ปี 2020 ที่เคยคิดว่าจะเป็นปีแห่งการลงทุน ก็ดูจะไม่เป็นดั่งหวังเสียแล้ว เมื่อ ‘โควิด-19’ (COVID-19) ไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดข้ามกระจายไปทุกเขตแดน จากฝั่งเอเชีย สู่สหรัฐฯ และยุโรป สังเวยชีวิตนับพัน และติดเชื้ออีกนับแสน

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ได้เปิดบทวิเคราะห์ส่อง ‘หุ้นปลอดเชื้อ’ กันไปแล้ว และคาดการณ์ว่า ดัชนีหุ้นไทยอาจอยู่ในโซนราว 1500-1530 แต่พอมาถึง ณ เวลานี้ กลางเดือนมีนาคม 2563 เพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ก็ร่วงหล่นตุ้บมาอยู่ที่ราวๆ 1000 และบางวันหลุดกรอบไปที่ 900 ด้วยซ้ำ

แต่ในความเจ็บช้ำ ความปวดใจ คงต้องมีความหวังอยู่บ้าง ‘หุ้นปลอดเชื้อ’ อาจมีหลงเหลืออยู่และดัชนีหุ้นไทยก็อาจฟื้นคืนมา

ซึ่งก่อนที่จะไปส่อง ‘หุ้นปลอดเชื้อ’ ที่เป็นดั่งแสงแห่งความหวัง ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ขอย้อนกลับไปดูทิศทางตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มาจนถึงตอนนี้ (13 มี.ค. 63) ว่า มีขึ้น มีลง มีชะงัก จากการถาโถมของปัจจัยอะไรกันบ้าง ที่แน่ๆ หนึ่งในนั้น คือ ‘โควิด-19’

...

• แกะรอยเส้นทางดัชนีหุ้นไทย ดิ่ง พุ่ง ด้วยเหตุใด?

จากการปิดตลาดวันศุกร์ที่ 31 มกราคม ที่ดัชนีต่ำสุดของวัน 1514.14 จุด เปิดวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ก็เคลื่อนไหวในแนวลบตลอดทั้งวัน จากความกังวลการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ ที่มียอดเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต แถมยังมีโรคไข้หวัดนก H5N1 แพร่ระบาดเพิ่มในจีนอีก ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดที่ 1496.06 จุด ลดลง 18.08 จุด (-1.19%) หลุดกรอบ 1500 เรียบร้อย และดัชนีต่ำสุด 1495.94 จุด ยังถือเป็นการลดลงต่ำสุดในรอบ 3 ปี 3 เดือน นับจากวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ที่ปิด 1496.18 จุด

ก่อนจะกลับมายืนเหนือกรอบ 1500 อีกครั้งในวันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 1534.14 จุด เพิ่มขึ้น 14.76 จุด (+0.97%) มูลค่าการซื้อขาย 67,458.22 ล้านบาท ได้รับแรงหนุนหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 1.00% ต่อปี

และตามมาลุ้นระทึกต่อกันในวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ดัชนีหุ้นไทยแกว่งไซด์เวย์ตลอดทั้งวัน คาดการณ์ว่านักลงทุนหลายๆ คนมีการชะลอการซื้อ/ขายเพื่อติดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ซึ่งสุดท้ายแล้วมีมติ 5:4 ให้มีการลงมติวาระ 2, 3 ใหม่ ทำให้ร่างฯ ยังไม่โมฆะ จากคำวินิจฉัยของศาลฯ ถือว่าเป็นผลระดับดีกลางๆ ต่อตลาดหุ้นไทย ปิดที่ 1535.24 จุด ลดลง 0.55 จุด (-0.04%) มูลค่าการซื้อขาย 60,509.84 ล้านบาท

แต่แล้วยังไม่ทันไรก็หลุดกรอบ 1500 อีกครั้ง ในวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ โดยต่ำสุดอยู่ที่ 1484.51 จุด และปิดตลาด 1491.24 จุด ลดลง 14.30 จุด (-0.95%) มูลค่าการซื้อขาย 71,916.33 ล้านบาท เคลื่อนไหวแนวลบตลอดทั้งวัน ซึ่งมีแรงกดดันจากแรงเทขายหุ้น AOT (64.50 บาท : ลดลง 3.25 บาท หรือ 4.80%) หลังมีการประกาศมาตรการช่วยผู้ประกอบการภายในสนามบินนานาชาติ 6 แห่งที่ได้รับผลกระทบจาก ‘โควิด-19’

ซึ่งจากดัชนีหุ้นไทยที่ว่าดิ่งแล้วก็ยังดิ่งได้อีก คราวนี้หลุดกรอบ 1400 ในวันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ ปิดตลาดที่ 1366.41 จุด ลดลง 72.69 จุด (-5.05%) มูลค่าการซื้อขาย 93,189.41 ล้านบาท ถือเป็นดัชนีหุ้นไทยที่ต่ำที่สุดของวันนั้นและต่ำที่สุดในรอบ 3 ปี 10 เดือน นับจากวันที่ 8 เมษายน 2559 ที่อยู่ที่ 1369.64 จุด แน่นอนว่าต้นตอคือ ‘โควิด-19’ ที่แพร่ระบาดลามไปทั่วโลก พบผู้ติดเชื้อนอกจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มียอดผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลก 81,109 คน และเสียชีวิต 2,762 ราย ส่วนไทยก็มีผู้ติดเชื้อแล้ว 40 คน

ปิดท้ายเดือนกุมภาพันธ์ วันศุกร์ที่ 28 ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวแดนลบตลอดทั้งวัน จากความวิตกกังวลการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ ที่รุนแรงขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 83,652 คน และเสียชีวิต 2,858 ราย อีกทั้งยังพบผู้ติดเชื้อรายแรกในสหรัฐฯ อีกด้วย แต่แค่ ‘โควิด-19’ อย่างเดียวไม่หนำใจพอ ราคาน้ำมันดิบโลกยังปรับลดลง ทำให้เกิดแรงกดดันจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ดัชนีหุ้นไทยปิดที่ 1340.52 จุด ลดลง 54.56 จุด (-3.91%) มูลค่าการซื้อขาย 86,502.15 ล้านบาท

...

จากนั้นแรงซื้อกลับมาพลิกบวก หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 1.00-1.25% ลดผลกระทบเศรษฐกิจจาก ‘โควิด-19’ ทำให้วันพุธที่ 4 มีนาคม ตลาดหุ้นปิดที่ 1378.61 จุด เพิ่มขึ้น 3.59 จุด (+0.26%) มูลค่าการซื้อขาย 58,586.96 ล้านบาท

แต่ก็พลิกบวกได้เพียงแป๊บเดียว ก็หลุดกรอบ 1300 ในวันจันทร์ที่ 9 มีนาคม เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน สถานการณ์การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ ลุกลามไปไกลถึงยุโรปแล้ว อีกทั้งยังรับแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี หลังราคาน้ำมันดิบ WTI ทรุดตัวหนัก อันเป็นผลจากซาอุดีอาระเบียประกาศลดราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการส่งสัญญาณชนวน ‘สงครามราคาน้ำมัน’ ที่อาจเป็นศึกใหม่ที่จะขยายวงกว้างตามมา ซึ่งวันนั้นดัชนีหุ้นไทยปิดตลาดที่ 1255.94 จุด ลดลง 108.63 จุด (-7.96%) มูลค่าการซื้อขาย 103,623.75 ล้านบาท

สุดท้ายที่หนักหน่วงที่สุด 2 วันติดกัน จากพิษร้าย ‘โควิด-19’ คือ วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม และวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ประกาศหยุดทำการซื้อ/ขายเป็นการชั่วคราว หรือที่เรียกว่า ‘เซอร์กิต เบรกเกอร์’ เป็นระยะวลา 30 นาที ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี 4 เดือน นับจากวันที่ 27 ตุลาคม 2551

...

