• แค่เดือนตุลาคมเพียงเดือนเดียว ชาวญี่ปุ่นทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตสูงถึง 2,153 ราย เพิ่มขึ้น 39.9%
  • อัตราส่วนของผู้หญิงที่ตัดสินใจทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่า 82.6% ขณะที่ผู้ชายเพิ่ม 21.3%
  • อัตราการว่างงานในญี่ปุ่นแค่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา พุ่งสูงขึ้น 3.1% ถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี

ตัวเลขชาวญี่ปุ่นที่ตัดสินใจ "ทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต" ในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว "สูงกว่า" จำนวนผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดเมื่อช่วงต้นปีจนถึงเดือนตุลาคมแล้ว

โดยข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า จำนวนชาวญี่ปุ่นที่ตัดสินใจทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียวสูงถึง 2,153 ราย ในขณะที่ จำนวนรวมของผู้เสียชีวิตจากโรค Covid-19 จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนตุลาคมอยู่ที่ 2,087 ราย

โดยตัวเลข 2,153 รายนี้ ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นถึง 39.9% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สถิติผู้ทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตในประเทศญี่ปุ่นเริ่มลดลงเรื่อยๆ แม้กระทั่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ แต่แล้วเมื่อเข้าสู่เดือนกรกฎาคมทุกอย่างก็เริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมากว่า น่าจะเกิดจากมุมมองด้านบวกของแคมเปญ "We’re all in this together" เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด Covid-19 เริ่มเหือดแห้งไป ไม่ต่างอะไรจากเงินอุดหนุนสาธารณะเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายของรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวนกว่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่หมดลงไปด้วยเช่นกัน

...

"เราแทบไม่ได้ใช้มาตรการ Lockdown และผลกระทบจากโรค Covid-19 ก็ถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับประเทศอื่นๆ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ จำนวนประชาชนที่ตัดสินใจทำร้ายตัวเองกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นั่นแสดงว่า เราอาจเห็นจำนวนผู้ตัดสินใจทำร้ายตัวเองในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ในระดับที่วิกฤติกว่าญี่ปุ่น มีตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน"

มิจิโกะ อูเอดะ (Michiko Ueda) รองศาสตราจารย์ จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ออกมาให้คำเตือนถึงเรื่องผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งนอกจากจะนำมาซึ่งการสูญเสียของผู้คนจำนวนมากแล้ว ยังทำให้เกิดภาวะการว่างงานและวิกฤติด้านสุขภาพจิตของผู้คนทั่วโลกอย่างแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนด้วย

ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการทำร้ายตัวเองสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยตามรายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เมื่อปี 2016 ระบุว่า ญี่ปุ่นมีอัตราการทำร้ายตัวเองเฉลี่ย 18.5 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงเกือบ 2 เท่า หากนำไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลก ซึ่งอยู่ที่ 10.6 คนต่อประชากร 100,000 คน

โดยประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาในเรื่องนี้อย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่เกิดวิกฤติทางการเงินในยุค 90 จนส่งผลให้มีผู้คนตกงานเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2003 มีชาวญี่ปุ่นตัดสินใจจบชีวิตตัวเองสูงถึง 34,000 ราย ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์

โดยปัจจัยหลักที่เป็นสาเหตุการทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตของชาวญี่ปุ่น คือ 1. การทำงานหนักเกินชั่วโมงการทำงาน, 2. แรงกดทับและความรุนแรงในโรงเรียน, 3. การแยกตัวออกจากสังคม, 4. ความอัปยศจากการถูกขนบทางสังคมตราหน้า, 5. ปัญหาสุขภาพ

ทำให้ตั้งแต่ต้นยุค 2000 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องพยายามหาทางแก้ไข ทั้งในแง่การทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว หรือแม้กระทั่งการออกกฎหมายป้องกันการฆ่าตัวตายในปี 2006

ด้วยเหตุนี้ หากนับตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2019 เป็นต้นมา จำนวนผู้ตัดสินใจทำร้ายตัวเองในเมืองปลาดิบเริ่มลดลงเรื่อยๆ โดยเมื่อปีที่ผ่านมาลดลงเหลือเพียง 20,169 ราย ตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดของประเทศนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำตัวเลขของทางการเมื่อปี 1978 เป็นต้นมา

...

