• ขุดหลักฐานพันปีที่มา "ตะกรุด" พบหลักฐานชิ้นแรกที่กำแพงนครวัด ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1630 หลักฐานในไทยที่อ้างอิงได้ในวรรณคดี "ขุนช้างขุนแผน"

  • อิทธิพลความศรัทธาคาดว่ามาจากศาสนา "พราหมณ์-ฮินดู" ต่อมาผสมกับความเชื่อทางศาสนาพุทธ

  • ตะกรุด ในอดีตสร้างจากสิ่งของเรียบง่าย เช่น หนังสัตว์ กระดูก ที่นิยมคือ แผ่นทองเหลือง ทองแดง หรือตะกั่ว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนจึงเริ่มหันมาใช้ลูกปืน 

ถ้าพูดถึงเครื่องรางของขลังสำหรับคนไทย ความเชื่อเรื่อง “พระเครื่อง” ถือเป็นสิ่งที่ตกทอดมาช้านาน แต่นอกจากพระเครื่องแล้ว ยังมีเครื่องรางอีกชนิดที่ผู้ชายมักพกติดตัว หรือคาดเอว กับความเชื่อดั้งเดิมสมัยล่าอาณานิคมที่หวัง “อยู่ยงคงกระพัน” เครื่องรางที่ว่า คือ “ตะกรุด”

“ตะกรุด” ถือเป็นเครื่องรางที่อยู่คู่กับสังคมไทย โดยมีรากความเชื่ออิงหลักศาสนาซึ่งแรกเริ่มเดิมทีนั้นวัตถุประสงค์ในการจัดทำขึ้นเพื่อให้กำลังใจกับนักรบที่ต้องออกไปแลกชีวิตป้องกันบ้านเมือง

ความเชื่อเรื่องตะกรุด ไม่มีที่มาที่ไปที่ชัดเจนนัก แต่จากการค้นคว้าของนักวิชาการ มีความเชื่อว่ามีอายุมานับพันปี จากหลักฐานบนหินสลักที่นครวัด ประเทศกัมพูชา จะเห็นเหล่าทหารหาญของ “พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2” ห้อยเครื่องรางที่มีลักษณะเป็นแท่งยาวคล้ายกับ “ตะกรุด”

กำแพงหินที่นครวัด (ที่มาภาพ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา)
กำแพงหินที่นครวัด (ที่มาภาพ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา)

...

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ (ภาษาเขมร) และการจัดการองค์การศาสนา เล่าความเป็นมาของตะกรุดให้ฟังว่า ถึงปัจจุบันนี้คำว่า “ตะกรุด” ก็ยังไม่แน่ชัดว่ามาจากคำว่าอะไร...แต่ก็มีข้อสันนิษฐานหลายๆ อย่างให้ชวนคิด

“ในภาษาเขมร เรียกตะกรุดว่า “กถา” ส่วนภาษาอีสานเรียกว่า “กตุด” (กะตุด) นี่อาจจะเป็นคำร่วมที่ใช้เรียกกัน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด”

หลักฐานพันปีของตะกรุด สู่การถ่ายทอดความเชื่อถึงอาณาจักรอยุธยา

อาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เล่าย้อนว่า ถึงวันนี้ยังหาต้นแบบตะกรุดไม่ได้ว่ามาจากไหน แต่มีหลักฐานว่ามีปราสาทโบราณในยุคเดียวกับนครวัด หรือก่อนนครวัดกว่า 100 ปี มีแผ่นหินสลักเครื่องหมาย “อุณาโลม” ซึ่งอุณาโลมก็เป็นลักษณะคือยันต์

สิ่งที่เขียนในสมัยนั้น คืออักขระที่คล้ายกับปัจจุบัน แต่มีลักษณะตัวย่อหลายตัว มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีรากมาจากศาสนาพราหมณ์ เพราะสมัยนั้นมีการนับถือศาสนาพราหมณ์อย่างแพร่หลาย ต่อมาเมื่อศาสนาพุทธเข้ามา คนจึงเริ่มนับถือศาสนาพุทธ แต่รากความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ยังคงอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ว่า ที่มาของตะกรุดจะได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์

อาจารย์กังวล เล่าเรื่องเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกับ “ตะกรุด” อย่างน่าสนใจว่า หากเราศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างอาณาจักรเขมรโบราณกับอาณาจักรอยุธยา เราจะรู้ว่าทั้ง 2 อาณาจักรมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด นอกจากจะมีการติดต่อค้าขายกันแล้ว ยังมีการทำสงครามด้วย

คาดว่านครวัดถูกก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1630
คาดว่านครวัดถูกก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1630

ตามพงศาวดาร มีเขียนไว้ชัดเจนว่า สมัยเจ้าสามพระยา สมัย พ.ศ.1974-1975 มีการยกทัพไปตีนครธมแตก และมีการกวาดต้อนผู้คนเข้ามาที่อยุธยา ซึ่งช่วงนี้เอง เป็นช่วงที่ความรู้เกี่ยวกับเขมรโบราณจะถูกถ่ายทอดมาที่อยุธยา โดยเห็นได้จากหลักฐานต่างๆ อาทิ วรรณกรรม วรรณคดี หรือคำราชาศัพท์ จะมีความเป็นเขมรค่อนข้างเข้มข้น และความเชื่อเรื่องเครื่องรางจึงถูกถ่ายทอดมาให้กับอยุธยาในช่วงนี้...

