ปรากฏการณ์โรงเรียนวัดสังเวช จากที่เคยมีนักเรียนนับพันคน ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 150 คน ผอ.โรงเรียนไม่กังวลถูกยุบรวม หากมีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน
รมว.ศึกษาฯ ยันยังไม่ยุบโรงเรียนวัดสังเวช แม้จะมีแนวคิดยุบรวมโรงเรียน เพราะปัจจุบันโรงเรียนมีมากเกินไป ทำให้การบริหารจัดการส่งเสริมด้านการศึกษาไม่ทั่วถึง
ยอมรับ อยากจะยุบรวมโรงเรียนทั่วประเทศ มากกว่า 5,000 แห่ง พร้อมดันให้มีมัธยมดี 4 มุมเมือง เพิ่มงบดูแลการรับส่งนักเรียนช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ปกครองสำหรับโรงเรียนที่อยู่ไกล
ต้องบอกว่า เห็นสถิตินักเรียนแล้วน่าตกใจไม่น้อย สำหรับปรากฏการณ์ “โรงเรียนวัดสังเวช” ที่สำนักงานข่าวอิศรา ได้ทำการเปิดเผยเรื่องนี้ (ปรากฏการณ์ รร.วัดสังเวช! ทำไมจำนวน นร.จากหลักพัน วันนี้เหลือแค่143 คน? ) และจากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนรู้สึกแปลกใจมาก เนื่องจากมีความผูกพันกับโรงเรียนเหล่านี้ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากที่พักอาศัยในสมัยเด็กนัก
ด้วยความสงสัยใคร่รู้ จึงได้โทรไปพูดคุยกับ คุณครูจินตนา ถาคำ ผอ.โรงเรียนวัดสังเวช เมื่อปลายสายถูกกดรับ คุณครูจินตนาเองก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง ที่มีคนโทรมาถามเรื่องนี้ แต่เธอก็เล่าที่มาที่ไปของสาเหตุที่นักเรียนเหลือน้อยให้ผู้เขียนฟังว่า นักเรียนในโรงเรียนเหลือน้อยนั้นมีมาสักพักใหญ่แล้ว ส่วนตัวเลขสถิติคงต้องไปถามครูอีกท่านหนึ่งที่ดูแลส่วนนี้
“สาเหตุที่นักเรียนเหลือน้อยลง คงเป็นเพราะโรงเรียนวัดสังเวช ไม่ใช่โรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากนัก และก็เป็นแบบนี้หลายๆ โรงเรียน แต่ส่วนหนึ่งครูเชื่อว่า เกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนที่อาศัยใกล้เคียงกับโรงเรียน โดยเฉพาะย่านบางลำพู ได้ย้ายถิ่นฐานกลับไปทำงานต่างจังหวัด หรือย้ายออกนอกเขต ตัวเลขนักเรียนที่มาลงเรียนจึงลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ”
...
ในฐานะ ผอ.โรงเรียน ก็ไม่ได้รู้สึกกังวล หากนักเรียนจะลดลงกว่านี้ เพราะเราก็ทำหน้าที่ในการจัดการการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ คุณครูที่มีก็พยายามทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่เช่นกัน เพียงแต่..ถ้าลดลงไปมากกว่านี้ หรือ ถ้ามีน้อยกว่า 120 คน โรงเรียนก็อาจจะต้องถูกยุบรวมกับโรงเรียนอื่น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ สพฐ. ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าว ยังถือเป็นแนวทางเท่านั้น ยังไม่ถึงกับบังคับใช้แต่สุดท้ายก็จะขึ้นอยู่กับนโยบายของ สพฐ.
“สิ่งที่เราทำคือ การพยายามหานักเรียนเพิ่ม โดยเปิดโอกาสให้เด็กในพื้นที่เข้ามาสมัคร นอกจากนี้ ยังอยากจะชักชวนเด็กนักเรียนที่มีความสามารถ เช่น เก่งภาษาอังกฤษ กีฬา ศิลปะ เข้ามาเรียน” คุณครูจินตนา กล่าวทิ้งท้าย..
อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวมข้อมูลของผู้เขียนจากเว็บไซต์ สพฐ. พบว่า 5 ปีหลังสุด โรงเรียนวัดสังเวชมีนักเรียนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่องจริงๆ โดยในปีการศึกษา 2559 มีจำนวนนักเรียนชายและหญิง รวมกัน 231 คน ปีการศึกษา 2560 มีนักเรียน 210 คน ปีการศึกษา 2561 มีนักเรียน 181 คน ปีการศึกษา 2562 มีนักเรียน 181 คน มีนักเรียน 170 คน และ ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียน 145 คน เท่านั้น โดยมีครู 8 คน และ ครูผู้ช่วย อีก 2 คน อัตราครูกับนักเรียน 1 : 14 คน
ในขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีจำนวนไม่มากนัก ก็มีตัวเลขลดลงต่อเนื่องใกล้เคียงกัน เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ปีการศึกษา 2559 มีจำนวนนักเรียน 390 คน และตัวเลขนักเรียนก็ลดลงต่อเนื่องจนถึงปี 2562 มีนักเรียนลดเหลือ 275 คน และในปี 2563 มีตัวเลขเพิ่มขึ้น เป็น 309 คน
เช่นเดียวกับโรงเรียนวัดเบญจมบพิตร ปีการศึกษา 2559 มีนักเรียน 565 คน ในปี 2563 มีจำนวนนักเรียน 441 คน เรียกว่า หายไปเป็น 100 คน!
กลับกัน เมื่อหันมาดูโรงเรียนที่มีคะแนนเฉลี่ย O-NET สูงสุด อย่าง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีนักเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีการศึกษา 2559 มีจำนวนนักเรียน 4,343 คน ในปีการศึกษา 2563 มีจำนวนนักเรียน 4,444 ส่วนโรงเรียนสตรีวิทยา และสามเสนวิทยา มีจำนวนนักเรียนไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก มีเพียงโรงเรียนสวนกุหลาบฯ ที่มีตัวเลขลดลง จากปีการศึกษา 2559 จำนวน 3,443 คน ปีการศึกษา 2563 มีจำนวนนักเรียน 3,109 คน หายไปราว 300 คน
...
จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน “วัดสังเวช” ผู้เขียนจึงได้นำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีที่เด็กๆ พูดถึงมากที่สุดในเวลานี้..?
นายณัฏฐพล บอกกับผู้เขียนว่า ตอนนี้คงไม่ยุบรวมโรงเรียนวัดสังเวช รวมถึงโรงเรียนอื่นๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ความพร้อมของแต่ละโรงเรียนนั้นมีความแตกต่างกัน เราคงต้องมาศึกษาในรายละเอียด สิ่งที่อยากทำคือ อยากจะสนับสนุนโรงเรียนต่างๆ ให้มากกว่านี้
แต่..นายณัฏฐพล เองก็ยอมรับว่า ปัญหาของการศึกษาไทยในเวลานี้ ส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำที่มีมานานแล้ว ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาพยายามยกระดับทุกโรงเรียนทั่วประเทศให้ดีขึ้น โดยอาศัยการเก็บข้อมูลโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะขนาดของโรงเรียนมีความหลากหลาย
“ปัญหาการศึกษาของไทย คือ มีจำนวนโรงเรียนมากเกินไป โดยเฉพาะโรงเรียนเล็กๆ เวลาจัดสรรงบประมาณ จึงจำเป็นต้องทำให้ทั่วถึง แต่ความเป็นจริงคือ งบประมาณมีจำนวนจำกัด ถ้าหากเราสามารถสร้างโรงเรียนดีๆ ให้มีจำนวนมากขึ้น ยกระดับให้สูงกว่านี้ จะเรียกว่า “ควบรวม” หรือ “ยกระดับโรงเรียน” ก็แล้วแต่..”
...
รมว.ศึกษาธิการ บอกกับผู้เขียนว่า เราต้องกล้าตัดสินใจ เราอาจจะคุ้นเคยเพราะมีโรงเรียนอยู่หน้าบ้าน แต่หากเรามีแรงจูงใจ มีความพร้อม เราก็อาจจะยุบโรงเรียน ถึงแม้ผู้ปกครองอาจจะต้องใช้เวลาในการเดินทางมากขึ้น แต่สิ่งที่ได้มา ก็คือ คุณภาพของโรงเรียนก็จะดีขึ้น ซึ่งเบื้องต้น คาดว่า ทั่วประเทศน่าจะลดลงกว่า 5,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ส่วน กทม. ยังตอบไม่ได้ในเวลานี้ ต้องดูตามบริบท เพราะเราต้องลงเก็บตัวอย่างในชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องประชากรแฝงใน กทม. อีก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสถานะทางเศรษฐกิจ การย้ายถิ่นฐาน
สิ่งที่จะเพิ่มขึ้นมา คือ เรามีโครงการ “มัธยมดี 4 มุมเมือง” คือ เราต้องเพิ่มโรงเรียนที่ดี ได้มาตรฐานในทุกจังหวัด มีความสามารถในการถ่ายทอดให้เท่าเทียมกับโรงเรียนประจำจังหวัด ซึ่งความโดดเด่นของโรงเรียน เราต้องสร้างให้เห็น
แต่การยุบรวมโรงเรียน จะสร้างภาระให้กับเด็กและผู้ปกครอง หรือไม่ ผู้เขียนย้อนถาม รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งนายณัฏฐพล ก็แจงว่า หากลดรวมโรงเรียน จะทำให้ภาครัฐเสียค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนโรงเรียนต่างๆ น้อยลง ดังนั้น เมื่อเรามีเงินตรงนี้เราจะเพิ่มในส่วนของรถโรงเรียน เพิ่มเป็นค่าเดินทาง ซึ่งตรงนี้ก็คือแผนที่เราวางไว้ ไม่ได้จะลดอย่างเดียว แต่ต้องมีแผนรองรับ
...
แล้วเมื่อถามว่า ครูเอง ด้วยหรือเปล่า นายณัฏฐพล เชื่อว่าครูมีศักยภาพทุกคน แต่จะเท่าทันการเรียนการสอนในปัจจุบันหรือไม่ก็ต้องพยายามทำให้ทัน อยากให้คุณครูเข้าใจ ในการปรับแนวทาง ซึ่งกลับมาเรื่องเดิม หากมีโรงเรียนมากมาย จนครูไม่มีเวลาฝึกอบรมในการพัฒนา มันก็ยาก
ทั่วประเทศไทยมีสัดส่วนครูต่อนักเรียน ดีอยู่แล้ว คือประมาณ 1:16-17 คน แต่..เรายังเห็นนักเรียนห้องหนึ่งมี 30-40 คนต่อห้องอยู่เลย สาเหตุเพราะเรายังพอบริหารจัดการตัวเลขได้ ใจจริงเราอยากจะทำให้ดีกว่านี้ ซึ่งตอนนี้ถือว่าเราดีที่สุดในโลกแล้ว แต่..ปัญหาคือ บางครั้งเราได้ครูไม่ตรงกับวิชาเรียน ครูไม่ครบชั้นเรียน ตรงนี้เองคือสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการ เราต้องทำอย่างละเอียดมากกว่านี้
“แม้ตัวเลขภาพรวมจะดูดี แต่ปัญหาไม่ได้อยู่แค่ตรงนี้ ยกตัวอย่างโรงเรียนในต่างจังหวัด แม้ห้องเรียนจะมี 1:16-17 ก็จริง แต่มีทั้งหมด 8 ห้อง อนุบาลถึง ป.6 ถ้าครูมีน้อยก็จะสอนกันไม่ได้ ครูเองต้องมีความเชี่ยวชาญในการสอนควบชั้นเรียน
กลับมาที่กรุงเทพฯ โรงเรียนดังๆ มีนักเรียนมากกว่า 3 พันคนทั้งนั้น หากโรงเรียนมีคุณภาพก็ไม่มีปัญหา แต่..ความจริงก็ถือว่ามากไป เพราะโรงเรียนดังในโลกนี้ มีไม่มากนักที่มีนักเรียนหลัก 3-4 พัน
“หากเราสร้างมัธยมดีใน 4 มุมเมือง ก็ไม่จำเป็นที่นักเรียนต้องมาเรียนใน กรุงเทพฯ ความต้องการตรงนี้ก็น้อยลงไป”
มีโอกาสเป็นไปได้ไหม ที่ทุกโรงเรียนจะมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน คำถามตัวโตๆ ที่ถาม รมว.ศึกษาฯ ซึ่งนายณัฏฐพล ตอบว่า “ผมว่ามันมีแน่นอน แต่ต้องมีเวลาสร้างมันขึ้นมาให้ได้ ขณะเดียวกัน ถ้ามีมากมายถึง 3 หมื่นโรงเรียน มันก็ทำยาก แต่ถ้าเหลือหลักหมื่นมันก็มีโอกาส
เมื่อผู้เขียนคุยกับนายณัฏฐพล มาสักพักใหญ่ ก็ถึงเวลาต้องวางสายพูดคุย แต่จะไม่ถามอะไรทิ้งท้ายเลยก็ดูแปลกๆ คำถามสุดท้ายร้ายสุดจึงถามว่า ตอนนี้เด็กๆ ออกมาเรียกร้องมากมาย มีสิ่งไหนไหมที่ รมว.ศึกษาธิการคนนี้จะทำให้ได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ คณะกรรมการเพิ่งทำรายงานส่งเข้ามา ดังนั้นขอหารือเบื้องต้นก่อน โดยเฉพาะเรื่อง “ชุดนักเรียน” และ “ทรงผม” น่าจะเป็นเรื่องแรกที่จะมีผลติดตาม จากการประชุม
“ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาของนักเรียน จนมองส่งผลกระทบกับอนาคต ผมขอรับผิดชอบและดูแล ส่วนจะตรงใจใครหรือไม่ ก็คงต้องรอดูกันไป แต่คงไม่สามารถตอบโจทย์ทุกคนทุกกลุ่มได้ โดยผมพร้อมที่จะดูแลการศึกษาของประเทศไทย”
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Supassara Traiyansuwan
อ่านข่าวที่น่าสนใจ