เคยสงสัยกันไหม "ทำไม ‘โควิด-19’ ถึงต้อง ‘ปิดเมือง’ (Lockdown)?" แล้วก่อนหน้านั้นในยุค ‘อีโบลา’ หรือ ‘ซาร์ส’ ทำไมถึงไม่ใช้มาตรการนี้ อะไรคือเหตุผลที่บอกได้ว่ามันแตกต่างกัน

หลังตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ‘โควิด-19’ (COVID-19) ทั่วประเทศจีน เพิ่มขึ้นเป็น 571 ราย ทางการจีนก็ประกาศสั่ง ‘ปิดเมือง’ หรือ ‘ล็อกดาวน์’ (Lockdown) เมืองอู่ฮั่นทันที ก่อนที่ต่อมาในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์จะประกาศสั่งปิดเมืองทั้งประเทศ ณ เวลานั้น มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 14,411 ราย เกิดเป็นความตระหนกในหลายๆ ประเทศทั่วโลก หากนับดูแล้วนี่นับเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปี และการ ‘ปิดเมือง’ ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น

หากยังจำกันได้ในช่วงแรกๆ สื่อหลายสำนักทั้งในไทยและต่างประเทศต่างออกมาวิเคราะห์ถึงความเสียหายที่ประเทศจีนจะได้รับจากการปิดเมืองอู่ฮั่น เพราะถือเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญมากของประเทศจีน และไม่มีใครคาดคิดอีกเช่นกันว่า มาตรการ ‘ปิดเมือง’ จะถูกหยิบยกมาใช้ในประเทศของตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’

...

ทั้งๆ ที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อนหน้านี้อย่าง ‘ซาร์ส’ หรือ ‘อีโบลา’ ที่นับว่ารุนแรงไม่แพ้กัน กลับไม่มีการหยิบยกมาตรการ ‘ปิดเมือง’ มาใช้

ทำไม ‘โควิด-19’ ถึงต้อง ‘ล็อกดาวน์’ (Lockdown)...?

• คล้ายคลึง ไม่เหมือน และแตกต่าง

ว่ากันว่า ‘ซาร์ส’ และ ‘เมอร์ส’ อันตรายถึงตาย แต่การแพร่ระบาดนั้นยาก

ในช่วงปี 2545 ‘ซาร์ส’ (SARS) หรือ โรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เริ่มต้นแพร่ระบาดแห่งแรกจากในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ก่อนจะค่อยๆ ลุกลามจนสุดท้ายกระจายไปกว่า 26 ประเทศทั่วโลก แพร่ระบาดลากยาวไปจนถึงช่วงครึ่งปีแรกของปี 2546 รวมๆ แล้วมีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 8,096 ราย และเสียชีวิต 774 ราย

ซึ่งจากการวิจัยพบว่า เชื้อไวรัสซาร์สและไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ ‘โควิด-19’ มีรหัสพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน โดยในช่วงแรกมีการประเมินผู้ติดเชื้อราวๆ หลักพันเท่านั้น จนผ่านไป 4 เดือน จึงพบว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้ใกล้เคียงกันเท่าไรนัก ทั้งในแง่ผู้ป่วยติดเชื้อสะสมและเสียชีวิต

ในส่วนอัตราการเสียชีวิตนั้น ซาร์สสูงถึง 9.6% ส่วนโควิด-19 อยู่ที่ 1.4-3% เท่านั้น

เช่นเดียวกันกับ ‘เมอร์ส’ (MERS) หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงมากถึง 34% ทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม!! ทั้งซาร์สและเมอร์สกลับแพร่ระบาดยากกว่าโควิด-19

แม้จะมีการส่งต่อเชื้อคล้ายคลึงกัน แต่กลับแพร่ระบาดแตกต่างกัน ซึ่งการจะติดเชื้อซาร์สและเมอร์สจะต้องมีการสัมผัสกันแบบใกล้ชิด หรืออาจเป็นระหว่างสมาชิกในครอบครัว หรือบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วย หรืออาจเป็นแบบในกรณีของเมอร์สที่มีการติดเชื้อจากอูฐสู่คนโดยตรง

ที่สำคัญ!! หากไม่มีอาการก็จะไม่มีการแพร่เชื้อ และต่อให้มีอาการ แต่อาการก็รุนแรงกว่าโควิด-19 มากนัก เมื่อป่วยต้องหยุดพักหรือไปโรงพยาบาลทันที จึงยากมากๆ ที่จะมีการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปรอบๆ ขยายเป็นวงกว้าง

...

