สมุนไพรคืออีกหนึ่งทางเลือกของคนในการดูแลสุขภาพ แต่เอ่ยชื่อ “รากสามสิบ” (Asparagus racemosus Willd.) หลายคนคงยังไม่เคยรู้จัก และยังไม่รู้ว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร เรามีคำตอบเคลียร์ชัดจาก รศ.ดร.ภญ.นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

: ทำความรู้จักรากสามสิบ มีเหง้าใต้ดินเป็นร้อยๆ :

รากสามสิบคืออะไร รศ.ดร.ภญ.นพมาศ อธิบายว่า เป็นไม้เถาเลื้อย มีหนามแหลม มีเหง้าและรากใต้ดินเป็นร้อยๆ คล้ายกับรากกระชาย ลำต้นมีความสูงประมาณ 1.5-5 เมตร เป็นพืชที่ชอบแสงแดดและเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่ไม่อุ้มน้ำ มีต้นกำเนิดมาจากแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย และกระจายไปประเทศอื่นๆ 

รากสามสิบ อยู่ในวงศ์เดียวกับหน่อไม้ฝรั่ง (ASPARAGACEAE) ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ดหรือแยกหน่อ และมีชื่อเรียกแตกต่างในแต่ละภาค โดยคนภาคกลางมักเรียก “รากสามสิบ” หรือ “สามร้อยราก” เพราะมีรากเยอะ ภาคอีสานเรียก “ผักชีช้าง” ภาคใต้เรียก “ผักหนาม”

...

: 14 สรรพคุณรากสามสิบ รักษาหรือป้องกันโรคอะไรบ้าง :

สำหรับคุณประโยชน์ของรากสามสิบ รศ.ดร.ภญ.นพมาศ ให้ข้อมูลจากสรรพคุณตามภูมิปัญญาและการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ “รากสามสิบ” มีสารสำคัญในกลุ่ม Steroidal Saponins ซึ่งเป็นสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) มีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนในมนุษย์ จึงนิยมนำ “ราก” มาทำยา ประโยชน์ของรากสามสิบ ดังนี้

1.แก้อาหารไม่ย่อย
2.สารสำคัญในกลุ่ม Steroidal Saponins ที่พบในรากสามสิบ ยังช่วยต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาวต่ำ
3.เพิ่มปริมาณอินซูลินในเลือดและตับอ่อน ทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
4.บำรุงน้ำนม และกระตุ้นน้ำนม


5.ลดระดับไขมัน และลดระดับน้ำตาลในเลือด
6.กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
7.ยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
8.ลดความดันโลหิต 
9.บำรุงหัวใจ และป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
10.ลดอาการหัวใจโตที่เกิดจากความดันโลหิตสูง 
11.ช่วยรักษาอาการผิดปกติต่างๆ ในสตรีวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน ผิวหนังหยาบกร้าน หย่อนยาน ความจำสั้น รวมถึงโรคกระดูกพรุน
12.แก้อาการท้องเสีย
13.แก้ไอ                                                                                     
14.แก้ริดสีดวงทวาร ช่วยขับลม 

: วิธีกิน “รากสามสิบ” ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ :

รากสามสิบสรรพคุณเหลือคณานับจริงๆ นอกจากนำรากต้ม มีรสเย็น หวานชุ่ม ดื่มเป็นยาแล้ว  หากนำต้นหรือรากต้มกับน้ำ นำมาดื่มเป็นยารักษาโรคคอพอกได้อีกด้วย ส่วน ผลรากสามสิบ มีรสเย็น ใช้ปรุงเป็นยาแก้พิษไข้เซื่องซึม แก้พิษไข้กลับไข้ซ้ำ โดยใช้ร่วมกับผลราชดัด เพื่อเป็นยาดับพิษไข้จากบิดเรื้อรัง หรือนำรากมาตากแห้งแล้วบดเป็นผงปั้นเป็นลูกกลอนกินกับน้ำผึ้ง  

นอกจากนี้ส่วนอื่นๆ ของรากสามสิบก็นำมารับประทานได้ ทั้งผลอ่อน ใบ วิธีการนำรากสามสิบมากิน รศ.ดร.ภญ.นพมาศ แนะว่า สามารถนำมาแปรรูปเป็นทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน เช่น แกงเผ็ดลูกสามสิบ นำใบสามสิบมาลวกจิ้มน้ำพริกต่างๆ หรือนำรากสามสิบมาแช่อิ่มอีกด้วย

สำหรับการทำรากสามสิบแช่อิ่ม ดังนี้

1.ล้างรากสามสิบให้สะอาด ปอกเปลือกและดึงไส้ออก
2.หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ และล้างให้สะอาดอีกครั้ง
3.ต้มน้ำให้เดือด แล้วเติมน้ำตาลทราย
4.เคี่ยวจนน้ำตาลทรายละลาย แล้วใส่รากสามสิบ
5.เคี่ยวต่อจนเป็นสีเหลืองทองก็สามารถนำมากินได้

...

: สตรีป่วย 2 โรค ควรระวัง ห้ามกินรากสามสิบ :

สรรพคุณของรากสามสิบเป็นยาบำรุงสุขภาพได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ผู้ชายบางคนนิยมนำรากสามสิบทำเป็นยาดอง แล้วกินเป็นยาบำรุงกำลัง แม้แต่ในประเทศอินเดียก็ใช้ ส่วนผู้หญิงก็ช่วยบำรุงหลายอย่างตามข้อมูลที่ให้ไว้เช่นกัน นอกจากนี้หากนำรากมาต้มให้วัวนมกิน ยังช่วยกระตุ้นน้ำนมในวัวนมได้อีกด้วย

ด้วยสรรพคุณที่มากล้น โดยเฉพาะกับผู้หญิง ทำให้รากสามสิบมีชื่ออีกอย่างว่า “สาวร้อยผัว” หรือ “สามร้อยผัว” เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าใด พอได้รับประทานรากสามสิบแล้วจะทำให้สุขภาพแข็งแรง ดูสาว พร้อมมีสามี มีลูกได้เสมอ แม้อายุจะมากก็ตาม แต่ไม่ใช่กินแล้วจะสามารถมีสามีได้เป็นร้อยคน เพราะรากสามสิบช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของสตรี ไม่ว่าจะเป็นภาวะประจำเดือนไม่ปกติ ภาวะหมดประจำเดือน วัยทอง ปวดประจำเดือน ตกขาว มีบุตรยาก หมดอารมณ์ทางเพศ ช่วยบำรุงครรภ์ บำรุงน้ำนม ป้องกันการแท้ง ฯลฯ 

...

แต่ทุกอย่างมีประโยชน์ก็ย่อมมีโทษ รศ.ดร.ภญ.นพมาศ ฝากเตือนผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และเนื้องอกมดลูก ห้ามกินรากสามสิบ เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนจะกระตุ้นการเจริญของมะเร็งและเนื้องอก 

: ข่าวน่าสนใจ :