“อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล” คือภาระหน้าที่ของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หรือชาวบ้านเรียกว่า “ตำรวจ”
จากสถิติแค่ในปี 2562 ปีเดียว มีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับร่างกาย และเพศ รวมกันมากกว่า 18,130 ราย ตามจับกุมได้ 16,219 ราย (ผู้ต้องหาที่จับได้ 20,627 คน) ซึ่งจับได้เกือบ 90%
ส่วนคดีเกี่ยวกับทรัพย์ รับแจ้ง 51,564 จับกุม 38,722 (ผู้ต้องหาที่จับได้ 47,190 คน) จับกุมได้คิดเป็น 75%
คนร้ายที่เหลือเหล่านี้ ถือว่ายังลอยนวลอยู่ในสังคม
แต่...หากนับรวมๆ ที่สะสมมาตลอด 20 ปี (ตามอายุความคดีอาญา) กลุ่มคนลอยนวลเหล่านี้ย่อมมีมหาศาล
“มีหลายคดีที่ตำรวจตามจับกุมคนร้ายได้ แต่ก็มีบางคดีที่จับไม่ได้ ต้องยอมรับว่า ก็เป็นแบบนี้ทั่วโลก สิ่งที่ต้องดูคือ ตำรวจทำเต็มที่ไหม สืบทุกประเด็นที่จะไปได้หรือยัง ถ้าทำทุกประเด็นแล้วจับไม่ได้ก็ต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่ จากคดีอาชญากรรมทั้งหมด หากจับได้ 80-90% ก็ถือว่าหรูมากแล้ว”
พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการกองปราบปราม กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เกี่ยวกับการไล่ล่าคนร้ายในคดีค้างเก่า และ นโยบายในการทำงานตามล่า “ทรชน”
...
พล.ต.ต.จิรภพ กล่าวว่า สิ่งที่กองปราบทำคือ การเน้นทำงานในคดีอาชญากรรมรุนแรงมีผลกับความมั่นคง คดีผู้มีอิทธิพล อาชญากรรมรุนแรง คดีที่ก่อความเสียหายแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง หรือ คดีที่เป็นที่สนใจของประชาชนบางคดี ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือหน้าที่หลักของกองปราบปราม คดีสำคัญๆ เช่น คดีฆ่าหั่นศพ อดีตตำรวจอิสราเอล คดียักยอกเงิน สจล.นับพันล้าน จับกุมผู้ต้องหาคดียิงอดีตเจ้าพ่อค่าเฟ่ นายสมยศ สุธางค์กูร คดีปล้นทองที่ลพบุรี คดีกราดยิงที่นครราชสีมา และอีกหลายคดี
แต่สำหรับคดีอาชญากรรมรุนแรง เป็นคดีที่ไม่เกิดทุกวัน ดังนั้น หากไม่มีเหตุเราก็ต้องทำหน้าที่ตามจับผู้ต้องหาที่มีอยู่ เช่น บุคคลหนีคดีต่างๆ ซึ่งมีจำนวน “หลายหมื่นคน” ซึ่งในจำนวนนี้มีคดีที่กองปราบดำเนินการสอบสวนเองกว่า 500 คดี
“สาเหตุที่เราต้องตามจับกลุ่มคนเหล่านี้เพราะมีความเชื่อว่า คนเหล่านี้มีโอกาสที่จะกระทำความผิดซ้ำ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องไล่ล่าตัวมาลงโทษ เพื่อให้คนร้ายเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ถ้าทำผิดแล้วหนีได้ ก็หมายความว่ากฎหมายเหมือนบังคับใช้ไม่ได้ 100% และเป็นตัวอย่างไม่ดี”
ส่วนประเภทที่เราเน้นตามจับ คือ กลุ่มข้อหาฆาตกรรม คดีข่มขืน ซึ่งถือเป็นคดีอาชญากรรมรุนแรง ดังนั้น ช่วงที่ผ่านมาเราจึงดำเนินการจับกุมให้ได้มากที่สุด เพื่อลดหมายจับ นำตัวคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ขอยกตัวอย่างสถิติผลงานการจับกุมของกองปราบปราม ห้วง พ.ย.62 ถึง มิ.ย.63 ( 8 เดือน) กองปราบปรามจับกุมผู้ต้องหารวม 2,467 คดี เฉลี่ยจับกุมเดือนละ 308 คดี หรือจับกุมวันละ 10 คดี ทั้งนี้ ผลการจับกุมเฉพาะหมายจับคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ,ข่มขืน ,คดีเกี่ยวกับทรัพย์ และ คดี ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มีจำนวน 1,429 คดี
จำเป็นไหม ที่ต้องไล่จับพวกที่ใกล้หมดอายุความ ผู้การกองปราบ ตอบอย่างหนักแน่นว่า ไม่เกี่ยวกัน การไล่จับคนหนีคดี แต่สำหรับคดีที่ใกล้หมดอายุความ หรือคดีอุกฉกรรจ์มากๆ เราก็จะทุ่มเทมากขึ้นเพื่อไม่ให้หลุดรอดไปได้
“ผมกล้าพูดเลยว่า การสืบสวนสอบสวนหลังเกิดเหตุ ขอให้เชื่อมือตำรวจไทยได้เลย เชื่อว่าไม่แพ้ชาติใดในโลก เพราะการไล่ล่าจับกุม เราใช้หลักสูตรทุกๆ อย่างที่ได้ร่ำเรียนมาจากต่างประเทศ หรือในประเทศ โดยมีการถ่ายทอดทักษะต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน"
เมื่อถามว่า ลักษณะคนที่หนีคดีเก่งๆ มักเป็นคนประเภทไหน..
