เกษตรกรผัวหาบเมียคอน เนรมิตมรดกแม่ 5 ไร่ กลายเป็น "บ้านไร่เกษตรผสมผสาน" การเลี้ยง "ไก่ซิลกี้" สายพันธุ์แปลกแต่สวยงาม อาชีพทำเงินแนวใหม่ สร้างรายได้ครอบครัวเดือนละ 6 หมื่น โดยยึดหลักพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และใช้ความสุขเป็นตัวนำ

ใครที่ตกงานเพราะพิษโควิด-19 (COVID-19) กำลังคิดหาอาชีพใหม่ หรือมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการหารายได้เสริม การเลี้ยง “ไก่” "สายพันธุ์ซิลกี้" (Silkie) ที่กำลังฮิตในกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์สวยงามก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ ขอเพียงเปิดใจและศึกษาอย่างจริงจัง ก็สามารถสร้างรายได้ที่ดีกับครอบครัว 

คุณณัฐพงษ์ ชมภู หรือ ณัฐ อายุ 36 ปี เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ในอดีตเคยทำงานประจำที่ กทม. รายได้รวมโอทีแล้วตกเดือนละครึ่งแสน แต่ต้องเดินทางออกต่างจังหวัดทุกวัน ทำให้ไม่มีเวลาให้ภรรยาและลูก อีกทั้งแม้มีรายได้สูง แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงจนไม่เหลือเงินเก็บ จึงผันตัวมาเป็น “เกษตรกร” ทำเกษตรผสมผสานเชิงธุรกิจ ปลูกผัก ปลูกพืช และเลี้ยงไก่ซิลกี้ สัตว์เลี้ยงสวยงาม

...

: เริ่มจากศูนย์ ลงทุนจากสมอง :

จากที่ดิน 5 ไร่ ซึ่งเป็นของภรรยา (เขมจิรา นาสิงขัน) ที่ได้รับมรดกจากแม่ ในบ้านนาดี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ คุณณัฐเริ่มลงทุนด้วยแรงกายตัวเอง บนพื้นฐานแนวคิดและความเชื่อว่าการเกษตรแบบผสมผสานจะสร้างความยั่งยืนที่มั่นคงให้ครอบครัว แม้ไม่มีความรู้ ไม่เคยทำการเกษตร และหลายๆ คน ถามด้วยความห่วงใย “ทำเกษตรไหวหรือ” แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรคกับคุณณัฐ เพราะเขาเชื่อว่า “สามารถเรียนรู้ได้”

เขาลงมือทำทันทีในแบบคนรุ่นใหม่ โดยเรียนรู้ศึกษา ฟังคำชี้แนะจากเพื่อนๆ ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และผู้ประสบความสำเร็จในกลุ่มเกษตรหลายๆ กลุ่มอย่างจริงจัง แล้วนำมาลองผิดลองถูก และปรับใช้ในแบบตัวเอง เริ่มจากปลูกต้นมะพร้าวน้ำหอม มะม่วง เจาะน้ำบาดาล นำไฟฟ้าเข้าสวน แต่กว่าจะประสบความสำเร็จเป็น “ไร่เกษตรผสมผสานได้” คุณณัฐเองต้องสูญเงินเกือบ 5 หมื่น เพราะความอยากทำเกษตร แต่ฟังคนพื้นที่อย่างเดียวมากกว่าการศึกษาอย่างจริงจัง

“ผมฟังอย่างเดียวว่า ตรงนี้ทำได้ มีน้ำเพียงพอ ไม่ได้ศึกษาเชิงลึก แต่พอเจาะหาน้ำบาดาลแล้ว น้ำไม่มี เจาะบ่อที่สองน้ำไม่พอ ทำให้ต้นมะพร้าว ต้นมะม่วง ที่ลงกว่า 100 ต้น ตาย เลยมาทำความเข้าใจใหม่ ศึกษาอย่างจริงจัง สำรวจน้ำจริงๆ จังๆ ใช้ระบบน้ำหยดแทนสปริงเกิ้ล เพิ่มบ่อพักน้ำเป็นจุดๆ”

: ยึดแนวคิดใช้แรงกาย ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนละ 4 พัน :

เมื่อนำความผิดพลาดมาแก้ไขและผ่านอุปสรรคมาได้ คุณณัฐก็มุ่งมั่นทำเกษตรผสมผสานต่อไป ค่อยๆ พัฒนาเรื่อยๆ ทำเกษตรแบบผสมผสานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพในครอบครัว โดยยึดแนวคิดใช้แรงกายมากกว่าเงิน ปลูกสมุนไพร, ปลูกดอกไม้, ปลูกหญ้า, ปลูกพืชผักสวนครัวกินได้ในแต่ละวัน โดยไม่ได้ซื้อพันธุ์พืช แต่ได้รับการแบ่งปันจากสมาชิกเพื่อนกลุ่มเกษตร จากที่เคยซื้อวัตถุดิบตอนนี้ซื้อเฉพาะที่ผลิตเองไม่ได้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนเดือนละหลายพันบาท

...

