ที่มาภาพ Facebook : Curb Free with Cory Lee

คุณมีความฝันที่อยากทำสักครั้งในชีวิตไหม ไม่ว่าจะกิน เที่ยว หรือลองเล่นสนุกให้หนำใจ เพราะเราใช้ชีวิตได้แค่ครั้งเดียว สำหรับ “คอรี่ ลี” บล็อกเกอร์หนุ่ม สายท่องเที่ยว วัย 30 ปี สามารถทำความฝันให้เป็นความจริงด้วยการออกเดินทางท่องเที่ยว 7 ทวีปทั่วโลกมาแล้ว ทั้งที่ขาของเขาไม่มีแรงเดิน

เรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจนี้ ถูกส่งต่อ ตีแผ่ไปทั่วโลก โดยเป็นเรื่องราวของมนุษย์ล้อ นักเดินทางด้วยวีลแชร์คนแรกที่เดินทางไปเที่ยวทั่วโลกแล้วกว่า 37 ประเทศ เช่น โมร็อกโก ออสเตรเลีย อินเดีย คอสตาริกา ฟินแลนด์ และอีกมากมาย แต่สิ่งที่เป็นความฝันของเขาไม่ได้จบลงแต่เพียงเท่านั้น สิ่งที่เขาถวิลหา และอยากจะทำยังมีอีกมากมาย เช่น ไปอุทยานแห่งชาติทุกแห่งในอเมริกา เล่นสกีหิมะ กินพิซซ่าที่อิตาลี ประทับรอยสักที่ประเทศไทย และไปพาราลิมปิก

“คอรี่ ลี” บล็อกเกอร์หนุ่มชาวอเมริกัน บอกเล่าความรู้สึกตัวเอง หลังได้เดินทางไปเยือน ทวีปแอนตาร์กติกา ทวีปสุดท้ายตามแผนที่วางเป้าหมายไว้

“ผมจำโมเมนต์ที่ไปถึงได้ น้ำตามันเริ่มปริ่มแล้วผมก็ร้องไห้ออกมา กว่าจะไปถึงที่นั่นผมต้องพยายามอย่างหนัก มันคือ น้ำพักน้ำแรงตลอดสองปี”

คอรี่ ลี ถ่ายที่แอนตาร์กติกา
คอรี่ ลี ถ่ายที่แอนตาร์กติกา

...

สำหรับเบื้องหลังการเดินทางครั้งนี้ “คอรี่ ลี” ใช้เวลาถึงสองปีเพื่อศึกษาเส้นทางและรายละเอียดทั้งหมดที่จำเป็น เพราะแอนตาร์กติกาเป็นทวีปในขั้วโลกใต้ที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดในโลก การตัดสินใจล่องเรือสำราญเที่ยวสุดท้ายก่อนที่จะถูกปิดยาวเพราะโควิด-19 ระบาด “มันรู้สึกยิ่งกว่าฝัน” ในที่สุดก็ได้เห็นวาฬ เพนกวิน แมวน้ำ และทุ่นน้ำแข็ง

ชีวิตของ “คอรี่” ไม่เหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป แต่เขาเริ่มป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตั้งแต่กำเนิด แต่มาตรวจพบตอนอายุ 2 ขวบ พออายุ 4 ขวบ เขาก็เริ่มใช้วีลแชร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่..เด็กทุกคนย่อมมีความฝัน และความฝันของเขาไม่ได้หยุดลงที่ขาที่ขาดกล้ามเนื้อหรือเรี่ยวแรง

จุดเริ่มต้นของความฝันที่จะเที่ยวทั่วโลกของ “คอรี่” เกิดขึ้นในสมัยที่เขายังเป็นเด็ก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “แซนดี้ กิลเบรธ” ซึ่งก็คือแม่ของเขา ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เปรียบเสมือน ครูและผู้ให้กำเนิดในคนเดียวกัน