ผู้การฯ กองปราบ นิ่งสักครู่ ก่อนตอบว่า คนเก่งมีได้หลายอย่าง บางคนติดคุกบ่อย ไปร่ำเรียนวิชาต่างๆ ในคุกก็ทำให้เก่งได้ จะว่าไปในคุก ก็เหมือนโรงเรียนแห่งหนึ่ง คือ เอาพวกเทพๆ ไปเจอกันแล้วก็ออกมาใหม่
...
“บางคนอาจจะเคยเป็นตำรวจ ก็อาจจะรู้วิธีการสืบสวนสอบสวน ฉะนั้น ในฐานะตำรวจเราก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา อย่างปัจจุบัน คนใช้โซเชียลมีเดีย เราจะทำอย่างไรกับมัน ต้องใช้การสอบสวนแบบเก่าและใหม่ ประกอบกันไป”
คนร้ายใช้โซเชียลมีเดียทำผิด เราก็ใช้ตรงนี้ตามจับได้ แต่ก็ต้องมีอย่างอื่นประกอบ ซึ่ง “ภาษานักสืบ” เขาเรียกว่า “เดินดิน” บ้าง “เดินอากาศ” บ้าง ประกอบกันไป ไม่มีอะไรมันจบได้ในอย่างเดียว เราต้องใช้ความตั้งใจ ทุ่มเท ความรู้ ซึ่งเราได้พยายามอบรมกันเองอยู่ตลอด ซึ่งเราได้ตั้งโรงเรียนสืบสวนของกองปราบขึ้นมา ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ตำรวจได้เข้ามาฝึกอบรม
มีคดีไหนไหม ที่ซับซ้อนกว่าจะลากคอมาลงโทษได้ พล.ต.ต.จิรภพ ตอบฉับพลันว่า ก็คดี พ.ต.ท.บรรยินไง (พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์)
พ.ต.ท.บรรยิน นับเป็นผู้กว้างขวางแห่งเมืองนครสวรรค์ คดีของพ.ต.ท.บรรยิน ถือว่าซับซ้อนมาก นับเป็นคนที่พยายามหลบหนีความผิด หากจำได้ในตอนแรกๆ คดีเสี่ยชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ทางโรงพักเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ ทางญาติทุกคนก็เชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ
...
