"วงการแฟชั่น" ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีเงินสะพัดทั่วโลก 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เทรนด์แต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ที่ผ่านมา "วงการแฟชั่น" ถือเป็นหนึ่งในตัวการร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้เอง...ช่วงหลายปีนี้จึงมีความพยายามพลิกหน้าประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นด้วยกระแสนิยม "รักษ์โลก" เพื่อเป็นเทรนด์ "แฟชั่นที่ยั่งยืน"

จากผลสำรวจนักช็อปทั่วโลก โดย Fashion Summit เผยว่า คนเจเนอเรชั่นใหม่ให้ความสำคัญกับไอเดียแฟชั่นที่ยั่งยืนเป็นอย่างมาก นอกจากนั้น กลุ่มผู้มีรายได้สูงและเป็นนักช็อปขาประจำ มีแนวโน้มจะสนับสนุนไอเดียดังกล่าว พวกเขาให้นิยาม "แฟชั่นที่ยั่งยืน" ว่าจะต้องเป็นสินค้าคุณภาพดี มีอายุการใช้งานยาวนาน กระบวนการผลิตไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และผู้ผลิตปฏิบัติกับแรงงานอย่างเป็นธรรม

กระแสนิยมรักษ์โลกที่ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึง ทำให้พฤติกรรมนักช็อปเริ่มเปลี่ยนไป ซึ่งแพลตฟอร์มด้านแฟชั่นอย่าง "Lyst" พบเห็นความเปลี่ยนแปลงจากคำค้นหายอดนิยมที่มีคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับ "แฟชั่นยั่งยืน" เพิ่มขึ้นเกือบ 50% เช่น คำจำพวก "หนังวีแกน", "ฝ้ายออร์แกนิก" และ "econyl-เส้นใยไนลอนที่ผลิตจากขยะพลาสติกในทะเล"

...

: จุดเริ่มต้น "แฟชั่นยั่งยืน"

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการประดิษฐ์เครื่องจักรเพื่อช่วยทุ่นแรงมนุษย์ ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ต่ำลง เริ่มมีการผลิตเสื้อผ้าด้วยจักรเย็บผ้า แต่ในตอนนั้นเสื้อผ้าที่ตัดเย็บได้ส่วนมากยังคงทำขายแค่ภายในประเทศ และมีเพียงคนจำนวนน้อยนิดที่มีเงินซื้อเสื้อผ้าจนเต็มตู้ได้

จนมาถึงช่วงหลังสงครามโลกก็เข้าสู่ยุค "เบบี้บูมเมอร์" เกิดศูนย์การค้าขึ้นมากมายในแต่ละเมือง ในยุคนั้นพฤติกรรมการออกไปช็อปปิ้งถือเป็นงานอดิเรกระดับชาติของผู้คน พวกเขามีวัฒนธรรมการจับจ่ายสอดคล้องกับการผลิตจำนวนมหาศาลของภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นการ "บริโภคนิยม" เพื่อแสดงถึงการมีชีวิตที่ดี

ต่อมาในช่วงระหว่างปี 1960-1970 เป็นยุคที่เริ่มเกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิเสรีภาพ ผู้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการขบคิดถึงปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่งผลกระทบต่อโลก ในปี 1970 จึงได้มีการกำหนดวันคุ้มครองโลกเป็นครั้งแรก คือ วันที่ 22 เมษายนของทุกปี ซึ่งแนวคิด "แฟชั่นที่ยั่งยืน" จึงถูกปลูกฝังและแตกหน่อในช่วงเวลาต่อมา

เมื่อผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับโลก ผู้เล่นในธุรกิจแฟชั่นจึงเริ่มมีการปรับกลยุทธ์การขาย ทำให้เกิดแบรนด์ใหม่ที่ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน ส่วนแบรนด์ผู้คร่ำหวอดในวงการก็ไม่น้อยหน้า มีการประกาศจุดยืนพร้อมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

: แบรนด์เสื้อผ้าไฮเอนด์เข้ามาบุก "ตลาดสีเขียว"

จากแนวคิดของการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมสู่การทำข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อจำกัดต้นเหตุของปัญหาภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่นที่เป็นหนึ่งในผู้สร้างมลพิษ ก็เริ่มตื่นตัวและมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจให้คำนึงถึงความยั่งยืน ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการผลิต จนถึงมือผู้บริโภค

