"SMALL GIFT BIG SMILE" (ของขวัญชิ้นเล็ก ยิ้มกว้าง) คือ ปรัชญาการทำธุรกิจของ บริษัท ซานริโอ (SANRIO) ประเทศญี่ปุ่น เจ้าของวัฒนธรรม ‘คาวาอิ’ (KAWAII) อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ยากจะลอกเลียนแบบ
ซึ่งเจ้าวัฒนธรรมคาวาอิที่ว่านี้ มันไม่ต่างอะไรกับ...คลื่นลูกใหญ่ที่ถาโถมเข้าสู่หัวใจของสาวๆ ทั่วโลก เพื่อให้เกิดอาการ ‘มือไม้สั่น’ จู่ๆ ก็ยอมควักเงินในกระเป๋าออกมาซื้อสารพัดสินค้าจาก ‘เหล่ากองทัพแห่งความมุ้งมิ้ง’ ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา
นำทัพโดย ‘คาแรกเตอร์เรือธง’ ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด จนกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานแห่งการตลาดโลก
ทั้งๆ ที่เจ้าของคาแรกเตอร์นี้มีใบหน้าที่ราวกับไร้ความรู้สึกใดๆ
แต่ ‘คุณ’ รู้ไหมใบหน้าของ ‘เธอ’ กลับไปปรากฏตัวในของเล่นมากมายและสารพัดสินค้านานาชนิด ไม่เว้นแม้แต่ลูกโบว์ลิ่ง น้ำมันรถยนต์ เครื่องบินโดยสาร โรงแรม กระเป๋าเงินที่ประดับด้วยคริสตัล SWAROVSKI สุดพรีเมียม มูลค่า 220,000 เหรียญสหรัฐฯ โรงพยาบาลเด็ก หรือแม้กระทั่งกีตาร์สำหรับคอเพลงร็อกอย่าง ‘เฟนเดอร์’ (FENDER)!
...
อืม...รวมถึง ‘กางเกงในท่านชาย’ ก็เคยมีมาแล้วนะ!
คุณเข้าใจถูกต้องแล้ว ‘คาแรกเตอร์เรือธง’ นั้นมีชื่อว่า ‘เฮลโล คิตตี้’ (HELLO KITTY) หรือ ‘คิตตี้จัง’ (KITTY CHAN) ของชาวญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมคาวาอิ (KAWAII) ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีเป็นเพียงคาแรกเตอร์บนกระเป๋าใส่เหรียญเงินเมื่อปี 1974 แต่แล้วหลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปีต่อมา เมื่อ ‘เธอ’ บุกเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา อะไรที่เรียกว่า ‘PINK GLOBALIZATION’ ก็กลายเป็น ‘PHENOMENON’ ลุกลามขยายวงกว้างไปสู่กลุ่มวัยรุ่นและเด็กสาวๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โดยอีกหนึ่ง ICON สำคัญสำหรับ JAPANESE POP CULTURE นี้ สามารถสร้างรายได้ให้กับ บริษัท ซานริโอ จาก 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2010 สู่ 42,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 และปัจจุบัน ‘คิตตี้จัง’ ไปปรากฏตัวในแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่แตกต่างกันกว่า 50,000 โปรดักส์ ใน 130 ประเทศทั่วโลก!
และ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2020 หุ้นซานริโออยู่ที่ 1,668 เยน และมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 1,360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ซึ่งผลงานทั้งหมดที่ว่าไปจากบรรทัดข้างบนนั้น อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของชายผู้ได้ฉายาว่า MR.CUTE ที่มีชื่อว่า ‘ชินทาโร ทสึจิ’ (SHINTARO TSUJI) CEO ที่ปัจจุบันอยู่ในวัยถึง 92 ปี! เข้าให้แล้ว (ปี 2020)
ใช่ ‘คุณ’ คุณอ่าน ‘ไม่ผิด’ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1960 จนถึงกลางปี 2020 นี้ เจ้าของวัฒนธรรม KAWAII ที่สาวๆ ทั้งโลก หากค้นกระเป๋าของตัวเองจะต้องมีผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้อย่างน้อย 1 ชิ้น ยังไม่เคยมีการเปลี่ยนถ่ายผู้เข้าไปเกาะกุม ‘หัวใจ’ ของสาวๆเลยสักครั้งเดียว!
