ถนนข้าวสารหลังปลดล็อกเฟส 5 ยกเลิกเคอร์ฟิว ไม่มีความแตกต่าง ธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ ชีวิตลำบากเหมือนเดิม ลดราคาเท่าทุนเพื่อดึงดูดลูกค้าและความอยู่รอดยังขายไม่ได้ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 (COVID-19) ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยว ความหวัง “ไทยเที่ยวไทย” ช่วยคนไทยยังริบหรี่

ถนนข้าวสาร ขึ้นชื่อว่าเป็นถนนที่ไม่เคยหลับใหล เป็นอีกหนึ่งจุดหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลก เสน่ห์ของถนนข้าวสารคือความหลากหลาย มีทั้งร้านค้า ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านขายของที่ระลึก ส่วนกลางคืนจะมีร้านอาหาร ผับ บาร์ต่างๆ เปิดให้บริการอย่างคึกคัก แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต้องปิดประเทศเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ถนนเส้นนี้เงียบเหงาเหมือนป่าช้า ร้านค้า ร้านอาหาร ผับ บาร์ ต้องปิดทำให้ผู้ค้าในย่านนี้ยังคงรอด้วยความหวัง สักวันถนนข้าวสารจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม

ทว่าหลังรัฐบาลผ่อนปรนระยะที่ 5 และยกเลิกเคอร์ฟิว ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ลงพื้นที่ พบว่าแม้ร้านอาหาร ร้านนวด ร้านขายของที่ระลึกบางส่วนกลับมาเปิดอีกครั้ง แต่ตลอดทั้งสายของถนนข้าวสารยังเต็มไปด้วยความเงียบเหงาเหมือนเดิม แม้ผู้ประกอบการร้านค้า ร้านนวด ยอมลดราคาเท่าทุนก็ยังไม่มีคนมาซื้อ หรือใช้บริการ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย เพราะทุกคนต่างต้องเซฟค่าใช้จ่ายเพื่อความอยู่รอด

...

ข้าววัดช่วยชีวิต ขายราคาทุน ไร้วี่แววคนซื้อ

นางทัศมน สุขลิตร บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ตนทำมาหากินอยู่ถนนข้าวสารมา 20 ปี ไม่เคยเจอถนนข้าวสารเงียบเชียบเช่นนี้ ปกติมีแต่ผู้คนเดินไปมา คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งวันทั้งคืน ผลกระทบโควิด-19 จากเคยมีรายได้รับจ้างขายเสื้อที่ระลึกให้นักท่องเที่ยววันละ 300 บาท ตอนนี้รายได้เป็นศูนย์ แม้ขายเสื้อในราคาทุนยังขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนซื้อ

เพื่อความอยู่รอดของเธอและลูกซึ่งกำลังเรียนมหาวิทยาลัย พวกเขาต้องปรับตัวด้วยการกินใช้อย่างประหยัด จากเคยกินวันละ 200 บาท ลดเหลือ 100 บาท งดเดินทางที่ไม่จำเป็น บางวันอาศัยเพื่อนเอาข้าววัดมาให้กิน หากได้มาเยอะก็แช่ตู้เย็นแล้วนำมาอุ่นกิน เมื่อถามถึงการให้กำลังใจตัวเองเพื่อสู้วิกฤติโควิด-19 นางทัศมนพูดด้วยน้ำเสียงเศร้า

“คิดบวกเข้าไว้ คนอื่นแย่กว่าเรา ไม่คิดลบ คิดลบทำให้ชีวิตแย่ คิดบวกบางทียังมีข้าววัดให้กิน ถ้ากู้เงิน 1 หมื่น ถึงกำหนดก็ไม่มีจ่าย”

วันละ 100 หืดขึ้นคอ หนทางสุดท้ายอาจขายสามล้อ 

ไม่เพียงแต่ร้านขายเสื้อผ้าที่ระลึกให้นักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ นายจรัญ เทียบพันธ์ อาชีพขับรถตุ๊กๆ ถนนข้าวสารมากว่า 13 ปี บอก รู้สึกหดหู่ใจ แต่ก่อนถนนข้าวสารคราคร่ำด้วยนักท่องเที่ยว จากเคยมีรายได้หลายพันต่อวัน เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจ้างเหมาพาเที่ยว ปัจจุบันแค่หาให้ได้วันละ 100 ยังหืดขึ้นคอ ต้องปรับตัวให้รอดด้วยการหยุดเที่ยว เก็บเงินไว้กินข้าว ที่ไหนแจกข้าวก็เข้าคิวนำมากินประทังชีวิต

...

“วันนี้ออกมาขับตั้งแต่ตีห้า วน 2-3 ชั่วโมงกว่าจะได้ลูกค้าคนนึง ทั้งวันได้ 100 บาท จริงๆ ต้องหาให้ได้วันละ 300 ถึงจะพออยู่ได้ แต่ก็จะสู้ให้ถึงที่สุด สู้ๆ ไปก่อน คิดอย่างเดียวว่าอีกหน่อยจะดีขึ้นถ้าไม่ดีขึ้นอาจขายสามล้อ กลับร้อยเอ็ดไปขายส้มตำ”

บ่าวใต้ระทม น้ำหนักลด งดเที่ยว ฝึกทำกับข้าวกินเอง 

ด้าน นายอุทัย มณีนาถ หรือ บาว จาก จ.พัทลุง มายึดอาชีพถักเปียคอนโรลที่ถนนข้าวสารมาสิบกว่าปี เล่าการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวว่า ต้องประหยัดให้มาก ทั้งประหยัดเที่ยว ประหยัดกิน จากที่เคยซื้อกับข้าวกินทุกมื้อหันมาทำกับข้าวกินเอง และกินน้อยลงจนน้ำหนักลด รายได้ครอบครัวมีเพียงการถักเปียคอนโรล 6 เส้น 300 บาท แต่ก่อนวันหนึ่งมีรายได้หลายพัน ปัจจุบันลดราคา 50% ยังไม่มีคนมาถักเปียลย

“ไม่รู้ว่าจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไร บางทีท้อนะ แต่ต้องสู้ เพราะก็กระทบกันทั่วประเทศ ทั่วโลก” นายอุทัยกล่าวสั้นๆ ตามประสาคนพูดน้อยแต่ใจแกร่ง

...