ขึ้นรถไฟที่เดนมาร์ก
ขึ้นรถไฟที่เดนมาร์ก

ในช่วงปิดเทอม 3 เดือน “แซนดี้” ที่ยึดอาชีพครู ได้พาลูกชายไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะการเที่ยวต่างเมือง หรือท่องเที่ยวแนวแอดเวนเจอร์

สิ่งที่แม่ผมทำ คือ พยายามผลักดันผมออกจาก comfort zone โดยเธอบอกกับผมว่า “ถ้าลูกดูธรรมดาไม่ได้ ก็ทำตัวให้โดดเด่นไปเลย”

คำพูดนี้เอง คือ แรงบันดาลใจให้ผมตั้งเป้าหมายใหญ่ในชีวิตและพยายามไล่ตามความฝัน ด้วยการทำให้โดดเด่นมากที่สุดแล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นด้วย

จากนั้นเป็นต้นมา “คอรี่” เลือกที่จะออกเดินทางไปผจญภัยในต่างแดนเพื่อแสวงหา “ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นปนหวาดเสียว” กล้าที่จะลองเล่นโลดโผน เช่น ขึ้นบอลลูนลอยฟ้าที่ลาสเวกัส อิสราเอลและสเปน และเล่นซิปไลน์โหนสลิงผ่านฟาร์มจระเข้ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา แล้วยังไปขี่อูฐที่โมร็อกโก

“ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านั้น เพราะตัวผมเป็นผู้พิการที่ต้องอยู่บนวีลแชร์ แต่มันก็เป็นไปได้”

ขึ้นบอลลูนที่ อิสราเอล
ขึ้นบอลลูนที่ อิสราเอล

...

 

การเตรียมตัวก่อนเดินทาง สำคัญที่สุด

จากประสบการณ์การท่องเที่ยวไปทั่วโลก “การเตรียมตัว” ถือเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ สำหรับ มนุษย์ล้อ คนที่ต้องนั่งวีลแชร์ ซึ่ง “คอรี่” ได้แชร์ ทิปส์และทริกในการเตรียมตัวของเขาลงบนบล็อกที่ชื่อว่า Curb Free with Cory Lee เพื่อแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว และคำแนะนำในการเตรียมความพร้อมก่อนเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ

ปกติแล้วเขาจะใช้เวลาวางแผนก่อนเดินทาง 6-12 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าที่นั่นมีวิธีการเดินทางและสถานที่ท่องเที่ยวที่วีลแชร์เข้าถึงได้ เขาแนะนำว่าต้องติดต่อโรงแรมหรือบ้านเช่าก่อนล่วงหน้าเพื่อขอดูรูปภาพสถานที่จริงจะได้มั่นใจว่าใช้วีลแชร์ได้

“มันเป็นบทเรียนที่เขาได้รับตอนที่เริ่มไปเที่ยวแรกๆ ถึงโรงแรมจะบอกว่าทำให้ผู้พิการ “เข้าถึงได้” แต่พอขึ้นลิฟต์ไปห้องพักถึงได้รู้ว่าทางเดินแคบเกินกว่าที่จะเข็นวีลแชร์ผ่านได้ คำว่า “เข้าถึงได้” มีความหมายที่กว้างมาก ดังนั้นถ้าอยากรู้ว่าเราจะเข้าถึงได้ไหม ก็ต้องถามและหาข้อมูลมากเป็นพิเศษ” คอรี่ แนะนำ

ทัชมาฮาล อินเดีย
ทัชมาฮาล อินเดีย

...

ยอดเยี่ยม VS ยอดแย่ สถานที่เที่ยวของคนนั่งวีลแชร์

เชื่อว่า คำถามนี้เป็นสิ่งที่หลายคนอยากรู้ว่าที่ไหนดีเยี่ยม หรือเลวร้ายที่สุดสำหรับมนุษย์ล้อ แต่คอรี่เลี่ยงที่จะตอบว่าประเทศไหนดีหรือไม่ดีกว่ากัน เขาบอกเพียงว่า ตอนที่ผมเริ่มทำบล็อกท่องเที่ยว 7 ปีที่แล้ว แต่ละเมืองมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาหลายอย่างเพื่อให้นักท่องเที่ยวพิการเข้าถึงได้ ซึ่งบางแห่งก็ทำได้ดีกว่าที่อื่นๆ

“ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก และไอซ์แลนด์ ถือเป็นประเทศที่ผมกลับไปเที่ยวบ่อยๆ เพราะประเทศเหล่านี้พัฒนาให้คนพิการเข้าถึงได้ง่ายมากๆ ผู้คนเป็นมิตร อาหารอร่อย และถึงผมจะนั่งวีลแชร์ก็ยังเดินทางสะดวก”

แต่ถ้าถามว่าที่ไหน “เข้าถึงได้มากที่สุด” จากประสบการณ์ที่คอรี่เคยเดินทางไป คอรี่ตอบว่า เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

เขามีประสบการณ์ที่ดีกับเมืองนี้มาก “ผมไปที่นั่นครั้งแรก 6 ปีก่อน และมันเป็นครั้งแรกเลยที่ผมไม่ต้องพึ่งพาใคร สามารถเดินทางไปเที่ยวได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะต้องขึ้นรถ ลงเรือ ก็ไม่เป็นอุปสรรคเลยสำหรับคนใช้วีลแชร์เลย แม้แต่ตอนกินข้าว จะเข้าร้านอาหารก็ไม่ต้องรบกวนใครให้ขยับ และไม่ต้องกังวลเลยว่าจะเข้าสถานที่ท่องเที่ยวไม่ได้”

ส่วนเมืองที่ทำให้คอรี่รู้สึกท้าทายสุดๆ ที่เคยไป คือ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองที่สุดแสนโรแมนติกที่ใครๆ ต่างหลงรัก แต่สำหรับคนที่นั่งวีลแชร์ อาจจะลำบากหน่อย

“ผมไปปารีสในปี 2013 พยายามจะใช้รถไฟฟ้าใต้ดินแต่กลับเข็นวีลแชร์เข้าไปไม่ได้ สุดท้ายก็เลยต้องเรียกแท็กซี่แบบที่วีลแชร์ขึ้นได้แทนซึ่งต้องจ่ายในราคาแพงหูฉี่ ถ้าเมืองไหนไม่มีรถแท็กซี่ หรือขนส่งสาธารณะที่วีลแชร์ขึ้นได้ ผมก็จะติดแหง็กอยู่ที่สนามบิน” บล็อกเกอร์หนุ่ม กล่าวอย่างเซ็งๆ เมื่อนึกถึงประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ปารีส เพราะสำหรับมนุษย์ล้อแล้วการเดินทาง “ที่เข้าถึงง่าย” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การไปเที่ยวประสบความสำเร็จ

...

สำหรับคอรี่ แล้ว เรื่องที่ยากลำบากที่สุดในฐานะนักท่องเที่ยวที่นั่งวีลแชร์คือการขึ้นเครื่องบิน โดยเขาอธิบายว่า มันยุ่งยากพอสมควรในการขึ้นเครื่อง เพราะจะต้องถูกอุ้มออกจากวีลแชร์เพื่อวางลงบนที่นั่งในเครื่องบิน พอนั่งอยู่กับที่แล้วจะไปเข้าห้องน้ำก็ลำบาก เขาคิดว่ายังต้องเปลี่ยนแปลงอีกเยอะ สำหรับสายการบินจะสามารถให้บริการโดยคิดถึง “ทุกคน” ได้จริงๆ

“ผมหวังว่าวันหนึ่งผมจะนั่งวีลแชร์ขึ้นเครื่องบินด้วยตัวเองและนั่งอยู่บนนั้นได้ตลอดการเดินทาง เป็นความฝันสูงสุดของผมเลยล่ะ ถ้าเป็นแบบนั้นจริงผมก็คงเดินทางได้บ่อยกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้”

ถ่ายกับแม่ที่อะแลสกา
ถ่ายกับแม่ที่อะแลสกา

ธุรกิจการท่องเที่ยว ต้องทำให้เข้าถึงทุกคน เผย 6 เมืองน่าเที่ยว !  

การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (อยู่บ้าน) ถือเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องปรับตัวเพื่อให้คนทุกคนเข้าถึงได้ (accessible for all) ตั้งแต่เด็กเล็ก ผู้สูงวัย คนพิการ ซึ่งการปิดโอกาสการเข้าถึงของคนกลุ่มหนึ่งก็เท่ากับเม็ดเงินสูญหายไป

ตามรายงานของ Open Doors Organization (ODO) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มุ่งพัฒนาให้การท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้พิการ โดยผู้อำนวยการ “ลอเรล แวนฮอร์น” กล่าวว่า ตลาดการท่องเที่ยวสำหรับผู้พิการจะเติบโตได้เร็ว เพราะชาวอเมริกันยุคเบบี้บูมเมอร์จำนวนมากกำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องนั่งวีลแชร์

จากรายงานระหว่างปี 2018-2019 มีนักท่องเที่ยวที่ต้องนั่งวีลแชร์ ซึ่งรวมถึงคนพิการและคนสูงอายุ 27 ล้านคน เดินทางไปเที่ยวรวม 81 ล้านทริป คิดเป็นค่าตั๋วเครื่องบิน 1.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2015 พบว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นถึง 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีค่าใช้จ่ายระหว่างท่องเที่ยว 5.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งตลาดการท่องเที่ยวจะโตถึงสองเท่าหากนักท่องเที่ยวพิการเพิ่มขึ้น เพราะพวกเขามักจะไม่ได้มาเที่ยวคนเดียว

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล the Guardian และ the European Commission ได้จัดอันดับเมืองที่ถูกออกแบบมาเพื่อทุกคน หรือ Tourism for All โดยสรุป 6 อันดับดังนี้  

เริ่มกันที่เมืองแรก Warsaw, Poland วอร์ซอ เมืองหลวงของประเทศโปแลนด์ ที่ชนะรางวัลที่ 1 เมืองในยุโรปที่มีการออกแบบให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ปี 2020 โดยกรรมการมีความเห็นว่าในเวลาสั้นๆ เมืองวอร์ซอมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อให้เมืองเป็นมิตรกับผู้ใช้งานทุกคน

Skellefteå, Sweden (เซล-เลฟ-เต-โอ) เป็นเมืองที่เหมาะจะพาครอบครัวไปล่าแสงเหนือ เพราะเมืองนี้เพิ่งจะได้รับรางวัลเมืองที่เป็นมิตรกับผู้พิการและคนสูงวัยด้วยการออกแบบที่ทำให้ทุกคนใช้งานได้ง่าย

Seattle, USA ซีแอตเทิล เมืองท่าฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ที่เป็นแหล่วงรวมแลนด์มาร์ก ที่มีแหล่งท่องเที่ยวให้เดินเล่นได้ทั้งวัน โดยเมืองมีการพัฒนาแผนที่สำหรับผู้พิการเพื่อช่วยในการวางแผนการเดินทางกำหนดเส้นทางที่เดินทางสะดวกที่สุด

Singapore, Singapore สิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ บนแผนที่โลก แต่ออกแบบเมืองได้ยิ่งใหญ่เพื่อคนทั้งมวล เกือบยี่สิบปีที่สิงคโปร์กำหนดให้มีสร้างเมืองตามแนวคิดอารยสถาปัตย์ (Universal Design) และพัฒนาให้ขนส่งมวลชนเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน ทำให้เดินทางสะดวกและไร้รอยต่อทั่วทั้งเกาะ