หนึ่งในเรื่องความเชื่อของคนเขมร มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งคือ “พระแก้ว พระโค” ว่ากันว่า “พระโค” เป็นสัตว์ที่ศักดิ์สิทธิ์ ภายในท้องของ “พระโค” มีคัมภีร์มากมายซึ่งเปรียบเสมือนคลังสมบัติความรู้ ศิลปะ และอื่นๆ หากได้ครอบครองพระโคก็จะสามารถนำความรู้ต่างๆ มาพัฒนาประเทศได้

เมื่ออยุธยายกทัพไปตีนครธมได้สำเร็จ จึงได้นำ “พระโค” มาเก็บไว้ที่อยุธยา จากนั้นอยุธยาจึงใช้ความรู้ต่างๆ เหล่านี้สร้างบ้านแปงเมืองจนเจริญรุ่งเรือง ในขณะที่ทางเขมรเองก็ตกต่ำลง เพราะไม่มีพระโค

“ตรงนี้เป็นเรื่องเล่าสะท้อนให้เห็นว่ามีการรับวัฒนธรรมจากเขมรเข้ามาสู่อยุธยา” อาจารย์ ม.ศิลปากร กูรูประวัติศาสตร์เขมร กล่าว

ภาพทหารในกำแพง
ภาพทหารในกำแพง "นครวัด"

...

ไทม์ไลน์ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทย “ตะกรุด”

จากการค้นหาหลักฐานทางเอกสารและงานวิชาการ อาจจะสามารถไล่เรียงไทม์ไลน์ได้ดังนี้ คือ หลักฐานที่พบเก่าแก่ที่สุดอยู่ที่หินสลักนครวัด ซึ่งก่อสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.1630

ต่อมาพบหลักฐานสำคัญ ที่ยืนยันแน่ชัดว่า มีตะกรุดเกิดขึ้น คือ การกล่าวถึงในวรรณกรรม “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งเขียนในช่วงปลายสมัยอยุธยา โดยมีตอนหนึ่งตามเนื้อเรื่องที่ขุนแผนและพลายงามเตรียมตัวไปจับพระเจ้าเชียงใหม่ ทั้งคู่เตรียมเครื่องรางของขลังเพื่อคุ้มครอง และทำให้อยู่ยงคงกระพัน ดังกลอนว่า
 
"พ่อลูกจัดแจงแต่งกายา
นุ่งผ้าม่วงคำประจำกาย
สะเอวคาคราดคดก็สีดำ
คล้องประคำตะกรุดทองทั้งสองสาย
ใส่เสื้อยันต์ลงองค์นารายณ์
เข็มขัดขมองพรายคาดกายพัน
ประจงจับประเจียดประจุพระ
โพกศีรษะทะมัดทะแมงดูแข็งขัน
ทั้งพ่อลูกผัดผงที่ลงยันต์
แล้วเสกจันทน์เจิมหน้าสง่างาม"

ขุนช้างขุนแผน ถูกแต่งขึ้นในช่วงปลายสมัยอยุธยา
ขุนช้างขุนแผน ถูกแต่งขึ้นในช่วงปลายสมัยอยุธยา

...

ในช่วงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระราชนิพนธ์ “บทละครนอกคาวี” ซึ่งมีการกล่าวถึง “ตะกรุด” ระบุว่า

"ชำระสระสรงทางเครื่อง
รุ่งเรืองพรรณรายฉายฉัน
แล้วกินว่านยาทาน้ำมัน
โพกพันผูกผ้าประเจียดรัด
คาดตะกรุดเครื่องรางอย่างยอด
แหวนพิรอดสอดใส่นิ้วพระหัตถ์
แล้วดื่มน้ำสุราอาพัด
พอกำดัดติงตัวไม่กลัวใคร"

(บทละครนอก เรื่อง คาวี พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ แหล่งสืบค้น : หอสมุดของ มธ.)

ต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ มุขนายกมิซซัง เดอ มาลโลส์ เจ้าคณะเขตประจำประเทศสยาม ได้บันทึกไว้ว่า คนไทยเชื่อว่ามีวิธีทำให้อยู่ยงคงกระพันได้ และมีไม่น้อยที่อวดว่าตนอยู่คง เล่ากันว่า บางคนสามารถทำให้ปรอทแข็งเป็นก้อนได้ แล้วหลอมทำเป็นเม็ดกลมๆ นำติดไปกับตัว ใครจะฟันหรือยิงเอาก็ไม่เข้าทั้งนั้น เพราะฉะนั้น พวกขุนนางผู้ใหญ่และเจ้านายจึงแสวงโลหะชนิดนี้กันนัก พยายามทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อซัดปรอทให้แข็ง ทำเป็นลูกกลมๆ เหน็บไว้ในซองเข็มขัดเสมอ บางคนก็ใช้ประคำเม็ดใหญ่ทำด้วยไม้ที่หายาก หรือโลหะอย่างอื่นที่เชื่อกันว่ามีสรรพคุณในทางอยู่ยงคงกระพันชาตรี (ที่มา หนังสือเล่าเรื่องกรุงสยาม เขียนโดย มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ มุขนายกมิซซัง เดอ มาลโลส์)

...

ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นที่ทราบกันดีว่า กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย ก็ได้ประจักษ์ถึงความอภินิหารของหลวงปู่ศุข จนถึงกับขอถวายพระองค์เป็นศิษย์ของ "หลวงปู่ศุข" และจากนั้นมาก็มีความผูกพันกันมาโดยตลอดเสมือนเป็นบิดากับบุตร เมื่อเสด็จในกรมสิ้นพระชนม์ ท่านได้มอบ "ตะกรุด" ของหลวงปู่ศุขให้กับพระโอรสองค์โปรด คือ "หม่อมเจ้ารังษิยากร"

จนมีเรื่องเล่าขานต่อมาอีกว่า เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา ในขณะนั้น หม่อมเจ้ารังษิยากรประทับอยู่ใกล้กับวัดคอกหมู มีฝูงบินฝ่ายสัมพันธมิตรบินมาทิ้งระเบิดฐานทัพญี่ปุ่น เสียงระเบิดสนั่นหวั่นไหวอยู่ใกล้ๆ ที่ประทับ หม่อมเจ้ารังษิยากรมิได้ทรงวิ่งหนีไปไหน จนทหารต้องถามว่า "ฝ่าบาทไม่กลัวลูกระเบิดหรือ" หม่อมเจ้ารังษิยากรก็ควักเอาตะกรุดออกจากกระเป๋าเสื้อชูให้ดูแล้วพูดว่า "จะต้องกลัวอะไร เรามีของดีที่เสด็จพ่อให้ไว้" และระเบิดก็ไม่ได้ลงถูกที่ประทับเลย (ที่มา :เกร็ดพระประวัติ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์, หลวงพ่อศุขลงตะกรุดสามกษัตริย์ให้เจ้าพ่อ, หน้า 32-33; เรื่องเล่าโดย ท่านหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร พระธิดาองค์ที่ 3 กรมหลวงชุมพร จากหนังสือนาวิกศาสตร์ บันทึกสมัยปี 2516)

ตะกรุดโสฬส ที่พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ที่หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร
ตะกรุดโสฬส ที่พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร ที่หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร
ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท (ชุดที่ 16)
ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท (ชุดที่ 16)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2536 มีการก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรที่หน้ามหาวิทยาลัยนเรศวร ปรากฏให้เห็นว่า มีสายตะกรุดพาดอยู่ที่พระอังสะถึงสิบหกดอก โบราณเรียกว่า “ตะกรุดโสฬส”

จากข้อมูลประวัติพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มหาวิทยาลัยนเรศวร ระบุเพียงว่า พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีขนาด 2 เท่าของพระองค์จริง ความสูง 2.80 เมตร น้ำหนักประมาณ 2 ตัน ในพระอิริยาบถทรงนั่ง พระหัตถ์ขวาทรงสุวรรณภิงคารหลั่งทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ นายสาโรช จารักษ์ ผู้ชำนาญการของกรมศิลปากร เป็นผู้เลือกออกแบบ ส่วนของพระพักตร์นั้นได้ศึกษาจากหลักฐานต่างๆ ทางโบราณคดี และจากจินตนาการของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้จัดพิมพ์ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท (ชุดที่ 16) ซึ่งได้อัญเชิญรูปพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ประดิษฐาน ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร มาเป็นภาพประธานด้านหลังธนบัตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สูงสุดและเคารพยิ่งของชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร และแสดงถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่ทรงหลั่งทักษิโณทกประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง เมื่อพุทธศักราช 2127 โดยออกใช้ครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2555

อาจารย์กังวล กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งบอกว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงพกเครื่องราง หรือห้อยตะกรุดในการศึกสงคราม แต่..หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและน่าเชื่อถือมากที่สุดที่มีในประวัติศาสตร์ไทย คือ งานวรรณคดี “ขุนช้างขุนแผน” ซึ่งถูกเขียนขึ้นในสมัยปลายอยุธยา