แต่แล้ว...ใดๆ ในโลกย่อมไม่อาจฝืนกระแสธารแห่งความเปลี่ยนแปลงไปได้!
ในที่สุดเจ้าของ HELLO KITTY ซึ่งเป็นที่จดจำจาก TRADEMARK โบสีแดงสุด CHIC จมูกจุ๋มจิ๋มสีเหลือง หนวดข้างละ 3 เส้น แต่ไม่มีปาก ขวัญใจเด็กสาว สาวน้อย (และสาวใหญ่) ทั่วโลก จนสามารถเนรมิตเงินมูลค่านับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กับ บริษัท ซานริโอ ก็ถึงเวลาถ่ายเลือดครั้งสำคัญ
...
โดย ‘ผู้เฒ่าชินทาโร’ วัย 92 ปี ซึ่งครอบครองอาณาจักรแห่งนี้มาตั้งแต่ถือกำเนิด ได้ประกาศขอล้างมือจากอ่างทองคำ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 เพื่อส่งไม้ต่อให้กับหลานชาย ‘โทโมคูนิ ทสึจิ’ (TOMOKUNI TSUJI) ผู้เกิดวันเดียวกับ ‘คิตตี้จัง’ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน แต่มีอายุน้อยกว่า ‘เธอ’ ถึง 14 ปี เป็นผู้กุมหางเสือเรือลำนี้ต่อไป
นี่คือการเปลี่ยนแปลงของ ‘กองทัพแห่งความมุ้งมิ้ง’ นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อเกือบ 6 ทศวรรษที่ผ่านมา!
การ ‘แตะมือ’ เปลี่ยนผู้นำองค์กรในครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เปราะบางสำหรับทั้งซานริโอ และบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ที่กำลังประสบปัญหายอดขายที่ลดลงอย่างน่าใจหาย และปัจจุบันกำลังถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ซ้ำเติมเข้าไปอีกเป็นอย่างย่ิง
โดย ‘ซานริโอ’ สูญเสียรายได้หลักจากการที่ HELLO KITTY THEMED PARKS และสโตร์ขายสินค้าในประเทศญี่ปุ่นต้องปิดตัวลงชั่วคราวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ล่าสุด มีกำหนดจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 20 ก.ค.) จากพิษ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อผลกำไร จากผลประกอบการสิ้นสุดเดือนมีนาคม ในปีงบประมาณ 2019-2020 ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถึง 95% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับเมื่อปีที่ผ่านมา ที่สามารถทำกำไรได้ 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ ยอดขายสินค้าปรับตัวลดลง 6.5% เหลือเพียงแค่ 714 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จนทำให้มีการคาดการณ์กันแล้วว่า ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้น่าจะปรับตัวลดลงมากกว่า 10%
โดย ‘หนุ่มน้อย’ ผู้นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอาวุโส และเข้าทำงานใน บริษัท ซานริโอ ในปี 2014 ต้องก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้กุมบังเหียนองค์กรในแบบ FAST-TRACKED เนื่องจาก ‘คูนิฮิโกะ ทสึจิ’ (KUNIHIKO TSUJI) ผู้เป็นพ่อ และบุตรชายของ ‘คุณชินทาโร’ เกิดเสียชีวิตกะทันหันจากโรคหัวใจ ด้วยวัยเพียง 61 ปี ขณะเดินทางไปติดต่อธุรกิจที่ LOS ANGELES เมื่อปี 2013
...
โดยกัปตันเรือคนใหม่ได้ประกาศ ‘วิสัยทัศน์’ ในวันแถลงข่าวการลงจากเก้าอี้ของผู้อยู่ในสถานะ ‘คุณปู่’ ว่า...