สำหรับ "แบรนด์หรู" จะมีข้อได้เปรียบในการก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำตลาดแฟชั่นที่เป็นมิตรต่อโลก เพราะพวกเขาสามารถลงทุนในการวิจัยและทดลองวัสดุในการผลิตที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด บริษัท LVMH ยักษ์ใหญ่เจ้าของแบรนด์หรู อย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Fendi, Celine ฯลฯ และบริษัท Kering อีกบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่แย่งส่วนแบ่งการตลาดแบรนด์หรูเจ้าของ Gucci, Saint Laurent, Balenciaga ฯลฯ ได้มีการวางแผนการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนมาอย่างยาวนาน

ตั้งแต่ปี 2013 บริษัท Kering ได้มีการสร้างห้องทดลองวัตถุดิบจากนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบรนด์ต่างๆ ในเครือสามารถเลือกวัสดุที่ได้จากห้องแล็บนี้มาใช้ในงานดีไซน์สินค้าใหม่ของตัวเอง

อย่างที่ "Gucci" นำมาผลิตกระเป๋าถือรุ่น "Dionysus" โดยใช้วัสดุโพลียูรีเทนแทนการใช้พีวีซี เดิมรองเท้าและกระเป๋าถือส่วนใหญ่ผลิตมาจากหนังสัตว์ ซึ่งมาจากการปศุสัตว์ที่บริโภคทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลทั้งดินและน้ำ แล้วยังมีการฟอกหนังสัตว์ด้วยสารโลหะหนัก อาทิ โครเมียม ทำให้เกิดของเสียที่เป็นมลพิษและอันตรายต่อสุขภาพ หรืออีกวัตถุดิบที่นิยมนำไปทำกระเป๋าอย่าง พีวีซี (PVC) ก็เป็นสาเหตุของปัญหาการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม

...

แต่ Gucci กลับไม่ได้ป่าวประกาศการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างยิ่งใหญ่ เพียงแค่เขียนข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ตัวเองว่า การผลิตกระเป๋าใบนี้เกิดขึ้นด้วย "กระบวนการที่มีจิตสำนึกต่อโลก" แต่ไม่มีการติดป้ายสินค้าบอกผู้ซื้อแต่อย่างใด เหตุผลหนึ่งคาดว่ามีสินค้าของ Gucci ที่เป็นมิตรต่อโลกเพียง 13% ของสินค้าทั้งหมดเท่านั้น นั่นหมายความว่า ส่วนที่เหลือก็ยังเป็นการผลิตแบบเดิม ซึ่งยังไม่ใช่เรื่องดีที่จะนำไปทำการตลาดในตอนนี้

: ความโลภขับเคลื่อน "วงการแฟชั่น"

แม้ผู้ผลิตจะมีเป้าหมายในการสร้างความยั่งยืน แต่แฟชั่นก็คือแฟชั่น ตามวลีที่ว่า "ของมันต้องมี" มันคือความต้องการโดยไม่มีเหตุผล และไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ธุรกิจแฟชั่นยังต้องขายของปริมาณมากเพื่อให้ได้ผลกำไรและต้องสร้างความโดดเด่นในใจผู้บริโภคอยู่เสมอ ถึงแม้แบรนด์ "Saint Laurent" จะเปลี่ยนไฟในร้านให้ประหยัดพลังงานด้วยการใช้แบบ LED แต่เมื่อมีการจัดแฟชั่นโชว์แบรนด์ก็ต้องใช้ไฟที่เข้มข้นและสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมาก คำถามคือ สิ่งของที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ภายในงานมีการนำกลับมาใช้ซ้ำอีกหรือไม่ สุดท้ายแล้ว แบรนด์ก็ไม่สามารถแสดงความสม่ำเสมอในการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

...

นอกจากนี้ แนวคิดเรื่อง "แฟชั่นที่ยั่งยืน" อาจสื่อสารไปถึงผู้บริโภคแค่เพียงบางกลุ่มเท่านั้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจเรื่องนี้ ยังคงติดตามเทรนด์แฟชั่นใหม่ๆ ตามกระแสมากกว่า

อย่างไรก็ตาม "ธุรกิจแฟชั่นที่มุ่งหน้าสู่ตลาดเป็นมิตรต่อโลก เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว ความยั่งยืนและการแสดงความรับผิดชอบในการผลิตจะกลายเป็นประโยชน์ในการแข่งขันในอนาคต" Mario Ortelli ที่ปรีกษาแบรนด์หรูในลอนดอน กล่าว.

ข่าวน่าสนใจ: