เมื่อเจ็บป่วย “ยาแผนปัจจุบัน” จะถูกเลือกใช้เป็นอันดับแรกโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่หากเปิดใจ มองไปรอบๆ บ้านก็อาจจะพบ “พืชสมุนไพรไทย” ชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์มากมาย สามารถนำมารักษา หรือช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายแข็งแรงได้

สมุนไพรที่ว่านี้คือ “รางจืด” เป็นสมุนไพรไทยที่ได้รับฉายา “ราชายาแก้พิษ” ทั้งในคน และสัตว์เลี้ยง เช่น แมว สุนัขที่ถูกวางยาเบื่อ หรือซุกซนโดนยาฆ่าปลวก สามารถนำใบรางจืดมาตำละลายน้ำซาวข้าว หรือน้ำปกติ ให้ดื่มก็จะช่วยถอนพิษ 

เหตุใด “รางจืด” ถือเป็นสุดยอดสมุนไพรถอนพิษ และสรรพคุณของ “รางจืด” ยังมีด้านใดอีกบ้างนั้น วันนี้เรามีข้อเท็จจริงจาก ดร.จุฑาภรณ์ ขวัญสังข์ หัวหน้าสาขาการแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญและวิจัยเกี่ยวกับ “รางจืด” มากว่า 6 ปี

: ลักษณะพฤกษศาสตร์ รางจืด :

ประวัติคร่าวๆ “รางจืด” มีชื่อวิทยาศาสตร์ Thunbergia laurifolia Lindl ดร.จุฑาภรณ์บอกเป็นสมุนไพรที่มีมานานแล้ว เป็นพืชที่พบหาง่าย ขึ้นง่าย ปลูกได้ทุกที่ รางจืดเป็นสมุนไพรในตำรับการรักษาของแพทย์แผนไทย เพราะสมัยก่อนยังไม่มียาแผนปัจจุบัน คนในสมัยนั้นจึงนำรางจืดมาใช้เป็นยารักษาแก้ไข้ ถอนพิษ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “ล้างพิษ” 

...

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ หลายๆ คนอาจจะเคยเห็น แต่อาจไม่รู้จัก “รางจืด” เป็นไม้เถาล้มลุก ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด สามารถเกิดขึ้นได้ตามที่รกร้างว่างเปล่าทั่วไป หรือในป่าเบญจพรรณและป่าดิบแล้ง เป็นพืชใบเดี่ยว รูปไข่ปลายเรียวแหลม ด้านหลังใบผิวเรียบมัน ออกดอกรูปปากแตร สีม่วง

: สรรพคุณเด่นของ “รางจืด” :

ตามตำรายาไทย ดร.จุฑาภรณ์ ให้ข้อมูล การนำส่วนต่างๆ เช่น ใบ ราก และเถา ของ “รางจืด” จัดเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณถอนพิษต่างๆ ถอนพิษยาเบื่อเมา แก้อักเสบ แก้เมาค้างจากพิษสุรา แก้ร้อนใน แก้พิษเบื่อเมาจากเห็ดพิษ อาหารทะเล เช่น ไข่แมงดาทะเล รวมถึงต้านพิษยาฆ่าแมลง

ส่วนมากนิยมนำ “รางจืด” มาทำชาสมุนไพร โดยนำใบสดล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นฝอย นำไปตากแดด ให้แห้งโดยป้องกันไม่ให้โดนฝุ่น หรืออบที่อุณหภูมิไม่เกิน 60 องศาเซลเซียสแล้วเก็บใส่ภาชนะที่แห้ง ปิดฝาให้สนิทและเก็บไว้ในอุณภูมิห้อง หากต้องการดื่มก็ตักรางจืดแห้ง 1-2 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร แล้วดื่มอุ่นๆ วันละ 3 ครั้งก่อนอาหารเมื่อมีอาการ สำหรับส่วนอื่น ๆ ที่นำมารับประทาน ดังนี้

1. นำรากรางจืดที่อายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดรากเท่านิ้วก้อย นำมาล้างให้สะอาดแล้วโขลกหรือฝน ผสมกับน้ำสะอาด หรือน้ำซาวข้าวนำมาดื่ม เมื่อมีอาการ
2. นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป 5-7 ใบมาล้างให้สะอาด โขลกให้ละเอียดผสมน้ำดื่ม หรือผสมน้ำซาวข้าว ปริมาณ 250 มล. จากนั้นนำไปกรอง หรือคั้นน้ำ ดื่มครั้งละแก้ว
3. นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป 5-7 ใบ ล้างให้สะอาด แล้วนำมาต้มกับน้ำสะอาดจนเดือด แล้วต้มไปอีก 10 นาทีด้วยไฟอ่อนๆ อาจปรุงรสด้วยน้ำตาลทรายหรือใบหญ้าหวานเพียงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติ แล้วนำมาดื่มอุ่นๆ หรือหากดื่มเย็นๆ ก็เติมน้ำแข็งได้ 

: 3 สรรพคุณรางจืดในอนาคต :

นอกจากนี้ สรรพคุณของรางจืดยังดีต่อสุขภาพด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นผลวิจัยในการทดลองกับสัตว์ แต่ยังไม่มีการทดสอบกับคน คาดว่าในอนาคตคงคิดค้นและพัฒนานำมาใช้ได้จริง ได้แก่

1. บำบัดอาการติดยาเสพติด 
โดยงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากรางจืดช่วยกระตุ้นการปล่อยสารโดปามีนในสมองของหนูทดลอง ออกฤทธิ์ต่อสมองส่วนเดียวกันกับแอมเฟตามีน ลดความต้องการเสพยา

...

2. ต้านมะเร็ง
ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุไว้ หลังใช้สารสกัดจากรางจืดหยดบนเซลล์มะเร็งเต้านมมนุษย์ พบฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและฆ่าเซลล์มะเร็ง รวมถึงผลงานวิจัยอีกชิ้นชี้ว่า หลังใช้สารละลายจากรางจืดทั้งชนิดสดและแห้งในหนู ช่วยต้านการอักเสบของเซลล์ที่อาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี

3. สมานแผล บรรเทาอาการโรคผิวหนัง เช่น ผื่นคัน เริม
โดยหลังศึกษากับหนูทดลอง สารสกัดจากใบรางจืดนอกจากช่วยลดการอักเสบของแผล ยังช่วยให้สมานแผลส่งผลให้แผลหายเร็วขึ้น

: ความเชื่อผิดๆ ในการใช้รางจืด :

ประโยชน์ของรางจืดทั้งหมดนี้ จะสัมฤทธิผลได้ดีมีประสิทธิภาพ ดร.จุฑาภรณ์ กล่าวว่า ต้องปรับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพด้วย หมั่นออกกำลังกาย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอด้วย และฝากเตือนผู้มีความเชื่อผิดๆ ในการใช้รางจืด โดยนำใบมาตำพอกเพื่อดูดพิษงู

ตามหลักการที่ถูกต้องหากเป็นงูไม่มีพิษ เช่น งูเขียว ไม่จำเป็นต้องพอกสมุนไพร ให้ทำความสะอาดแผล ทายาฆ่าเชื้อก็หายเป็นปกติ แต่หากต้องการพอกใบรางจืด ให้ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำสะอาด และล้างใบรางจืดให้สะอาดก่อนนำไปพอก ช่วยให้แผลอักเสบ บวมแดงหายไป แต่หากเป็นงูมีพิษอย่างไรก็ต้องไป รพ. พบแพทย์เพื่อฉีดเซรุ่ม 

...

: ข้อควรระวังในการรับประทาน รางจืด :

ถึงแม้สรรพคุณของ “รางจืด” จะมีคุณค่ามากมาย แต่หากกินเป็นเวลานานอาจทำให้ระบบเลือด ตับ ไตทำงานผิดปกติได้ ดังนั้นตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่องบัญชียาหลัก พ.ศ. 2563 บัญชียาจากสมุนไพร ในการรับประทานรางจืดให้ปลอดภัย มีผลดีต่อสุขภาพ ไร้อาการข้างเคียง ดร.จุฑาภรณ์ แนะนำ ดังนี้

1. ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากจะบดบังอาการของไข้เลือดออก
2. ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยารักษาโรคอย่างต่อเนื่อง เพราะอาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
3. ควรระวังการใช้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพราะรางจืดอาจเร่งการขับยาเหล่านี้ออกจากร่างกาย ทำให้ประสิทธิภาพยาลดลง

เห็นคุณประโยชน์มากล้นของ "รางจืด" กันแล้ว อย่าลืมเดินสำรวจสวนรอบๆ บ้าน อาจเจอต้น "รางจืด" ก็เป็นได้ และอย่าลืมนำมารับประทานเพื่อสุขภาพที่ดีนะคะ 

: ข่าวน่าสนใจ :

...