• "ธุรกิจค้าปลีก" ในสหรัฐฯ วิกฤติสุด แม้แต่ Century 21 ก็ยื่นฟ้องล้มละลายแล้วเมื่อ 10 ก.ย. ที่ผ่านมา
  • นับตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน ธุรกิจในสหรัฐฯ ยื่นล้มละลายกว่า 220 บริษัท
  • โควิด-19 ตัวเร่งที่ทำให้ "ธุรกิจ" ต่างๆ ถึงจุดจบเร็วขึ้น

ยุคโควิด-19 (COVID-19) ภาพที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น เราก็จะมีโอกาสได้เห็นกัน... "ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" ล้มกันระเนระนาด บางรายยืนเด่นมานานเกินกว่า 50 ปี แต่พอเจอไวรัสร้ายเข้าไปก็ยืนแทบไม่ไหว ยื่น "ล้มละลาย" ต่อศาลล้มละลายกลาง ทำเอาช็อกกันไปทั้งโลก ซึ่งหากนับตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงตอนนี้ก็มีมากกว่าร้อยบริษัท

อย่างประเทศไทยเอง ที่รับรู้กันเป็นอย่างดีก็ "การบินไทย" ที่ศาลล้มละลายกลางอนุมัติเดินเครื่องแผนฟื้นฟูไปเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา หลังขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี ยิ่งพอเจอวิกฤติโควิด-19 ก็ทรุดหนัก เหมือนเป็นตัวเร่งให้แผลปริรุนแรงขึ้น แค่ครึ่งปีแรก 2563 ก็ขาดทุนไปกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท มีภาระหนี้สะสมมากถึง 3.3 แสนล้านบาททีเดียว

เรียกว่า "แบกหนี้กันปีกหัก!"

โดยจากการประเมินระยะเวลากระบวนการต่างๆ คาดว่า การฟื้นฟู "การบินไทย" อาจยืดเยื้อนานถึง 7 ปี บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายก็คงต้องปาดเหงื่อรอกว่าจะเคลียร์กันได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ตามแต่... "การบินไทย" คงจะไม่โดดเดี่ยว เพราะแว่วว่ามี "รัฐวิสาหกิจ" จ่อคิวเข้าแผนฟื้นฟูด้วยเช่นกันอีกสัก 1-2 เจ้า

"ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" ยื่นล้มละลาย จับตาอนาคต "ค้าปลีก" ฟื้นหรือปิดฉาก

...

กลับมาว่าที่ "ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" รายอื่นๆ กันบ้าง ที่วิกฤติโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจถูกชัตดาวน์อย่างฉับพลัน จนนำไปสู่เส้นทางบทบัญญัติที่ 11 หรือที่เรียกกันว่า Chapter 11

Chapter 11 คืออะไร?

ขออธิบายแบบคร่าวๆ เพื่อความรวดเร็วว่า Chapter 11 หรือบทบัญญัติที่ 11 เป็นกระบวนการทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับ "ดีลการล้มละลาย" ในกรณีที่บริษัทนั้นๆ ติดหนี้จำนวนมหาศาลจนไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนได้ ซึ่งหากศาลล้มละลายอนุมัติให้เข้าสู่ Chapter 11 ก็จะมีการคุ้มครองบริษัทต่างๆ จากเจ้าหนี้ โดยในระหว่างนี้ บริษัทเหล่านั้นยังคงดำเนินธุรกิจได้ตามปกติไปพร้อมๆ กับปรับโครงสร้างธุรกิจ ก่อนจะเข้าสู่ข้อตกลงในการจ่ายดอกเบี้ยย้อนหลังคืนแก่เจ้าหนี้ตามระยะเวลาที่กำหนด

ส่วนใหญ่แล้ว ธุรกิจใหญ่ๆ ที่เข้าสู่เส้นทาง Chapter 11จะมีการประเมินกันว่า ถึงจะมีหนี้ก้อนโตและเผชิญวิกฤติทางการเงินหนักขนาดไหน ก็ยังพอมีโอกาสในการฟื้นฟูกิจการได้

ส่วนจะมี "ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" รายไหนบ้างที่เข้าสู่เส้นทาง Chapter 11 นั้น มาเริ่มกันที่ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่คุณผู้อ่านจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี...