ย้อนดูเหตุการณ์วันนั้นอีกสักครั้ง

วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม ดัชนีหุ้นไทยเปิดตลาดที่ 1182.97 จุด หลุดกรอบ 1200 และเกิดการปรับลดลงอย่างหนักต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1124.84 จุด ลดลง 125.05 จุด (-10.00%) จนต้องประกาศ ‘เซอร์กิต เบรกเกอร์’ เป็นระยะเวลา 30 นาที ตั้งแต่เวลา 14.38-15.08 น. เมื่อกลับมาเปิดทำการซื้อ/ขายอีกครั้งก็มีการเคลื่อนไหวแดนลบตลอดทั้งวัน จากความกังวล ‘โควิด-19’ ที่ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวม 125,260 คน และเสียชีวิต 4,613 ราย ก่อนจะปิดตลาดที่ 1114.91 จุด ลดลง 134.98 จุด (-10.80%) มูลค่าการซื้อขาย 101,652.04 ล้านบาท ถือเป็นการปิดต่ำสุดในรอบ 8 ปี 1 เดือน นับจากวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ปิดที่ 1112.91 จุด

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม ดัชนีหุ้นไทยเปิดตลาดด้วยความเสียว 1007.61 จุด และในเวลา 09.59-10.29 น. ตลท. ประกาศปิดทำการซื้อ/ขาย หรือ ‘เซอร์กิต เบรกเกอร์’ เป็นครั้งที่ 2 ของปี หลังดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงอย่างหนัก 106 จุด ทันทีที่เปิดการซื้อ/ขาย และลดลงต่อเนื่องถึง 111.52 จุด (-10%) อยู่ที่ 1003.39 จุด เมื่อเปิดทำการซื้อ/ขายอีกครั้งก็มีการเคลื่อนไหวในแดนลบและบวกสลับกันตลอดทั้งวัน สถานการณ์ ‘โควิด-19’ ยังไม่วางใจ หลุดกรอบ 1000 จุด ไปอยู่ที่ 969.08 จุด ก่อนจะปิดตลาดที่ 1128.91 จุด เพิ่มขึ้น 14.00 จุด (+1.26%) มูลค่าการซื้อขาย 119,659.78 ล้านบาท

...

จากการประกาศหยุด ‘เซอร์กิต เบรกเกอร์’ ถึง 2 วันติดกัน ก็ทำให้แม่ทัพใหญ่เศรษฐกิจ ‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมาย ‘อุตตม สาวนายน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามใกล้ชิด สั่งการหามาตรการดูแลด่วน ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ต้องจับตา คือ ‘กองทุนพยุงหุ้น’

และแม้ว่าสถานการณ์ดัชนีหุ้นไทยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนหลุดกรอบ 1500 กระทั่ง 1000 นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ ตลท. ยังมองเห็น ‘โอกาส’ ในวิกฤติครั้งนี้ นั่นเพราะ ณ วันที่ 13 มีนาคม 2563 มีราคาหุ้นที่อยู่ทั้งใน SET และ mai ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ถึง 231 ตัว อีกทั้งยังมีหุ้นกว่า 448 ตัว ที่มีมูลค่าหุ้นทางบัญชีต่ำกว่า 1 เท่า หมายความว่า สินทรัพย์มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าหุ้นของบริษัท ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของนักลงทุนระยะยาวที่สามารถรับความผันผวนระยะสั้นได้

แต่อย่างไรก็ตามแต่นักลงทุนก็ต้องติดตาม ‘โควิด-19’ และมาตรการทางด้านการเงินและการคลังอย่างใกล้ชิด

ส่อง ‘หุ้นปลอดเชื้อ’ ที่ยังไปไหวในเวลานี้

หากยังจำกันได้ ในรายงานพิเศษ ส่อง ‘หุ้นปลอดเชื้อ’ โดดเด่นน่าลงทุน หลบพิษร้าย ‘ไวรัสโคโรนา’ ระบาด นั้น บรรดานักวิเคราะห์ต่างเลือก CPF, TU เป็นหุ้นปลอดเชื้อที่น่าสนใจ ผ่านมา 1 เดือน จะยังเป็นเหมือนเดิมหรือไม่? ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ขอเปิดบทวิเคราะห์อีกครั้ง

... ขอย้ำอีกครั้ง การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาก่อนลงทุน

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)ฯ วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การระบาด ‘โควิด-19’ ในโซนยุโรปที่เข้าสู่อัตราเร่ง จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้นนั้น หากยังไม่เห็นการชะลอตัว ความกังวลก็จะไม่หมดไปง่ายๆ และหากสถานการณ์ยังอยู่ห่างไกลจากจุดที่ควบคุมการระบาดได้ ก็จะยังเป็นปัจจัยกดดันการลงทุน

"ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน
แต่ก็มีโอกาสปรับลดลงต่อ"

จากสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ณ เวลานี้ ถึงแม้ราคาหุ้นหลายตัวจะลดลงจนเริ่มต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน หรือลดลงจนระดับผลตอบแทนปันผลอยู่ในระดับสูง แต่ในระยะสั้นมีความเสี่ยงปรับตัวลดลงต่อ ซึ่งหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงมีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานไปได้จนกว่าสถานการณ์ความกังวลต่างๆ จะผ่อนคลายลงหรือผ่านจุดที่แย่สุดไปแล้ว

"ช่วงสัปดาห์ก่อนมีการประเมินดาวน์ไซด์ไว้ที่ 1200 แต่ปรากฏว่า กลับอยู่ตรงตัวเลข 1100 นิดๆ ต่ำกว่าที่ระดับประเมิน ไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ แต่การบอกว่า ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานไม่ใช่แปลว่าจะลงไม่ได้ หลายครั้งมันลงต่อได้"

อีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่ต้นปี ตลาดหุ้นไทยมีการปรับฐานลงรวมราว 461 จุด (-29.4%) เชื่อว่า การที่ตลาดปรับฐานแรงนั้นหลักๆ เกิดจากการขาดความเชื่อมั่น คือ 1) แนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจ ปี 2563 ที่เห็นสัญญาณชะลอตัวชัดเจน ผลพวงจาก ‘โควิด-19’ ซึ่งรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) เดือนกุมภาพันธ์ เหลือระดับ 64.8 จุด ต่ำสุดในรอบ 21 ปี, 2) ตลาดเชื่อว่า EPS มีโอกาสปรับลงต่อในอนาคต โดยรวมตลาดหุ้นที่ปรับฐานแรงทำให้เริ่มเห็นหลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการออกมาตรการดูแลด้านตลาดทุนเพื่อไม่ให้เกิดการ Panic

"หากวิเคราะห์จากสถิติในอดีต หลังเกิด ‘เซอร์กิต เบรกเกอร์’ ทั้ง 3 ครั้ง ดัชนีหุ้นไทยฟื้นขึ้นต่อเนื่องทุกครั้ง โดยเฉพาะในช่วง 1 สัปดาห์หลังจากนั้น ดัชนีหุ้นไทยสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 10.3%"

ส่วน Top Picks ณ เวลานี้ นั้น ทางนักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส เลือก RATCH และ INTUCH ซึ่งแตกต่างกับ นักวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)ฯ ที่ยังคงเลือกเลี่ยงหุ้นที่พื้นฐานไม่แน่น เลี่ยงหุ้นที่หนี้เยอะ และคาดเดาผลประกอบการได้ รวมถึงมีการจ่ายปันผลระดับนึง

  • ตัวที่ 1 BBP ยังมองว่า ปันผลที่ 6% และยังเป็นตัวที่น่าสนใจ
  • ตัวที่ 2 หุ้นในกลุ่มประกัน TIP, THRE ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ลงมาแรงๆ แต่ก็มีแรงซื้อส่วนหนึ่งเข้าไปในหุ้น 2 ตัวนี้ หรือมีแรงซื้อเข้าไปในท้ายๆ ตลาด
  • ตัวที่ 3 คือ SFLEX

"ในวันนี้ ทุกคนทรุดพร้อมกันหมด กำลังซื้อทรุดพร้อมกันหมด การฟื้นตัวอาจจะเป็นค่อยๆ ฟื้น และเป็นลักษณะ U Shape ดังนั้น จะต้องระมัดระวังนิดนึงว่า หลายๆ ตัวเชื่อว่าจะต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน แต่สิ่งสำคัญ ถ้าใครจะซื้อในตอนนี้ต้องเข้าใจ คือ 1) เงินต้องเย็นเจี๊ยบ 2) ต้องทำใจด้วยว่า หลายอันที่ซื้อไปแล้วอาจเจอสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ไม่ไปไหน รวมถึงลดลง’ หลายคนอาจจะคิดว่าไม่เป็นไรถือยาว แต่พอลดลงไปสัก 20% ความหวั่นไหวจะปรากฏขึ้นมาทันที"

ข่าวน่าสนใจ :