รู้จักโรคร้ายเรื้อรังที่เชื้อร้ายจะแฝงอยู่ในปมประสาทร่างกายไปตลอดชีวิต รักษาให้หายขาดไม่ได้ มีสิทธิ์กลับมาป่วยซ้ำบ่อยครั้ง เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้มีเชื้อโรคร้ายในร่างกายจะดีที่สุด เพราะคุณต้องต่อสู้กับมันทั้งชีวิต เพื่อไม่ให้สำแดงอาการ

เชื้อร้ายที่ว่านี้คือ เชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus) หรือ HSV สาเหตุทำให้เกิด “โรคเริม” ซึ่งพบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในวัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ และในเด็กอายุ 6 เดือน-3 ขวบ อาศัยในชุมชนแออัด และมีสุขอนามัยไม่ดี

การปฏิบัติตนให้ปลอดภัย ป้องกันการติดเชื้อโรคเริม หรือหากป่วยโรคเริม ควรดำเนินชีวิตอย่างไรไม่ให้แพร่เชื้อ เรามาค้นหาคำตอบจาก แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนังมากว่า 30 ปี

: สาเหตุโรคเริม 2 ชนิดร้ายทำร้ายปาก อวัยวะเพศ :

เชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus) หรือ HSV ที่ทำให้เกิดโรคเริม แพทย์หญิงมิ่งขวัญ เริ่มอธิบายเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า เชื้อไวรัสเริม เป็นเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกัน แต่ต่างชนิดกับอีสุกอีใสและงูสวัด แต่ เชื้อไวรัสเริม แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1.ไวรัสเริมชนิด 1 (Herpes simplex virus 1 หรือ HSV-1) ทำให้เกิดอาการผื่นตุ่มน้ำกำเริบที่ปาก
2.ไวรัสเริมชนิด 2 (Herpes simplex virus 2 หรือ HSV-2) ทำให้เกิดอาการผื่นตุ่มน้ำกำเริบที่อวัยวะเพศ

...

: 3 ช่องทางแพร่กระจาย ติดต่อเชื้อโรคเริม :

การติดต่อของโรคเริม จากข้อมูลที่แพทย์หญิงมิ่งขวัญ ให้การรักษาผู้ป่วยโรคเริมมาหลายสิบปี มี 3 ช่องทางการแพร่เชื้อ ดังนี้

1.ทางเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด องคชาต ปากมดลูก ทวาร หรือปาก ผ่านรอยถลอกของผิวหนัง หรือทางเยื่อเมือก ไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย สารคัดหลั่ง แม้กระทั่งการจูบ
2.สัมผัสผู้ที่เป็นโรค ที่ทั้งแสดงอาการ หรือไม่แสดงอาการ เช่น ผื่นตุ่มน้ำ รอยโรค มือติดโรคแล้วป้ายเข้าตา
3.การกินและการใช้ของใช้ร่วมกัน 

: อาการโรคเริม คุกคาม 3 บริเวณสำคัญของร่างกาย :

เชื้อโรคเริม ถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย เพราะหากเชื้อโรคเริมเข้าสู่ร่างกายในชั้นผิวหนัง จะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วันหลังได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่จึงไม่มีอาการในวันแรก จากนั้นเชื้อจะเริ่มแบ่งตัวและเริ่มมีอาการปวดเสียวนำมาก่อนประมาณ 30 นาที ถึง 48 ชั่วโมง ภายใน 2-12 วัน บริเวณผิวหนังริมฝีปาก เกิดกลุ่มตุ่มน้ำใส ขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร รอบๆ จะมีผื่นแดง ต่อมาตุ่มน้ำใสนี้จะกลายเป็นสีเหลืองขุ่นแล้วแตกกลายเป็นสะเก็ด เป็นแผลตื้นๆ ทำให้มีอาการไข้ ปวดตามตัว ปวดศีรษะ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผล และหายในระยะเวลาประมาณ 2-6 สัปดาห์ 

ส่วนเริมในช่องปาก (Herpetic gingivostomatitis) พบทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ระยะฟักตัวโรคประมาณ 2-3 วัน หรืออาจนาน 20 วัน อาการในเด็กเล็กจะมีไข้ ร้องงอแง ไม่ยอมดูดนม ไม่กินอาหาร จากนั้นมีตุ่มน้ำขึ้นที่เยื่อบุริมฝีปาก เหงือก ลิ้น และเพดานปาก ไม่นานจะแตกเป็นแผลตื้น และแผลจะหายเองภายใน 10-14 วัน กรณีเด็กโตและผู้ใหญ่ ช่วงระยะแรกจะมีอาการเจ็บคอ ต่อมาตรวจพบหนองที่ผนังคอหอย หรือแผลบนทอนซิล มีแผลที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม เหงือก และอาจมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย ซึ่งอาการจะหายเองภายใน 7-10 วัน

สำหรับเริมที่อวัยวะเพศ (Herpes genitalis) มีระยะฟักตัวของโรค 2-10 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย และเกิดผื่นตุ่มน้ำหรือแผลแดงๆ คล้ายรอยถลอกบริเวณอวัยวะเพศ หนังหุ้มปลายองคชาต องคชาต ถุงอัณฑะ ต้นขา ก้น รอบทวารหนัก หรือในท่อปัสสาวะ ส่วนผู้หญิงจะเกิดบริเวณปากช่องคลอด ก้น รอบทวารหนัก ในช่องคลอด หรือที่ปากมดลูก โดยผื่นตุ่มอาจมีอาการเจ็บหรือคันร่วมด้วย ต่อมาจะแห้งตกสะเก็ดหรือไม่มี แล้วหายไปได้เอง โดยอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์

...

: 7 สิ่งกระตุ้น ปลุกฤทธิ์คืนให้เป็นเริมซ้ำบ่อยๆ :

แต่หลังจากหายจากโรคเริมเป็นปลิดทิ้ง แพทย์หญิงมิ่งขวัญ แนะอย่านิ่งนอนใจ เพราะเชื้อโรคเริมจะเข้าไปหลบซ่อนอย่างสงบ โดยไม่มีการแบ่งตัวที่ปมประสาทใต้ผิวหนัง หรือเยื่อบุไปตลอดทั้งชีวิต แต่หากเมื่อใดก็ตามที่ภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำจากปัจจัยอื่นๆ ดังนี้

1.วิตกกังวล เครียด
2.โดนแสงแดดมาก
3.เป็นไข้ ร่างกายอิดโรย อ่อนเพลีย
4.พักผ่อนไม่เพียงพอ
5.ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์                                                                           6.ผ่านการผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาท                                                                            7.ขาดสารอาหาร

เชื้อเริมที่แฝงตัวอยู่จะแบ่งตัวเจริญเติบโต ปลุกฤทธิ์คืน (Reactivation) จะทำให้เป็นซ้ำได้บ่อยๆ บางครั้งอาจเป็นซ้ำถึงปีละ 3 ครั้ง แต่จะค่อยๆ ลดไปเมื่ออายุสูงขึ้น แต่อาการจะน้อยกว่าการเป็นครั้งแรกๆ หายเร็วกว่า และไม่มีอาการไข้ร่วมด้วย เช่น ตุ่มน้ำมีขนาดเล็กและมีจำนวนตุ่มน้ำน้อยกว่า และจะมีอาการเตือน หรืออาการนำในตำแหน่งใกล้เคียงกับตำแหน่งเดิมที่เคยเป็น เช่น คันยิบๆ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่จะเป็น แต่ยังไม่มีตุ่มน้ำใส ต่อมาจะเกิดกลุ่มตุ่มน้ำ โดยเริมที่ริมฝีปาก มีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 20-40% ส่วนเริมที่อวัยวะเพศ จะมีอัตราการเกิดเป็นซ้ำประมาณ 80%

...

: วิธีรักษาโรคเริม หากอาการไม่แน่ชัด วินิจฉัย 4 วิธี : 

โดยปกติแล้วโรคเริมที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์หญิงมิ่งขวัญ ยืนยันว่า สามารถหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่โรคเริมไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะฉะนั้นหากมีอาการโรคเริม เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง แพทย์หญิงมิ่งขวัญ ชี้แนะว่า หลังมีอาการให้มาพบแพทย์ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง เพื่อรีบให้การรักษา โดยให้รับประทานยาต้านไวรัส เช่น ยา Acyclovir, Valacyclovir, Docosanol หรือ Famciclovir เพื่อช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายเร็วขึ้น ลดการปวดแผล  

ส่วนกรณีผู้ป่วยบางรายไม่มีอาการชัดเจน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัย โดยตรวจหาเชื้อจากห้องปฏิบัติการด้วยวิธีต่างๆ เช่น ขูดผิวหนังบริเวณแผลไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์, ตรวจเลือด,  การเพาะเชื้อ, การทดสอบทางน้ำเหลือง เพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน หากผลวินิจฉัยยืนยันป่วยเป็นโรคเริม แพทย์จะรักษาได้โดยสั่งจ่ายยาเพื่อควบคุมเชื้อไวรัสและบรรเทาอาการ

...

: 6 วิธีการดูแลรักษาโรคเริมด้วยตัวเอง :

ในการรักษาโรคเริม นอกจากรักษาอย่างถูกต้องตามแพทย์สั่งแล้ว อีกหนึ่งสำคัญที่นอกจากจะช่วยให้หายป่วยได้เร็วมากขึ้น แล้วยังช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หญิงมิ่งขวัญ ดังนี้

1.ทำความสะอาดตุ่มน้ำเบาๆ ด้วยสบู่ฆ่าเชื้อ น้ำ หรือใช้น้ำเกลือกลั้วปาก หากมีแผลในปาก
2.ไม่แกะเกา ตัดเล็บให้สั้น อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด ป้องกันไม่ให้ตุ่มกลายเป็นหนองและแผลเป็น
3.หากไข้สูง เช็ดตัวบ่อยๆ ด้วยผ้าชุบน้ำ และรับประทานยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาไข้
4.พักผ่อนและดื่มน้ำมากๆ
5.หากเป็นเริมที่ปาก หลีกเลี่ยงอาหารร้อน รสเผ็ด หรือเค็ม รวมถึงผลไม้รสเปรี้ยว เนื่องจากจะทำให้แสบร้อนหากโดนบริเวณตุ่มน้ำ
6.ตรวจเลือดเป็นประจำ

: 7 วิธีป้องกันโรคเริม : 

สำหรับผู้ติดเชื้อเริม เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ให้ยึดหลักปฏิบัติให้เคร่งครัด ดังนี้

1.หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เป็นเริมซ้ำ
2.หากเป็นเริมซ้ำบ่อยมากกว่า 6 ครั้งต่อปี ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาการรับประทานยาต้านไวรัสทุกวัน เพื่อป้องกันเริมกลับมาเป็นซ้ำ
3.ผู้ที่ไม่ติดเชื้อ พึงหลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย สารคัดหลั่งของผู้ป่วย
4.ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดต้องงดใช้ของใช้ส่วนตัว หรือกินข้าวร่วมกัน

5.ผู้ที่มีรอยโรคเริมบริเวณอวัยวะเพศ สามารถแพร่เชื้อให้คู่นอนได้ เพราะฉะนั้นควรงดมีเพศสัมพันธ์ ตั้งแต่เริ่มมีอาการนำจนกว่าแผลจะหายสนิท
6.ควรใช้ถุงยางทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากโรคเริมสามารถแพร่เชื้อสู่คู่นอนได้ แม้ผู้ป่วยไม่มีอาการ

7.ผู้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อไวรัสเริม ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการส่งผลต่อทารกในครรภ์

"โรคเริม" เป็นอีกโรคภัยร้ายที่น่ากลัวจริงๆ หลังได้รู้จักโรคนี้แล้ว จงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเอง ออกกำลังกายให้แข็งแรงอยู่เสมอนะคะ. 

ข่าวน่าสนใจ :