1. Sizzler : 62 ปี สเต็กราคาจับต้องได้

Sizzler เป็นเครือร้านอาหารระดับราคากลางๆ รายแรกของสหรัฐอเมริกาที่ยื่นล้มละลาย เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลการเข้าสู่ Chapter 11 ว่าเป็นเพราะโควิด-19 ที่เป็นต้นเหตุให้ต้องปิดพื้นที่นั่งรับประทานอาหารภายในร้านชั่วคราว ยิ่งไปกว่านั้นการที่เงินชักหน้าไม่ถึงหลังก็ทำให้ Sizzler มีปัญหาการจ่ายค่าเช่าด้วย แต่...การยื่นล้มละลายครั้งนี้ของ Sizzler นับแค่ 14 บริษัทที่เป็นเจ้าของเท่านั้น ไม่นับพวกแฟรนไชส์ร้านอาหารอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาที่มีมากกว่า 90 แห่งและ Sizzler ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ นั่นหมายความว่าไม่รวม Sizzler ประเทศไทย

จากคำแถลงการณ์ของ Sizzler อธิบายว่า กระบวนการล้มละลายจะช่วยลดดอกเบี้ยและพิจารณาสัญญาเช่าใหม่อีกครั้ง

"สภาวะทางการเงินในปัจจุบัน เป็นผลลัพท์ทางตรงที่เกิดขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้ ทั้งการปิดการให้รับประทานอาหารภายในร้านเป็นระยะเวลานานและการปฏิเสธที่จะลดค่าเช่าจากเจ้าของที่ดิน"

ย้อนทำความรู้จัก Sizzler ในสหรัฐอเมริกาสักหน่อย

เครือ Sizzler ก่อตั้งเมื่อปี 2501 ที่เมืองคัลเวอร์ซิตี้ รัฐแคลิฟอร์เนีย โดย "เดลและเฮเลน จอห์นสัน" ภายใต้ชื่อเริ่มแรกว่า Sizzler Family Steakhouse กับไอเดียที่ว่า "ทุกคนสามารถเพลิดเพลินไปกับดินเนอร์สเต็กที่ยอดเยี่ยมในราคาที่เข้าถึงได้" โดยราคาที่ Sizzler ตั้งไว้ในตอนนั้นอยู่ที่ 0.99 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 31 บาทเท่านั้น แน่นอนว่าเป็นที่ถูกปากต้องใจของชาวอเมริกันมากๆ แถบชายฝั่งตะวันตกพบเห็นแทบทุกหัวมุม แม้จะมีช่วงหนึ่งที่ถูกหน้าใหม่อย่าง Applebee และ TGI Friday’s มาแย่งซีนลูกค้าไปบ้างก็ตาม

2. Virgin Atlantic : ปลด…ลดต้นทุน

สายการบิน Virgin Atlantic ของ "ริชาร์ด แบรนสัน" ที่ Delta Airlines ถือหุ้นกว่า 49% ก็ได้ยื่นขอคุ้มครอง Chapter 15 ไปเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ซึ่ง Chapter 15 ที่ว่านี้จะมีความแตกต่างจาก Chapter 11 เล็กน้อย คือ สำหรับบริษัทที่มีการดำเนินการในหลายๆ ประเทศ

และแม้ว่าต่อมาในวันที่ 2 กันยายน ศาลสหราชอาณาจักรได้อนุมัติแพ็กเก็จช่วยเหลือวงเงินกว่า 1,200 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะพยุง Virgin Atlantic ให้บินได้ในระดับเดิม นำไปสู่การปลดพนักงานกว่า 3,000 ตำแหน่ง, ปิดสำนักงานในสนามบินแกตวิค กรุงลอนดอน รวมถึงปลดประจำการเครื่องบินจำนวนหนึ่งเพื่อลดต้นทุน โดยเชื่อว่าจะช่วยพยุงให้สายการบินไปรอดในภาวะที่ขาดเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

...