Chester, England เชสเตอร์ เมืองแห่งประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ควรค่าแก่การเยี่ยมชมกำแพงเมืองจากยุคโรมัน และยังเลื่องชื่อด้านการออกแบบทางเท้าที่ทำให้คนทุกคนเข้าถึงง่าย ทั้งยังเป็นเมืองในสหราชอาณาจักรเมืองแรกที่ได้รับรางวัลเมืองที่เป็นมิตรกับทุกคนอีกด้วย

และสุดท้าย Melbourne, Australia เมลเบิร์น ได้ชื่อว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุด 7 ปีซ้อน มีการนำร่องโครงการปฏิรูปเมืองให้ผู้พิการทางสายตาเดินทางสะดวกโดยใช้ระบบนำทางด้วยเสียงในที่สาธารณะเชื่อมต่อโดยตรงกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัวของผู้ใช้งาน สร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้ทุกคนไปถึงที่หมายได้เหมือนกัน

อย่ากลัว คนพิการก็ออกไปเที่ยวได้

“เริ่มจากก้าวเล็กๆ นี่แหละสำคัญที่สุดสำหรับคนใช้วีลแชร์”

นี่คือคำแนะนำของ “คอรี่” ที่อยากให้คนที่นั่งวีลแชร์ เริ่มออกไปเที่ยว ซึ่งโดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักคิดถึงการไปที่ไกลๆ แต่ความจริงแล้วมันคือการไปที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ใจมากกว่า จะไปต่างเมืองหรือต่างจังหวัดก็ถือเป็นช่วงเวลาพิเศษได้ หรือจะลองหาที่เที่ยวใหม่ที่คนไม่ค่อยไปกัน อันดับแรกเราต้องเรียนรู้ก่อนว่าต้องเตรียมอะไรบ้างเมื่อไปเที่ยวด้วยวีลแชร์ พอมั่นใจมากขึ้นก็ขยับไปเที่ยวไกลขึ้น

ที่ผ่านมา คอรี่และแม่เคยเขียนหนังสือสำหรับเด็กชื่อ “Let’s Explore With Cor Cor” เรื่องราวของเด็กที่ออกไปผจญภัยทั่วโลกบนวีลแชร์ สะท้อนความรู้สึกในวัยเด็กของเขา หนังสือเล่มนี้เริ่มวางขายวันที่ 26 กรกฎาคม ตรงกับวันครบรอบ 26 ปี ที่กำหนดใช้กฎหมายเพื่อผู้พิการในอเมริกา 1990 กฎหมายเพื่อสิทธิพลเมืองที่ห้ามไม่ให้เลือกปฏิบัติกับผู้พิการ เช่น การจ้างงาน การขนส่งสาธารณะ ที่พักอาศัย การเข้าถึงบริการของรัฐ และอื่นๆ


“ปีนั้นก็เป็นปีเกิดของผมด้วย ผมรู้สึกโชคดีมากที่โตขึ้นในยุคที่กฎหมายเพื่อผู้พิการถูกบังคับใช้แล้ว ไม่อย่างนั้นผมคงไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวอย่างในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา” คอรี่ กล่าว

การส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการนั้นไม่ได้เป็นเพียงการส่งเสริมตัวเลขทางเศรษฐกิจให้เติบโตเท่านั้น แต่มันคือการมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน การลงทุนของภาครัฐและเอกชนเพื่อปรับปรุงพื้นที่เพื่อคนทั้งมวล ไม่ใช่การสร้างสิ่งพิเศษเพื่อคนพิการ แต่เป็นการสร้างให้พวกเขาใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ พึ่งพาตัวเองได้ เหมือนกับคนอื่นๆ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

กราฟิก: เทพอมร แสงธรรมาพิทักษ์

อ่านข่าวที่น่าสนใจ