“สมมติซื้อผัก ซื้อวัตถุดิบผักสวนครัวมาทำอาหาร เดือนละ 3,000-4,000 บาท ใน 1 ปี เราเสียเงินไปกับพืชผัก ปีละ 36,000-48,000 บาท และเรายังไม่รู้เลยว่าพืชผักที่เรากินไป ปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราปลูกกินเอง ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ลดลง และได้สุขภาพดีด้วย”

: แปลกและสวยงาม จากความชอบของลูก สู่ธุรกิจทำเงิน :

หลังลงตัวกับการทำเกษตรในแบบที่ตัวเองชอบ คุณณัฐและภรรยาก็เริ่มต่อยอดทำการเกษตรแบบผสมผสานกับการเลี้ยงสัตว์ จากความชอบของลูกชายว่าแปลกและสวยงาม นั่นคือ “ไก่ซิลกี้” ไก่ที่มีขนปุกปุยเหมือนสุนัขพันธุ์พุดเดิ้ล โดยซื้อไก่ซิลกี้ 4 ตัว ในราคา 2,500 บาท มาเลี้ยงไว้ดูเล่นประมาณเดือนกว่าๆ มีคนมาเห็นและขอซื้อจึงแบ่งขาย เลยเห็นว่าเป็นอีกช่องทางทำเงิน จึงศึกษาเพิ่มเติม ซื้อไก่มาเพิ่ม ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งมีเงินซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็นของตัวเอง กลายเป็นธุรกิจใหม่โดยไม่ตั้งใจ

วิธีศึกษาการเลี้ยงไก่ซิลกี้ ทำเช่นเดียวกับการทำเกษตรคือ ศึกษาเองจากโลกออนไลน์ และสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ แล้วนำมาปรับใช้ เช่น อาหารไก่ คิดค้นจนช่วยลดต้นทุน แต่เปี่ยมคุณภาพ นอกจากให้ไก่กินหัวอาหารไก่ไข่แล้ว ยังให้ไก่กินอาหารจาก รำข้าว ปลาป่น ข้าวโพด เสริมด้วยหยวกกล้วย ชะอม ผัก เพื่อให้ขนไก่ดี สวยงาม และให้ไก่กินน้ำหมักสมุนไพรจากอาจารย์ที่แบ่งปันให้ นอกจากช่วยเสริมสร้างทางเดินอาหารและทางเดินหายใจแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนในการใช้ยาปฏิชีวนะ

...

“ไก่ซิลกี้ เป็นสายพันธุ์มาจากยุโรป นอกจากเลี้ยงเพื่อสวยงาม ยังเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อกินเนื้อ กินไข่ หนังมีสีดำ คนจีนเชื่อว่าเป็นยาโด๊ป แต่ในไทยไม่นิยมกิน เลี้ยงเพื่อสวยงามมากกว่า การเลี้ยงไก่ซิลกี้ไม่ยาก แต่ควรระวังเป็นพิเศษในการเลี้ยงต้องเข้าใจนิสัย สิ่งที่เขาชอบ สิ่งที่เขาแพ้

: ความแตกต่าง สร้างรายได้เดือนละ 6 หมื่น :

สถานที่เลี้ยงและนิสัยของไก่ซิลกี้ คุณณัฐเล่าต่ออีกว่า อากาศต้องถ่ายเทสะดวก แต่ลมไม่โกรก และควรมีผ้าใบกั้นป้องกันลม ฝน, ไก่ซิลกี้ชอบอาบแดด แต่ไม่ชอบแดดจัดๆ, อาบน้ำเป่าขนได้ แต่จะแพ้ความชื้นในพื้นเปียกแฉะ เนื่องจากขนหนาจะดูดซับน้ำได้ดีมาก ทำให้ไก่เป็นหวัดป่วยได้ง่าย ให้หาไฟกกเพื่อความอบอุ่น หายาหรือวิตามินผสมน้ำให้ไก่กินป้องกันอาการหวัด หน้าบวม เหงา ซึม หรืออหิวาที่มากับอากาศ

...

ในเวลาไม่ถึงปี คุณณัฐและภรรยาช่วยกันพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ “ความสุข” เป็นตัวนำทาง จากไก่ซิลกี้ 4 ตัว ปัจจุบันคุณณัฐมีไก่ทั้งหมดประมาณ 50 ตัว สำหรับแม่พันธุ์ และพ่อพันธุ์ 8 ตัว สร้างรายได้แก่ครอบครัวไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6 หมื่นบาท จากการขายไข่ฟองละ 100-200 บาท สำหรับลูกค้าที่ต้องการนำไปฟักเป็นลูกเจี๊ยบ, ขายลูกเจี๊ยบอายุ 1 เดือน ตัวละอย่างต่ำ 500 บาท และขายพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คู่ละหลายหมื่น

เริ่มมีคนรู้จักมากขึ้นๆ ในโลกออนไลน์ ไม่ใช่เพราะมุ่งมั่นการขายไก่เพื่อเงินเป็นหลัก แต่เป็นเพราะบริการหลังการขายที่แตกต่างจากผู้อื่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของภรรยาที่ทำงานเป็นพนักงานประจำขายรถโตโยต้า แก่นนคร จังหวัดขอนแก่น คอยใส่ใจลูกค้า โดยโทรคุยเพื่อให้คำแนะนำ หากลูกค้ามีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงขอดูพื้นที่เลี้ยงไก่ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะอยากให้ลูกค้าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป

“เงินอาจจะไม่เยอะเหมือนธุรกิจคนอื่นๆ แต่เท่าที่มี เราก็มีความสุขในสิ่งที่ทำ ช่วงโควิดรายได้ภรรยาลดลง แต่โชคดีที่มีรายได้จากไร่มาจุนเจือ เลยอยู่ได้อย่างสมถะ มีเงินส่งค่างวดรถ ค่าบ้าน จริงๆ แล้วต้นทุนสำคัญอยู่ที่การกระทำและวิธีคิด เงินไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ แต่ไม่สำคัญที่สุด ปัญญาและความรู้ต่างหากที่จะทำให้เรามีวิธีเอาตัวรอด และวิธีหาเงินมาจุนเจือชีวิตได้" 

: 8 เคล็ดลับความสำเร็จ บนเส้นทาง “การเกษตร” : 

นอกจากนี้การเกษตรยังมีข้อดีอื่นๆ คุณณัฐสรุปจากประสบการณ์ตัวเอง ดังนี้ 1.สามารถกำหนดรายได้เองจากความสามารถของเรา 2.มีเวลาให้กับตัวเองและได้อยู่กับครอบครัว และได้ทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ 3.เกิดความภูมิใจที่สร้างความยั่งยืนเพื่อความมั่นคงด้วยตัวเอง 4.สร้างรายได้จากพื้นที่ของเราได้มากกว่าหนึ่งทาง

สำหรับเคล็ดลับทำ "การเกษตร" อย่างไรให้ประสบความสำเร็จ คุณณัฐแนะแนวคิดเป็นวิทยาทานให้ผู้ที่กำลังท้อแท้ ตกทุกข์ได้ยากจากสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ระบาดจนต้องตกงาน หรือรายได้ลดลง หลายคนหันมาทำการเกษตรมากขึ้นว่า

1. ทุกๆ วิกฤติจะสร้างโอกาส เพราะฉะนั้นจงมีสติ ค่อยๆ หาความชอบ ความถนัดที่อยากทำ
2. อยากสำเร็จจงเดินเข้าหาคนที่สำเร็จมากกว่าคนล้มเหลว
3. คิดแล้วทำ ทำทันที
4. ทุกปัญหาคือบททดสอบของปัญญาและความสามารถในการใช้ชีวิต จงอย่าท้อ ขอเพียงอดทน เข้มแข็ง
และทำตามเป้าหมายตัวเองอย่างจริงจัง
5. จงอย่าให้ค่ากับคำพูดลบๆ ที่จะทำให้อ่อนแอและหมดกำลังใจในการสร้างอาชีพใหม่ให้กับตัวเอง
6. อย่าเอาเวลาไปทิ้งกับการอยากรู้ชีวิตของคนอื่น จนลืมดูชีวิตตนเอง
7. ก่อนคิดทำอาชีพใหม่ๆ ให้มองความต้องการของตลาดเป็นหลัก
8. ทำในสิ่งแตกต่างจากคนอื่น สร้างเป็นจุดเด่นเพื่อดึงดูดการขาย

“ตอนนี้ความผันเเปรทางเศรษฐกิจมีตลอดเวลาเพราะโควิดระบาด การฝากชีวิตกับงานประจำอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ถ้าบริหารเวลาดีก็ทำอย่างอื่น สร้างรายได้เพิ่มในยามวิกฤติได้ ใครที่มีพื้นที่ทำกิน ลองมาศึกษาการเกษตร ลงมือทำจากน้อยไปหามาก ค่อยๆ ทำไป สักวันจะเห็นเป็นรูปธรรมที่ยั่งยืนและมั่นคง อย่างน้อยไม่รวย แต่สามารถหล่อเลี้ยงชีวิตคุณ และครอบครัว ได้อย่างแน่นอน ขอเพียงใจสู้และอดทน คุณณัฐชี้แนะ

“บ้านไร่ณัฐชานนท์” ของคุณณัฐและภรรยา ถือเป็นตัวอย่างในการทำการเกษตรแบบผสมผสานเชิงธุรกิจที่พึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียง และเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลือกชีวิตเพื่อความอยู่รอดในยุคที่โควิดระบาด.

ข่าวน่าสนใจ