"เจแปน แอร์ไลน์" หรือ JAL สายการบินแห่งชาติของประเทศญี่ปุ่น หนึ่งใน "ไอคอนแห่งความหยิ่งผยอง" ของชาวอาทิตย์อุทัย ในฐานะ "ผู้ครองความเป็นเจ้าเศรษฐกิจโลกแห่งยุค 80"

โดยเมื่อครั้งรุ่งโรจน์เคยได้ชื่อว่าเป็นสายการบินที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งเรื่องการขนส่งผู้โดยสารและส่งสินค้า เป็นระยะเวลาถึง 5 ปีติดต่อกันช่วงยุค 80 รวมถึงยังเคย "มั่งมี" ขนาด "ครอบครอง" เครื่องบินโดยสารยักษ์ โบอิ้ง 747 มากที่สุดในอุตสาหกรรมการบินของโลก อย่างชนิดไม่มีใครกล้าทัดเทียม

แต่แล้ว...เมื่อก้าวเข้าสู่ "ยุคมิลเลนเนียม" JAL กลับต้องพยายามดิ้นรนอย่างหนักเพื่อ "เอาตัวให้รอด" ท่ามกลางกองหนี้สินพะเนินเทินทึกที่คุณอาจ "จินตนาการตัวเลข" ไม่ถึง...

25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คือ "กองมหึมาหนี้สิน" ที่ว่านี้

...

และปัญหาหนี้สินอีรุงตุงนังนี้ เคยนำพา JAL ตกต่ำดำดิ่งลงไปอยู่ในจุดที่ "เลวร้ายที่สุด" มาแล้ว มูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ร่วงลงไปถึง 90% เหลือเพียง 147 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น หรือเท่ากับมูลค่าหุ้นของบริษัทมีราคาต่ำกว่าราคาเครื่องบิน โบอิ้ง 747 ที่ JAL มีประจำอยู่ในฝูงบินเครื่องเดียวเสียอีก!

ทั้งๆ ที่ในช่วงอดีตอันรุ่งโรจน์นั้น JAL เคยมีจำนวนฝูงบินมากถึง 279 ลำ คอยบินรับส่งผู้โดยสารตามสนามบิน 220 แห่งใน 35 ประเทศทั่วโลก

เมื่อ "ต้องแบก" หนี้สินจนหลังโก่ง "ใบหน้าที่ชูเชิดด้วยความหยิ่งผยอง" ในฐานะสายการบินแห่งชาติอันแสนน่าภาคภูมิใจ ก็จำต้อง "ก้มหน้ามุดดิน" เพื่อเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการและถอนตัวออกจากตลาดหลักทรัพย์ "อย่างน่าอับอาย" ในวันที่ 19 มกราคม ปี 2010

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ JAL "อุตส่าห์เอาตัวรอด" จากการ "ล้มละลาย" มาก่อนหน้านี้แล้วถึง 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2001 ด้วยเม็ดเงินรวมถึง 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นบรรจง "หยดน้ำลงไปในทะเลทราย" ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะสามารถชุบชีวิต "สัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของประเทศ" เอาไว้ต่อไป "ให้จงได้"

ฟังดูแล้วสถานการณ์คล้ายๆ "สายการบินแห่งชาติ" สายการบินหนึ่งในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ เวลานี้ เสียเหลือเกิน!

ปัญหา คือ อะไร?

"บริหารที่สุดแสนจะล้มเหลว"

"แบ่งพรรคแบ่งพวก"

"มุ่งเน้นแต่จะหาผลประโยชน์เข้าพกเข้าห่อ"

"เป็นสถานที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามหาทางย้ายตัวเองมานั่งในตำแหน่งระดับสูงเพื่อหาผลประโยชน์"

"มีทั้งจำนวนเครื่องบินและพนักงานมากเกินไป"

ฟังแล้วยิ่งรู้สึก "คลับคล้ายคลับคลา" มากยิ่งขึ้นเสียเหลือเกินคุณว่าไหม?

นอกจาก "ปัจจัยภายใน" ดังที่ว่านี้แล้ว คุณฮิโรชิ ซูงิเอะ (Hiroshi Sugie) อดีตนักบินที่ทำงานกับ JAL มาเกือบ 40 ปี ได้ขยายความถึง "ความผิดพลาดในการบริหารงานอย่างใหญ่หลวง" ของ บอร์ด JAL กับ สำนักข่าว CNN ว่า...

ความทะเยอทะยานเกินตัวด้วยการนำเงินจำนวนมหาศาลไปลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองไม่คุ้นเคย อย่าง "ธุรกิจโรงแรม" แทนที่จะนำไปพัฒนา "ธุรกิจการบิน" ที่ตัวเองประสบความสำเร็จอย่างสูง ณ เวลานั้น

บอร์ดบริหาร JAL ทำอะไร...?

...

พวกเขานำเงินก้อนโตถึง 190 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปทุ่มซื้อกิจการโรงแรมชื่อดังหลายแห่งทั่วโลกในช่วงกลางยุค 80 เช่น THE ESSEX HOUSE หรือ MANHATTAN HOTEL แถมยังเป็นการทุ่มซื้อใน "ราคาที่สุดแสนแพง" อย่างเหลือเชื่อ! พร้อมกันนี้ยังได้เทเงินอีกกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการละเลง "รีโนเวท" โรงแรมที่กว้านซื้อมาซ้ำเข้าไปอีก

หากใครยังคิดไม่ออกว่า เม็ดเงินลงทุนมหาศาลนี้แพงขนาดไหน? คุณฮิโรชิ ผู้ออกมาแฉเรื่องนี้ ให้คำจำกัดความสั้นๆ ว่า...

ต่อให้โรงแรมที่ JAL ซื้อมาทั้งหมดนั้น "มีลูกค้าเข้าพักจนเต็ม" เป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี ก็ยังไม่สามารถ "สร้างผลกำไร" จากการลงทุนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ รู้เหนือรู้ใต้ แบบนี้ไปได้!

อืม...ช่างฟังดู "คล้ายๆ" การซื้อฝูงบินจำนวนมากมายก่ายกองจนสร้างภาระหนี้ก้อนโต ที่ทุกวันนี้ "ยังผ่อนชำระไม่หมด" หนำซ้ำบางรุ่นซื้อมาแล้วถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆ ให้ "แดดเลียเล่น" เสียเหลือเกิน!

ชักนอกเรื่องอีกแล้ว เราไปต่อกันที่ "ความผิดพลาด" ของ JAL กันต่อดีกว่า...

...

และการทุ่มทุนครั้งมโหฬารที่นอกจากจะไม่รู้ว่า "อนาคต" จะสร้างผลกำไรได้เมื่อไหร่นี้ ยังมาถูกซ้ำเติมเข้าไปอีกจาก "ฟองสบู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์" ในญี่ปุ่น ที่กำลังรุ่งๆ ในช่วงต้นยุค 80 "แตกดังโพละ" จนทำให้บรรดาเศรษฐีซามูไร "จนในพริบตา" และก่อให้เกิด "วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่" ในประเทศญี่ปุ่น

ธุรกิจการบิน "ที่กำลังรุ่งๆ" จากบรรดาเศรษฐีญี่ปุ่นที่แห่เที่ยวนอก ก็ต้องเริ่มเผชิญหน้ากับ "ภาวะซบเซา" ทันที...

ทำให้ปี 1992 สายการบินแห่งความภาคภูมิใจของชาวญี่ปุ่นทั้งมวล ต้องประสบภาวะขาดทุนตัวแดงแจ๋ถึง 473 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็น การขาดทุนครั้งแรกของ JAL นับตั้งแต่แปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ 1987 เป็นต้นมา

สัญญาณ "อาทิตย์กำลังอัสดง" เริ่มก่อตัวให้เห็นเป็นรูปธรรมแล้ว!

และผลของการ "ประสบปัญหาการขาดทุน" นี้ บีบบังคับให้ JAL ต้องปลดพนักงาน รวมถึงต้องขายกิจการโรงแรมบางส่วนที่ทุ่มเงินซื้อมาอย่างบ้าคลั่งตั้งแต่ต้นยุค 80 ออกไป

ซึ่งบางแห่ง...ไม่มีการเปิดเผยจำนวนเงิน และบางส่วนยังชำระเงินไม่หมดเสียด้วยสิ!

...

เท่านี้ก็ว่าวิกฤติแล้ว แต่ยัง...มันยังไม่พอ จากนั้น JAL เจอ "แจ็กพอตซ้ำ" ด้วยซีรีส์ถล่ม "ธุรกิจการบิน" รายได้หลักของบริษัทเป็นชุดๆ ไม่ว่าจะเป็น เหตุการณ์วินาศกรรม "11 กันยายน" ในปี 2001 สงครามอิรักภาค 2 และการแพร่ระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือ โรคซาร์ส ในปี 2003

ทำให้ตัวเลขผู้โดยสาร "หดหาย" ไม่ต่างจาก "ผลประกอบการ" ของบริษัท! ที่สาละวันเตี้ยลงๆ ทุกที

บอร์ดบริหารของ JAL ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหา ณ เวลานั้นน่ะหรือ?

"กู้" และ "กู้" ไม่เห็นจะเป็นอะไร เรามี "รัฐบาลญี่ปุ่น" ช่วยซะอย่าง!

ความพยายามแก้ไขสถานการณ์ของ "เรือที่กำลังอับปาง" ณ เวลานั้น...