"ผมต้องการความเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า เพื่อให้บริษัทของเราสามารถเท่าทันกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่หมุนเร็วขึ้นกว่าในอดีต และสิ่งที่จะต้องเร่งปรับปรุงอย่างขนานใหญ่ก็คือ ธุรกิจออนไลน์ และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในตลาดนอกประเทศ เพื่อให้กลายเป็น ‘ผู้อยู่รอด’ ในธุรกิจนี้ได้ต่อไป
และแทนที่จะเน้นโฟกัสไปที่คาแรกเตอร์ของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว ผมต้องการขยายกิจการของบริษัทไปสู่มุมมองที่กว้างมากขึ้นสำหรับความบันเทิงระดับโลก รวมถึงส่งมอบคุณค่าให้ถึงคนทุกคนบนโลกใบนี้"
แต่แน่นอน ภารกิจก้าวเท้าขึ้นทาบทับ "เงาแห่งความยิ่งใหญ่" ที่ผู้เป็นปู่ "แผ้วถางไว้" นั้น ย่อมต้องถือเป็นความท้าทายของชายวัยเพียง 31 ปี ซึ่งถือว่า ‘หนุ่มแน่น’ ที่สุดเป็นลำดับที่ 1 ในลิสต์ CEO ของบริษัทในตลาดหุ้น TOPIX ของประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
นั่นเป็นเพราะ... ‘รอยทาง’ ที่เขาจะต้องเดินต่อไปนั้น นอกจากจะมีเงาความสำเร็จของชายผู้ยิ่งใหญ่ครอบงำเอาไว้แล้ว มันยังมีขนบการบริหารที่ ‘แตกต่าง’ กับบริษัทมหาชนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง
และนั่นคือ...สิ่งที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนทั้งหลายกำลังเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วงเป็นใย นอกเหนือไปจากความอ่อนด้อยประสบการณ์ ในยามที่ต้องผลักดันองค์กรไปข้างหน้าฝ่ามรสุมวิกฤติเช่นนี้
"อะไรคือก้าวต่อไป" ของ ‘ซานริโอ’ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2020 สิ่งที่ต้องจับตา คือ ‘หนุ่มน้อย’ จะเลือก ‘ก้าวข้าม’ หรือ ‘ทำตาม’ ขนบการบริหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ‘คุณปู่ผู้เป็นตำนาน’ กันแน่?
...
แล้วอะไรคือ ขนบการบริหารที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวดังที่ว่ากันน่ะหรือ?
ก้าวที่ 1: พนักงานทุกคนของซานริโอ คือ ผู้ที่สำคัญที่สุดขององค์กร
สำหรับบริษัทเอกชนอื่น คุณมักจะได้ยินว่า "ลูกค้าคือพระเจ้า" เช่นเดียวกับเหล่าผู้ถือหุ้น แต่กับที่ ‘ซานริโอ’ ภายใต้การนำของ ‘ปู่ชินทาโร’ มันต่างออกไป
"เหล่าพนักงานของเราทุกคน ล้วนเป็นผู้ที่มีความสำคัญเป็นลำดับแรก อันดับที่สอง คือ เหล่าพันธมิตรผู้ผลิตสินค้าให้กับบริษัท ลำดับที่สาม คือ ลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเรา และลำดับสุดท้าย คือ ผู้ถือหุ้น และนี่ถือเป็นคำสั่งของผม"
ก้าวที่ 2: ผลกำไร ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่องค์กรทำ
สิ่งที่ผู้ให้กำเนิดวัฒนธรรม KAWAII มักจะแสดงออกให้เห็นต่อสาธารณชนอย่างชัดเจนก็คือ การแสดงความรังเกียจต่อผู้ที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าสิ่งที่บริษัทของตัวเองทำ
"ผมไม่ได้รับเงินเดือนมหาศาล เหมือนกับที่บริษัทสัญชาติอเมริกามักจะชอบจ่ายกัน นั่นเป็นเพราะมันน่าจะดีกว่าสำหรับทุกๆ คนที่เป็นเพื่อนของผม"
เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่ ‘คุณปู่’ ยังเดินหน้าเปิด 2 สวนสนุก อย่าง PUROLAND และ HARMONYLAND ในปี 1990 และ 1991 ทั้งๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับ ‘วิกฤติฟองสบู่แตก’
โดย ‘คุณปู่ชินทาโร’ ยืนยันในหลักการนี้ของตนเองว่า "หากคุณไปที่ PUROLAND คุณจะได้พบกับ ‘คิตตี้จัง’ แน่นอน แม้ว่าการกระทำเช่นนั้นจะทำให้เราต้อง ‘ขาดทุน’ ก็ตาม เพราะการขาดทุนที่ว่านี้จะถือว่าเล็กน้อยมาก หากเทียบกับมูลค่าของสวนสนุกเมื่อมันถูกสร้างจนเสร็จสมบูรณ์ และนี่คือ ‘ผลกำไร’ ที่ไม่ใช่เงินทอง"
ก้าวที่ 3: หลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูในการทำธุรกิจทุกรูปแบบ
ปรัชญาไม่สร้างศัตรูนี้ ไม่เว้นแม้แต่กรณีที่ผลิตภัณฑ์ของ ‘ซานริโอ’ ถูกลอกเลียนและนำไปใช้ประโยชน์อย่างผิดกฎหมายในประเทศจีน
"พวกเราเป็นบริษัทที่เป็นมิตรกับทุกคน ดังนั้นแม้จะมีการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างล้นหลามในประเทศจีน มันก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่หนักหนามากจนเกินไปนัก" และหลังพูดจบ ‘แม่ทัพซานริโอ’ ก็ยังคงไม่มีการฟ้องร้องกับบรรดามือก๊อบปี้ที่ทำให้บริษัทเสียหายแต่อย่างใด
แต่อย่างไรก็ดี เมื่อคุณปู่พบว่าศักยภาพของภาคเอกชนจีนเริ่มทำสินค้าได้มีคุณภาพดีมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงงาน ‘เซี่ยงไฮ้ เอ็กซ์โป’ เมื่อปี 2010 คุณปู่ชินทาโรจึงเริ่มหมดความอดทน และใช้คำพูดที่ดูเหมือนจะรุนแรงที่สุดในชีวิต เพียงว่า "เราจะทำการฟ้องร้องและเราจะทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น"
ก้าวที่ 4: มิตรภาพ ความน่ารัก จะต้องคงอยู่ไปตลอดกาล
"หลังจากที่ผมจากโลกนี้ไปแล้ว ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า คุณค่าของมิตรภาพฉันเพื่อน ความน่ารัก และการดูแลซึ่งกันและกัน จะยังคงปรากฏอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป
ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ แต่ความเป็นมิตรอาจจะไม่เหมาะสำหรับพวกเขา อย่างไรก็ดี การ์ดที่ทำด้วยมืออย่างสวยงามที่บริษัทของเราทำ เพื่อเฉลิมฉลองวันเกิดหรือแสดงความขอบคุณในช่วงเวลาต่างๆ นั้น มันยากเหลือเกินที่จะเชื่อได้ว่า ใครก็ตามจะสามารถเอาตัวรอดไปจาก ‘มนต์สะกด’ ของ ‘คิตตี้จัง’ ของเราไปได้"
ก้าวที่ 5: สินค้าของซานริโอ คือ ‘ของขวัญ’
ในช่วงที่ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจเสื่อมถอยก่อนหน้านี้ มีสิ่งที่ทำให้หลายๆ คนประหลาดใจ นั่นก็คือ สินค้าของ ‘ซานริโอ’ ยังคงขายได้ดีอยู่
โดย ‘คุณปู่ชินทาโร’ กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า...
"ผลิตภัณฑ์ของยูนิโคล่ (UNIQLO) ถือว่าเป็นสินค้าราคาไม่แพงนัก แต่ถ้าหากคุณซื้ออะไรสักอย่างของ ‘ยูนิโคล่’ ไปให้กับเด็กสาวสักคน ‘เธอ’ จะถามกลับมาว่า ทำไมมันราคาถูกจัง ซึ่งมันจะต่างจากผลิตภัณฑ์ของซานริโอที่จะดูแพงกว่า นั่นเป็นเพราะสินค้าของเรา คือ ของขวัญ"
ซึ่งวิธีคิดในแบบที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากผู้บริหารบริษัทมหาชนต่างๆ อื่นๆ มันจึงเป็นที่น่าห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อ ‘ซานริโอ’ เปลี่ยนถ่ายสู่มือ ‘หนุ่มน้อย’ และ ‘ชายคนเดิม’ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดชะตาของบริษัทอีกต่อไปแล้ว ‘ซานริโอ’ จะยังคงสามารถรักษา ‘ขนบ’ แบบนี้ เอาไว้ได้ต่อไปหรือไม่?
