- ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ กับความลับ 7 ปี "โรคพาร์กินสัน" ความทุกข์ทรมานที่ทำให้ต้องถอยออกจากอาชีพที่ตัวเองรักและทุ่มเท
- พาร์กินสัน (Parkinson) คือ โรคความเสื่อมของระบบประสาทที่ส่งผลให้การเคลื่อนไหวเกิดความผิดปกติ จากการที่สารสื่อประสาทโดพามีนลดลง
- มูลนิธิ ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ ระดมเงินทุนได้กว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหาโรคพาร์กินสันเหมือนเช่นตัวเขา
หากวันหนึ่ง "คุณ" สามารถก้าวขึ้นเป็น "ไอคอน" แห่งยุคสมัย สปอตไลต์ทุกดวงกำลังสาดส่องมาที่ "คุณ" อย่างเกรี้ยวกราด
แต่แล้ว... ณ ห้วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์นั้น จู่ๆ "คุณ" กลับต้องป่วยด้วยโรคที่ยังไม่มีทางรักษา และมันยังทำให้ร่างกาย "คุณ" มีอาการประหลาดๆ ปรากฏต่อสาธารณชนได้
"คุณ" จะเลือกก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร? หรือว่า "คุณ" จะเลือกเก็บมันไว้เป็น "ความลับ" ที่ยาวนานร่วม 7 ปี เหมือนชายคนนี้...
บทสนทนาละล่ำละลักอันเป็นที่จดจำของ ไอ้หนุ่มมาร์ตี้ แม็กฟลาย (Marty McFly) ผ่านการแสดงของชายร่างเล็กที่มีชื่อว่า ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ (Michael J. Fox) จากภาพยนตร์ Back to the Future (เจาะเวลาหาอดีต) ภาพยนตร์ที่คนทั้งโลกยังคงหวนกลับไปดูไม่รู้เบื่อผ่านวิดีโอ ดีวีดี หรือบลูเรย์ ที่คุณอาจเป็นหนึ่งในผู้ที่ซื้อมันเก็บสะสมไว้เต็มบ้านไม่รู้กี่เวอร์ชันมาแล้ว (ปัจจุบันมีให้ดูผ่านระบบ streaming แล้ว หากคุณอยากให้ลูกหลานได้ดูภาพยนตร์ดีๆ) ถึงแม้นว่ามันจะผ่านกาลเวลามาร่วม 35 ปีที่แล้วก็ตาม
...
"คุณ" ยังจำ "ชายร่างเล็ก" คนนั้นได้ใช่หรือไม่?
ปัจจุบัน ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ (Michael J. Fox) ในวัย 59 ปี อีกหนึ่งตำนานของฮอลลีวูด จำยอมต้องประกาศรีไทร์จากแสงไฟแห่งสปอตไลต์เป็นครั้งที่ 2 หลังประสบปัญหาด้านสุขภาพจากสารพัดโรครุมเร้า โดยเฉพาะโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Desease) รวมถึงล่าสุดเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกจากกระดูกสันหลัง เมื่อปี 2018
"No Time Like the Future"
ไม่มีเวลาเหมือนในอนาคต
คือชื่อหนังสือเล่มล่าสุดของนักแสดงที่ผู้คนหลงรัก ที่จะมาบอกเล่าถึงประสบการณ์ทุกข์ทรมานจากการป่วยด้วยโรคพาร์กินสันมานานนับสิบปี รวมถึงช่วงเวลาที่ต้องปกปิดความลับ เรื่องอาการมือสั่นที่เกิดขึ้นจากโรคดังกล่าว ต่อสาธารณชนมายาวนานถึง 7 ปี
ส่วนอาการล่าสุดของนักแสดงหนุ่มนั้น เขาได้บรรยายผ่านตัวอักษรในหนังสือดังกล่าวเอาไว้ว่า...
และปัญหาสุขภาพที่เริ่มย่ำแย่ลงตามลำดับนี้เอง ชายหนุ่มจึงตัดสินใจอำลาอาชีพนักแสดงเป็นครั้งที่ 2 และระบายความรู้สึกผ่านตัวอักษรในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ว่า...
