ในยุคข่าวสารมาไวไปไวรวดเร็วตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี บางข่าวก็เกิดกระแสทำให้คนไทยเกิดอาการตื่นตระหนกถี่ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) กลับมาระบาดเป็นระลอกๆ จนหลายคนเกิดภาวะแพนิค (Panic Disorder) ซึ่งมาพร้อมกับความกลัวต่างๆ หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าโรคแพนิคนั้นป่วยได้ไม่รู้ตัว ยิ่งหากไม่เข้าใจว่าอาการแบบไหนป่วยโรคแพนิค และไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้
: 11 สาเหตุโรคแพนิค ผู้หญิงป่วยมากกว่าผู้ชาย :
โรคแพนิค (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก บ้างก็เรียกว่า “โรคหัวใจอ่อน” หรือ “โรคประสาทลงหัวใจ” คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผล หรือหาสาเหตุไม่ได้ ถือเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรง ทั้งที่ไม่ได้ตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย หรือในบางรายทำได้ปกติและไม่เคยกลัวสิ่งๆ นั้น แต่จู่ๆ กลับกลายเป็นกลัว เช่น กลัวการขับรถ กลัวที่แคบ กลัวการเข้าลิฟต์คนเดียว กลัวขึ้นเครื่องบิน ซึ่งโรคแพนิคพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2-3 เท่า และมักมีอาการเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงอายุ 17-30 ปี สาเหตุของโรคแพนิค มีดังนี้
...
1. ระบบประสาทอัตโนมัติ (automatic nervous system) ของสมอง ฮอร์โมนลดกะทันหัน ทำให้สารสื่อในสมองผิดปกติ ส่งผลให้ประสาททำงานผิดพลาด สมองหลั่งสารตื่นตระหนกและเกิดปัญหาควบคุมความกลัว
2. ความเจ็บป่วยโรคทางกาย
3. การใช้สารเสพติด
4. กรรมพันธุ์
5. จิตใจได้รับความกระทบกระเทือนรุนแรงกะทันหัน เช่น เกิดอุบัติเหตุ ถูกทำร้าย ถูกข่มขืน การหย่าร้าง อกหัก ตกงาน
6. ความเครียดสะสมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
7. ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น
8. ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์เป็นเวลานาน
9. ดื่มเครื่องดื่มที่เป็นตัวกระตุ้นสมองในปริมาณมากเกินความจำเป็นของร่างกาย
10. ความรับผิดชอบสูงในหน้าที่การงาน
11. ปัญหาส่วนตัวที่ไม่สามารถแก้ไขได้
: 10 อาการสำคัญของโรคแพนิค พบอาการ 4 อย่างขึ้นไปเสี่ยงสูง :
ผู้ป่วยโรคแพนิคมักมาพร้อมความกลัวที่ถูกฝังในสมอง ส่วนใหญ่จะมีอาการเกิดขึ้นเองแบบกะทันหันอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีสิ่งใดมากระตุ้น อาการกำเริบซ้ำบ่อยๆ 10-20 นาที บางรายอาจเกิดอาการแพนิคนานเป็นชั่วโมง หลังจากอาการแพนิคหาย ผู้ป่วยมักอ่อนเพลียและกังวลกลัวว่าจะเป็นอีก ซึ่งลักษณะอาการแพนิคจะมีตั้งแต่ 4 อย่างขึ้นไป ดังต่อไปนี้
1. ใจสั่น หัวใจเต้นแรง เต้นเร็ว แน่นหน้าอก
2. หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม หรือแน่นในหน้าอก
3. มือสั่น ตัวสั่น ขาสั่น
4. มือเย็น เหงื่อแตกเต็มตัว รู้สึกหนาวสั่น หรือร้อนวูบวาบไปทั้งตัว
5. คลื่นไส้ ท้องไส้ปั่นป่วน
6. มึนงง วิงเวียนศีรษะ โคลงเคลง
7. รู้สึกคล้ายจะเป็นลม
8. มึนชา ปวดเสียวตามตัว
9. รู้สึกกลัวไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะกลัวตาย กลัวตัวเองเป็นบ้า
10. ควบคุมตัวเองไม่ได้ และอยู่คนเดียวไม่ได้
...