โลหะ แผ่นทองเหลือง ปรอท หนัง-กระดูกสัตว์ วัสดุหลักใช้ทำตะกรุดตั้งแต่สมัยโบราณ

สำหรับวัสดุที่ใช้ทำ “ตะกรุด” อาจารย์กังวล ระบุว่า สมัยก่อน วัสดุที่นำมาใช้ทำตะกรุด จะเป็นสิ่งของหาง่าย ได้แก่ หนังสัตว์ กระดูกสัตว์ แผ่นทองเหลือง แผ่นทองแดง หรือตะกั่ว ส่วนตะกรุดลูกปืนเพิ่งจะมีเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา สิ่งสำคัญที่สุด คือคนที่ลงอักขระให้ เพราะระหว่างพิธีต้องร่ายคาถา ร่ายเวทมนตร์

“เมื่อก่อนของเหล่านี้ไม่ใช่ของมีราคา แต่ครูบาอาจารย์ที่ทำจะมอบให้เพื่อป้องกันภยันตราย ออกรบ ทำให้แคล้วคลาด หรือเดินทางไกลๆ ใช้ป้องกันสัตว์ร้าย โจร แต่ปัจจุบัน คนไม่กลัวสัตว์ร้าย หรือโจร คนอยากรวยมากกว่า ฉะนั้น เกจิที่ทำก็จะทำเพื่อตอบสนองกับคนยุคนี้ แตกต่างจากสมัยก่อนที่เน้นเรื่องคงกระพันชาตรี”

ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

คาถาคือ ความดี ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่สามารถอ่านและเขียนภาษาเขมรได้ กล่าวว่า สมัยสุโขทัยมีการคิดปรับปรุงตัวอักษรขอมเดิม ให้มาเป็นอักษรไทย โดยมีการตัดอักขระบางตัวออก แต่เวลาจะเขียนคาถา คำบางคำที่เป็นภาษาไทยไม่สามารถเขียนได้ ดังนั้น แต่ละท้องถิ่นจึงเขียนแตกต่างกัน เช่นในล้านนา อาจจะใช้ล้านนาเขียน หรือบางแห่งยังใช้ภาษาขอม แต่สำหรับประเทศไทย จะนิยมใช้ภาษาบาลี เพราะง่ายต่อการเขียนและเวลาเขียนจำเป็นต้องเพ่งสมาธิลงไปเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

ส่วนหัวข้อที่เขียนในยันต์หรือตะกรุดส่วนใหญ่ จะเขียนว่า “นะโมพุทธธายะ” ซึ่งเป็นคาถาพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ ซึ่งหากจะแปลตรงตัวก็คือ “ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า” ซึ่งจะมีที่มาคล้ายกับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูคือ โอม นมัส ศิวายะ ก็คือนอบน้อมพระศิวะ

“ความจริง ตะกรุด ก็เปรียบเสมือนผ้ายันต์ แต่มันจะแตกต่างกับผ้ายันต์ เสื้อยันต์ หรือสักยันต์ที่ตัว ตรงที่ความแตกต่างในการใช้งาน เช่น หากสักยันต์ที่ตัว ก็อาจจะมีข้อห้ามบางอย่างที่ต้องยึดถือไว้ตลอด หรือถ้าเป็นเสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ก็อาจจะเปื่อยยุ่ยหรือเสียหายได้ง่าย ดังนั้น จึงมีอีกวิธีคือการเขียนยันต์บนแผ่นโลหะ แล้วม้วนๆ ห้อยติดตัว จะห้อยคอ หรือจะทำเป็นเชือกแล้วนำมาคาดเป็นเข็มขัด”

อาจารย์กังวล กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องความเชื่อเครื่องรางของขลัง เป็นความเชื่อที่อยู่ในภูมิภาคนี้มากว่าพันปีแล้ว โดยสืบทอดมาถึงปัจจุบัน สาเหตุเพราะในใจมนุษย์ยังคงมีความกลัว ความกลัวของคนโบราณกับคนในยุคปัจจุบันไม่แตกต่างกัน แต่เปลี่ยนรูปแบบเท่านั้น ดังนั้น ลึกๆ แล้ว คนจึงแสวงหาเครื่องรางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาไว้ในครอบครองเพื่อเป็นกำลังใจ แต่เราสามารถศึกษาได้ ว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ หรือสิ่งที่ครูบาอาจารย์ส่งต่อมาคืออะไร คือการมีสติ ตั้งมั่นในคุณงามความดี ไม่ใช่มองแต่เรื่องไร้สาระ..

ผู้เขียน : อาสาม

กราฟิก : Theerapong Chaiyatep

อ่านข่าวที่น่าสนใจ