ซึ่งจากถ้อยคำอำลานี้ ทำให้ผลงานสุดท้ายที่คุณอาจจะได้เห็น ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ ในวงการบันเทิง คือ การไปปรากฏตัวเป็นเวลา 5 นาที ในฐานะ Cameo จากบท มิสเตอร์ล็อคฮาร์ท (Mr.Lockhart) ครูสอนวิทยาศาสตร์ ในภาพยนตร์เรื่อง "See You Yesterday" ซึ่งออกฉายทาง Netflix เมื่อปี 2019
จุดเริ่มต้นของความทุกข์ทรมานจากโรคที่ไม่มีทางรักษา และความลับที่ต้องเก็บเงียบ 7 ปี
ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ นักแสดงชาวอเมริกันเชื้อสายแคนาดา เริ่มต้นเป็นที่รู้จักในฮอลลีวูด หลังรับบท อเล็กซ์ คีตัน (Alex Keaton) หนุ่มสายอนุรักษนิยม ที่ดันอยู่ในครอบครัวเป็นเสรีนิยมสุดขั้วที่ในอดีตเคยเป็นสายฮิปปี้มาก่อนเสียด้วย ในซีรีส์ซิทคอมสุดฮิตทางโทรทัศน์ Family Ties ซึ่งออนแอร์ยาวนานถึง 7 ซีซัน (1982-1989) จนกระทั่งได้รับรางวัล Emmy 3 ตัวการันตีความสามารถ ก่อนจะพาตัวไปสู่จุดสูงสุดในฐานะนักแสดง จากบท มาร์ตี้ แม็กฟลาย ในไตรภาคเจาะเวลาหาอดีต (ปี 1985-1990) และ ณ เวลาแห่งความรุ่งโรจน์นั้น เขาได้สมรสกับ เทรซีย์ พอลลัน (Tracy Pollan) ในปี 1988 และมีลูกคนแรกด้วยกันในปี 1989
...
ทุกอย่างในชีวิตกำลังดำเนินไปเลิศหรู แต่แล้ว...ในปี 1991 หนึ่งในไอคอนแห่งยุค 80 กลับพบว่า ร่างกายของเขามีอะไรบางอย่างที่กำลังผิดปกติ?
ชายหนุ่มเริ่มสังเกตว่า นิ้วก้อยที่มือข้างซ้ายมีอาการกระตุกสั่น ในช่วงแรกๆ ที่ไปพบแพทย์ โดยเฉพาะบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ให้ความเห็นตรงกันว่า อาการผิดปกติดังกล่าวน่าจะเกิดจากได้รับบาดเจ็บที่กระดูกจุดไหนสักแห่ง
แต่แล้วอีก 6 เดือนต่อมา อาการผิดปกติที่ว่าก็ค่อยๆ เลวร้ายลงเรื่อยๆ!
คราวนี้ไม่ใช่เพียงแค่นิ้วก้อย แต่เป็นทั้งมือซ้ายที่เกิดอาการกระตุกสั่น แถมบริเวณไหล่ยังมีอาการปวดและแข็งตึงเพิ่มขึ้นอีก ด้วยเหตุนี้ นักแสดงหนุ่มจึงไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกคน จนกระทั่งได้รับแจ้งข่าวร้ายที่ยากจะยอมรับว่า...เขาป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน
"มันเป็นเรื่องที่ทำใจให้ยอมรับได้ยากเหลือเกิน เอาล่ะ...แม้หมอบอกกับผมว่ายังคงสามารถทำงานต่อไปได้อีกหลายปี แต่ถึงจะพูดแบบนั้น มันก็ยังฟังประหลาดๆ อยู่ดี"
เทรซีย์ พอลลัน (Tracy Pollan) ภรรยาของนักแสดงหนุ่มปล่อยโฮทันทีที่ได้รับข่าวร้ายเกี่ยวกับสุขภาพที่ไม่เหมือนเดิมของสามี
"แม้ว่าเราทั้งคู่จะยังไม่ค่อยเข้าใจนัก เรากอดกัน และมั่นใจว่าเราจะรับมือกับมันได้"
อย่างไรก็ดี แม้จะพยายามยอมรับเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจ แต่ด้วยการที่ ไมเคิล เจ.ฟ็อกซ์ อายุยังน้อย ซึ่งตามสถิติแล้วมีโอกาสน้อยมากที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้ สองสามีภรรยาจึงพยายามไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคน ซึ่งปฏิกิริยาของทุกคนที่รับทราบเรื่องนี้ในตอนแรกต่างแสดงความมั่นใจเหมือนๆ กันว่า น่าจะเป็นการวินิจฉัยโรคที่ผิดพลาด แต่แล้ว...หลังการตรวจอย่างละเอียด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกคนต่างวินิจฉัยตรงกันว่า เขาป่วยเป็นโรคพาร์กินสันจริง!
...
เมื่อไม่อาจหลีกหนีความจริงไปได้ นักแสดงชื่อดังจึงพยายามค้นหาคำอธิบายว่า... เพราะเหตุใดเขาจึงต้องประสบกับชะตากรรมเช่นนี้? จนกระทั่งได้บทสรุปด้วยตัวเองว่า...
แม้ว่ามันคือความจริงที่ยากจะยอมรับ แต่ในเมื่อยังมีชีวิต จึงต้อง "Move on" เมื่ออยู่ที่บ้านลูกของเขาเรียกมือซ้ายที่มักจะเกิดอาการกระตุกสั่นอยู่เนืองๆ ว่า "The Shaky Hand" เขาจึงมักใช้วิธีทำให้เรื่องนี้เป็นมุกตลกขำขันเพื่อกลบเกลื่อน
แต่ปัญหาจริงๆ มันคือ เวลาที่ต้องไปออกกองถ่าย หรือพบปะผู้คน มันยากที่จะเก็บความลับเรื่องแขนซ้ายกระตุกสั่นเอาไว้ได้ ทำให้หลายต่อหลายครั้งที่หวิดจะทำให้ความลับเรื่องนี้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน
มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในเดือนมกราคม ปี 1998 ขณะกำลังเดินทางไปงานแจกรางวัล Golden Globes เขาต้องสั่งให้รถลีมูซีนขับวนถึง 3 รอบ เพื่อหลบสายตาของบรรดานักข่าว หลังแขนและขาซ้ายเกิดอาการสั่นอย่างชนิดที่เรียกว่า "ไม่สามารถควบคุมได้" จนกระทั่งเมื่อมันเริ่มดีขึ้น เขาจึงสั่งให้รถจอด ก่อนจะพาตัวเข้าไปในงานดังกล่าว และคว้ารางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมในคืนนั้น โดยไม่มีใครรู้ถึง "ความลับ" ที่เก็บซ่อนเอาไว้แม้แต่น้อย
...
เร่งรีบรับงานแสดงไม่เลือก เพราะหวาดกลัว
คุณเชื่อหรือไม่? ภายในระยะเวลา 7 ปี แห่งการซ่อนความลับนี้ ไมเคิล เจ.ฟ็อกซ์ ยังคงเดินหน้ารับงานแสดงมากมาย และภาพยนตร์ที่เขาเลือกส่วนใหญ่จะเน้นไปที่บท ซึ่งเขาจะได้โชว์ความเป็นนักแสดงตลก เช่น Life with Mikey (1993), For Love or Money (1993) และ Greedy (1994)
"ในช่วงแรกๆ ผมหวาดกลัวมากๆ ผมไม่คุ้นเคยกับโรคพาร์กินสันเอาเสียเลย หนำซ้ำ ยังมีใครบางคนที่กำลังบอกกับคุณว่า ชีวิตของคุณกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แต่คำถามของผมคือ แล้วมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันล่ะ ผมยอมรับเลยว่า สาเหตุที่ตัดสินใจเลือกรับงานแสดงภาพยนต์ แนว Comedy เป็นหลักในช่วงนั้น ก็เพราะข้อจำกัดด้านเวลาและแรงกดดันทางการเงิน เนื่องจากความเครียดทุกอย่างมันสุมอยู่ในหัวเต็มไปหมด เพราะฉะนั้น ผมจึงต้องเลือกภาพยนตร์ที่มีแววว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายและรวดเร็วให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้" นักแสดงหนุ่มยอมรับต่อมาในภายหลัง
ยอมรับแต่ไม่ถอดใจ และพร้อมสู้อย่างตรงไปตรงมา
จนกระทั่งในปี 1994 เมื่อ ไมเคิล เจ.ฟ็อกซ์ เริ่มยอมรับกับภาวะที่เกิดขึ้นจากโรคนี้ได้ ทุกอย่างจึงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในแง่ของจิตใจ
หลังจากรับงานแสดงภาพยนตร์เรื่องสุดท้าย คือ The American President ในปี 1995 ไมเคิล เจ.ฟ็อกซ์ ตัดสินใจถอยตัวออกจากงานแสดงภาพยนตร์ เพื่อมาจับงานแสดงซีรีส์ทางโทรทัศน์เป็นหลัก จนกระทั่งเมื่อซิทคอม Spin City Season 2 ที่เขารับบทนำ ใกล้จบลง นักแสดงหนุ่ม จึงตัดสินใจเปิดอกบอกความลับเรื่องสุขภาพของเขากับบรรดาทีมงานอย่างชนิดหมดเปลือก ก่อนจะเดินทางไปผ่าตัดสมองที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รัฐแมสซาชูเซตส์ ซึ่งโชคดีที่การผ่านตัดประสบความสำเร็จ ทำให้สามารถกลับไปรับงานแสดงได้อีกครั้ง