แต่หลังจากมีการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป อัตราการทำร้ายตัวเองกลับมาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่ดูเหมือนว่าจะมีตัวเลขสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะแม้ว่าจำนวนรวมของผู้หญิงที่ตัดสินใจทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิต (851 ราย) จะยังคงน้อยกว่าผู้ชายชาวญี่ปุ่นที่ตัดสินใจแบบเดียวกัน (1,302 ราย) แต่สิ่งที่น่าวิตกกังวลคือ หากนำตัวเลขดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับเมื่อปีที่ผ่านมา อัตราส่วนของผู้หญิงที่ตัดสินใจทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 82.6% ในขณะที่ ตัวเลขของฝ่ายชายจะเพิ่มสูงขึ้น 21.3% โดยกรุงโตเกียวกลายเป็นเมืองที่มีจำนวนผู้ตัดสินใจทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตมากที่สุดถึง 851 ราย

โดยสาเหตุสำคัญที่ผลักให้อัตราส่วนของผู้หญิงชาวญี่ปุ่นตัดสินใจทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นจนน่าวิตกนี้ เกิดจากธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ซึ่งมีส่วนสัดการจ้างงานผู้หญิงเป็นลูกจ้างพาร์ตไทม์มากที่สุดได้ตัดสินใจปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรค Covid-19

...

ตามรายงานของ CARE INTERNATIONAL องค์กรความช่วยเหลือระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร เปิดเผยว่า จากการศึกษาจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 10,000 คนทั่วโลก พบว่า ผู้หญิงถึง 27% มีปัญหาด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดโรค เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายชายที่พบปัญหาดังกล่าวเพียง 10%

และเมื่อความอ่อนไหวดังกล่าวยังถูกมาสุมทับด้วยความวิตกกังวลเรื่องรายได้ ที่ผู้หญิงญี่ปุ่นมักจะไม่ค่อยได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมในที่ทำงาน หนำซ้ำเมื่อกลับบ้านยังต้องแบกภาระเรื่องการดูแลรับผิดชอบลูกๆ รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับการต้องดูแลสุขภาพของเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากโรค Covid-19 เข้าไปอีก เหล่านี้จึงยิ่งทำให้ผู้หญิงเกิดภาวะความเครียดทับซ้อนมากขึ้นทุกทีๆ

สิ่งที่สามารถยืนยันในประเด็นนี้ได้ก็คือ เมื่ออาสาสมัครกลุ่มหนึ่งจัดตั้งศูนย์ Hotline ที่มีชื่อว่า Anata no Ibasho (นี่คือสถานที่สำหรับคุณ) มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอระบายความทุกข์และขอคำปรึกษาเฉลี่ยมากกว่า 200 สายต่อวัน โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็น "ผู้หญิง" และปัญหาที่พวกเธอกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ กำลังตกงาน แต่มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกทั้งๆ ที่แทบไม่มีเงินติดบ้าน และหลายคนยอมรับว่า มีความคิดอยากจะทำร้ายตัวเอง รวมถึงเกิดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ที่ผู้ขอรับคำปรึกษา มักจะพูดเรื่องการถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่

"การเห็นคุณค่าในตัวเองของฉันลดลง เพราะฉันกำลังมีปัญหาเรื่องเงิน สถานการณ์ที่ทำให้ฉันอยู่บ้านกำลังทำให้ชีวิตของฉันล่มสลาย และลูกๆและฉัน กำลังมีปัญหาเข้ากันไม่ได้"

ทั้งหมดจากบรรทัดด้านบน คือ ถ้อยคำที่บรรดาคนไข้ที่เดินเข้ามาขอรับคำปรึกษาจาก ชิโยโกะ อูเอดะ (Chiyoko Ueda) จิตแพทย์ในเมืองโยโกฮามา หลังสภาพจิตใจบอบช้ำอย่างหนักจากสิ่งที่ Covid-19 บันดาลให้เกิดขึ้น

...

:: ไม่กล้าเปิดอกคุยกับพ่อแม่ คือ ปัญหา?

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศ G7 (กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ) ที่มีอัตราการทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตในกลุ่มคนหนุ่มสาว ช่วงอายุ 15-39 ปี และช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่สูงมากเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของ Covid-19

ในขณะที่ ช่วงการแพร่ระบาด เด็กๆ ในญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะความเครียดจากการที่ต้องเอาแต่อยู่ในบ้านไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ การถูกทารุณกรรม หรือแม้กระทั่งถูกกดดันจากการที่ทำการบ้านไม่ทัน โดยจากการทำแบบสำรวจทางอินเทอร์เน็ตจากกลุ่มตัวอย่าง 8,700 ครัวเรือน เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่า เด็กๆ ญี่ปุ่นในวัยเรียนถึง 75% เกิดภาวะความเครียดจากการแพร่ระบาดโรค Covid-19 และในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ไม่กล้าพูดคุยถึงปัญหากับพ่อและแม่ของตัวเอง เนื่องจากเชื่อว่าไม่น่าจะมีใครรับฟัง

:: ขนบต้องเข้มแข็งได้ด้วยตัวเอง คือปัญหา?

"ฉันรู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีที่จะร้องขอความช่วยเหลือ แต่ฉันขอพูดได้ไหม?"

คำพูดติดปากของชาวญี่ปุ่นที่โทรศัพท์ไปยังศูนย์ Hot line คลายทุกข์ ก่อนจะเริ่มต้นขอรับคำปรึกษา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สามารถยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า การไม่พยายามดิ้นรนต่อสู้ด้วยตัวเอง และยอมรับไม่ได้กับการต้องอยู่เพียงลำพัง ยังคงถือเป็น "ความน่าอับอาย" ที่ตรึงแน่นอยู่ในวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น

ด้วยเหตุนี้ เมื่อเกิดภาวะความเครียดขึ้น ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมักที่จะเลือกเก็บมันเอาไว้แทนที่จะเอาปัญหาไปปรึกษากับเพื่อนหรือคนใกล้ชิด จนกระทั่งทำให้เกิดความเครียดสะสมจนกระทั่งระเบิดออก ก่อนที่ใครจะไปให้ความช่วยเหลือได้ทัน ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ หากเป็นในประเทศอื่นๆ ผู้คนที่เกิดภาวะความเครียดจะสามารถนำปัญหาส่วนตัวไปพูดคุยกับคนสนิทในที่สาธารณะได้แบบสบายๆ ด้วยซ้ำไป

:: การแพร่ระบาดรอบที่ 3 คือ ปัญหา?

ตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 รายวันที่เพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ ทำให้เริ่มมีการเตือนว่า อาจจะเกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 3 (Third wave) ขึ้นได้ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวที่ทำให้ไวรัสอยู่ในอากาศได้นานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งประเด็นนี้ หากเกิดขึ้นจริงอาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่น่าหวาดหวั่น

นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังไม่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 ชนิดเต็มรูปแบบ เพราะที่ผ่านมา แม้จะมีการประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นในประเทศ (เมษายน-พฤษภาคม 63) แต่ยังไม่เคยมีการนำมาตรการ Lockdown ชนิดเข้มข้นเหมือนที่รัฐบาลจีนเคยทำมาก่อน

ฉะนั้น หากมันเกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 3 ขึ้นมาจริงๆ ชาวญี่ปุ่นที่กำลังเกิดภาวะความเครียดสะสม อาจตกอยู่ในอันตรายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะแม้ยังไม่เคยมีการประกาศ Lockdown มาก่อน แต่ญี่ปุ่นก็ยังต้องเผชิญหน้ากับตัวเลขผู้ตัดสินใจทำร้ายตัวเองจนเสียชีวิตที่สูงขึ้นจนน่าตกตะลึงมาแล้ว

:: Covid-19 กับผลกระทบด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบัน

อัตราการว่างงานในประเทศญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พุ่งขึ้นสูงถึง 3.1% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี หลังภาวะการแพร่ระบาดโรค Covid-19 ยังคงทำให้ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น ยืนยันว่า ตัวเลขการจ้างงานในประเทศกำลังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าในภาพรวมเศรษฐกิจจะยังอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนก็ตาม

โดยอัตราส่วนการจ้างงานเพิ่มขึ้นจาก 1.03 เป็น 1.04 เมื่อเดือนกันยายน ซึ่งนั่นแปลว่าจะมีการเปิดรับตำแหน่งงานว่าง 104 อัตรา สำหรับจำนวนผู้ว่างงาน 100 คน

ล่าสุด ผู้ชายชาวญี่ปุ่นตกงานเพิ่มขึ้น 3.4% หากเทียบกับในช่วงเวลาปกติ และถือเป็นการเพิ่มขึ้น 0.2 จุด หากเปรียบเทียบกับเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในขณะที่ จำนวนผู้หญิงญี่ปุ่นที่ตกงานยังคงเดิมที่ 2.7%

และหากนำตัวเลขนี้มาประกอบกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาด Covid-19 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ หลังเกิดการแพร่ระบาดในประเทศเป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้พยายามอย่างหนักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการพยายามสนับสนุนบริษัทต่างๆ เพื่อให้สามารถเกิดการจ้างงานต่อไปได้ โดยเฉพาะมาตรการแจกเงินช่วยเหลือพิเศษแก่ประชาชน โดยล่าสุด โครงการนี้น่าจะขยายต่อไปอีกจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021 เป็นอย่างน้อย หลังล่าสุด ยอดสะสมของคนว่างงานในประเทศญี่ปุ่น ได้เพิ่มขึ้นถึง 2.14 ล้านคนแล้ว.

ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

ข่าวน่าสนใจ: