดยูริคในเลือดสูงกว่าผู้หญิง เพราะฮอร์โมนเพศหญิงที่มีในผู้ชายจะเพิ่มการกำจัดกรดยูริคออกทางไต ส่วนผู้หญิงที่หมดประจำเดือน เข้าวัยทอง และไม่ได้กินฮอร์โมนเสริม เวลาผ่านไปประมาณ 10 ปี ก็จะสามารถเป็นโรคเกาต์ได้เช่นกัน
นอกจากกรดยูริคในเลือดสูงจากการสลาย DNA ในร่างกาย 70% จนทำให้เกิดโรคเกาต์แล้ว สาเหตุที่กรดยูริคในเลือดสูงยังเกิดจากอาหารที่รับประทานเข้าไปอีก 30% ด้วย ซึ่งเป็นความจริงที่แทบไม่มีคนรู้ และไม่เคยระวัง โดยรองศาสตราจารย์ นพ.ชยวี แนะนำการปฏิบัติตัวและอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้ยูริคในเลือดสูง ดังนี้
1. ไม่ดื่มน้ำตาลผลไม้ (น้ำตาลฟรุคโตส) น้ำหวานในเครื่องดื่มต่างๆ เช่น ชานมไข่มุก กาแฟ เกินกว่า 50 กรัมต่อวัน
2. ไม่ดื่มน้ำผลไม้กล่อง น้ำอัดลม เกินวันละหนึ่งแก้วเป็นประจำทุกวัน
3. หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ “เบียร์” เป็นประจำทุกวัน นอกจากส่งผลให้กรดยูริคในเลือดสูง ยังลดการขับกรดยูริคออกจากร่างกาย
4. ห้ามดื่มเหล้า พร้อมน้ำผลไม้ หรือเนื้อสัตว์จำนวนมากๆ
5. ไม่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากเกินไป โดยเฉพาะเครื่องในสัตว์ รวมถึงเนื้อสัตว์ติดมัน และนมวัว เพราะเป็นอาหารที่มีความเป็นกรดสูง ทำให้ไตต้องทำงานหนักในการกำจัดกรดและทำให้กรดยูริกตกตะกอน
6. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เช่น ของทอด อาหารผัดใส่น้ำมันมากๆ เนื่องจากอาหารไขมันสูงทำให้การขับกรดยูริคลดลง
...
: ไม่เลี่ยงสัตว์ปีก ยอดผัก อาหารกินได้ ของผู้ป่วยโรคเกาต์ :
สำหรับหลายคนที่เข้าใจว่าคนป่วยโรคเกาต์ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ยอดผักนั้น รองศาสตราจารย์ นพ.ชยวี สามารถกินได้ แต่กินในปริมาณพอเหมาะพอควร รวมถึงอาหารทะเลก็กินได้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เช่น ปลากะพงแดง ปลาหมึก ปู เนื้อหมู เนื้อวัว ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ใบขี้เหล็ก ดอกกะหล่ำ ผักโขม สะตอ หน่อไม้ ข้าวโอ๊ต
อาหารที่ควรกินทุกวัน ได้แก่ ผักและผลไม้ ปลาน้ำจืด นม ไข่ ข้าว ขนมปัง ธัญพืช นอกจากนี้ยังมีอาหารอื่นๆ ที่กินได้ในผู้ป่วยโรคเกาต์ ดังนี้
1. เลือกรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อป้องกันการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงาน
2. ดื่มน้ำมากๆ วันละ 2 ลิตร หรือวันละ 8 แก้ว เพื่อช่วยขับกรดยูริกออกทางไต
3. คนที่มีภาวะกรดยูริคในเลือดสูง ควรรับประทานโซเดียม ไบคาร์โบเนต หรือโซดามิ้นต์เสริมทุกวันหลังอาหารทุกมื้อ เพื่อป้องกันการตกตะกอนของกรดยูริค
4. ทานผลไม้ลดเปรี้ยว แต่อย่าใส่น้ำตาล เพื่อเพิ่มวิตามินซี อย่าใส่น้ำตาล ดื่มนมพร่องมันเนย
...
5. เลือกปรุงอาหารด้วยวิธีนึ่ง ตุ๋น ต้ม ย่าง หรือผัดที่ใช้น้ำมันน้อย เพื่อลดการรับประทานไขมันสูงจากอาหาร
: 2 วิธีรักษาโรคเกาต์ หายเร็วได้อยู่ที่ตัวเรากำหนด :
หากป่วยเป็นโรคเกาต์รักษาหายขาดหรือไม่ จะกลับมาป่วยอีกหรือเปล่า สำหรับข้อสงสัยนี้ รองศาสตราจารย์ นพ.ชยวี ให้คำตอบ มีโอกาสหายขาดจากโรคเกาต์ หากรักษาและดูแลตัวเองได้ดี ในผู้ป่วยบางรายหายได้ภายใน 6 เดือน เพราะดูแลตัวเอง โดยออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่าให้เป็นโรคอ้วน เพราะมีความสัมพันธ์กับภาวะกรดยูริคสูงในเลือด
การรักษาเกาต์ที่ถูกวิธี คือ การควบคุมระดับของกรดยูริคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ ไม่ใช้ยา โดยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอาหารและเครื่องดื่ม ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการรักษาโดยการใช้ยาร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการรักษาโรคเกาต์จะคล้ายกับการรักษาโรคความดันโลหิตสูง โดยให้ยาลดการอักเสบแก้ปวด และเมื่ออาการปวดทุเลาจะมีการสั่งยาลดการสร้างกรดยูริค เพื่อควบคุมระดับของกรดยูริคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้อาการหายป่วยจากโรคเกาต์จะรวดเร็วเพียงใด รองศาสตราจารย์ นพ.ชยวี เน้นย้ำเป็นหน้าที่สำคัญของผู้ป่วย นอกจากปรับพฤติกรรมตามที่แนะนำดังกล่าวแล้ว ควรพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้ระดับยูริคในเลือดสูงอยู่เป็นเวลานาน จะเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคร้ายนานาชนิด เช่น ความดันโลหิต สูง นิ่วในไต เบาหวาน รวมทั้งโรคไตเรื้อรัง
ได้รู้จักกับ "โรคเกาต์" แล้ว ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยทีเดียว เพราะฉะนั้นผู้ที่ป่วยอยู่หรือผู้ที่ยังไม่เป็น ควรปฏิบัติตามคำแนะนำ รองศาสตราจารย์ นพ.ชยวี อ้อ... อีกคำชี้แนะสำคัญในผู้ที่ยังไม่ป่วย โรคเกาต์ ควรตรวจเลือดดูระดับของกรดยูริคในเลือดเป็นประจำทุกปี เป็นอีกวิธีป้องกันให้ปลอดภัยจากโรคเกาต์
...
: ข่าวน่าสนใจ :