เอ่ยชื่อ ลิมโฟมา หลายคนคงงงว่าคือโรคอะไร หากบอก “ลิมโฟม่า” หรือเรียกอีกชื่อว่า “โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง” (Lymphoma) บางคนอาจร้องอ๋อ เพราะโรคร้ายนี้คร่าชีวิตคนดังมาหลายคน โดยในปี 2557 "เป็ด-อภิชาติ นรเศรษฐาภรณ์" ช่างแต่งหน้ามือทองของเมืองไทยก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ล่าสุด “พลอย” มณฑินี ตั้งพงษ์ อดีตนักเทนนิสหญิงทีมชาติไทย เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 63 รวมถึงนักร้องดัง นุ๊ก สุทธิดา ตรวจพบเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง กำลังรักษาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา 

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ฉะนั้นการรู้จักโรคไว้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อสังเกตตัวเองอยู่เสมอ กรณีเกิดอาการสุ่มเสี่ยง และรีบไปพบแพทย์โอกาสรอดชีวิตสูง

: ทำความรู้จักมะเร็งต่อมน้ำเหลืองคืออะไร รู้ช้าเสี่ยงตายใน 6 เดือน :

“มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” เป็นโรคมะเร็งที่มีความผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง ทำให้เกิดเนื้องอกร้ายกระจายไปอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย เพราะต่อมน้ำเหลืองมีอยู่ทั่วอวัยวะร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น คอ รักแร้ ข้อพับแขน ข้อพับขา ช่องอก ช่องท้อง ลำไส้ กระเพาะ ตับ ม้าม ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร หรือระบบประสาท 

...

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น มี 2 ประเภท คือ
            1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma) แต่พบได้น้อย
            2.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) ที่แบ่งออกได้อีก 30 ชนิดย่อย และสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ
                  2.1 ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indent) เซลล์มะเร็งแบ่งตัวค่อนข้างช้า มีอาการค่อยเป็นค่อยไป ปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายขาด
                 2.2 ชนิดรุนแรง (Aqqressive) เซลล์มะเร็งแบ่งตัวเร็ว หากไม่ได้รับการรักษาจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือน-2 ปี แต่หากรักษาทันท่วงที โอกาสหายขาดสูง

: 4 ปัจจัยเสี่ยง เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง :

สาเหตุการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นยังไม่แน่ชัด แต่โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังมี 4 ปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

1. ผู้ที่ได้รับสารเคมีบางชนิด เช่น สารเคมีปราบศัตรูพืช 
2. ผู้มีสมรรถภาพภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น ผู้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ได้ยากดภูมิคุ้มกัน โรคไขข้ออักเสบ
3. กรรมพันธุ์ทางครอบครัว
4. ติดเชื้อไวรัส HIV

: 15 อาการพบบ่อย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง :

อาการเร่ิมต้นและแพร่กระจายของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่พบบ่อยๆ ดังนี้

1. มีก้อนใหญ่กว่า 2 ซม. แต่กดแล้วไม่มีอาการเจ็บ เกิดขึ้นที่คอ รักแร้ ขาหนีบ เต้านม นานกว่า 2 สัปดาห์
2. มีไข้เป็นพักๆ กลางคืนเหงื่อออกมาก คันทั่วร่างกาย
3. อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. เบื่ออาหาร
5. น้ำหนักลดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ ในเวลา 6 เดือน
6. ไอเรื้อรัง
7. หายใจไม่สะดวก
8. ต่อมทอนซิลโต
9. ปวดศีรษะ ปวดกระดูก
10. ใบหน้า คอบวม เนื่องจากต่อมน้ำเหลืองที่คอโตไปกดเส้นเลือดใหญ่ที่คอ ทำให้บวมและออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ
11. กลืนลำบาก คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องรุนแรง เพราะทางเดินอาหารอุดตัน
12. ตับ ม้ามโต ตัวและตาเหลือง
13. อาการระยะลุกลาม ซีด มีเลือดออกง่าย เช่น มีจุดเลือด จ้ำเลือดตามตัว
14. แน่นท้อง หรืออาหารไม่ย่อย ท้องโตจากการมีน้ำในช่องท้อง เพราะมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเกิดภายในช่องท้อง
15. ชา ปวดตามแขน ขา เพราะต่อมน้ำเหลืองที่โตกดเบียดอวัยวะข้างเคียง

...

: 4 ขั้นตอนวิธีวินิจฉัย โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง :

ทั้งนี้ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง สามารถรักษาหาย หากมาพบแพทย์เร็ว และไม่อยู่ในระยะแพร่กระจาย ดังนั้นใครที่กังวลใจ จึงควรสังเกตอาการต่างๆ ของตัวเองอยู่เสมอ การคลำเจอก้อนอาจไม่ใช่ก้อนมะเร็งเสมอไป อาจเพราะการอักเสบจากการติดเชื้อ หรือโรคอื่นที่ไม่ใช่มะเร็ง หากคลำเจอก้อนควรรีบไปพบแพทย์ ทำการวินิจฉัย 4 ทางเลือก เพื่อตรวจหามะเร็งต่อมน้ำเหลือง และรักษาได้ทันท่วงที ดังนี้

1. ตัดชิ้นเนื้อตรงตำแหน่งที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
2. เจาะเลือดตรวจ
3. ตรวจความผิดปกติของโครโมโซม
4. หลังการรักษา เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) บริเวณช่องท้อง ทรวงอก เพื่อติดตามผลการรักษา ดูขนาดของต่อมน้ำเหลืองเพื่อรักษาตามอาการจนหาย

...

: 4 แนวทางการรักษา โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง :

สำหรับในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน จะใช้วิธีใดรักษาก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่พิจารณาจากอาการและประเภทชนิดย่อยของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปกติทั่วไปมี 5 วิธีในการรักษา ดังนี้
           1. เฝ้าติดตามโรค กรณีผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป โดยแพทย์จะตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจทางรังสีเป็นระยะๆ
            2. ใช้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง
            3. ฉายรังสี (Radiation Therapy) ปริมาณสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
            4. ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Transplantation) จากเซลล์ของผู้บริจาค และเซลล์ผู้ป่วย

: วิธีป้องกัน ดูแลสุขภาพ ไกลห่างโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง :

อย่างไรก็ดี มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา ผู้ใหญ่ วัยชรา หรือแม้จะเป็นวัยเด็ก ก็สามารถเป็นได้ แต่ทั้งนี้พบบ่อยในกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 20 ปี ถึง 40 ปี และผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป เพราะฉะนั้นหากมีความผิดปกติของร่างกายที่เกิดขึ้นตามที่แจ้งไว้ข้างต้น ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะหากรักษาได้เร็วโอกาสรอดชีวิตสูง

...

สำหรับผู้ที่กังวลใจ เรามีวิธีดูแลตนเองง่ายๆ ให้ห่างไกลโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง คือ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารที่มีพลังงานและมีโปรตีนสูง เช่น ไข่ขาว, เนื้อสัตว์ต่างๆ, หลีกเลี่ยงการกินยาชุด ยาหม้อ ยาลูกกลอน, ออกกำลังกายสม่ำเสมอเหมาะสมวัย

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สุขภาพดีแล้ว ยังช่วยปกป้องให้ห่างไกลจากโรคภัยอื่นๆ ด้วย การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ เพราะฉะนั้นต้องใส่ใจสุขภาพตนเองให้มาก อย่าโหมงานหนักจนละเลยการดูแลตัวเอง และหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองกันเถิด เริ่มต้นเสียแต่วันนี้ก็ยังไม่สาย เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงในระยะยาว.

อ่านข่าวที่น่าสนใจ