ในแถลงการณ์ของ Virgin Atlantic เรียกการอนุมัติแผนฟื้นฟูครั้งนี้ ว่า "เหตุการณ์สำคัญที่มีนัยสำคัญ" ที่จะนำไปสู่การปรับปรุงงบแสดงฐานะการเงิน, การฟื้นฟูความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการต้อนรับผู้โดยสารกลับสู่ท้องฟ้าโดยสวัสดิภาพ ทันทีที่ทุกคนพร้อมจะเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง

อย่างไรก็ตามแต่... Virgin Atlantic ยังคงไม่สามารถประมาณการระดับผลตอบแทนได้ว่าจะกลับมาเท่ากับก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ไปจนกว่าจะถึงปี 2566 เพราะในเวลานี้ "การท่องเที่ยวระยะไกล" ยังคงได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และความเข้มงวดในการท่องเที่ยวเพื่อช่วยชะลอการแพร่ระบาดในสถานที่นั้นๆ

"ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" ยื่นล้มละลาย จับตาอนาคต "ค้าปลีก" ฟื้นหรือปิดฉาก

3. Muji : ค้าปลีกก็ไปต่อไม่ไหว

Muji ร้านค้าปลีกในสหรัฐอเมริกา ที่เน้นขายสินค้าสไตล์เรียบง่าย ทั้งของตกแต่ง เครื่องเขียน และเสื้อผ้า ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของกลุ่มบริษัทเครือ เรียวอิน เคคาขุ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ก็ได้ยื่นล้มละลาย Chapter 11 ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยซีอีโอ "ซาโตชิ โอกาซากิ" แถลงการณ์ภายหลังว่า ผลลัพท์ที่เกิดจากโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบอันเลวร้าย แต่ Muji ก็จะใช้โอกาสนี้ในการปรับโฟกัสตลาดสหรัฐอเมริกาใหม่ เพราะเป็นภูมิภาคสำคัญ รวมถึงการมุ่งสู่อี-คอมเมิร์ซด้วย... ซึ่งคำว่า "ปรับโฟกัสตลาดสหรัฐอเมริกาใหม่" มีความน่าสนใจว่าอาจมีความเชื่อมโยงไปถึงการ "ชัตดาวน์ร้านค้า" จำนวนหนึ่งในอนาคต

...

จากภาพรวมของ Muji ประมาณการหนี้สินอยู่ที่ 50-100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.6-3.2 พันล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้ราว 200-999 ราย

คำสัญญาของ Muji ที่เขียนระบุในแถลงการณ์ยืนยันว่า การยื่นล้มละลายเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพการเงิน การเติบโต และความอยู่รอดของบริษัท เพื่อที่จะคงการให้บริการลูกค้าในตลาด จัดหาสินค้าคุณภาพสูง และสร้างประสบการณ์ที่ดีในอนาคต

Muji ในสหรัฐอเมริกา นับเป็นหนึ่งในร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่เข้ายื่นล้มละลายในช่วงวิกฤติโควิด-19 หลังจากที่ J.Crew, JCPenny และ Brooks Brothers ได้ดำเนินการไปแล้ว

แต่ต้องทำความเข้าในส่วนหนึ่งก่อนว่า "การยื่นล้มละลาย" ไม่ได้หมายความว่า บริษัทเหล่านั้นจะต้องออกจากวงจรธุรกิจเสมอไป หลายๆ บริษัทที่เลือกใช้ "วิธีการนี้" ก็เพื่อหวังปลดภาระดอกเบี้ย, ปิดดำเนินงานส่วนที่ไม่ทำกำไร และหันไปให้ความสนใจกับกลยุทธ์ที่สร้างกำไรแทน

"ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" ยื่นล้มละลาย จับตาอนาคต "ค้าปลีก" ฟื้นหรือปิดฉาก

นี่เป็นเพียงตัวอย่างรายใหญ่ๆ เท่านั้น หากไปย้อนดูบริษัททั้งหมดในสหรัฐอเมริกาที่ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลาย จะเห็นมากกว่า 220 บริษัท โดยทั้งหมดอ้างว่า โควิด-19 คือตัวการหนึ่งที่ทำให้พวกเขามาถึงจุดสิ้นสุดนี้

...