บอร์ด JAL กลับทำเพียงแค่... HELP ME PLEASE ไปที่รัฐบาลญี่ปุ่นถึง 2 ครั้ง เพื่อขอกู้เงินก้อนมหาศาล รวมถึง 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากธนาคารกรุงไทย เอ๊ย! ธนาคารภายใต้การกำกับของรัฐบาลญี่ปุ่น

ทั้งๆ ที่ "หนี้ก้อนมหึมา" นี้ เกิดจากการบริหารงานอันผิดพลาด! เพราะดันไปลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัด และเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความไม่โปร่งใสแท้ๆ

ยัง...มันยังไม่แย่พอ...

สุดไร้วิสัยทัศน์! ควบรวมกิจการคู่แข่ง แต่ดันไม่ดูตาม้าตาเรือ "ทำต้นทุนธุรกิจการบินสูง" จนสู้คู่แข่งไม่ได้

หลังก่อหนี้มหึมาแล้ว ความพยายาม COMEBACK ในธุรกิจการบินของ JAL เพื่อหวังคืนสู่ "วันชื่นคืนสุข" ในลำดับถัดมา กลับ "สร้างระลอกคลื่นแห่งหายนะ" ครั้งใหม่เข้าไปอีก!

ความพยายามเอาชนะดาวรุ่งพุ่งแรง (ณ เวลานั้น) อย่างสายการบินลำดับ 2 ของประเทศ ALL NIPPON AIRWAYS เพื่อหวังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากตลาดการบินในประเทศ ทำให้บอร์ด JAL ตัดสินใจเข้าซื้อ (ควบรวมกิจการ) กับ JAPAN AIR SYSTEM สายการบินลำดับ 3 ของประเทศ ในปี 2002 ทันที

ฟังดูเหมือนจะดีใช่ไหม? แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่เป็นไปอย่างจินตนาการฝันหวานสักนิดเดียว!

ความไร้ซึ่งวิสัยทัศน์ของบอร์ดบริหาร ทำให้ JAL ต้องพบกับหายนะนับไม่ถ้วน จาก "การควบรวมกิจการ" ไม่ว่าจะเป็นทั้งความไร้ประสิทธิภาพและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกตะลึง จากความ "แตกต่าง" ของประเภทของเครื่องบินที่ได้รับมา

ความแตกต่างทำให้เกิดหายนะได้อย่างไร?

การควบรวมกิจการทำให้ JAL มีเครื่องบินของทั้งบริษัท MCDONNELL DOUGLAS และ AIRBUS ประจำอยู่ในฝูง นั่นหมายความว่า JAL ต้องแบกภาระต้นทุน จากการที่จะต้องมีทั้งอะไหล่เครื่องยนต์และทีมงาน สำหรับรองรับ "จำนวนเครื่องบินที่หลากหลาย" ไปด้วย นอกจากนี้ ตามกฎการบินในประเทศญี่ปุ่น "ไม่อนุญาต" ให้ลูกเรือสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปปฏิบัติหน้าที่ในเครื่องบินที่ตัวเองไม่ได้รับการฝึกฝน ทำให้หนึ่งในแผนการ "ปรับโครงสร้าง" โดยการใช้เครื่องบินขนาดเล็กลง และนำลูกเรือไปสลับปฏิบัติที่เพื่อหวังลดต้นทุน" สลายหายไปในอากาศทันที

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ยังไม่ใช่เหตุผลเดียว ที่ทำให้การควบรวมกิจการ ทำให้ JAL มีต้นทุนที่สูงขึ้น อีกเหตุผลหนึ่ง คือ การที่ JAL มีเครื่องบินโดยสารยักษ์ที่กินน้ำมันจำนวนมหาศาล และ "ไม่เหมาะสม" กับ "ภาวะซบเซา" จากจำนวนผู้โดยสาร ณ เวลานั้น อย่าง โบอิ้ง 747 มากเกินไป

เพียงเท่านี้ก็ว่าแย่หนักแล้ว...แต่สิ่งที่บอร์ดบริหาร JAL ลงมือทำ กลับยิ่งทำให้สถานการณ์ "เลวร้ายมากขึ้นไปอีก" นั่นก็คือ การยังคงให้เครื่องบิน โบอิ้ง 747 ที่ต้นทุนการให้บริการสูงอยู่แล้ว บินให้บริการต่อไป ทั้งๆ ที่ "เก้าอี้โดยสารว่างเปล่า" และปล่อยให้บรรดาสายการบิน "ราคาประหยัด" กวาดต้อนผู้โดยสารไปกินจนพุงกาง ด้วยการใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่า JAL มากๆ

ซึ่งเหตุผลที่บอร์ดบริหาร JAL ยังคงคิดและทำเช่นนั้นอยู่ต่อไป ทั้งๆ ที่สถานการณ์ "วิกฤติจนไม่รู้จะวิกฤติอย่างไรแล้ว" ก็เพราะ "พวกเขาเหล่านั้น" คิดกันได้เพียงแค่ว่า "ไม่เป็นไร ยังไงๆ เราก็มีรัฐบาลญี่ปุ่น" คอยหนุนหลัง และพร้อมที่จะเทเงินมาให้ได้ตลอดเวลา!

และ "ความคิดอันล้าหลัง และไร้วิสัยทัศน์แห่งการพัฒนา" อย่างสิ้นเชิงนี้เอง ทำให้ความอดทนเดินมาจนถึง "จุดสิ้นสุด"

ปี 2009 เมื่อบอร์ด JAL ร้องขอเงินกู้ฉุกเฉินถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อนำ "น้ำมาหยดลงบนทะเลทราย" อีกครั้ง โดยหวังว่า "การร้องขอ" นี้ คงจะได้รับความช่วยเหลือไม่ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา

HELP ME PLEASE AGAIN AND AGAIN !

แต่ผลลัพธ์ที่ได้ "กลับผิดคาด" เพราะบอร์ด JAL ดันลืมประเมิน "ความรู้สึกของประชาชน" ผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีก้อนมหาศาล ที่ JAL เอาไปละลายน้ำเล่น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

ชาวญี่ปุ่น "ไม่ขออดทนกับความล้มเหลวซ้ำซาก" ของบอร์ดบริหาร JAL อีกต่อไปแล้ว!

ในสายตาชาวญี่ปุ่น ณ เวลานั้น มอง JAL คือ สายการบินที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดทุนอภิมหาศาล มีระดับการให้บริการผู้โดยสารเข้าขั้น "ย่ำแย่" ผู้บริหารตัดสินใจ "เชื่องช้า" และไร้ซึ่ง "ความกล้าหาญ" สำหรับการสร้างแรงขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ทำไมมันช่างเหมือน "วรรคทอง" ของ "นายกรัฐมนตรีท่านหนึ่ง" แถวๆ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่พูดว่า...

"ผมให้เวลาพวกคุณมา 5 ปี แล้วนะ" กับสายการบินแห่งหนึ่งเหลือเกิน!

ทั้งหมดนี้ คือ ที่มาแห่งมหากาพย์ "ความล้มเหลว" ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของธุรกิจการบินโลก

แต่หากคุณคิดว่า "สถานการณ์อันสุดแสนย่ำแย่" และไม่น่าหลงเหลือ "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" ให้สายการบินนี้กลับมาเป็น "รุ่งอรุณอันเฉิดฉาย" ได้อีกแล้ว คุณกำลังคิดผิดอย่างมหันต์!

จากสัญลักษณ์แห่งความล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ กลับคืนสู่ความรุ่งโรจน์

เพราะทันที ที่ JAL สืบเท้าเข้าสู่ "ภาวะล้มละลาย" CEO บุรุษผู้มีนามว่า "อินาโมริ คาซึโอะ" (INAMORI KAZUO) คือ ผู้ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นร้องขอให้เข้ามาทำหน้าที่กอบกู้ "เศษซากปลักหักพัง" ของ "อาณาจักรที่เจียนล่มสลาย"

แต่ใครจะเชื่อ "บุรุษผู้นี้" กลับสามารถทำในสิ่งที่ "เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้" อย่างแทบไม่น่าเชื่อ ภายในระยะเวลาการทำงานเพียง 3 ปี

ชายวัย 77 ปี (ณ เวลานั้น) อดีตนักบวชและอดีตผู้บริหาร KYOCERA บริษัทด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับธุรกิจสายการบินพาณิชย์มาก่อน แม้แต่ปลายนิ้วก้อย รวมทั้งถูกตราหน้าว่า...

จะเป็นผู้ทำให้ JAL ต้องล้มละลายอีกเป็นครั้งที่ 2 อย่างแน่นอน แต่ "เขา" กลับทำมันได้สำเร็จ

ท่านผู้นี้ทำอะไรน่ะหรือ?

หลังเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ JAL มีคำสั่ง "ลดเงินเดือนพนักงาน 30%" และ "ปลดไขมันส่วนเกิน" รวมกว่า 15,600 คน หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เสียงสะเอื้อนไห้ร้องระงมทั่วบริษัท!

ชายชราผู้ก้าวเท้าเข้ามากุมบังเหียนคนใหม่ ท่ามกลางเสียงเตือนของทั้งคนในครอบครัวและเพื่อนๆ ว่า "ไม่ควรมารับเผือกร้อน" ชิ้นนี้ และตอบรับคำขอร้องของรัฐบาลญี่ปุ่นด้วยเงื่อนไขว่า...