แต่..เมื่อตามเก็บข้อมูล ประกอบกับทางญาติได้ร้องเรียนเรื่องหุ้นเข้ามา เราจึงตามเก็บหลักฐานทุกอย่าง ตั้งแต่วันโอนหุ้นมูลค่ากว่า 300 ล้าน จากนั้นไม่ถึงเดือน เสี่ยชูวงษ์ ก็เสียชีวิต
โอนหุ้น 300 ล้าน และเสียชีวิตกะทันหันอย่างปริศนา นี่คือเหตุจูงใจในการกระทำความผิด
เมื่อเราสาวลึกข้อมูลหลักฐาน พยานทั้งหมด จนเชื่อว่าเป็นเหตุ “ฆาตกรรม” เราจึงดำเนินการสั่งฟ้อง ซึ่งตรงนี้เราทำงานหนัก เก็บเล็กผสมน้อยจากหลักฐานต่างๆ จนทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ซึ่งเรามั่นใจว่าในพยานหลักฐานทั้งหมด เชื่อว่าจะเอาผิดได้ ซึ่งคดีนี้อยู่ในระหว่างการสืบพยานในชั้นศาล นอกจากนี้ ยังมีคดีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษาอีก
เช่นเดียวกัน แผนแยบยลหวัง "แหกคุก"
ผู้การฯ กองปราบปราม เล่าเบื้องหลังให้ฟังว่า ครั้งแรกเราได้ยินข่าวว่า พ.ต.ท.บรรยิน จะแหกคุกครั้งแรก “ผมก็ไม่เชื่อ”
แต่สิ่งที่ทำคือ การตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการพิสูจน์ทราบ จนรู้ว่า แผนนี้ได้เริ่มต้นจาก การได้รู้จัก “ไอ้โจ” ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในคุก ซึ่งโจ ได้ร้องขอให้นายบรรยินช่วยประกันตัวออกมา เพราะไม่มีเงิน
ขอให้ช่วย ช่วยจริงไหม...คำตอบคือ จริง! เพราะพบความสัมพันธ์ระหว่างไอ้โจกับคนสนิทของ พ.ต.ท.บรรยิน
พล.ต.ต.จิรภพ กล่าวต่อว่า “เรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ....กลุ่มคนเหล่านี้เหมือนอยู่กันคนละโลก คนละสังคม คนอย่างไอ้โจ เข้าออกคุกเป็นว่าเล่น มีคดีติดตัวหลายคดี แต่มีความสัมพันธ์กับคนสนิทของนายบรรยิน?
...
นี่คือ จุดเริ่มต้นของคำตอบว่า “มีมูล”
จากนั้นจึงตามสืบต่อ และตามรวบไอ้โจได้ ผบก.ป. กล่าวว่า ต้องบอกเลยว่ากว่าจะตามจับไอ้โจได้นี่ไม่ใช่ง่าย เพราะเขา “รู้วิธีหลบแบบมืออาชีพ” ต้องใช้เวลาตามหาเกือบ 2 สัปดาห์ เมื่อรวบไอ้โจ เราก็ถามว่า ใครช่วยประกันตัวออกมา ไอ้โจ มันก็รับ โดยเล่าให้ฟังว่า ได้ไปคุยกันข้างใน (คุก) อยากได้ประกันตัวแต่ไม่มีเงิน ก็จึงมีการเสนอเรื่องการช่วยเหลือ แต่..มีเงื่อนไข ให้ประสานนักการเมืองคนหนึ่งให้ช่วย คือ 1. วางแผนชิงตัวตอนเดินทางไปขึ้นศาล หากไม่สำเร็จ และ 2. ให้ไปอุ้มภรรยา ผบ.เรือนจำ เพื่อต่อรองให้ประกันตัว
ในความเป็นจริงจะทำได้อย่างนั้นเลยหรือ? ผบก.ป. ยอมรับตรงๆ ว่า “ผมก็ไม่รู้ แต่...ถ้าย้อนถามก่อนเกิดเหตุ คดีอุ้มพี่ชายผู้พิพากษา เพื่อบีบบังคับให้ผลคดีเป็นไปอย่างต้องการ เป็นใครจะกล้าทำ...ที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์นี้มาก่อน...
ในช่วงท้าย ผบก.ป. กล่างถึงแนวทางการไล่ล่าคนหนีคดีว่า กองปราบแม้จะมีภาระหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ซึ่งก็เหมือน Bird eye view แต่สำหรับข้อมูลเชิงลึก ตำรวจในพื้นที่เขาต้องรู้ลึกกว่าเราอยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการร่วมมือในการทำงาน ถือว่าเป็นทีมเดียวกัน แบ่งหน้าที่การทำงานกัน
“ผมกำชับอยู่ตลอดว่า เราต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทุกคน ไม่ว่าจะรวยจน แต่ขอว่าต้องเข้ากรอบการทำงานของเรา เราไม่เอียงข้างใคร เราเน้นทำแบบตรงไปตรงมา คือ ทำถูกให้เป็นถูก ผิดให้เป็นผิด ผมเชื่อว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปเขารู้สึกกับกองปราบดีขึ้น เพราะว่าคนที่มาหาเราแล้วคดีไม่บิดเบี้ยว ส่วนคดีเก่าๆ ที่เราจับได้ ตรงนี้คือเรื่องความขยัน ซึ่งคนของเราเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ความสามารถตั้งใจทำงาน”
ผู้เขียน : อาสาม
ช่างภาพ : ชุติมน เมืองสุวรรณ