เช่นเดียวกันกับ ‘อีโบลา’ ที่มีอาการรุนแรงมาก แต่ติดเชื้อยาก

อีโบลามีการค้นพบการแพร่ระบาดครั้งแรกในปี 2519 จากนั้นก็มีการแพร่ระบาดเป็นระยะๆ มาเรื่อยๆ จนถึงช่วงปี 2557-2559 ที่เกิดการแพร่ระบาดหนักๆ ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ซึ่งคร่าชีวิตผู้ป่วยติดเชื้อไปกว่า 50% หรือราว 11,000 รายใน 6 ประเทศทั่วโลก

เห็นได้ว่า ซาร์ส, เมอร์ส และอีโบลา มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการแพร่ระบาดที่ไม่ได้มีการติดเชื้อง่ายหรือรวดเร็วเท่ากับโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ผ่านมากว่า 4 เดือน มียอดผู้ป่วยติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 3 ล้านคน

...

และหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ 3 ไวรัส แพร่ระบาดได้ยากกว่าโควิด-19 ก็คือ หากไม่มีอาการแสดงก็จะไม่มีการแพร่กระจายเชื้อ และการติดเชื้อในแต่ละครั้งก็ยังยากเกินกว่าโควิด-19 เว้นแต่มีการสัมผัสใกล้ชิด รวมถึงได้รับสารคัดหลั่งจากร่างกายผู้ป่วยติดเชื้อ เช่น เลือด เหงื่อ หรือปัสสาวะ และละอองเสมหะจากการจามหรือพูด

และเมื่อป่วยติดเชื้อ 3 ไวรัสนั้นแล้ว อาการที่แสดงก็รุนแรงกว่าโควิด-19 มาก อย่างอีโบลา หากป่วยติดเชื้ออาการที่แสดงจะมีไข้สูง เหนื่อยล้า ตามมาด้วยอาการอาเจียนและท้องเสีย ฉะนั้นหากสังเกตจากอาการแสดงสำคัญเหล่านี้จะพบว่า มันไม่ใช่แค่การไม่แพร่เชื้อจนกว่าจะมีอาการ แต่เป็นเมื่อมีอาการแล้ว อาการที่เกิดขึ้นจะรุนแรงจนแทบไม่อาจลุกขึ้นไปไหนต่อไหนได้

ประโยคที่ว่า "ไม่มีอาการไม่แพร่เชื้อ" คือความแตกต่างจากโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญ

...

เพราะโควิด-19 นั้น ณ เวลานี้ ผู้ป่วยติดเชื้อหลายๆ คนที่ตรวจพบนั้น "ไม่มีอาการ" ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตกันตามปกติ ทั้งทำงาน เที่ยว พบปะผู้คน จนเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นับแสนๆ ล้านๆ ราย

ซึ่งนั่นหมายความว่า โควิด-19 แม้ไม่มีอาการก็แพร่เชื้อได้

และจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดอีกว่า หลังจากติดเชื้อแล้ว บุคคลเหล่านั้นที่ไม่มีอาการจะพัฒนาสู่อาการป่วยอื่นๆ หรือไม่มีอาการแสดงตลอดไป

ที่สำคัญ หากแม้ว่ามีอาการแสดงแล้ว แต่ก็เบาบางมาก ไม่ต่างจากไข้หวัดทั่วไปเสียด้วยซ้ำ นั่นจึงยังไม่ชัวร์ว่า "พวกเขาติดเชื้อโควิด-19 แล้วหรือไม่?"

อาการของโควิด-19 เบาบางมากจนคนป่วยเองก็แทบไม่รู้ตัวว่าตัวเองมีเชื้อ จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ง่าย ที่สำคัญ ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อโดยบุคคลที่อยู่ในระยะก่อเกิดอาการและอาการแสดงของโรคหรือไม่มีอาการได้

และแม้โควิด-19 จะไม่อันตรายเท่าซาร์ส, เมอร์ส หรืออีโบลา แต่ความอันตรายของมันก็คือ "แพร่ระบาดง่าย" หากมีอาการโรคเรื้อรังหรือโรคประจำตัวอยู่แล้ว เมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 ก็เพียงพอที่จะคร่าชีวิตเขาได้

พูดง่ายๆ ‘โควิด-19' ยากที่จะไล่ตามและควบคุม

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมถึงต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่ทันเวลา และทำไมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ถึงเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสกัดกั้นและต่อสู้กับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19.

ข่าวอื่นๆ :