คนที่ยังไม่มีลูกอาจยังไม่คุ้น หรือไม่สนใจคำว่า เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) เท่าไรนัก แต่ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองที่มีลูกหลานอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ต่างรู้จักโรคนี้อย่างดี นั่นเพราะ RSV เป็นเชื้อไวรัสร้ายที่กำลังระบาดหนักในช่วงนี้

ล่าสุดมีข่าว “น้องเนเน่” เสียชีวิตด้วยโรคนี้เมื่อปลายเดือน ต.ค. 63 ยิ่งทำให้หัวอกคนเป็นพ่อเป็นแม่จิตตก และกังวลใจหนักว่า โรคนี้เมื่อไหร่จะหายไปเสียที บางคนกลัวลูกรักจะติดเชื้อ ถึงขั้นไม่กล้าพาลูกออกจากบ้านนาน 3-4 วัน

หากต้องอยู่อย่างวิตกจริตเช่นนี้คงไม่เป็นผลดีทั้งพ่อแม่ และลูกน้อยเป็นแน่ เพราะฉะนั้นเราไปฟังคำแนะนำจาก พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ให้ถูกต้อง และคลายความกังวลใจ

: โรคระบาด อาร์เอสวี (RSV) คืออะไร ติดต่อเหมือนโควิด เฝ้าระวังถึง ก.พ. :

เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) หรือ Respiratory Syncytial Virus พญ.สุธีรา อธิบายเพิ่ม เป็นเชื้อไวรัสดั้งเดิม เก่าแก่ มีมานานหลาย 10 ปี พบการระบาดมากทุกปีในช่วงปลายฝนต้นหนาว เพราะเชื้อไวรัส RSV ชอบความชื้น ความเย็น พ่อแม่จึงต้องเฝ้าระวังลูกไปจนถึงเดือน ก.พ. 64

...

RSV หรือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคที่สามารถติดต่อได้ง่ายๆ เหมือนกับโควิด-19 (COVID-19) ผ่านละอองเสมหะในอากาศ ไอจามรดกัน และการคลุกคลีใกล้ชิดกินอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลาง สัมผัสเชื้อที่อยู่ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ รวมทั้งสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคปน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ของใช้ ของเล่น แล้วมาจับปาก ตา จมูกจนเชื้อ RSV เข้าสู่ร่างกายทำให้เจ็บป่วย

: สังเกตอาการ อาร์เอสวี (RSV) ผู้สูงอายุเกิน 65 ปีเสี่ยงติด :

หากติดเชื้อไวรัส อาร์เอสวี (RSV) จะก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ เด็กอายุ 2-3 ขวบมีโอกาสติด RSV ได้ แต่ในเด็กทารกหรือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ และผู้สูงอายุเกิน 65 ปี มีความเสี่ยงสูง หากผู้สูงอายุติดเชื้อ RSV และมีโรคประจำตัว หัวใจ ปอดเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้ยาเคมีบำบัด อาการอาจรุนแรงลงปอด ลงหลอดลม

ส่วนเด็กทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เป็นวัยที่ภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ มีท่อหลอดลมขนาดเล็กมาก หากติดเชื้อ RSV แล้วจะมีโอกาสภาวะทางเดินหายใจถูกอุดตัน อุดกั้น มีเสมหะจนขาดออกซิเจน จะทำให้เกิดอาการรุนแรงจนไอ หายใจลำบาก หอบ เกิดอาการปอดอักเสบต้องแอดมิทในห้อง ICU และใช้เครื่องช่วยหายใจ

: การรักษาอาร์เอสวี (RSV) เป็นแล้วป่วยซ้ำได้ :

อาการป่วยเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) คล้ายหวัดทั่วไปแต่อันตรายมากกว่า ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด เพราะหากพลาดแม้เสี้ยววินาทีอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้

อาการหวัดจากไวรัสทั่วไป ตรวจแล้วคอไม่แดง น้ำมูกไม่เหลืองไม่เขียว จะอาการดีขึ้นภายใน 3-5 วัน โดยมากจะหายป่วยภายใน 1 อาทิตย์ โดยให้ดื่มน้ำเยอะๆ กินยาตามอาการ แต่ถ้าป่วยเป็น RSV อาการ 3 วันแรกจะมีอาการเหมือนเป็นหวัดจากไวรัสทั่วๆ ไป ไอ จาม ไม่เยอะ แต่พอวันที่ 4, 5, 6 จะมีอาการหนัก เสมหะ น้ำมูกเยอะ ไอจนอาเจียน กินไม่ได้ นอนไม่ได้

สำหรับพ่อแม่ที่ยังไม่แน่ใจ ลังเลว่าลูกป่วยหวัดธรรมดาหรือป่วย RSV เพื่อความสบายใจและรักษาได้ทันท่วงที หากป่วยใน 3 วันแรกควรไปพบแพทย์เพื่อนำน้ำมูกมาตรวจเชื้อว่าป่วย RSV หรือไม่ ซึ่งทราบผลภายใน 1 ชั่วโมง

...

ทั้งนี้เด็กที่เคยป่วยแล้วรักษาหาย โอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกแต่อาการจะไม่หนักเท่าเป็นครั้งแรก เพราะ เชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ไม่มีวัคซีนป้องกัน รักษาได้ตามอาการแบบประคับประคอง เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ เป็นต้น ส่วนในทารกหรือเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่มีอาการรุนแรง ไข้สูง ไอถี่ มีเสมหะเยอะ เหนียวข้น หายใจเร็ว หอบเหนื่อย ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ อาจต้องพ่นยาขยายหลอดลมร่วมกับการให้ออกซิเจน หรือถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือเครื่องช่วยหายใจด้วย

:  6 วิธีป้องกัน RSV งดนมวัว กินนมแม่ นมถั่วเหลือง ต้าน RSV :

อย่างที่ พญ.สุธีรา ได้อธิบายไว้ โรค อาร์เอสวี (RSV) เป็นโรคติดต่อจากทางเดินหายใจ ไวรัสชนิดนี้ ไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษาโดยตรง หลักการรักษาสุขลักษณะที่ดีเพื่อห่างไกลโรค RSV และงดแพร่กระจายของเชื้อควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ล้างมือทารกและเด็กเล็กรวมถึงทุกคนในบ้านหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนสัมผัสเด็ก ช่วยลดเชื้อ RSV และเชื้ออื่นๆ ที่ติดมากับมือทุกชนิด
2. ทำความสะอาดบ้าน และของเล่นเด็กเป็นประจำด้วยการล้างน้ำ ตากแดด เช็ดด้วยแอลกอฮอล์
3. งดสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส RSV และอาการรุนแรงได้มากกว่าปกติ

...

4. หากบุตรหลานป่วยไข้หวัด ควรแยกออกจากเด็กปกติ หยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ และควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
5. งดพาลูกไปในที่ชุมชน คนแออัด และมีการใช้ของร่วมกัน เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ
6. หากจำเป็นต้องพาลูกไปข้างนอก ต้องใส่แมสก์ ล้างมือบ่อยๆ กินร้อนช้อนกลาง

อย่างไรก็ดี พญ.สุธีรา แนะนำอาหารต้าน RSV ต้องกินที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ผัก ผลไม้ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับพิเศษในฐานะที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนมแม่ หากใครมี “นมแม่” ก็ให้ลูกกินได้นานที่สุด เพราะมีสารป้องกันเชื้อโรค หากให้ลูกกินนมวัวเสริมควรงด รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีส่วนผสมของนมวัว เช่น ไอศกรีม ขนมเค้ก ช็อกโกแลต นมเปรี้ยว ชีส เพราะนมวัวเป็นโปรตีนโมเลกุลใหญ่ เด็กทารกบางคนกินแล้วแพ้ จะส่งผลให้มีเมือกหรือเสมหะมาก หากติดเชื้อ RSV อาการยิ่งจะรุนแรงมากกว่าเด็กทารกที่กินน้ำนมแม่ 

“แม่ที่ไม่มีน้ำนมตัวเองให้ลูกกิน  หรือบางคนให้ลูกกินนมวัวเสริมกับน้ำนมของแม่ แนะนำให้งด แล้วเปลี่ยนมาให้ลูกกินนมถั่วเหลือง หรือนมสูตรพิเศษป้องกันภูมิแพ้จะดีกว่า เพราะ หากลูกป่วย RSV อาการจะไม่หนัก เสมหะน้อย โอกาสถูกดูดเสมหะน้อย และลดโอกาสเกิดอาการรุนแรงจาก RSV”

...