เลิกจ้างพนักงาน เงินออมใกล้หมด ขอเป็นหนี้เพื่ออยู่รอด

ร้านอาหาร อีกอาชีพในถนนข้าวสารที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 นางสุธาวัลย์ ช่วงราช หรือมิ้ง เจ้าของเกสต์เฮาส์ และร้านอาหารมากว่า 30 ปี บอกเล่าความรู้สึกว่า ตนใช้ชีวิตอย่างมีความหวังทุกวันว่าสักวันคงดีขึ้น โควิด-19 จะหมดเสียที เพื่อให้มีกำลังใจสู้ต่อไปแม้จะรู้เต็มอกว่าเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ

เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวจึงตัดสินใจปิดร้านอาหารตั้งแต่ปลาย ก.พ. 63 และเลิกจ้างพนักงาน 4-5 คนที่เคยจ่ายเงินเดือน เดือนละ 12,000 บาท เพื่อประหยัด โชคดีที่เป็นคนเก็บออม ยามลำบากยังมีเงินใช้ และถึงแม้จะมีเงินเก็บ แต่ตอนนี้ใกล้หมดแล้ว หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นคงต้องจำนำทอง และกู้เงิน

“ถนนข้าวสารร้างมาก เงียบจนได้ยินเสียงลมหายใจตัวเอง คิดทุกวันเมื่อไรจะดีขึ้น อยากให้กลับมาเหมือนเดิมเร็วๆ ถ้าเงินเก็บหมด ทองไม่มี ก็ยอมเป็นหนี้ กู้เงินมาใช้ ต้องสู้เพื่อลูก ลูกยังเรียนอยู่” นางสุธาวัลย์กล่าวด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา

...

น้ำตาลูกผู้ชาย กินน้ำแทนข้าว อดทนเพื่อลูก เมีย 

ขายทัวร์ให้นักท่องเที่ยว อีกธุรกิจที่เฟื่องฟู หลังการระบาดของโควิด-19 ชีวิตต้องเจออะไรบ้าง ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ พูดคุยกับ นายเอกสิทธิ์ นันทนิตย์ ซึ่งขายทัวร์ให้กับนักท่องเที่ยวกว่า 20 ปี บอกเล่าทั้งน้ำตาลูกผู้ชายว่า แต่ก่อนแทบไม่มีเวลาพัก เพราะทัวร์ขายดีมากๆ รายได้เดือนละหลายหมื่นถึงเกือบแสน

ปัจจุบันต้องหยุดขายทัวร์ หันมาขับรถส่งอาหารเดลิเวอรี่ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน บางวันได้ไม่กี่ร้อย บางวันหาไม่ได้ ต้องใช้ชีวิตด้วยความอดทนและประหยัดให้มากที่สุดเพราะมีลูก เมีย ต้องดูแลรับผิดชอบ ด้วยความเป็นหัวหน้าครอบครัวจึงต้องเข้มแข็ง และยอมลำบากเพื่อให้ลูก เมีย อิ่มท้อง

“บางวัน ต้องออกมาขี่รถมอเตอร์ไซค์รับส่งอาหารแต่เช้า ไม่มีเงิน หิวก็กินน้ำแทน ไม่ได้ซื้อน้ำเป็นขวด กดซื้อน้ำครั้งละบาท จะได้กินข้าวตอนมื้อเย็น พร้อมลูกเมีย ชีวิตลำบากสุดๆ แต่ก็ต้องสู้” นายเอกสิทธิ์เล่าทั้งน้ำตา

ขอแค่ทุน อาศัยกับน้อง วอนรัฐเยียวยาผู้ประกอบการ

อีกอาชีพที่นักท่องเที่ยวนิยมหากมาถนนข้าวสาร คือ ร้านนวด หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ น.ส. แพร คเนเร็ว เจ้าของร้านนวด Siam Thai Massage มากว่า 10 ปี มีลูกค้าทุกเชื้อชาติ ก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด โดยกินวันละมื้อ ย้ายไปอยู่กับน้องเพื่อประหยัดค่าเช่าห้อง

หลังปลดล็อก สถานการณ์ยังเหมือนเดิม แม้จะลดราคาชั่วโมงนวดก็ยังไม่มีคนมาใช้บริการ ยอมรับว่าสุขภาพจิตแย่จนเครียด นอนไม่หลับ เพราะไม่มีรายได้ แต่จะสู้ต่อไปเพื่อพ่อแม่

“อยู่ข้าวสาร 30 ปี เพิ่งเคยเจอ รู้สึกแย่มาก เพราะรายได้พึ่งนักท่องเที่ยวอย่างเดียว เข้าใจเลยว่าคนไม่มีทางออกเป็นอย่างไร ตอนนี้ต้องนิ่ง ทุกร้านลดราคาเพื่อเอาแต่ทุนก็ยังไม่มีรายได้ อยากให้รัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการบ้าง ปกติส่งเงินให้พ่อแม่ที่อุดรฯ ทุกเดือน ต้องเจียดเงินให้ สงสารพ่อแม่ ไม่รู้จะสู้ไปด้วยกันไปได้ไหวแค่ไหน”

ข่าวน่าสนใจ