ในสถานการณ์ที่คนไทยกำลังอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ล็อกดาวน์กลายๆ) ระแวดระวังการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการอยู่บ้านและอำนวยความสะดวกทุกอย่างด้วยเดลิเวอรี่ กลับได้สร้าง “มลพิษพลาสติก" ให้ก่อตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ยังจำกันได้ไหม? ว่า เรามีการรณรงค์ "ลด" และนำไปสู่การ "แบนถุงพลาสติก" ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ขานรับกันถ้วนหน้า งดแจกถุงพลาสติก ต้องพกถุงผ้าติดตัว แต่... ในวันนี้ กลับกลายเป็นว่า "ขยะพลาสติก" มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น!!
ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่า การดำรงชีวิตของเราจะต้องเปลี่ยนไป แล้วเป็นแบบฉับพลันไม่ทันตั้งตัว หลายๆ อย่างที่เคยวางไว้ในปีที่ผ่านมา พังไม่เป็นท่า แถมยังตั้งรับไม่ทัน แก้ไขกันแบบเฉพาะหน้า อย่างกรณีการ "ขยะพลาสติก" นี่ก็เช่นกัน ที่เราเพียงแค่วางแผนว่าจะ "ลด" ปริมาณขยะพลาสติก แต่ยังไม่ได้วางแผนที่จะปรับนู่นเปลี่ยนนี่เพื่อรองรับการใช้ชีวิต หรือการถกการกำจัดอย่างถูกวิธีก็ยังไม่สะเด็ดดี
พอโควิด-19 มา การป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือ การทำ Social Distancing (เว้นระยะห่างทางสังคม) ลดการสัมผัส ด้วยการหยุดอยู่บ้าน ปิดห้างสรรพสินค้า ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ต้องหันมาใช้วิธีการสั่งอาหารและสินค้าเดลิเวอรี่แทน กลายเป็นสร้างขยะพลาสติกโดยไม่รู้ตัว โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นถึง 62% มีทั้งที่เป็นพลาสติกกันกระแทก หีบห่อบรรจุภัณฑ์ ถุงและภาชนะบรรจุอาหาร
...
แน่นอนว่า ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นนั้นก็มาพร้อมกับความกังวลที่กลัวว่าอาจนำไปสู่ปัญหา "มลพิษพลาสติกในท้องทะเล" ต่อไปอีก
และจากปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้น 62% ในเดือนเมษายนนั้น ก็พบว่า คนกรุงเทพฯ ทิ้งขยะพลาสติกมากกว่า 3,432 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มาเฉลี่ย 2,115 ตัน ซึ่งกว่า 80% เป็นถุงใส่ภาชนะอาหารที่นำกลับบ้าน ขวดน้ำ และแก้วน้ำ
โดยปกติแล้ว ประเทศไทยสร้างขยะพลาสติกราวปีละ 2 ล้านตัน และมีความเป็นไปได้ว่า ปี 2563 นี้ จะเพิ่มขึ้นอีก 30%!!
ทำไมถึงมากขนาดนั้น?
คิดภาพง่ายๆ สั่งอาหาร 1 ออเดอร์ มีพลาสติกที่จะกลายเป็นขยะมากกว่า 1 ชิ้น ตั้งแต่ถุงพลาสติกร้อน ห่อเครื่องปรุง ภาชนะใส่อาหาร แถมยังมีพลาสติกที่ใช้ห่อแต่ละชิ้นๆ อีก
เท่ากับ 1 ออเดอร์ก็มีราวๆ อย่างน้อย 7 ชิ้น
1 วัน เราสั่งกี่ออเดอร์ก็คูณกันไป...
ถึงแม้ในเวลานี้ เราจะยังต้องโฟกัสไปที่การป้องกันโรคโควิด-19 และชะลอการติดเชื้อให้มากที่สุด แต่การใส่ใจในเรื่อง "ขยะพลาสติก" ก็ไม่ควรทอดทิ้งหรือลดความสำคัญเช่นกัน ควรทำควบคู่ไปด้วย เพราะไม่งั้น ปัญหาหนึ่งจบ ก็จะมีปัญหาหนึ่งต่อไปอีก
และจากปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นนั้น หากมาดูมูลค่าของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ก็จะยิ่งเห็นภาพปริมาณขยะได้มากขึ้นไปอีก โดยในปีที่แล้ว มีการคาดการณ์มูลค่าอยู่ที่ 33,000-35,000 ล้านบาท จากยอดสั่งซื้อกว่า 20 ล้านออเดอร์ ซึ่งยอดการสั่งซื้อที่ว่านั้นก่อให้เกิดขยะพลาสติกสูงถึง 140 ล้านชิ้น
กลับมาที่ปี 2563 ที่ผ่านมาเพียงไม่กี่เดือน แต่ประมาณการว่า ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่จะมีมูลค่ารวมสูงถึงราวๆ 4.5 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 33%
เมื่อมาดูการเติบโตเป็นรายแอปพลิเคชัน เริ่มที่ ‘ไลน์แมน’ (LINE MAN) ที่เดือนมีนาคมและเมษายน การสั่งอาหารมีตัวเลขการเติบโตมากถึง 300%, ‘แกร็บ’ (GRAB) และอื่นๆ มีการรายงานว่า หลังมีมาตรการให้อยู่บ้าน (STAY AT HOME) ก็มีการเติบโตสูงถึง 400% ส่วน ‘ฟู้ด แพนด้า’ (FOOD PANDA) นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม มียอดสั่งอาหารเติบโตถึง 50% และในเดือนเมษายนก็เพิ่มขึ้นอีก 10% ซึ่งช่วงที่มียอดสั่งอาหารสูงที่สุดอยู่ คือ สัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคม
...
โดยรวมๆ แล้วมีการคาดการณ์ว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 นี้ จะมีปริมาณขยะพลาสติกมากถึง 280 ล้านชิ้น!!
ทำไมถึงต้องกังวลกับ "ขยะพลาสติก" นัก?
หากย้อนไป 2 ปีก่อน องค์การสหประชาชาติ (UN) เคยออกมาประกาศว่า "มลพิษพลาสติก" เป็น "วิกฤตการณ์โลก" ซึ่งนี่ไม่ใช่การออกมาเตือนครั้งแรก ก่อนหน้านั้นเคยมีการเตือนมาแล้วหลายครั้ง นับตั้งแต่มีการค้นพบ "แพขยะแปซิฟิก" (Great Pacific Garbage Patch) จนนำไปสู่การถกเถียงและข้อตกลงต่างๆ ที่จะนำไปสู่ "จุดจบของยุคสมัยแห่งพลาสติก" โดยองค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างพยายามเร่งเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน การปรับตัวและกลยุทธ์ขององค์กรต่างๆ เพื่อให้บรรลุผล แต่อย่างที่บอกว่ายังไม่ทันได้ปรับ โควิด-19 ก็มาทำให้พังซะก่อนและหลายๆ คนก็หลงลืมไปแล้ว
แล้วต้องจัดการอย่างไร?
ในหลายๆ ประเทศมีการหาวิธีเพื่อลดขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่แล้ว เช่น ที่สิงคโปร์ก็มีการงดให้บริการชุดช้อนส้อมพลาสติก ลดปริมาณขยะไปได้ถึง 250,000 ชิ้น หรืออย่างการเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษและถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้มาให้บริการในเกาหลีใต้ และอย่างที่บอกตอนต้นว่า ไทยเราก็มีการวางแผน "ลดขยะพลาสติก" มาบ้างแล้วในช่วงต้น แต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำก็เกิดโควิด-19 ซะก่อน หลายๆ แอปพลิเคชันและร้านอาหารมีแนวทางงดให้บริการช้อนส้อมพลาสติก และการใช้บรรจุภัณฑ์แบบย่อยสลายได้แทน
...
แต่อีกแนวทางหนึ่งที่ทำได้ในช่วงนี้แบบง่ายๆ ที่ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงศ์ นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว, ดร.วิชสิณี วิบุลผลประเสริฐ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงานเพื่อความยั่งยืน และประมณฑ์ กาญจนพิมลกุล นักวิจัยด้านนโยบายด้านภูมิอากาศและการพัฒนาสีเขียว (TDRI) ให้ข้อเสนอ คือ "ลด" และ "คัดแยก"
นั่นคือ งดรับช้อนส้อมพลาสติก แล้วหันมาใช้อุปกรณ์ที่ใช้ซ้ำได้แทน และก่อนที่จะทิ้งขยะพลาสติกก็ควรแยกเศษอาหารออก เพราะการทำลักษณะนี้จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ถูกส่งไปฝังกลบและเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น รีไซเคิล เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง
แล้วรู้ไหม? "ขยะพลาสติก" ที่ผ่านการทำความสะอาดแล้วสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินในเตาผลิตปูนซีเมนต์ได้อีกด้วย จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการจัดการกับขยะพลาสติกชนิดที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้
...
ฉะนั้น หลังจากนี้เพื่อ "ลดขยะพลาสติก" และลดการเกิด "วิกฤตการณ์มลพิษโลก" ในอนาคต หลายฝ่ายต้องหันมาให้ความสนใจทันที ไม่ว่าจะในแง่การรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ การร่วมมือกับทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่งั้นพอจบโควิด-19 ก็ต้องมานั่งงมหาทางแก้ "มลพิษพลาสติก" กันต่อ ดีไม่ดีอาจผสมปนเป PM 2.5 อาจกลับมาอีก.
ข่าวอื่นๆ :
- ถอดรหัสม็อบสหรัฐฯ เหยียดผิวฝังราก 400 ปี ทรัมป์ตัวปัญหา
- รื้อ! สมการทุนนิยม เปลี่ยน Supply Chain สู่ชาตินิยม โลกแตกแยก 5 ปีฟื้น
- The World of the Married ผู้หญิงเกาหลีใต้ ตราบาป "การหย่าร้าง"
- "การบินไทย" แบกหนี้ปีกหัก เส้นทาง "แผนฟื้นฟู" ในมรสุม "โควิด-19"
- 100 ปีไม่เปลี่ยน! หมอ VS ผู้นำสหรัฐฯ ดื้อด้าน อ่อนด้อย ไวรัสฟื้นคืนชีพ