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ‘คุณ’ อยากจะทำความรู้จักกับนักบริหารผู้น่าทึ่งคนนี้แล้วใช่ไหม?
งั้นเราไปทำความรู้จักกับ CEO ผู้บริหารงานมา 6 ทศวรรษ และเนรมิตคาแรกเตอร์ที่สุดแสนน่ารักให้กับชาวโลกกันเลยดีกว่า!
คุณปู่ชินทาโร ทสึจิ (Shintaro Tsuji) ในวัยเพียง 32 ปี ตัดสินใจลาออกจากอาชีพที่สุดแสนจะมั่นคง คือ ข้าราชการประจำจังหวัดยามานาชิ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อมาก่อตั้ง บริษัท ยามานาชิ ซิลค์ เซ็นเตอร์ (YAMANASHI SILK CENTER) ที่กรุงโตเกียว เพื่อประกอบธุรกิจค้าขายผ้าไหม ด้วยเงินทุน 1 ล้านเยน ในปี 1960
คล้อยหลังเพียง 2 ปี อดีตข้าราชการผู้นี้เกิดปิ๊งไอเดียการสร้างโมเดลธุรกิจแบบใหม่ขึ้น โดยเรียกมันว่า ‘ธุรกิจที่สื่อสารกับสังคม’ (the Social Communication Business) ที่สินค้าจะเป็นมากกว่าของที่ใช้แล้วทิ้งจากร้านโชห่วย เพื่อใช้ ‘มัน’ ผลักดันการสร้างวัฒนธรรม "การซื้อของฝากที่จะทำให้ผู้รับรู้สึกมีความสุข" ให้กับ ‘ชาวแดนอาทิตย์อุทัย’ ในเวลานั้น
แต่แน่นอน การจะผลักดันโมเดลธุรกิจเช่นนั้นได้ สินค้าที่จะนำมาวางขายจะต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เขาจึงทดลองสร้างคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนขึ้นมา เพื่อลองผลักดันแนวคิดที่ว่านั้นดู ซึ่ง ‘คาแรกเตอร์แรก’ ของ บริษัท ยามานาชิ ซิลค์ เซ็นเตอร์ นั้นมีชื่อว่า STRAWBERRY KING ซึ่งได้สร้างความสำเร็จอย่างน่าพอใจให้กับบริษัท จากนั้นเป็นต้นมา ‘คาแรกเตอร์’ อื่นๆ ก็ตามมาอีกรัวๆ
จนกระทั่งในปี 1973 บริษัท ยามานาชิ ซิลค์ เซ็นเตอร์ ได้เปลี่ยนชื่อไปเป็น ‘ซานริโอ’ (SANRIO) ซึ่งมาจากการผสมคำว่า ‘SAN’ ที่แปลว่า 3 ในภาษาญี่ปุ่น และ ‘RIO’ ที่แปลว่า แม่น้ำในภาษาสเปน เมื่อนำมารวมกัน จึงแปลว่า ‘แม่น้ำ 3 สาย’ ซึ่งมีนัยที่ต้องการสื่อว่า "บริษัทจะผูกโยงทั้งโลกเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง"
ในปี 1974 เมื่อ SANRIO ได้ออกแบบ ‘คาแรกเตอร์’ หนึ่งขึ้นมาบนโลก ‘เธอ’ ได้ผลักดันให้อดีตบริษัทขายผ้าไหมแห่งนี้ ประสบความสำเร็จและโด่งดังในระดับโลกทันที
ซึ่ง ‘เธอ’ คนนั้น ซึ่งคนทั้งโลกหลงคิดว่าเป็น ‘แมวเหมียว’ มาร่วม 40 ปี ก่อนที่ ‘ซานริโอ’ จะมาเฉลยในปี 2014 ว่า แท้ที่จริงแล้ว ‘เธอ’ คือ เด็กสาวน้อยผู้ร่าเริง เพียงแต่เธอมี ‘หนวด’ (แมว) แค่นั้นเอง! และเธอคนนั้นมีชื่อว่า ‘HELLO KITTY’
โดยในตอนแรก ‘เธอ’ ผู้ไร้ปาก และมี ‘โบสีแดง’ เป็นสัญลักษณ์ประจำตัวนี้ ถูกวางตำแหน่งทางการตลาดให้มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ เด็กสาววัย 5-6 ขวบ เพื่อหลีกเลี่ยงกับการต้องปะทะกับ ‘พี่สาวบาร์บี้’ แต่แล้วทุกอย่างก็ผิดไปจากที่คิด นั่นเป็นเพราะ ‘เธอ’ สามารถเข้าถึงกลุ่มคนโดยเฉพาะสาวๆ ได้มากกว่าที่บริษัทวางตำแหน่งเอาไว้ชนิดคาดไม่ถึง เพราะมันฮิตระเบิดมากจนถึงขนาดเกิดกระแสความคลั่งไคล้ ที่เรียกว่า วัฒนธรรม ‘คาวาอิ’ (KAWAII) ซึ่งแปลว่า ‘น่ารัก’ ขึ้นมาบนโลกใบนี้ได้สำเร็จ
หากแต่...ท่ามกลางความสำเร็จที่เกินกว่าจินตนาการจะคาดไปถึงนั้น MR.CUTE มิได้ใช้หูและตาเพื่อฟังและดูความ ‘หอมหวาน’ ที่เกิดขึ้น และอาจจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หากยังไม่คิดถึง STEP ต่อไปให้มากพอ
ด้วยวิสัยทัศน์ราวกับ ‘พญาครุฑ’ ที่ย่อมบินอยู่เหนือเมฆ ‘เขา’ จึงประกาศเปลี่ยนแปลงแนวคิดทางธุรกิจครั้งสำคัญ ที่ทำให้บริษัทแห่งนี้ยืนหยัดมาจนถึงปี 2020 ด้วยคำประกาศที่ว่า "เพื่อปกป้องผลงานของเราจากการถูกลอกเลียนแบบ (ให้ได้ยาวนานที่สุด) เราจะต้องได้ลิขสิทธิ์ในผลงานนี้ เพราะสิทธิบัตรคุ้มครองเพียง 15 ปี (ปัจจุบัน 20 ปี) แต่ลิขสิทธิ์จะคุ้มครองยาวนานถึง 50 ปี"
ซึ่งการวางเป้าหมายอย่างชัดเจนในเรื่องการให้ความสำคัญกับ ‘คาแรกเตอร์’ ซึ่งถือเป็นสมบัติที่หากินได้ไม่มีวันหมดนี้เอง จึงผลักดันให้ ‘ซานริโอ’ สามารถเก็บเกี่ยว ‘ดอกผล’ จากกองทัพแห่งความมุ้งมิ้งนี้มาได้จนคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม โดยเฉพาะใน ‘ยุค 90’ ที่เหล่าคาแรกเตอร์ของ ‘ซานริโอ’ สามารถขยายวงสู่การยอมรับจากกลุ่มผู้ใหญ่ (ซึ่งก็คือกลุ่มเด็กๆ ในยุค 70 และ 80 ซึ่งเติบโตมาพร้อมๆ กับคิตตี้จัง) ซึ่งอยู่นอกเหนือจากกลุ่มเป้าหมายเดิมที่เป็นเพียง ‘เด็กสาว’
และอีกหนึ่งวิสัยทัศน์แห่งความน่าทึ่งของ "ชายผู้เป็นตำนานแห่งความน่ารัก" คือ การฉีกทุกคาแรกเตอร์ของ ‘ซานริโอ’ ไม่ให้เหมือนกับคู่แข่งคนสำคัญอย่างพลพรรค ‘มิกกี้ เม้าส์’ จากค่าย ‘วอล์ท ดิสนีย์’ ที่มีการทำภาคแยก STORY ของตัวเองออกมามากมาย เนื่องจาก ‘ชายผู้นี้’ มองว่า คาแรกเตอร์ของซานริโอจะต้องสามารถยืนระยะได้อย่างยาวนานในสายตาของแฟนๆ ทั่วโลก
ช่างมองภาพแห่งอนาคตของธุรกิจที่ ‘ตนเอง’ เป็นผู้ริเริ่มขึ้นมาได้อย่างเหนือชั้น และอ่านเกมการตลาดขาดสมกับที่นั่งบริหารงานมาได้จนกระทั่งถึงอายุ 92 ปีจริงๆ
END CREDIT…
ตำนานการก่อกำเนิด ประวัติ ‘คิตตี้จัง’ เด็กสาวผู้มีแต่ความ HAPPY
เธอ ไม่ได้ร้อง เหมียว เหมียว
เธอ คือ คาแรกเตอร์ ตัวการ์ตูน
เธอ คือ เด็กสาวตัวน้อย
เธอ คือ เพื่อน
แต่ ‘เธอ’ ไม่ใช่ ‘แมว’
เหตุผลที่สามารถยืนยันเรื่องนี้ได้ก็คือ ‘เธอ’ เดินและนั่งด้วยขา 2 ข้าง และ ‘เธอ’ มีสัตว์เลี้ยงเป็น ‘แมว’ หรือที่พวกเรารู้จักกันดีในชื่อ Charmmy Kitty ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเดินด้วยขา 4 ขา!