ไล่ดู 3 เดือนล่าสุด...

เดือนกันยายน 13 บริษัท

ที่คุ้นเคยกันดีก็คือ Century 21 ผู้ค้าปลีกสินค้าราคาถูก อายุยาวนานเกือบ 60 ปี มีทรัพย์สินประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 3 พันล้านบาท แฟนๆ Sex and the City น่าจะจดจำกันได้เป็นอย่างดี ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายไปเมื่อวันที่ 10 กันยายน และ Las Vegas Monorail บริษัทขนส่งสาธารณะที่มีสำนักงานอยู่รัฐเนวาดา มีทรัพย์สินประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 300 ล้านบาท ปกติแล้วจะมีผู้โดยสารราวๆ 5 ล้านคนต่อปี ที่ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 7 กันยายน

"ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" ยื่นล้มละลาย จับตาอนาคต "ค้าปลีก" ฟื้นหรือปิดฉาก

เดือนสิงหาคม 39 บริษัท

ตัวอย่างเช่น ผู้ค้าปลีกสินค้าราคาถูก Stein Mart ที่มีทรัพย์สินประมาณ 756 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 หมื่นล้านบาท ยื่นฟ้องไปเมื่อ 12 สิงหาคม และ ABA Tranportation บริษัทรถโรงเรียนที่มีสำนักงานอยู่นครนิวยอร์ก มีทรัพย์สินประมาณ 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 2 ล้านบาท แต่หลังจากเกิดโควิด-19 ก็ขาดสภาพคล่องทางการเงินและปลดพนักงานกว่า 900 คน ก็ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม

เดือนกรกฎาคม 56 บริษัท

ค้าปลีกเสื้อผ้าผู้หญิง New York & Co. ที่เปิดมายาวนานกว่า 102 ปี ที่มีทรัพย์สินประมาณ 405 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ก็หนีไม่พ้น ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม

จากรายชื่อการยื่นฟ้องต่อศาลล้มละลายในทุกๆ ที่ เห็นสัญญาณได้อย่างหนึ่งว่า "ผู้ค้าปลีก" กำลังถูกขับออกจาก "ภาคธุรกิจ" อย่างช้าๆ อาจมีบางรายที่กลับมาได้หลังเข้าสู่แผนฟื้นฟู หรือเลวร้ายที่สุด บางรายอาจต้องปิดถาวรเลยก็เป็นได้

"ยักษ์ใหญ่ธุรกิจ" ยื่นล้มละลาย จับตาอนาคต "ค้าปลีก" ฟื้นหรือปิดฉาก

ก่อนหน้านี้ เคยมีคำกล่าวว่า "พวกเรากำลังอยู่ในคลื่นสึนามิค้าปลีก และนี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น"

โดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ความยุ่งเหยิงที่จะตามมามีหลายระดับ แม้ว่าผู้ค้าปลีกจะกลับมาเปิดร้านอีกครั้งก็ตาม
กว่า 1,000 ร้านทั่วสหรัฐอเมริกา กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่สุดนับตั้งแต่มีการลงทุนมา ไม่ว่าจะปิดอยู่หรือกลับมาเปิดอีกครั้ง ก็ยังต้องฝุ่นตลบกับการขายในราคาที่ต้องลดกระหน่ำหรือยอดขายจากช่วงวันหยุดเพื่อหวังสร้างกระแสเงินสด แต่นั่นก็เป็นวังวนแห่งความตายที่แท้จริงของผู้ค้าปลีก.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan

ข่าวน่าสนใจ: