• ครบ 50 วัน โครงการ "เราเที่ยวด้วยกัน" คนจองห้องพักแค่ 17% รัฐใช้เงินจ่ายรวมแค่ 1 พันล้านบาท จ่อปั้นเฟส 2 
  • คนไม่เที่ยว เพราะเงินในกระเป๋าน้อย มึนขั้นตอนลงทะเบียนและการใช้เงิน 
  • พบปัญหาเชิงระบบของโรงแรม 80% ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม และอีก 40% เลือกปิดบริการชั่วคราว เพราะ "ขาดทุนน้อยกว่าเปิดบริการ" 

เรียกว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง สำหรับ “การท่องเที่ยว” ของประเทศไทย ที่เจอพิษโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ต้นปี ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ “เจ๊ง” กันเป็น “โดมิโน”

เพราะได้รับผลกระทบมากที่สุดนี่เอง รัฐบาลจึงผุดโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โดยภาครัฐจะช่วยจ่ายเงินให้ประชาชนได้เที่ยว โดยสนับสนุนค่าโรงแรม 40% ทั้งนี้รัฐจะช่วยต่อห้องต่อคืน (ไม่เกิน 3,000 บาท) สนับสนุนส่วนลดค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยว (วันธรรมดา 900 บาท ศุกร์-อาทิตย์ 600 บาท และ สนับสนุนค่าเดินทางโดยเครื่องบิน 40% ค่าตั๋วเครื่องบิน 2 สิทธิ์ ผู้โดยสารต่อ 1 ห้องโรงแรมที่จอง ไม่เกิน 2,000 บาท

จนถึงวันนี้ผ่านมาแล้วกว่า 50 วัน ผลตอบรับ “ไม่เข้าเป้า” อย่างที่คิด ซึ่งเรื่องนี้ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวยอมรับว่า “ห่างเป้า” จริงๆ แต่มีเหตุผลอยู่คือ จากข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ย.63 (ครบ 50 วัน นับตั้งแต่เปิดโครงการ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 และจะสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ตุลาคม 2563)

โครงการนี้มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 71,533 ราย แบ่งเป็นโรงแรมทั่วประเทศ 7,130 แห่ง ถึงวันนี้มีผู้ใช้สิทธิ์จองที่พัก 851,321 ห้อง จากตัวเลขโครงการทั้งหมด 5 ล้านห้อง คิดได้เพียง 17% แต่..หากเราคิดเฉลี่ยเป็นรายวัน จะได้วันละ 17,000 ห้อง ก็ถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

...

สำหรับมูลค่าการจองห้องมีทั้งสิ้น 2,524 ล้านบาท ประชาชน จ่าย 1,568 ล้านบาท รัฐบาล จ่ายประมาณ 955 ล้านบาท ส่วนอีคูปอง ใช้จ่ายแล้วประมาณ 388 ล้านบาท ประชาชน จ่าย 242 ล้านบาท รัฐช่วย 145 ล้านบาท ตั๋วเครื่องบิน จ่ายไป 23.6 ล้านบาท ประชาชนจ่าย 16.7 ล้านบาท รัฐบาลช่วย 6.9 ล้านบาท

“จะเห็นได้ว่า 50 วันที่ผ่านมามีเม็ดเงินเข้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวแล้วกว่า 3 พันล้านบาท ถามว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ เงินที่เข้ามาถือว่าไม่น้อย.. ดังนั้นสิ่งที่เราต้องดูอย่างหนึ่ง คือ ราคาห้องเฉลี่ยที่คนจองคือ 2,900 บาท จากเดิมที่เราตั้งไว้ว่า ห้องราคาไม่เกิน 7,500 บาท ถึงจะได้เงินช่วย 3 พันเต็ม เพราะฉะนั้นยังถือว่ามีเงินเหลือ”

ที่ผ่านมา มีเสียงบ่นจากประชาชนว่า “หาโรงแรมยาก” ซึ่งหาก “เช็กอิน” ไม่ได้ เงินช่วยเหลือจากรัฐก็ไม่ได้ด้วย..

ผู้ว่าการ ททท. อธิบายว่า 7,130 แห่ง ถามว่ามากหรือน้อย ปัญหาคือ ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมได้ต้องเป็นสถานประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในสภาพความจริง คือ มีผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมอยู่พอสมควร ดังนั้น ถือว่าเยอะ

“ฉะนั้น จากตัวเลขที่มีการจองโรงแรม พบว่า การจองโรงแรมทั้งหมดประมาณ 4 พันกว่าแห่ง ผมว่ามันก็โอเค สิ่งที่เป็นปัญหาอีกอย่าง คือ โรงแรมไม่ได้กลับมาเปิดทั้งหมด ซึ่งมีไม่ถึง 50% โดยเฉพาะสมุย เชียงใหม่”

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นโรงแรมไม่เพียงพอนั้น ต้องถามว่า ประชาชนไปช่วงไหน..จากข้อมูลพบว่า ส่วนใหญ่ประชาชนจะไปเที่ยวเสาร์-อาทิตย์ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าโรงแรมอาจจะเต็ม อย่างที่สอง คือ โรงแรมไม่ได้กลับมาเต็มที่ ดังนั้น การหาโรงแรมให้จองล่วงหน้าอยู่แล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะใจตรงกัน อยากไปเยอะๆ ก็เต็ม ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นไปตามกฎที่ว่าโรงแรมไม่เพียงพอ เมื่อจองเข้ามาเยอะๆ ราคาก็จะปรับขึ้น..

ขณะที่ ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) ตอบไปทิศทางเดียวกันว่า ปัจจุบันมีโรงแรมเข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ราวกว่า 7 พันโรงแรม ซึ่งก็ถือว่ามากแล้ว หากเทียบกับโรงแรมที่มีใบอนุญาต สาเหตุเพราะโรงแรมทั่วประเทศกว่า 80% ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ส่วนอีก 20% หรือประมาณหมื่นกว่าโรงแรมมีใบอนุญาต ดังนั้นการที่โรงแรมเข้าร่วมโครงการกว่า 6.8 พันแห่ง ก็ถือว่าไม่น้อย..

...

ดร.อดิษฐ์  กล่าวด้วยน้ำเสียงตึงเครียดว่า ต้องยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งเพราะโรงแรมที่เปิดในปัจจุบันนี้หายไปถึง 40% คือที่ยังเปิดให้บริการอยู่มี 60% แม้จะเปิดให้บริการ 60% แต่โรงแรมเหล่านี้ก็ไม่ได้ให้บริการแบบเต็มรูปแบบ มีการตัดทอนการให้บริการบางส่วนไป

“ส่วนโรงแรมหลายๆ แห่ง ตัดสินใจ “ปิดกิจการชั่วคราว ขาดทุนน้อยกว่าเปิด” ที่ผ่านมา เราพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศถึง 70% การที่สนับสนุนให้คนไทยเที่ยวในประเทศ ทำยังไงก็ไม่สามารถชดเชยได้เพียงพอ เพราะรายได้จากตลาดหลักมันหายไปแล้ว” ดร.อดิษฐ์ กล่าว

วิเคราะห์ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ปังปุริเย่

เลขาธิการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ วิเคราะห์ปัญหาโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไม่ประสบความสำเร็จ แบ่งออกเป็น 3 ปัจจัย ประกอบด้วย

1.ปัญหาโควิด-19 ระบาดหนัก ทำให้คนทั่วไปมีกำลังทรัพย์ กำลังซื้อน้อยลง ทำให้คนท่องเที่ยวน้อยลง
2.กระบวนการในเชิงระบบ เช่น การลงทะเบียน วิธีการใช้ต่างๆ คนทั่วไปไม่เข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อหลักอย่างคนสูงอายุ ไม่สามารถเข้าถึง
3.ปัญหาตัวเลือกโรงแรม ซึ่งเป็นปัญหาเชิงระบบ คือ ผู้ที่จะเข้าโครงการต้องเป็นโรงแรมที่มีใบอนุญาต ซึ่งมีน้อย แค่หมื่นกว่าโรงแรม แต่ความเป็นจริง มีตัวเลขโรงแรมในประเทศไทยมากมายมหาศาลกว่านั้นมาก

“ปัจจัยหลักที่ทำให้โครงการนี้ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังในการไปเที่ยว และคนที่มีกำลังซื้อก็ไม่ได้ใช้” ดร.อดิษฐ์ กล่าว

...

ปรับโฉม เพิ่มกลุ่มเป้าหมาย หวังดันยอดคนเที่ยวก่อนตุลาคม

สำหรับแผนการใหม่ของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” นายยุทธศักดิ์ เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาเรื่องการขยายเวลา แต่ตรงนี้เรายังคิดอยู่ เพราะหากเราขยายเวลาจริง คนก็จะไม่เที่ยวช่วงเดือนตุลาคม แต่จะหันไปเที่ยวช่วงปลายปีกันหมด อย่างไรก็ตาม ที่มีแนวคิดนี้สาเหตุเพราะ “เงินเหลือ” โดยเฉพาะเรื่องการจองโรงแรม เพราะรัฐจะช่วยเงินเต็มที่ 3,000 บาท หากจองโรงแรมในราคา 7,500 บาท แต่ประเด็นคือ คนส่วนใหญ่ใช้เงินจองไปกับห้องไม่เกิน 3,000

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ททท. ยังกล่าวถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุง คือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนขึ้น การหาวิธีการที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมา เราก็ได้รับคำแนะนำเรื่องกลุ่มผู้สูงอายุไม่ถนัดใช้แอปฯ เราก็อยากให้กลุ่มนี้ได้เที่ยวด้วย โดยเฉพาะวันธรรมดา เราจะเพิ่มการเข้าถึงให้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนต่างๆ

“เราต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไม่ดี ฉะนั้น หากไม่ลดต้นทุนการเดินทาง หากไม่ลดราคาตั๋วเครื่องบินลง คนก็จะเที่ยวกระจุกตัวไม่ไกลจากกรุงเทพฯ”

ส่วนกลุ่ม “EXPAT” (กลุ่มคนต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในประเทศไทย) เรากำลังจะเดินหน้ากับกลุ่มนี้ ความจริง เราะจะพยายามส่งสัญญาณกับชาวต่างชาติในไทย เพื่อบอกต่อไปยังคนในต่างประเทศ ว่าประเทศไทยมีความปลอดภัย สามารถเดินทางมาเที่ยวได้

...

ผู้ว่าการ ททท. เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีศักยภาพในการใช้จ่าย ตอนนี้มีอยู่ในประเทศไทยราว 2 ล้านคน โดยมีตัวเลขจากสมาคมสื่อต่างประเทศในประเทศไทย อยากให้ชวนเขาออกมาเที่ยวเป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรี

จากข้อมูลเขามีกำลังทรัพย์อยู่แล้ว แต่ช่วงที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้ที่อยู่ในประเทศไทย เขาก็ติดงาน มีภารกิจ ทำให้ไม่สามารถเที่ยวได้ แต่ช่วงนี้คิดว่าทุกประเทศทั่วโลกเหมือนกันหมด เป็นโอกาสที่จะไปเที่ยว อย่างประเทศไทย ธรรมชาติก็ฟื้นตัวสวยงาม ถือเป็นโอกาสที่จะไปเที่ยว

“ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่ากลุ่มคนต่างชาติเหล่านี้มีถิ่นพำนักในไทย แต่..ในการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวจะไม่ทราบอยู่แล้ว ว่าบุคคลเหล่านี้แตกต่างกับนักท่องเที่ยว ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ราคาการใช้จ่ายจะคิดในราคานักท่องเที่ยวต่างชาติ ดังนั้น เราจึงต้องทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการสถานที่ท่องเที่ยวให้ได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้คือ เอ็กซ์แพต เขาก็เหมือนคนไทย เพื่อที่จะแก้ปัญหา “2 ราคา” (2 Price) ด้วยเหตุนี้อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องให้เขามาลงทะเบียน หรือออกแบบบัตร เอ็กซ์แพต ทราเวล การ์ด”

ทำใจ รายได้ท่องเที่ยวทั้งปีอาจจะจบที่ 7.5 แสนล้าน ไม่ถึง 1.23 ล้านล้านบาท

สำหรับการคาดหมายรายได้ในการท่องเที่ยวทั้งปี นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ในรอบ 6 เดือนแรก เรามีตัวเลข 28.3 แต่เราหวังไว้ว่าสิ้นปีนี้จะมีคนไทยเที่ยว 70 ล้านคน/ครั้ง รายได้ก็น่าจะได้ 418,000 ล้านบาท หากทำได้ก็จะตรงกับเป้าหมายรายได้ “คนไทยเที่ยวไทย” ที่วางรายได้ไว้ 4 แสนล้าน ซึ่งขณะนี้เรากำลังผลักดันทำงานร่วมกับรัฐบาล มีแพ็กเกจเราเที่ยวด้วยกัน ก็คิดว่าน่าจะไปถึง..

แต่สำหรับเป้าหมายใหญ่ รายได้ 1.23 ล้านล้าน ใน 6 เดือนแรก เรามีนักท่องเที่ยวประมาณ 6.7 ล้านคน มีรายได้ 332,000 ล้านบาท หากเรายังเปิดประเทศไทยไม่ได้แบบนี้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็คงไม่ขยับ ฉะนั้น คิดว่าหากรวมกันก็คงได้เต็มที่ที่ประมาณ 7.5 แสนล้านบาท โดยมีตัวเลขนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นตัวผลักดัน

อดีต “ขุนคลัง” แนะ ดูแล SMEs หวั่นล้มหาย ปรับตัวไม่ทันในสภาวะปกติ

ด้าน นายกรณ์ จาตุกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.หลัง กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ การดูแล “เรื่องปากท้อง” โดยเฉพาะ “กลุ่มผู้ประกอบการ” น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กขึ้นไปถึง SMEs ซึ่งจำนวนเป็นหลักหลายล้าน ที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่า ทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาใหม่ต้องปรับจูนนโยบายมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะทำให้กลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้เข้าถึงได้ เพราะกลุ่มนี้สายป่านสั้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ประกอบการที่หากินกับนักท่องเที่ยว ตอนนี้ยิ่งเดือดร้อนหนัก อุตสาหกรรมโรงแรมลงไปถึงร้านค้าที่พึ่งพาลูกค้าจากต่างประเทศ

“ผมคิดว่าตอนนี้ต้องรีบช่วยเหลือ เพราะกลุ่มพวกนี้มีศักยภาพ ประเทศไทยยังไงผมก็เชื่อว่า จุดแข็งในอนาคตเป็นด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ถ้าเราปล่อยให้ผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปหมด ในช่วงนี้ผมเชื่อว่าเมื่อสภาวะกลับมาสู่สถานการณ์ปกติก็จะฟื้นตัวยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Soft Loan (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาระค่าใช้จ่าย รัฐบาลสามารถที่จะช่วยเหลือได้ตรงจุดมากกว่าลักษณะการใช้เงินตามยุทธศาสตร์ปัจจุบัน..”

นายกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ตัวอย่างในส่วนของเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีการปันส่วนมา 4 แสนล้านบาท ควรนำไปใช้กับโครงการที่เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด ไม่ควรใช้เงินไปกับโครงการ “ล้างท่อ” งบประมาณ หรือว่าเงินกู้ฉุกเฉินก็มีไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากโควิด-19 และผู้ที่ประสบปัญหาหนักที่สุดคือ ประชาชนที่เป็นลูกจ้าง ผู้ประกอบการขนาดเล็ก SMEs และรวมไปถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ต้องช่วยให้เขาอยู่รอดให้ได้

ตอนนี้ต้องยอมรับว่า “คนไทยทุกคน” ล้วนกำลังเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลรายได้แทบ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” หากจะใช้เงินทำอะไรก็ควรไตร่ตรองให้ดี เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ถึงมือผู้เดือดร้อนจริงๆ. 

ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Varanya Phae-araya