• เปิดประวัติ "บ้านพิษณุโลก" เก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 

  • พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ คนแรกที่เคยเข้าอยู่ แต่อยู่ได้เพียง 7 วัน 

  • เผยงบประมาณใช้ดูแลจัดซ่อม "บ้านพิษณุโลก" มากกว่า 10 ล้านบาท แต่ไม่มีใครมาอยู่ 

“บ้านก็ไม่ต้องเช่า ข้าวก็ไม่ต้องซื้อ ปรึกษาหารือไม่ต้องเสียสตางค์..”

อยู่ดีๆ ผู้เขียนก็นึกถึงเพลง “เด็กวัด” ของตู้ ดิเรก อมาตยกุล เมื่อคิดถึงเรื่องการเมืองที่จะเกิดขึ้นในวันนี้

แล้ววันนี้มีอะไรพิเศษอย่างนั้นหรือ...คอกาแฟ ที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองคงรู้อยู่แล้ว เพราะเป็นวันชี้ชะตา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ “นายกฯ ลุงตู่” คนเดียวคนนี้อยู่มา 7 ปีแล้ว

ก่อนจะมาถึงวันนี้ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และพรรคเพื่อไทย ได้เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่กลับอาศัย “อยู่บ้านพักทหาร” ทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ซึ่งแน่นอนฝ่ายค้านจึงมองว่า นายกฯ "รับประโยชน์อื่นใด" ตามข้อห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท ซึ่งต่อมาประธานผู้แทนราษฎรได้ส่งคำร้องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

และแล้ววันที่ 2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย ในเวลา 15.00 น. ไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นอย่างไร ย่อมส่งผลต่อบรรยากาศการเมืองในขณะนี้แน่นอน แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น คำถามที่ใครหลายคน ที่ค้นหากันอยู่ คือ ทำไมนายกฯ ไม่อยู่บ้านประจำตำแหน่งนายกฯ ซึ่งบ้านหลังนั้นก็คือ “บ้านพิษณุโลก”

...

ก็ไม่เห็นแปลกเลยนะซี่ เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคนที่ผ่านมา ก็ไม่เห็นจะมีใครเข้ามาอยู่นัก วันนี้ ผู้เขียนจะเล่าให้ฟังว่าเพราะอะไร...

ที่มา “บ้านพิษณุโลก” ก่อสร้างโดยชาวอิตาลี

บ้านพิษณุโลก นั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานแล้ว ก่อสร้างขึ้นโดยช่างชาวอิตาลี เมื่อปี 2465 ซึ่งช่างผู้นี้เป็นช่างคนเดียวกับที่เคยสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเดิมชื่อ "บ้านบรรทมสินธุ์" มีพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ ประกอบด้วย ตึกนารายณ์บรรทมสินธุ์ เป็นตึกประธาน และมีตึกบริวาร เช่น ตึกเย้าใจ เรือนคู่ใจ เรือนณรงค์ เรือนกลัมพากร และโรงรถเดิม เรียงรายกันไป โดยมีการจัดสวนและสระน้ำขนาดใหญ่แบบธรรมชาติ โดยมีสวนป่า “เขาดิน” ภูเขาจำลองขนาดย่อม มีน้ำตกเล็กๆ ไหลริน บนยอดดอยมีศาลเทพารักษ์ “ศาลท้าวหิริญฮู” หรือ "ท้าวหิรัญพนาสูร" ไว้เคารพบูชา

จากหลักฐานบันทึกของทายาท ของพระยาอนิรุทธเทวา ระบุว่า “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นบ้านพระราชทานโดยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นโดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แล้วพระราชทานแก่มหาเสวกเอก พลตรีพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.พื้น พึ่งบุญ) บุตรชายคนเล็กของพระยาประสิทธิ์ศุภการ (ม.ร.ว.ละม้าย พึ่งบุญ) กับ พระนมทัต (คุณหญิงประสิทธิ์ศุภการ)

โดยผู้ที่ครอบครองบ้านหลังนี้คนแรกก็คือ พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ราชองครักษ์พิเศษ บุตรชายคนเดียวของพระยาอนิรุทธเทวา นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม บ้านบรรทมสินธุ์ ถูกเปลี่ยนมือในเวลาต่อมาจากพิษทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงการปกครองในเวลาต่อมา

บ้านหลังใหญ่ที่มีบ้านบริวารโดยรอบที่สวยงาม อุดมไปด้วยพันธุ์พืชล้อมรอบมากมาย ถูกเจ้าของเดิมทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้เป็นราชสมบัติ กอปรกับช่วงนั้น ถือเป็นช่วงการเมืองกำลังร้อนแรง มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย บ้านหลังนี้จึงอยู่ในมือหน่วยงานราชการ และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ตกลงปลงใจเข้าร่วมรบกับญี่ปุ่น จึงใช้  “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นที่รับรอง นายพลโตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

19 มิ.ย.2485 บ้านบรรทมสินธุ์ ได้ถูกแบ่งขายจำนวน 25 ไร่ ในราคา 5 แสน เฉพาะตึกใหญ่และตึกบริวารไปจนถึงธารกำนัล ทางการจึงใช้เป็นที่ทำการประสานงานระหว่างไทยญี่ปุ่นและเปลี่ยนชื่อบ้านบรรทมสินธุ์ เป็น “บ้านไทย-พันธมิตร” กระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านสันติภาพ" และเมื่อปี 2496 จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีมติให้เปลี่ยนชื่อบ้านเป็น “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนน

...

บ้านพิษณุโลก กับ การเมืองไทย

ต่อมา เมื่อเข้าสู่รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นได้สั่งให้ทำการบูรณะเสียใหม่ โดยให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมทหารช่างที่ 11 ของกองทัพบกเข้ามาตกแต่ง หวังให้เป็นที่พำนักของนายกรัฐมนตรี แต่..หลังจากซ่อมแซมอยู่นาน คนที่ได้เข้ามาอยู่คนแรก คือ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”

นายกฯ เปรม หรือ เจ้าของฉายา “เตมีย์ใบ้” ได้เข้ามาพำนักได้เพียง 7 ราตรี ก็มีอันจรลีย้ายออก กลับมาพักที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ตามเดิม ส่งผลให้เรื่องลี้ลับอาถรรพณ์ถูกพูดถึงปากต่อปาก

เมื่อนายกรัฐมนตรีเปลี่ยนหน้า เข้าสู่ยุค นายอานันท์ ปันยารชุน ท่านเองก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่เข้าไปอยู่...บ้านหลังใหญ่ที่แสนจะโอ่อ่า ก็กลับไร้ผู้คนอาศัยต่อไป มีเพียงช่างที่เข้ามาบูรณะอยู่เนืองๆ และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเท่านั้น ที่มาพักอาศัยบ้าง...

ต่อมาสมัย “นายกฯ ชวน 1” นายกรัฐมนตรีเจ้าของฉายาใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง ก็ยังไม่ได้เข้าพำนัก แต่ใช้ “บ้านพิษณุโลก” เป็นสถานที่ประชุมแกนนำรัฐบาลเป็นครั้งคราว

เมื่อเข้ายุคนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกฯ “เติ้ง เสี่ยวหาร” ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร กระทั่งมาถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีรายงานว่าได้ใช้งบประมาณกว่า 8 ล้านบาทในการบูรณะซ่อมแซม และที่นี่เอง คือ สถานที่ประชุมลับ เพื่อเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท

จากนั้น ผู้มาเยือนก็เป็นคนเก่า อย่าง นายชวน หลีกภัย ในช่วง “รัฐบาลชวน 2” ครานี้ “นายหัวชวน” ได้มาพักอาศัยอยู่สักพักใหญ่ เพราะที่บ้านซอยหมอเหล็งได้มีการซ่อมแซม ทำให้นักข่าวยุคนั้นค่อนข้างฮือฮาถึงกับตามไปเก็บภาพ นายหัวชวน ออกมาวิ่งรอบบ้านช่วงเช้า จนมีข่าวลือต่างๆ นานา ว่านายหัวชวนเจออาถรรพณ์ แต่เมื่อนักข่าวถามไถ่ นายหัวชวน จะไม่ตอบเพราะไม่เชื่อเรื่องแบบนี้

...

กระทั่งเข้าสู่ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” บ้านพิษณุโลก ถูกใช้รับรองแขกจากนานาชาติ และมีการแวะเวียนของบุคคลกลุ่มต่างๆ เข้ามาหา กระทั่ง เข้าสู่ยุคของ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้ามามีอำนาจ บ้านหลังนี้ก็ไม่ค่อยได้ใช้การ เพราะมีการประชุมค่ายทหารแทน

นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยมาอยู่นานที่สุด
นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยมาอยู่นานที่สุด

ส่วน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ค่อยได้มีเวลาใช้ เนื่องจากปัญหาม็อบรุมเร้า ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รายต่อมา ก็ใช้เป็นที่รับรองแขกจากต่างประเทศ กระทั่งถึงคิว คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ของนายกฯ ลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ไม่ค่อยได้ใช้ เนื่องจากมีการซ่อมแซม

เรื่องเล่าตำนานเฮี้ยน จากคนเฝ้าบ้านและนักข่าว 

สำหรับเรื่องเล่าเฮี้ยนๆ ที่ถูกบอกต่อกันนั้น ผู้เขียนเคยพูดคุยกับนักข่าวอาวุโสคนหนึ่ง เมื่อปี 2559 ได้เล่าเรื่องที่น่าสนใจว่า แทนที่จะพูดแต่เรื่องผีๆ สางๆ แต่หากให้มองถึง "ความพร้อม" ในการ "อยู่อาศัย" ของบ้านพิษณุโลก ก็นับว่าไม่ค่อยเหมาะเท่าใดนัก

...

“สาเหตุที่นายกรัฐมนตรีหลายท่านไม่เข้าพำนัก เพราะบ้านพิษณุโลก เป็นบ้านเปล่าๆ ไม่มีอุปกรณ์ เครื่องเรือน สำหรับอาศัย อีกอย่าง คือลักษณะ เป็นเรือนรับรองขนาดเล็ก โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นผู้หญิง ยิ่งไม่สะดวกในการที่จะอาศัยในบ้านหลังดังกล่าว เพราะถ้าจะไปคงต้องไปทั้งองคาพยพ ความจริงบ้านหลังนี้ ก็คือบ้านรับรองแขก ไม่สามารถมาพักอาศัยได้”

นักข่าวอาวุโสรายนี้ยังบอกอีกว่า เมื่อดูในยามวิกาล บ้านยิ่งมีลักษณะน่ากลัว วังเวง สภาพบ้านยังเป็นบ้านไม้ เวลาเดินก็จะมีเสียงดัง กึก กึก โดยเฉพาะชั้น 3 ซึ่งเอาไว้เก็บของโบราณ อย่างไรก็ตาม ก็มีกลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่ยานพาหนะ ได้เข้าไปอาศัย แต่ก็ไม่ได้อาศัยที่ตัวเรือนหลักซึ่งเป็นบ้านเจ้าของ แต่เขาจะนอนในเรือนบริวาร โดยคนเหล่านี้มีหน้าที่ดูแลบ้านพิษณุโลก ส่วนตัวเรือนที่เป็นบ้านเจ้าของอยู่ใกล้สระน้ำนั้น ไม่ค่อยมีใครกล้าเข้าไปอยู่ เพราะน่ากลัว พวกฝ่ายยานพาหนะ เขาก็บอกว่า ไม่กล้าอยู่หรอก เขากวน!

บ้านพิษณุโลก
บ้านพิษณุโลก

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้เคยลงไปพูดคุยกับ บุญถิ่น แปนเมือง เจ้าหน้าที่ ที่ดูแลบ้านพิษณุโลก ที่ดูแลเรือนเก่าแก่ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 30 ปี กลับบอกว่า ไม่เคยเจอผีสางแต่อย่างใด แต่ก็ใช่ว่าคนอื่นจะไม่เจอ

“มีเสียงเล่าลือเยอะ เสียงม้าร้อง ม้าวิ่ง เชื่อว่ามาจากรูปปั้นม้าทองแดง สนามหญ้าหน้าบ้าน นอกจากนี้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ก็มีวัยรุ่นในสภาพเมาๆ เข้ามาเจอผู้หญิงชุดไทย ซึ่งตรงนี้ไม่รู้เป็นเพราะผีหลอก หรือเพราะความเมากันแน่ นอกจากนี้ ภายในยังมีศาลเจ้าพ่อหิรัญ (ท้าวหิรัญพนาสูร) บางครั้งจะมีตำรวจมาไหว้ขอพรให้ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง หรือนักการเมืองก็มาไหว้ขอพรกัน”

1 ธันวาคม 2563 ผู้เขียนได้โทรไปหา นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล ถึงความคืบหน้าการบูรณะบ้านพิษณุโลก นายอนุชา บอกกับผู้เขียนว่า ไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อนเลย จึงไม่รู้ความคืบหน้าว่าเป็นอย่างไร แต่เมื่อถามว่า ที่ผ่านมานายกฯ ลุงตู่ เคยเข้าพำนักหรือไม่ นายอนุชา ตอบว่าไม่ทราบ และยังไม่รู้ว่าจะมีการใช้บ้านพิษณุโลกอย่างไร และยังไม่ทราบแผนในอนาคต

ในขณะที่ผู้เขียนได้สืบค้นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อจัดจ้างซ่อมแซม และ บูรณะ บ้านพิษณุโลก จากข้อมูลจากเว็บรัฐบาล พบว่าวงเงินจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะ "บ้านพิษณุโลก" นับตั้งแต่ปี 2558-2563 รวม 49,139,782 บาท แบ่งเป็นดังนี้

ปี 2558 : รวม 10,714,530 บาท
- ปรับปรุงรางระบายน้ำ 6,430,000 บาท
- ทาสีประตูรั้วโดยรอบ 3,020,000 บาท
- เดินสายและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า 740,000 บาท
- ซื้อเสาไฟฟ้าส่องสว่างและโคมสำหรับเสาไฟฟ้าส่องสว่าง สูง 3.5 เมตร 360,000 บาท
- ซื้อสายไฟฟ้า NYY และ IEC01 164,530 บาท
ปี 2559 : ปรับปรุงเรือนเพาะชำ 256,767 บาท
ปี 2560 : -
ปี 2561 : ซ่อมระบบโทรทัศน์วงจรปิด 155,685 บาท
ปี 2562 : รวม 38,012,800 บาท
- ก่อสร้างปรับปรุง (ระยะที่ 3) 37,990,000 บาท
- ซื้อธงชาติมาเลเซียและธงชาติไทยเพื่อประดับบริเวณรั้วด้านหน้า 2 รายการ 22,800 บาท
ปี 2563 : -

ทั้งนี้ ยังมีงบประมาณอีกบางส่วน ในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรวมของโครงการต่างๆ ที่ "บ้านพิษณุโลก" รวมอยู่ด้วย นับตั้งแต่ปี 2558-2563 วงเงินจ้างเหมารวม 111,272,440 บาท แบ่งเป็นรายปี ดังนี้ ปี 2558 วงเงินจ้างเหมา 102,069,000 บาท, ปี 2562 วงเงินจ้างเหมา 2,423,570 บาท และ ปี 2563 : วงเงินจ้างเหมา 6,779,870 บาท

ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องแปลกเรื่องหนึ่ง ที่บ้านประจำตำแหน่งผู้นำของชาติ แต่กลับไม่มีนายกรัฐมนตรีแสดงความปรารถนาที่จะเข้าไปอยู่อาศัยจริงๆ จังๆ เลยสักคน

ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