: 2 วิธีรักษาโรคแพนิค ยึดหลักองค์รวม :
เมื่อมีลักษณะอาการดังกล่าว และไม่แน่ใจว่าจะเป็นโรคแพนิคหรือเปล่า ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคให้แน่ชัดอย่างละเอียด เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ เจาะเลือดวัดระดับไทรอยด์ เพื่อค้นหาโรคทางด้านร่างกายอื่นๆ ที่อาจมีอาการคล้ายโรคแพนิค เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และหัวใจวายเฉียบพลัน
หากผลวินิจฉัยยืนยันป่วยโรคแพนิค ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาทางกายและใจควบคู่กัน ก็จะช่วยให้อยู่ร่วมโรคแพนิคอย่างมีความสุขจนรักษาหายขาด ดังนี้
1. รักษาทางกายด้วยการรับประทานยา เพื่อปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่ผิดปกติ โดยแพทย์จะให้ยาแก้ซึมเศร้า เช่น ฟลูออกซิทีน (fluoxetine) วันละครั้งหลังอาหารเช้า โดยเริ่มจากขนาดต่ำแล้วค่อยๆ ปรับเพิ่มทีละน้อย และให้ยากล่อมประสาท เช่น อัลปราโซแลม (alprazolam) รับประทานนานติดต่อกัน 4-6 สัปดาห์ หากอาการดีขึ้นจึงค่อยๆ ลดยากล่อมประสาทจนเหลือยาแก้ซึมเศร้าอย่างเดียว หลังควบคุมอาการได้ดี จะยังคงให้ยาต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1 ปี จึงค่อยๆ ลดยาลงจนหยุดยาได้ โดยใช้เวลา 2-6 เดือน
...
2. รักษาทางใจด้วยการทำพฤติกรรมบำบัด (Cognitive behavioral therapy) เพื่อปรับแนวคิดและพฤติกรรมของผู้ป่วยต่อโรคแพนิคและอาการของแพนิค เช่น ฝึกการหายใจเพื่อควบคุมสติเมื่อเกิดอาการหายใจไม่อิ่ม ฝึกคลายกล้ามเนื้อในผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะ หรือปวดตึงกล้ามเนื้อ ฝึกสมาธิ หรือควบคุมอาหารบางประเภทที่กระตุ้นให้อาการกำเริบ เช่น กาเฟอีน หรือน้ำอัดลม
: 10 วิธีรับมือ โรคแพนิค ไม่รักษาเสี่ยงป่วยโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ :
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยโรคแพนิค หากได้รับยารักษาอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง อาการจะหายและกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ แต่ถ้าขาดยา หรือไม่ยอมรักษาอย่างจริงจัง อาการมักเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เช่น แยกตัวเอง ไม่กล้าออกจากบ้าน ในเด็กอาจมีผลต่อพัฒนาการ การเข้าสังคม และการเรียนหนังสือ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า การฆ่าตัวตาย การติดแอลกอฮอล์ หรือติดยา บางรายอาจมีโรคย้ำคิดย้ำทำร่วมด้วย
...
เพราะฉะนั้นการรักษาจะช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติได้เร็วเพียงใด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลตัวเองด้วย ซึ่งผู้ป่วยโรคแพนิคควรปฏิบัติตัวดังนี้
1. กินยาและติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
2. ห้ามหยุดยาหรือลดขนาดยาเอง
3. ใช้ชีวิตตามปกติอย่างเหมาะสม
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ช่วยกระตุ้นการสั่งการของสมอง
5. งดหรือหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และสารกาเฟอีนกระตุ้นให้เกิดอาการใจหวิว ใจสั่น เช่น เหล้า ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง
6. ผ่อนคลายความเครียด ความวิตก ด้วยการฝึกสมาธิ หรือเล่นโยคะ
7. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่
8. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
9. นำตัวเองให้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด
10. ดูแลสภาพจิตใจตัวเองให้เข้มแข็ง มีความสุขกับสิ่งปัจจุบัน รวมถึงคิดบวกเพื่อสร้างกำลังใจให้ตัวเอง.
(ขอบคุณข้อมูล : รพ.เปาโล พหลโยธิน, หมอชาวบ้าน)
: ข่าวน่าสนใจ :