จะไม่ขอรับ "ผลตอบแทน" แม้แต่ "เยนเดียว" สำหรับการเข้ามาบริหาร "เศษซากของอาณาจักรที่ใกล้ล่มสลาย"

สิ่งแรกที่ "ชายผู้นี้" ลงมือทำคือ "ปฏิรูปจิตสำนึกภายในองค์กร" หลังการเข้าทำงานวันแรกที่สำนักงานใหญ่ของ JAL เขาพบแต่ "ความสับสนอลหม่าน" คนนั้นไปทางคนนี้ไปทาง ต่างฝ่ายต่างตัดสินใจกันเองตามใจชอบ เอาแต่โทษคนอื่นและโยนความผิดกันไปมา... คุ้นๆ นะ คุณว่าไหม?

แต่...ไม่มีแม้ใครสักคนเดียวที่สามารถจะตอบคำถามง่ายๆ ที่ "เขา" ตั้งคำถามแค่ว่า...

"ผลประกอบการในปัจจุบันของบริษัทเป็นอย่างไร?"

แต่ที่หนักหนาที่สุด คือ...พนักงานทุกคน ไล่ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร จนถึงพนักงานทำความสะอาด ไม่มีใครสักคนเดียวที่ตระหนักได้ว่า JAL ได้ "ล้มละลาย" ลงไปแล้ว หนำซ้ำ! ต่างคนต่างคิดแค่ว่า...เป็นภาระของคนอื่น ที่จะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาที่อยู่เบื้องหน้า

นั่นเป็นเพราะ...ไม่มีใครสักคนเดียว ที่คิดว่า "ตัวเอง" กำลังประสบวิกฤติ

การถูก "โอบอุ้ม" จาก "รัฐบาล" ด้วยเม็ดเงินภาษีอากรของประชาชนมาจน "เคยตัว" ทำให้พนักงาน JAL ที่ยังไม่ถูกปลด "ไม่รู้สึกรู้สา" กับ "วิกฤติที่เกิดขึ้นตรงหน้า"

"ผมจึงต้องบอกกับพนักงานทุกคนว่า ความจริงวันนี้... คือ JAL ได้ล้มละลายลงแล้ว และต้องปีนขึ้นมาใหม่ด้วยกำลังของตัวเอง และจะไม่มีใครช่วยเหลือเหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว!" ชายวัยเกษียณที่ได้รับมอบหมายให้มา "กอบกู้" กล่าวกับพนักงาน JAL ในวันแรกที่เข้ามาทำงาน

ต้องบริการลูกค้า "ด้วยหัวใจจากจิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชน" เคล็ดลับง่ายๆ พลิกฟื้นธุรกิจที่เจียนล้มละลาย

"อุตสาหกรรมการบิน คือ อุตสาหกรรมบริการระดับสูงสุด ฉะนั้น ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงพนักงาน ต้องเป็นผู้มีจิตใจสูงส่งร่วมกัน เพื่อนำเสนอการบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า พนักงาน JAL ทุกคนจึงต้องเลิกปฏิบัติหน้าที่แบบ "ขอไปที ตามหนังสือคู่มือ" และหันมาปฏิบัติหน้าที่ "ด้วยหัวใจ" จากจิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชนได้แล้ว"

ทั้งหมดนี้ คือ MINDSET ที่มิสเตอร์ผู้กอบกู้นำมา "อัปโหลด" เข้าสู่ใจกลางหัวใจของพนักงาน JAL ทุกคน!

นอกจากนี้ ชายวัยเกษียณยังได้กล่าวสำทับกับ "บรรดาบอร์ดบริหารของ JAL" อีกด้วยว่า หาก "บรรดาลูกท่านหลานเธอ" เหล่านี้ "ยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลงวิธีคิด" พวกเขาจะไม่สามารถ แม้แต่เพียง "บริหารร้านโชห่วย!" ได้

หมัดตรงเข้าเสยปลายคางใส่บรรดา "ผู้สร้างหายนะ" ให้กับ "องค์กรที่เคยรุ่งโรจน์"

เหตุใดจึงต้อง "ปลุกจิตสำนึก" เรื่องการให้บริการผู้โดยสารเป็นลำดับแรก

เหตุผลง่ายๆ เลยคือ "ผมเกลียด JAL" คุณอินาโมริให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของประเทศญี่ปุ่น หลังเข้ามารับตำแหน่ง

"ถามว่าทำไมผมถึงเกลียด นั่นก็เพราะ JAL ทั้ง "หยิ่งยโส" และ "ไม่แคร์" บรรดาผู้โดยสารเอาซะเลย"