‘เฮลโล คิตตี้’ (HELLO KITTY) มีชื่อเต็มว่า KITTY WHITE (หรือ KITI HOWAITO ในภาษาญี่ปุ่น) เกิดที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ปี 1974 ราศีพิจิก น้ำหนักเท่ากับแอปเปิล 3 ลูก ส่วนสูงเท่ากับแอปเปิล 5 ลูก และเป็นลูกของคุณและคุณนาย ‘จอร์จ’ และ ‘แมร์รี่ ไวท์’ (GEORGE AND MARY WHITE) และมีน้องสาวฝาแฝดอีกคนที่มีชื่อว่า ‘มิมมี’ (MIMMY) ซึ่งมีจุดแตกต่างจากพี่สาว คือ ‘โบสีเหลือง’ (เท่านั้น) และประกาศคบหากับเพื่อนชายที่มีชื่อว่า DEAR DANIEL ในปี 1999
"ฉันออกแบบ ‘เธอ’ ให้เป็น ‘เด็กสาว’ แล้ว ‘เธอ’ ก็มีสัตว์เลี้ยงที่เป็น ‘แมว’ ชื่อว่า Charmmy Kitty ฉันไม่เข้าใจจริงๆ ว่า ทำไมใครๆ จึงคิดว่า HELLO KITTY เป็นแมวไปได้!" ยูโกะ ชิมิซุ (Yuko Shimizu) ผู้ออกแบบ ‘เธอ’ เป็นคนยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในปี 2016
ส่วนแรงบันดาลใจในการออกแบบ ‘เด็กสาว’ ผู้มี ‘หนวด(แมว)’ นั้น ก็คือ...
‘คุณยูโกะ’ เป็นลูกคนเดียวของครอบครัว ที่พ่อและแม่ต้องออกไปทำงานอย่างหนักทุกวัน ทำให้ชีวิตของเธอส่วนใหญ่ต้องอยู่ในบ้านเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ ทางครอบครัวจึงมอบ ‘ลูกแมวสีขาว’ เอาไว้เพื่อให้เธอเลี้ยงเพื่อคลายความเหงา
‘ยูโกะ’ จึงมักจะใช้เวลาว่างในการอ่านหนังสือ โดยมีเล่มโปรด คือ Alice Through the Looking Glass ของ Lewis Carroll ด้วยเหตุนี้เธอจึงตัดสินใจตั้งชื่อแมวน้อยสีขาวตัวนั้นว่า KITTY จากนั้นเป็นต้นมา KITTY จึงกลายเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเธอ ไม่ว่าจะยามทุกข์หรือสุข นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เธอตระหนักในเวลาต่อมาว่า KITTY ไม่ใช่เพียงแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวของเธอไปแล้ว
แต่แล้วในช่วงเช้าของวันที่ 1 พฤศจิกายน 1973 ก็ถึงช่วงเวลาแห่งการลาจาก KITTY จากเธอไป ทิ้งเอาไว้แต่ความหมายของคำว่า ‘เพื่อนที่แท้จริง’ และในปีเดียวกันนั้นเอง หลังได้รับการว่าจ้างจาก SANRIO ให้ออกแบบ ‘คาแรกเตอร์’ ที่มีโจทย์สำคัญ คือ สามารถเข้ากับคนได้ทุกชนชั้น ‘เธอ’ จึงคิดถึงเพื่อนรักขึ้นมาทันที
และนี่คือที่มาของการออกแบบที่เกิดขึ้นจาก ‘ความสัมพันธ์ฉันเพื่อน’ และ ‘ความรัก’
คำถามของคนทั้งโลก เหตุใด HELLO KITTY จึงไม่มีปาก?
ผู้สร้างเธอขึ้นมาให้เหตุผลถึงการตัดสินใจที่จะไม่ใส่ ‘ปาก’ ลงไปให้กับเธอ ว่า ผู้คนที่มองเห็นคาแรกเตอร์สุด KUTE นี้ จะเป็นผู้ตีความตามความรู้สึกของตัวเอง ฉะนั้น KITTY จึงเป็น ‘คาแรกเตอร์’ ที่มีความสุข เมื่อคุณมีความสุข และเธอจะมีความทุกข์ ก็เมื่อคุณมีความทุกข์ด้วยเช่นกัน
ส่วน บริษัท ซานริโอ พยายามจะอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า นั่นเป็นเพราะ ‘เธอ’ ใช้ใจของเธอแทนคำพูด อีกทั้งพวกเขายังต้องการให้ ‘เธอ’ ทำหน้าที่ทูตสำหรับชาวโลก ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาพูด เพื่อช่วยเสริมสร้างมิตรภาพให้กับผู้คน
ในขณะที่บรรดานักวิเคราะห์มองว่า การที่ ‘เธอ’ ไม่มี ‘ปาก’ แต่มี ‘ดวงตา’ ที่เป็น ‘จุดสีดำ’ 2 จุดนั้น ยิ่งทำให้ KITTY แลดูราวกับไร้ความรู้สึก หรือความเศร้าสร้อย ซึ่งประเด็นนี้น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ‘เธอ’ ได้รับความนิยมและไม่เคยตก ‘เทรนด์โลก’ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ด้าน คุณปู่ชินทาโร ทสึจิ เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยพยายามอธิบายถึงคำจำกัดความของ HELLO KITTY ซึ่งมีทั้งหมด 3 คาแรกเตอร์ ว่า...
คาแรกเตอร์แรก คือ ความน่ารัก ‘เธอ’ จะเป็นที่รักของคนทุกคน
คาแรกเตอร์ที่สอง ที่มี ‘โบ’ เป็นสัญลักษณ์นั้น โบจะเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความเป็นเพื่อน นั่นจึงทำให้ ‘เธอ’ เป็นเพื่อนกับคนได้ทุกคน
คาแรกเตอร์ที่สาม ที่ไม่มี ‘ปาก’ นั้น เธอจะทำหน้าที่เหมือนคนที่คอยยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือใครก็ตามในทุกๆ เรื่อง
ทั้งหมดนี้ คือ MASSAGE ที่ ‘คิตตี้จัง’ ต้องการบอกกับทุกคน...
แล้ว ‘คุณ’ ล่ะ เมื่ออ่านมาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้แล้ว เวลาที่คุณมองคิตตี้จัง ‘คุณ’ รู้สึกอย่างไร?
ข่าวอื่นๆ :
- ทลายกำแพง! พ่อดูถูก เผยที่มา ผ่าพิภพไททัน กับตอนจบที่เหลือ 5%
- 40 ปี เกม Pac-man "NAMCO" โกยหมื่นล้าน คนสร้างไม่ได้สักเยน
- ดื่มด่ำ 15 ปี Miracle of Istanbul ในวันที่ "ลิเวอร์พูล" จองแชมป์พรีเมียร์ลีก
- "ผู้กอบกู้" เศษซาก JAL พิชิต "ใจ" บทเรียนยกเครื่องสายการบินแห่งชาติ
- คลั่ง หลั่งเลือด The Last Dance เริงระบำหมื่นล้าน Air Jordan