กระทั่งปี 1998 เดินทางมาถึง ไมเคิล เจ.ฟ็อกซ์ ซึ่งสภาพจิตใจพร้อมแล้วสำหรับการเปิดเผย "ความลับ" ที่เก็บงำมาเนิ่นนาน จึงเปิดปากบอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างแก่สาธารณชน ผ่านนิตยสาร People ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม 1998
"ผมกลัวว่า หากบรรดาแฟนคลับรู้ถึงอาการป่วยของผม พวกเขาอาจจะไม่รู้สึกชื่นชอบ หรือหัวเราะไปกับการแสดงของผมอีกต่อไป แต่เมื่อผมเปิดใจกับผู้คนเรื่องความลับที่เก็บไว้กับตัวเองมานานถึง 7 ปี เหล่าแฟนคลับกลับเปิดใจรับมันอย่างน่าเหลือเชื่อ นอกจากนี้ พวกเขายังคงให้การสนับสนุน และร่วมหัวเราะไปกับการแสดงของผมต่อไปอีกด้วย" นี่คือเหตุผลที่ตรงไปตรงมาว่า เพราะอะไรนักแสดงร่างเล็กผู้นี้จึงไม่กล้าเปิดเผยเรื่องนี้กับสาธารณชน
หลังการผ่าตัด ไมเคิล เจ.ฟ็อกซ์ กลับไปเล่นซีรีส์ Spin City ต่อได้อีก 2 Season (3-4) ก่อนต้องยอมถอนตัวไปใน Season 5 หลังอาการโรคพาร์กินสันเริ่มรุนแรงขึ้น
"หนึ่งในสาเหตุที่ผมตัดสินใจถอนตัว เพราะผมรู้สึกว่าใบหน้าซีกซ้ายเริ่มตึงมากขึ้นจนแทบขยับไม่ได้ นอกจากนี้ ผมยังเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างยากลำบาก หากสังเกตดูดีๆ ในซีรีส์ Spin City Season 3 และ 4 คุณจะเห็นว่าผมต้องนั่งพิงโต๊ะ หรือกำแพงบ่อยๆ ซึ่งในท้ายที่สุด มันได้กลายเป็นภาระสำหรับคนอื่นๆ มากเกินไป" ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ กล่าวยอมรับถึงการตัดสินใจรีไทร์อาชีพนักแสดงในครั้งแรก
เมื่อรู้ถึงขีดจำกัดของตัวเอง และรู้ว่า ณ เวลานี้ ควรต้องส่งพลังดีๆ ไปถึงผู้คนที่ต้องประสบปัญหาแบบเดียวกัน เขาจึงตัดสินใจเปิด มูลนิธิไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ เพื่อการวิจัยโรคพาร์กินสัน พร้อมกับทุ่มเทพลังที่เหลืออยู่เพื่อให้มันบังเกิดผลที่เป็นรูปธรรม
โดยนักแสดงหนุ่มสามารถระดมเงินทุนเข้าสู่มูลนิธิได้มากมายถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อหาทางเอาชนะโรคร้าย ที่ไม่เพียงแค่เขาเท่านั้นที่ต้องประสบ เพราะเหล่าคนดังหลายคนในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็น นีล ไดมอนด์ (Neil Diamond) นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง, สาธุคุณเจสซี แจ็คสัน (Jesse Jackson), นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษย์ชน ออสซี ออสบอร์น (Ozzy Osbourne), เจ้าชายแห่งความมืด หรือ ลินดา รอนสตัดต์ (Linda Ronstadt) นักร้องชื่อดัง ต่างก็ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคพาร์กินสันเช่นเดียวกัน
หลังจากนั้น ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์ ได้กลับมารับงานแสดงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็น The Michael J. Fox Show, Designated Survivor, The Good Wife, Rescue Me, Boston Legal and Scrubs รวมถึงเขียนหนังสือขายดีถึง 3 เล่ม ประกอบด้วย Lucky Man in (ปี 2002), Always Looking Up: The Adventures of an Incurable Optimist (ปี 2009) และ A Funny Thing Happened on the Way to the Future (ปี 2010) ภายใต้ความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าที่ว่า เจ้าโรคพาร์กินสันนี้จะต้องถูกพิชิตลงได้ในสักวัน!
แต่ถึงที่สุดแล้ว...ชายหนุ่มก็ต้องยอมรับในความจริงที่ว่า...ยังต้องใช้ "เวลาเพื่ออนาคต" สำหรับการกำราบเจ้าโรคพาร์กินสันที่ว่านี้ แม้โลกปัจจุบันจะล่วงเข้าถึงปี 2020
ปีที่เลยพ้น...ฉากหลังแห่งอนาคตในภาพยนต์ Back to the Future ภาค 2 ที่บอกว่า ในปี 2015 โลกของเราจะมีทั้งรถยนต์บินได้ รองเท้าและเสื้อผ้าเข้ารูปโดยอัติโนมัติ สเก็ตบอร์ดลอยได้ ที่เรียกว่า Hoverboard มานานถึง 5 ปีก็ตาม!
ผู้เขียน: นายฮกหลง
กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์
End Credit:
ทำความรู้จักกับโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Desease)
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติเกี่ยวข้องกับความเคลื่อนไหว เนื่องจากสารสื่อประสาทโดพามีน ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องของร่างกายลดลง
โดยอาการของโรคนี้ มีทั้งอาการสั่น แข็งเกร็ง เคลื่อนไหวช้า ทรงตัวไม่สมดุล
สำหรับประเทศไทยพบความชุกของโรคเท่ากับ 4.5-19.0 ต่อประชากร 100,000 คน และคาดว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า จำนวนผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคนี้มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันพบเพศชายมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศหญิง 1.5 เท่า โดยอายุเฉลี่ยที่พบจะอยู่ที่ประมาณ 55-60 ปี โดยกลุ่มวัยที่พบมากที่สุดคือ 65-80 ปี
ส่วนในคนอายุน้อยมีพบอยู่บ้างแต่น้อยมาก แต่อาการของโรคจะใกล้เคียงกับที่พบในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ดี ในกรณีผู้ป่วยอายุน้อย สาเหตุมักจะเกิดจากโรคพันธุกรรมมากกว่าผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการเมื่อมีอายุมาก
ปัญหาที่สำคัญของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน คือ การทรงตัวไม่ดี มักจะเกิดขึ้น 2-5 ปี เมื่อเริ่มมีอาการของโรค
วิธีสังเกตผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ผู้ป่วยโรคนี้มักจะมีอาการสั่น แข็งแกร่ง ใบหน้าเฉยเมย เวลาพูดมุมปากจะยกขึ้นเพียงเล็กน้อยทำให้ดูเหมือนไม่มีอารมณ์ร่วม พูดไม่ชัด เสียงเบา เคลื่อนไหวช้า เดินติดขัด ซอยเท้าถี่ ก้าวขาไม่ออก จนทำให้สูญเสียการทรงตัว
นอกจากนี้ มักจะมีการเดินที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการเดินซอยเท้าถี่ๆ ร่วมกับการโน้มตัวไปข้างหน้า นอกจากนี้ เมื่อมีการกลับตัวขณะเดินมักจะมีการเดินซอยเท้าถี่ๆ ไปพร้อมๆ กัน หรือย่ำเท้าอยู่กับที่เท้าติดอยู่กับพื้น ด้วยเหตุนี้เอง จึงมักทำให้ผู้ป่วยมักจะหกล้มได้ง่าย และนำสู่ความพิการของร่างกายในเวลาต่อมา ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยจึงต้องมีผู้ดูแลเพื่อคอยช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน
ข่าวน่าสนใจ: