ปูนาต่อชีวิต หนุ่มนักการตลาด อดีตพนักงานบริษัท รายได้ลดเพราะโควิด-19 ตัดสินใจลาออก มาเป็นเกษตรกรเลี้ยงปูนาเชิงธุรกิจครบวงจร มีรายได้ 3 ช่องทาง เดือนละ 2-3 แสน 6 เดือนปลดหนี้นอกระบบครึ่งล้าน บุกเบิกแปรรูปปูนามิติใหม่ Sweet crab กินได้ทั้งตัวเป็นเจ้าแรก

ใครตกงานเพราะโควิด-19 (COVID-19) หรือทำงานประจำ อยากหาอาชีพใหม่ อาชีพเสริม แต่ยังคิดไม่ออกจะทำอะไรดี? ลองเปิดใจให้กับอาชีพ “เลี้ยงปูนา” ที่กำลังได้รับความนิยม แล้วชีวิตคุณอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิด

ปูนาพันธุ์พระเทพ
ปูนาพันธุ์พระเทพ

อาชีพเลี้ยงปูนาดีอย่างไร เลี้ยงยากหรือไม่ ใช้เงินลงทุนเท่าไร จะเริ่มต้นเลี้ยงอย่างไรดี ทุกปัญหาเหล่านี้ มีคำตอบจากประสบการณ์จริงของคุณวธชสิทธิ์ ศรีสร้อย หรือ คุณต้า วัย 37 ปี เจ้าของฟาร์มปูนาอาเธอร์ปาร์ค จ.ขอนแก่น  ที่สร้างรายได้สูง 6 หลักต่อเดือนตั้งแต่เดือนแรก

...

: เกษตรกรโดยสายเลือด ริเริ่มเลี้ยงปูนาเพราะใจรัก :

คุณต้า เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เล่าพื้นเพเป็นคนคลุกคลีอาชีพเกษตรกรมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่เป็นชาวนา เติบโตกับท้องไร่ท้องนา และช่วยพ่อแม่ทำนามาตลอด จุดเริ่มต้นสนใจเป็นเกษตรกรเกิดขึ้นเมื่อปี 62

คุณวธชสิทธิ์ ศรีสร้อย หรือ คุณต้า ลาออกงานประจำ มาเป็นเกษตรกร เลี้ยงปูนาเชิงธุรกิจแบบครบวงจร มีรายได้ 3 ช่องทาง รวมเดือนละ 2-3 แสน
คุณวธชสิทธิ์ ศรีสร้อย หรือ คุณต้า ลาออกงานประจำ มาเป็นเกษตรกร เลี้ยงปูนาเชิงธุรกิจแบบครบวงจร มีรายได้ 3 ช่องทาง รวมเดือนละ 2-3 แสน

ขณะทำงานเป็นพนักงานบริษัท ในตำแหน่งฝ่ายการตลาด เงินเดือน 2-3 หมื่น และมีรายได้ส่วนอื่นๆ อีก 4-5 หมื่นต่อเดือนจากการเป็นที่ปรึกษาอิสระให้หน่วยงานภาครัฐ ดูแลการทำธุรกิจ SME ภาคอีสาน ในหน้าที่ Service Provider ได้เริ่มหันมาเป็นเกษตรกร ปลูกผักอินทรีย์ และเลี้ยงปูนาควบคู่กับงานประจำเพราะใจรัก เลี้ยงปูนาเป็นฟาร์มปิดเพื่อศึกษาด้วยงบ 2-3 พัน จากการซื้อพ่อแม่พันธุ์ 100 คู่ โดยไม่หวังผลเรื่องรายได้

“ตอนเลี้ยงแบบฟาร์มปิด ผมเลี้ยงเพื่อศึกษา เลี้ยงไว้ดูเล่น นำมากินในครัวเรือน ไม่ได้มองเป็นเชิงธุรกิจ ไม่ได้มองเป็นรายได้หลัก” คุณต้าให้เหตุผลที่เริ่มเลี้ยงปูนา

: ลาออกงานประจำ ลุยเลี้ยงปูนา รายได้คือแรงจูงใจ :

กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) เพื่อนสนิททำฟาร์มปูนามาขอช่วยทำการตลาดออนไลน์ คุณต้าทำคอนเทนต์และยิงแอดให้ ปรากฏเพียงเดีอนเดียว เพื่อนมีรายได้ 2 แสน อีกทั้งบริษัทของพี่ที่ทำงานด้วยเกิดปัญหาสภาวะเศรษฐกิจเพราะโควิด จึงตัดสินใจลาออกทันทีและมาทำฟาร์มปูนาเชิงธุรกิจและท่องเที่ยวอย่างจริงจังแบบกะทัดรัดบนพื้นที่ 200 ตารางวา

บริหารพื้นที่แบ่งเป็นเลี้ยงปูนา 100 ตารางวา ปลูกผักสวนครัว ผักอินทรีย์ปลอดสารพิษต่างๆ 50 ตารางวา อาทิ กล้วย แค กะเพรา ข้าว เตยหอม มะม่วง ไผ่ สมุนไพร ฝรั่ง และอีก 50 ตารางวา เป็นพื้นที่ส่วนกลางใช้เป็นสถานที่พักผ่อน ศาลาเรียนรู้จัดกิจกรรมเพื่อรองรับผู้มาเที่ยวชมฟาร์ม

...

เลี้ยงปูนาในบ่อดิน
เลี้ยงปูนาในบ่อดิน

: บ่อเหมาะสมเลี้ยงปูนา ท่ามกลางธรรมชาติมากที่สุด :

ในการเลี้ยงปูนา คุณต้าใช้ทักษะประสบการณ์และการเรียนรู้จากการเลี้ยงปูนาจากฟาร์มปิดของตัวเอง รวมทั้งศึกษาเพิ่มเติมโดยเรียนผ่านออนไลน์ และเรียนรู้จากฟาร์มปูนาอื่นๆ ใน จ.สุพรรณบุรี และราชบุรี

คุณต้าเลี้ยงปูนาพันธุ์พระเทพจะสีม่วง และพันธุ์กำแพง มีกระสีขาวปนบนกระดอง เพราะเป็นปูนาที่ตลาดต้องการเพราะขนาดตัวโต มีไขมันสูง ดูแลง่าย โดยเลี้ยงในบ่อดิน และบ่อน้ำใส ในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด

เลี้ยงปูนาในบ่อดินด้วยวิถีธรรมชาติ
เลี้ยงปูนาในบ่อดินด้วยวิถีธรรมชาติ

...

การเลี้ยงปูนาคุณต้าบอก บ่อน้ำใสต้องตั้งบ่อไว้ในที่ร่ม เพราะปูนาไม่ชอบอากาศร้อน หากอากาศร้อนมากๆ ทำให้ปูตายได้ หากพื้นที่ไม่มีที่ร่มให้ทำหลังคาหรือหาตาข่ายพรางบ่อ

ในบ่อทั้งสองชนิด ต้องมีจอกแหน สาหร่าย ผักบุ้ง พืชน้ำอื่นๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหารทางธรรมชาติ นอกเหนือจากอาหารกบ อาหารปลาดุกที่ให้ประจำทุกเย็น และต้องใส่แผ่นกระเบื้อง อิฐบล็อก กระบอกไม้ไผ่ หรือท่อเพื่อให้ปูนามีที่หลบซ่อนตัวและหลบภัย ไม่ให้หนีบกันได้ง่ายๆ เพราะปูนามีนิสัยชอบทำร้ายกันเอง ซึ่งไม่มีวิธีใดห้ามได้ทั้งหมด

ปูนาพันธุ์กำแพง
ปูนาพันธุ์กำแพง

: 4 วิธีเลี้ยงปูนา แค่ 3 เดือน สร้างรายได้ :

ขั้นตอนการเลี้ยงปูนานั้น คุณต้าอธิบายอย่างไม่หวงวิชา เพราะอยากให้ผู้ที่กำลังสนใจอาชีพนี้ได้ไปลองทำเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้เหมือนตัวเองว่า

1. ซื้อพ่อแม่พันธุ์ หรือหาพ่อแม่พันธุ์มาจากฟาร์มที่น่าเชื่อถือ แล้วนำมาเลี้ยงในบ่อดิน บ่อคอนกรีต หรือบ่อผ้าใบ 1-2 เดือน เพื่อให้ผสมพันธุ์และตั้งท้อง

...

2. แม่ปู 1 ตัวจะออกลูกประมาณ 200-600 ตัว เมื่อแม่ปูใกล้ออกลูกให้นำมาเลี้ยงอนุบาลในกะละมัง หรือแยกบ่อ เป็นเวลา 2 เดือน หากเลี้ยงในบ่อดิน สามารถปล่อยให้ออกลูกในบ่อเดียวกันได้

ลูกปูในบ่ออนุบาล
ลูกปูในบ่ออนุบาล

3. เมื่อปูอายุ 3 เดือนจะได้ปูนาที่มีตัวขนาดกินได้ทั้งตัว สามารถจับขายเพื่อไปทำปูดอง หรือแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ ได้

4. หากต้องการเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ให้เลี้ยงปูนาต่อไปอีก 3 เดือน จึงสามารถจำหน่ายเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้

ผู้ที่เพิ่งเร่ิมหัดเลี้ยงปูนา แรกๆ อาจยังดูไม่เป็นว่าปูที่ท้องมีลักษณะอย่างไร คุณต้าแนะวิธีสังเกตง่ายๆ ว่า

“ลักษณะแม่ปูนาที่ผสมพันธุ์ติดแล้วมักขึ้นมาอยู่บนเหนือน้ำ ยืนตัวโก่ง ระหว่างนี้ไม่ต้องทำอะไร เลี้ยงรวมกับพ่อแม่พันธุ์อื่นๆ ตามปกติ แต่ให้หากระบอกไม้ไผ่มาวางเหนือน้ำในบ่อ หมั่นสังเกตช่วงใกล้ 6 สัปดาห์เค้าจะเข้าไปอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ เมื่อตะปิ้งเปิด มองเห็นลูกปูค่อยแยกไปรอคลอด”

: เคล็ดลับดูแลปูนา แนะอาหารจำเป็นในการเลี้ยง :

ด้านอาหารที่ใช้เลี้ยงปูนานั้น คุณต้าเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปของกบ ปลาดุกวันละ 1 มื้อ ในช่วงเย็นเป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องให้อาหารจำนวนมากจะทำให้น้ำภายในบ่อเน่าเสียง่าย และให้พืชน้ำควบคู่ไป เพราะปูนาเป็นสัตว์กินน้อยแต่กินตลอด

พร้อมเสริมด้วยผลไม้รสหวาน อาทิ มะละกอและมะม่วงสุก ฟักทอง แตงโม มะพร้าว ห้ามให้กินสับปะรดเพราะมีกรดอาจทำให้ปูตาย นอกจากนี้ยังให้ปลาสดสับอาทิตย์ละครั้ง เพื่อเพิ่มโปรตีน แคลเซียม ช่วยให้ปูลอกคราบได้ดีเพื่อให้ขนาดตัวโตขึ้นตามวัย

ส่วนการดูแลปูนา ทุกเช้าต้องตรวจสอบปูตาย ซึ่งอาจมีบ้างตามนิสัยปกติของปู และต้องหมั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อทุกๆ 2 วันอยู่เสมอ เพราะความสะอาดของบ่อเลี้ยงมีส่วนช่วยให้ปูนาเจริญเติบโตได้ดี ไม่เกิดโรคจนทำให้ตาย

การหาพืชน้ำจากแหล่งธรรมชาติให้ปูนากิน คุณต้าบอกให้ระวังการปนเปื้อนสารเคมีพวกพาราควอต ยาฆ่าหญ้าฆ่าหอยต่างๆ เพราะเมื่อนำมาให้ปูนากินจะทำให้ปูตาย วิธีสังเกตพืชน้ำใช้ได้หรือไม่ คุณต้าชี้แนะว่า

“ให้ดูความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่อยู่พืชน้ำว่า มีหอย หรือสัตว์น้ำอื่นๆ อาศัยอยู่หรือเปล่า ถ้ามีแสดงว่าปลอดสารเคมี หรือเมื่อนำมาแล้วไม่มั่นใจ ให้แช่ด่างทับทิมก่อน 2 ชั่วโมง พอนำพืชน้ำลงบ่อ ให้สังเกตุว่าปูนาไปกัดกินไหม แต่ถ้าจะให้ดี ควรมีบ่อเลี้ยงพืชน้ำควบคู่กันไปในฟาร์มจะดีที่สุด นอกจากสะดวกในการใช้ ยังมั่นใจได้ว่าปลอดภัยจากสารเคมี”

: 4 ข้อควรระวัง ในการเลี้ยงปูนา :

อย่างไรก็ตาม คุณต้าบอก การเลี้ยงปูนามีสิ่งที่ต้องระวัง ดังนี้

1. การเลือกซื้อพ่อแม่พันธุ์ ให้พิจารณาเลือกซื้อจากฟาร์มที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้ได้ปูนาที่มีคุณภาพและนำไปเลี้ยงแล้วไม่ตาย

2. การจัดสภาพบ่อเลี้ยง ต้องให้มีวัสดุและพืชน้ำเพียงพอต่อปริมาณปูนาที่ปล่อยลงไป

3. การอนุบาลลูกปูนา เนื่องจากเป็นวัยที่มีอัตราการตายสูงที่สุด ดังนั้นผู้เลี้ยงต้องมีความเข้าใจในหลักการจัดสภาพแวดล้อมของปูนาวัยนี้เป็นอย่างดี

4. การเฝ้าสังเกตปูนาลอกคราบ หลังจากที่ลอกคราบเสร็จ ปูนาจะใช้เวลา 1-2 วันในการพักให้ตัวกลับมาปกติ หากพบปูเพิ่งลอกคราบ ให้แยกไว้ หรือหาวัสดุครอบ เพื่อป้องกันปูตัวอื่นๆ มาทำร้าย เพราะสภาพร่างกายยังเป็นตัวนิ่ม ไม่สามารถป้องกันตัวได้

: 3 ช่องทางสร้างรายได้จากปูนา ลงทุนหนึ่งแสน เดือนเดียวคืนทุน :

สำหรับการทำตลาดของคุณต้า เน้นขายออนไลน์ลงในสื่อโซเชียลต่างๆ ไม่ฮาร์ดเซลเน้นการขายนัก จะใช้วิธีทำคอนเทนต์ที่ดี เล่าเรื่องการเลี้ยงปูนา ทำให้มีผู้ที่สนใจเข้ามาติดต่อสอบถามและขอซื้อปูนาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดเป็นรายได้ดีนับตั้งแต่เดือนแรก เม.ย. 63 ได้ทุนคืน 1 แสนบาท มีรายได้เหลือเป็นกำไร 4 หมื่น จากนั้นทุกๆ เดือนมีรายได้ตั้งแต่ 1- 2 แสนหลังหักค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินเดือนพนักงาน 1 คน และช่วยปลดหนี้นอกระบบ 5 แสน

ที่มาของรายได้ในการขายปูนา คุณต้าบอกมาจาก 3 ช่องทาง ดังนี้ 1. ขายพ่อแม่พันธุ์ 30% ราคาคู่ละ 100 บาทในช่วงแล้ง พอหน้าฝนขายคู่ละ 80 บาท หรือขายเพื่อบริโภคนำไปทำปูดอง 2. แปรรูปปูนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขาย 50 เปอร์เซ็นต์ตามห้าง ตัวแทนจำหน่าย และฟาร์มต่างๆ ที่ต้องการนำไปสร้างเป็นแบรนด์ตัวเอง 3. รายได้จากการให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา จัดอบรม วิทยากรต่างๆ 20 เปอร์เซ็นต์

: เจ้าแรกบุกเบิก Sweet crab ปูนาช็อกโกแลต ปูนาคาราเมล และปูนาสตรอว์เบอร์รี :

การแปรรูปปูนา คุณต้าได้ไปเรียนรู้จากฟาร์มทางภาคกลาง แล้วนำมาต่อยอดและคิดค้นการแปรรูปด้วยตัวเอง ทั้งทำน้ำพริกมันปูนา, อ่องมันปูนา, ซอสมันปูนา, ปูนาสามรส, ปูนานึ่งสมุนไพร, จี่ปูนา, ขนมจีนน้ำยามันปูนา, และลูกชิ้นมันปูนา รวมถึงทำเป็นของหวาน อาทิ ไอติมมันปู และที่ภูมิใจที่สุดสำหรับคุณต้า เพราะคิดค้นสูตรเองเป็นเจ้าแรก คือ Sweet crab ปูนาช็อกโกแลต ปูนาคาราเมล และปูนาสตรอว์เบอร์รี คุณต้าอธิบายวิธีทำว่า

“ใช้หลักทำให้ปูไม่คาว โดยนำปูสดอายุไม่เกิน 3 เดือน ไปต้มกับกะทิ และน้ำตาลที่กำลังเดือด ให้กะทิและน้ำตาลอมไปในตัวปู นำมาผึ่งให้แห้ง แล้วนำมาเคลือบช็อกโกแลต คาราเมล สตรอว์เบอร์รี ตอนนี้ยังไม่จำหน่าย ทำไปเสนอร้านคาเฟ่ทั่วไปที่สนใจนำไปขาย”

: พัฒนาคุณภาพสินค้า ปูนา บุกตลาด B2B :

ด้านการทำตลาดสินค้าแปรรูป ปัจจุบันคุณต้าเล่าถึงแผนด้านการตลาดว่า ตอนนี้มีบริษัทเครือข่าย และกลุ่ม Modern trade ติดต่อเข้ามาให้นำสินค้าไปเสนอวางจำหน่าย จึงกำลังดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลในชื่อ บริษัท ฟาร์มปูนาอาเธอร์ จำกัด โดยมี 4 สินค้าหลักที่กำลังขอใบอนุญาตตามมาตรฐาน อย. ได้แก่ น้ำพริกมันปูนา อ่องมันปูนา ซอสมันปูนา และลูกชิ้นมันปูนา ซึ่งจะมีระบบการกระจายสินค้าให้ออกสู่ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงปูนาก็เป็นอีกอาชีพที่สามารถสร้างรายได้หลากหลายช่องทาง ทั้งนี้ปัจจัยที่จะทำให้ผู้เลี้ยงปูนาประสบความสำเร็จ คุณต้าบอก ขึ้นอยู่กับ 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ในการเลี้ยง, เวลาที่ต้องทุ่มเทในการเลี้ยงดู ดูแล บริหารจัดการ และเงินทุนในการทำธุรกิจ

สำหรับข้อดีของการเป็นเกษตรกรมาเลี้ยงปูนา นอกจากรายได้ที่สูงถึง 6 หลักต่อเดือนแล้ว การได้กลับมาอยู่บ้านเกิดกับพี่น้อง สังคมเก่าๆ ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ ได้อยู่กับธรรมชาติ ทำให้ชีวิตมีความสุข ผู้ที่สนใจเลี้ยงปูนาแต่ยังลังเล หรือทำงานประจำแต่อยากเลี้ยงปูนา คุณต้าชี้แนะจากประสบการณ์ตัวเอง ให้เริ่มเล็กๆ ก่อนในพื้นที่ที่สามารถหาได้หรือพื้นที่ที่มี

ในวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ก็มาเริ่มเลี้ยง หรือให้พ่อแม่ ญาติในต่างจังหวัดเริ่มเลี้ยงตามที่ศึกษา คอยดูแลช่วงเช้าเช็กปูตาย ล้างบ่อ ทุกๆ 2 วัน ตกเย็นให้อาหาร เมื่อมีผลผลิตก็ทำการตลาด ฝึกแปรรูป พัฒนาฝีมือ เรียนรู้ หากมั่นใจว่าสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงก็อาจตัดสินใจลาออกจากงานมาเป็นเกษตรกรเต็มตัวได้

"ให้เริ่มเลี้ยงปูนาไปกับงานประจำเหมือนผมได้ ค่อยๆ ศึกษา เรียนรู้ สำคัญสุดต้องใจรัก ผมไม่กลัวนะ หากคนมาเลี้ยงเยอะแล้วตลาดเฟ้อ เพราะยังไงก็ไม่ตัน ปูนาก็เหมือนปลา หมู เป็ด ไก่ อย่างไรคนก็กิน อย่าเลี้ยงเพื่อผลผลิตอย่างเดียวให้เน้นแปรรูปด้วย" คุณต้ากล่าวทิ้งท้าย

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ข่าวน่าสนใจ