คำจำกัดความ ของ "ความหยิ่งยโส" ที่ว่านี้ คือ การที่ JAL เอาแต่โฟกัสเรื่อง "ลดต้นทุน" เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งสำคัญ อย่าง ALL NIPPON AIRWAYS ทำให้ บอร์ด JAL ตัดสินใจ "เบียดบังและลดความสะดวกสบาย" ของ "ผู้โดยสาร" ด้วยสารพัดวิธี ทั้ง "เพิ่มที่นั่ง" "ลดคุณภาพอาหารในแต่ละเที่ยวบิน" หรือ "ติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์" (โถส้วมกดปุ่มไฟฟ้า) ที่ชาวญี่ปุ่นชื่นชอบและสะดวกใจที่จะใช้เสียเหลือเกิน สำหรับชั้นบิสสิเนสคลาสและเฟิร์สคลาส เฉพาะในบางเที่ยวบินเท่านั้น! ทั้งๆ ที่ คนเหล่านี้ คือ "บรรดาไฮโซอาทิตย์อุทัย"

ทั้งหมดนี้มีจุดเริ่มมาจาก "วิสัยทัศน์อันต่ำต้อย" ของบอร์ด JAL ที่มองแค่ว่า ผู้โดยสารจะยอมควักกระเป๋า "จ่ายแพง" เฉพาะเที่ยวบินระยะไกล ส่วนเที่ยวบินระยะสั้นจะหันไปใช้บริการ LOW-COST

มองภาพออกแล้วใช่ไหม... เหตุใดผู้โดยสารโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่มักจะเลือกเฉพาะสิ่งที่ดีที่สุด จึงตัดสินใจ "เท" JAL

นอกจากนี้ "บุรุษผู้กอบกู้" ยังมองเห็นถึง "จุดอ่อนด้อย" ที่สำคัญอีกประการของ JAL ด้วยว่า การมีรัฐบาลญี่ปุ่นครอบงำมาร่วม 30 ปี ทำให้ "วัฒนธรรมการทำงาน" ที่ห่อหุ้ม JAL นั้น ไม่ต่างจาก "ระบบราชการ" อัน "คร่ำครึ" เลยสักนิดเดียว

"ผมรู้สึกอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะองค์กรแห่งนี้ไม่มีความรู้สึกใดๆ ที่ใกล้เคียงกับบริษัทเอกชน แม้แต่น้อย" คุณอินาโมริระบายความรู้สึกหลังเข้าทำงานที่สำนักงานใหญ่ของ JAL

ตัดสินใจล่าช้า ต้องผ่านสารพัดระบบขั้นตอน กว่าที่จะตัดสินใจอะไรอย่างหนึ่งอย่างใดลงไปได้ และเต็มไปด้วยพิธีการอันแสนอืดอาด ทั้งนี้ คือ คำจำกัดความดังที่ว่าในบรรทัดข้างบน

นอกจากนี้ "เขา" ยังต้องรับมือกับความน่า "ขยะแขยง" ของ "ระบบราชการญี่ปุ่น" อีกด้วย!

สิ่งที่ "ผม" ต้องเผชิญกับ "ความเหลวแหลก" ของระบบที่น่า "ขยะแขยง" นี้ ก็คือ อดีตข้าราชการจำนวนไม่น้อย ยังคงพยายาม "เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์" แม้ในยามที่ JAL กำลังวิกฤติ ด้วยการ "ร้องขอเงินชดเชย" หรือ "ผลประโยชน์อื่นใด" ต่างๆ นานา จากการที่องค์กรกำลังเข้าสู่แผนการฟื้นฟู

"ผมจึงต้องยืนกรานกลับไปว่า นี่ไม่ใช่ความผิดของ JAL" นี่คือคำพูดที่เต็มไปด้วยจิตใจที่มุ่งมั่นและกล้าหาญของ "ผู้กอบกู้"

ถึงลูกถึงคน รับฟังและสร้างความสุขแก่พนักงานทุกคน "อินาโมริ สไตล์" ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร

ผมยึดหลัก "ปรัชญาความเรียบง่าย" การทำให้บรรดาพนักงานทุกคนรู้สึก "HAPPY" นี่คือ กุญแจสู่ความสำเร็จในการบริหารงานที่ค้นพบมาตั้งแต่อายุ 27 ปี ในสมัยที่ทำงานบริษัท KYOCERA

การบริหารองค์กรธุรกิจ มันไม่ใช่การทำให้ผู้ถือหุ้นมีความสุข แต่มันคือ การสร้างสรรรค์ที่เรียบง่ายในการทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทุ่มเททำงานเพื่อองค์กรต่างหาก

จากนั้น แนวคิด "ทำให้พนักงาน HAPPY" จึงกระจายออกสู่องค์กร JAL ในทุกระดับทันที ทั้งจากการประชุมในระดับผู้บริหาร และการจัดสัมมนาในหมู่บรรดาพนักงาน แต่อย่างไรก็ดี แม้จะพยายามผลักดันแนวคิดนี้ออกไป เพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กร แต่ "เขา" ก็ยังพบว่า มีพนักงานบางคนโดยเฉพาะระดับบอร์ดบริหาร ที่ยังคง "ไม่ยอมปรับตัว"

แต่คุณต้องไม่เชื่อแน่ๆ ว่า "คุณอินาโมริ" ทำอย่างไรกับ "คนเหล่านั้น"

"ผมซื้อเบียร์มา 6 กระป๋อง เพื่อร่วมดื่มกับบรรดาคนเหล่านั้น หลังเสร็จสิ้นการประชุม หรือร่วมทำงานกันจนดึกดื่น คุณเชื่อไหม หลังดื่มกันผ่านไปแค่ 2 กระป๋อง คนเหล่านั้นก็ค่อยๆ เริ่มเปลือยใจและพูดคุยกับผม ด้วยความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมา ซึ่งแตกต่างจากการพูดคุยหารือในช่วงการประชุมหรือการทำงาน แบบสิ้นเชิง!"

นี่คือ วิธีรวมใจพนักงานให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และให้พร้อมที่จะต่อสู้ไปด้วยกัน "เพื่อองค์กร" แบบ HAPPY HAPPY ที่เรียกว่า "อินาโมริ สไตล์"

โละ โละ แล้วก็โละ... พอกันที ใหญ่เท่แต่กินน้ำมัน

จากนั้น JAL สั่งเดินหน้าแผนระยะยาว ด้วยการ "สั่งโละเครื่องบินเก่าและกินน้ำมัน" ออกจากฝูง เพื่อเดินหน้าสู้กับสายการบินคู่แข่งสำคัญอย่าง ALL NIPPON AIRWAYS ทันที

เครื่องบินอะไรบ้างที่ถูกสั่งโละ?

AIRBUS A300 ถูกสั่งให้ยกเลิกการใช้งานในปี 2010 ต่อด้วย BOEING 747 ในอีกหนึ่งปีถัดมา จากนั้นสั่งซื้อเครื่องบินฝูงใหม่ BOEING 787 DREAMLINERS มาแทนที่เครื่องรุ่นเก่าอย่าง BOEING 767 และขายฝูงบิน MCDONNELL-DOUGLAS MD-90S ให้กับสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ เป็นลำดับต่อไป

แผนการ "ปรับโครงสร้างขนานใหญ่" ในลำดับต่อไป คือ นำเครื่องบิน BOEING 747F และ 767F ทุกลำออกจาก JAL CARGO ในปี 2010 เนื่องจากมองว่า "ได้รับผลตอบแทนที่จำกัดจำเขี่ย" สำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าในหลากหลายภารกิจ

ผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้ JAL CARGO หันไปเน้นการขนส่งสินค้าด้วยห้องระวางใต้เครื่องบินโดยสารลำตัวกว้างแทน ซึ่งประหยัดลงและใช้เครื่องบินที่มี ได้อย่างสุดคุ้มค่า!

ซึ่งผลจากการปฏิรูปองค์การครั้งมโหฬารนี้ ทำให้ JAL พลิกฟื้นกลับมาสร้างผลกำไรได้อีกครั้งอย่างสุดเหลือเชื่อ

และเพื่อเป็นการแสดงออกถึงการ COMEBACK อย่างยิ่งใหญ่นี้ JAL จึงตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องแบบของสายการบินจากชุดเดิม ที่มีชื่อเรียกว่า ARC OF THE SUN ที่แทบไม่ได้รับความชื่นชอบจากบรรดาผู้โดยสาร ตั้งแต่มีการเปิดตัวในปี 2002 ไปเป็นชุดเครื่องแบบที่มีชื่อว่า "TSURUMARU" ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนกกระเรียนมงกุฎแดงที่กำลังสยายปีก ในวันที่ 1 เมษายน 2011

กลยุทธ์การตลาดพิชิตใจ "ผู้ให้บริการที่สุดแสนจะมีชีวิตชีวา"

การเดินหน้า "กลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่" ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ JAL กลับมาประสบความสำเร็จได้อีกครั้ง

JAL วางตำแหน่งทางการตลาดของตัวเอง เอาไว้ว่าจะไม่เป็น "สายการบินต้นทุนต่ำ" หรือ "ปรับลดการให้บริการผู้โดยสาร" มากจนเกินพอดี เพื่อลดต้นทุนกลับไปต่อสู้ในตลาดเอเชียที่มีกำลังมีแข่งขันอย่างดุเดือดในเวลานั้น

ผู้กอบกู้ "คิดต่างออกไป" เขานำพาองค์กรไปสู่แนวทาง "การมีข้อเสนอที่รอบด้าน และสร้างแรงจูงใจให้มากขึ้น" จนกระทั่งทำให้เหล่าผู้โดยสารเกิดความมั่นใจว่า "หากยอมจ่ายในราคาที่แพงขึ้น ก็จะได้รับการบริการที่ "พรีเมียม" มากขึ้นไปอีกด้วยเช่นกัน"

หากมองเพียงเท่านี้ว่า "น่าทึ่ง" แล้ว ยัง...มันยังไม่พอ

นอกจากนี้ JAL ยังเดินหน้า "แผนยุทธศาสตร์การตลาดที่สุดแข็งกร้าว" เพื่อให้สายตาทุกคู่จับจ้องมาที่ JAL ในฐานะผู้นำในธุรกิจการบินของญี่ปุ่น ด้วยการใช้ "กีฬาสร้างแบรนด์" ไม่ว่าจะเป็น การทำข้อตกลงสนับสนุนทีมฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่น หรือทีมนักกีฬาญี่ปุ่นในการแข่งขันโอลิมปิก และซุปเปอร์สตาร์นักเทนนิสอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น "ไค นิชิโคริ" (KEI NISHIKORI) ด้วย

รวมถึงยังเดินหน้าเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการในกีฬาระดับอินเตอร์ใหญ่น้อยอีกหลายประเภท เรียกง่ายๆ ว่า เครื่องบินของ JAL แทบไม่ว่างเว้นจากการที่จะต้อง "มีเครื่องบินอย่างน้อย 1 ลำ" ติดตราการแข่งขันระดับโลกอะไรสักรายการหนึ่งในช่วงเวลานั้นเลยทีเดียว

ผลจากการปฏิรูปองค์กรครั้งมโหฬารนี้เอง ทำให้ JAL ที่อยู่ในสภาวะล้มละลาย กลับมากลายเป็นสายการบินที่แข็งแกร่งและได้รับความเชื่อมั่นอีกครั้ง แถมยังมีอัตราการขยายตัวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง...

และสามารถ "สร้างผลกำไร" รวมถึงแย่งลูกค้าในตลาดญี่ปุ่นจาก All Nippon Airways คู่แข่งสำคัญ กลับคืนไปได้จำนวนมาก!

โดยผลประกอบการปีแรกหลังการฟื้นฟู ภายใต้การนำของ "อดีตนักบวช" ในปี 2011 JAL สร้างยอดขายได้ถึง 1,362,200 ล้านเยน หรือ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นกำไรจากการขายถึง 188,400 ล้านเยน หรือ 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นผลประกอบการสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเป็นต้นมา

ปีที่ 2 สร้างยอดขายได้ถึง 1,204,800 ล้านเยน หรือ 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สร้างผลกำไรได้ 204,900 ล้านเยน หรือ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปีที่ 3 หลังการฟื้นฟูในเดือนกันยายน ปี 2555 JAL สามารถกลับคืนสู่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้อย่างสง่างาม และสามารถนำเงินคืนองค์กรสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ 350,000 ล้านเยน หรือ 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอีก 300,000 ล้านเยน หรือ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับคืนสู่คลังชาติได้สำเร็จ

และสร้างยอดขายปิดงบเดือนมีนาคม 2013 ได้ถึง 1,238,800 ล้านเยน หรือ 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำกำไรได้ถึง 195,200 ล้านเยน หรือ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และนี่คือ... บริษัทที่เคยมีหนี้สินท่วมหัวถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สามารถกลับมาสร้าง "ผลกำไร" ได้มากกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใต้การนำของอดีตนักบวชและชายชราวัยเกษียณ ผู้สร้างตำนานในฐานะผู้กอบกู้ "องค์กรที่สุดล้มเหลว" คืนกลับสู่ "ความรุ่งโรจน์" ได้อีกครั้ง

ก่อนที่จะขอลงจากเก้าอี้ในปี 2013 โดยคงเหลือไว้เพียงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ และเหมือนเดิมไม่ขอรับค่าตอบแทน แม้แต่ "เยน" เดียว!

พร้อมกับทิ้ง "คำจำกัดความ" ผลงานอันสุดน่าทึ่งนี้เอาไว้ เพียงว่า...

ผมแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร สิ่งเดียวที่เปลี่ยน คือ "ใจ" ของพนักงานทุกคน แค่พวกเขา "เปลี่ยนความคิด" ก็สามารถฟื้นฟูองค์กรได้แล้ว!

คำพูดที่ยิ่งใหญ่ของบุรุษที่ใหญ่ยิ่ง "อินาโมริ คาซึโอะ" ชายผู้กอบกู้ตัวจริง!

หมายเหตุ : อัางอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ เวลานั้น

ข่าวอื่นๆ :