• ปฏิบัติการโค่นล้ม Thanos แห่ง Hollywood และการล่มสลายของวลี "หากอยากดัง น้องต้องยอมพี่" ชัยชนะอันทรงพลังของ Metoo
  • อะไรคือ "ฉันด้วย" เมื่อเสียงเล็กๆ ค่อยๆ รวมกันดังขึ้น ดังขึ้นและดังขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก
  • อเมริกันชนและชาวโลก กดไลค์ Metoo จึงบังเกิด 7 ผลลัพท์ในทางบวก
  • จะเกิดอะไรขึ้นหลัง Metoo วิวัฒน์ จาก พลังหญิง สู่ พลังของทุกเพศทุกวัย

MeToo How Far We’ve Come & How Far We Need To Go

Harvey Weinstein เราจะนิยามชายคนนี้อย่างไรดี? เพื่อให้สมกับคำว่า "บุคคลผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของ Hollywood"

อดีตผู้บริหารค่ายหนังยักษ์ใหญ่ อย่าง Miramax และ Weinstein Company ผู้สร้างโมเดลการผลักดันบริษัทหนังอิสระ ไปสู่การสร้างหนังระดับตำนาน อย่าง "Pulp Fiction" "The English Patient" "Shakespeare in Love" และ "The King’s Speech"

...

และหากใครยังนึกถึงความยิ่งใหญ่ของชายคนนี้ใน Hollywood ไม่ออก เอาง่ายๆ สั้นๆ แบบนี้แล้วกัน ไม่ว่าจะเป็นทั้งนักแสดง บทภาพยนตร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ที่เขาไปมีส่วนร่วมในการผลักดัน ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ รวมกันมากกว่า 300 ครั้ง!

ทั้งหมดนั้น อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวในความพยายามอธิบายถึงความเป็น "O.G."* ของ Harvey Weinstein ใน Hollywood

หากแต่ชายผู้นี้มิได้ทรงอิทธิพลอยู่แต่เฉพาะวงการบันเทิงของอเมริกันชนเท่านั้น นั่นเป็นเพราะชายผู้นี้ยังมีส่วนเข้าไปช่วยระดมทุนให้กับพรรคแดโมแครต ในการส่งทั้ง 'บารัค โอบามา’ และ ‘ฮิลลารี คลินตัน’ ขึ้นชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีมาแล้ว ฉะนั้น ด้วยปีกทั้งทางด้านเส้นสายการเมืองและ Hollywood จึงส่งผลให้ Harvey Weinstein สามารถผลักดันให้ใครก็ได้ให้เกิดหรือดับในโลกของ Hollywood

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่จะเกิดเสียงซุบซิบเรื่องพฤติกรรมคุกคามสาวๆ นักแสดงหน้าใหม่ ที่หวังจะเข้ามาเฉิดฉายใน Hollywood ที่กินระยะเวลามายาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ถึงแม้ว่าในอดีตจะเคยมีข่าวหลุดออกมาบ้าง แต่แล้วก็ปลิวหายไปกับสายลมก็ตาม

แต่แล้วในวันที่ 5 ตุลาคม 2017 หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้ตีแผ่ทุกซอกหลืบพฤติกรรมคุกคามทางเพศของ Harvey Weinstein กับบรรดานักแสดงสาวสวยมากหน้าหลายตา ไม่เว้นแม้แต่ระดับ A-list อย่าง Ashley Judd Gwyneth Paltrow Uma Thurman หรือแม้กระทั่ง Angelina Jolie ในช่วงที่ยังไม่มีชื่อเสียง และแน่นอนยังสาวสะพรั่ง

ซึ่งพฤติกรรมมักมากในกามราคะของ "O.G." ผู้นี้ มีทั้ง

     1.การใช้คำพูด เชิงข่มขู่ว่า หากไม่โอนอ่อนผ่อนตาม ก็อาจจะต้องหมดอนาคตใน Hollywood

     2.วันดีคืนดี ก็เรียก สาวๆ ให้ไป ออดิชั่น ในโรงแรม แถมยังเรียกให้เข้าไปหาในห้อง ทั้งๆที่ตัวเอง กำลังอยู่ในอ่างอาบน้ำ!

     3.ส่ง massage เชิญชวนสาวๆ ให้ไปหาที่ห้องพัก

     4.เรียกให้เข้าไปหาในห้อง จากนั้นก็อาบน้ำต่อหน้าต่อตา ก่อนจะเชิญชวนให้สาวๆ เปลื้องผ้าทิ้ง แล้วเรียกให้เข้ามานวดให้

     5.พยายามใช้เงินปิดปาก เมื่อเรื่องอื้อฉาวเผยแพร่ออกสู่สาธารณะชน

พฤติกรรมสุดอื้อฉาวสะท้าน Hollywood ทำให้เกิด "แรงกระเพื่อม" ครั้งใหญ่ขึ้นในสหรัฐอเมริกาก่อนกระจายออกไปทั่วโลก

...

ร่มธงแห่งสิทธิของเหล่าสตรีถูกชูเชิดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิให้กับเหยื่อในฉับพลันทันใด หลังประเด็นนี้ถูกฟูมฟักมาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้ชื่อ "Me Too." ตั้งแต่ปี 2006

แล้วอะไรคือ "Me Too." ...?

The Silence Breakers ปรากฏการณ์ลาก Celeb มาตบกลางสี่แยก หยุดสักที เราไม่ทนอีกต่อไป!

"Me Too." เกิดจากการที่ Tarana Burke นักเคลื่อนไหวจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Just Be Inc. องค์กรที่มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้ถูกคุกคามและถูกล่วงละเมิดทางเพศได้รับฟังการแชร์เรื่องราวของเด็กหญิงวัย 13 ปีคนหนึ่ง ในระหว่างการเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กเเมื่อปี 1997

โดยหลังได้รับฟังเรื่องราวสุดสะเทือนใจ Tarana Burke ได้บังเกิดความรู้สึกว่า ไม่สามารถจะเอ่ยความรู้สึก หรือหาทางช่วยเหลือเด็กหญิงคนนั้นได้อย่างไร เธอทำได้เพียงพูดคำว่า "Me Too." ออกมา

จากนั้นคำว่า "Me Too." จึงถูกผลักดันให้กลายเป็นสัญลักษณ์ การเคลื่อนไหวต่อต้านการคุกคามทางเพศ จนกระทั่งลุกลามกลายเป็นไวรัลไฟลามทุ่งในโลกโชเชียลมีเดีย

...

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป "เราจะไม่ทน" ผู้คนจากทั่วโลกพร้อมใจกันตะโกนใส่หน้าบรรดาขาใหญ่มักมากในกามราคะทั้งหลาย เสียงที่เคยเงียบงันจึงค่อยๆ ดัง ดัง และดังขึ้นทุกๆ ที ตัวอย่างที่เห็นได้เด่นชัดของเหยื่อที่ขอลุกขึ้นสู้

ในปี 2016 Gretchen Carlson อดีต Miss America นักข่าวและผู้ประกาศข่าวชื่อดังของสถานีโทรทัศน์ Fox News กลายเป็นผู้หญิงคนแรกๆ ที่ประเดิมชัยชนะให้กับ "Me Too." เมื่อเธอหาญกล่้าฟ้องร้อง Roger Ailes อดีต CEO ของ Fox News ในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่กระทำการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่องนี้กลายเป็นร้อนแรงจนถึงขนาดสร้างแรงกดดดันให้ Roger Ailes ยอมลาออกจากตำแหน่งได้สำเร็จ

ปี 2017 Susan Fowler อดีตวิศวกรของ Uber เขียนบทความอันลือลั่น ที่มีชื่อว่า REFLECTING ON ONE VERY VERY STRANGE YEAR AT UBER เพื่อระบายความรู้สึกที่ว่าด้วยมลพิษทางวัฒนธรรมในที่ทำงาน ซึ่งอบอวลไปด้วยพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ซึ่งบทความจำนวนกว่า 3,000 ตัวอักษรนี้ นำไปสู่แรงกดดันให้ Travis Kalanick CEO ของ Uber ณ ขณะนั้น ต้องลาออกจากตำแหน่ง พร้อมๆ กับมีการไล่พนักงานที่สนับสนุนหรือเกี่ยวข้องกับมลพิษทางวัฒนธรรมในองค์กรออกไปพร้อมๆ กันอีกกว่า 20 คน

...

Photo by Mason Foster via susanflower.com
Photo by Mason Foster via susanflower.com

และในปีเดียวกันนี้เอง หญิงสาว 5 คน ได้ร่วมกันออกมาแฉพฤติกรรมคุกคามทางเพศของ Bill O’Reilly ผู้ประกาศข่าวชื่อดังของสถานีโทรทัศน์ Fox News โดยหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาว เหล่าพลังหญิงได้ร่วมใจกันผุดแคมเปญแบนพิธีกรชายชื่อดังรายนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง และแม้เจ้าตัวจะปฏิเสธข้อหานี้มาโดยตลอด แต่สุดท้ายก็ต้านไม่ไหว ยอมลาออกจากการทำหน้าที่ในท้ายที่สุด

อีกไม่กี่เดือนต่อมา Roy Price ผู้บริหารระดับสูงของ Amazon Studios ถูกสั่งพักงานและต้องยอมลาออกในท้ายที่สุด หลังถูกโปรดิวเซอร์ Isa Hackett กล่าวหาใช้อำนาจหน้าที่คุกคามทางเพศ

อย่างไรก็ตาม กระแส "Me Too." เริ่มเปลี่ยนรูปจากเสียงเล็กๆ เบาๆ ไปสู่เสียงที่ดังขึ้นๆ และทรงอิทธิพล เช่นในปัจจุบันนั้น มาจากการที่ "Me Too." ได้ไปปรากฏตัวกลายเป็น Hashtag การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญบนโลกทวิตเตอร์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2017 เมื่อหญิงสาวที่มีชื่อว่า Alyssa Milano ใช้ #MeToo กระตุ้นให้หญิงสาวทั่วโลกร่วมกันแชร์ประสบการณ์การถูกคุกคามและการล่วงละเมิดทางเพศ เพื่อหวังแสดงให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่กำลังลุกลามออกไปเป็นวงกว้าง

ในฉับพลันนั้นเอง #MeToo ได้กลายเป็นปรากฏการณ์ในระดับโลกทันที เหล่าหญิงสาวจากหลายๆ ประเทศต่างพร้อมใจกันแปลง #MeToo ให้กลายเป็นภาษาของตัวเอง จนทำให้มีการรีทวิตออกไปนับล้านทวิต

https://metoorising.withgoogle.com/
คลิปนี่คือ พลัง Me Too

ตะลึงแทบทุกวงการมะกันมีทั้งนั้น "น้องอยากดัง ต้องยอมพี่" ที่สุด 200 Celeb ถูกสอยร่วงระนาว

ทั้งนี้ การผลักดัน #MeToo ให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งของการปลดเปลื้องการถูกคุกคามทางเพศ สามารถสร้างผลกระทบอย่างเป็นรูปธรรมต่อทุกวงการในวงกว้างได้ นับตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2017 เป็นต้นมา หลังบรรดาเซเลปคนดัง ผู้บริหารระดับสูง และนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น Lockhart Steele บรรณาธิการบริหารของ Vox Media เว็ปไซต์ข่าวไอทียักษ์ใหญ่ John Besh เชฟรายการอาหารและเจ้าของร้านอาหารชื่อดัง James Toback ผู้กำกับหนัง Terry Richardson ช่างภาพแฟชั่น และ Mark Halperin นักวิเคราะห์ข่าวการเมืองมากประสบการณ์ และคนดังคนอื่นๆ อีก 200 กว่าคน ถูกแฉพฤติกรรมจนนำไปสู่การไล่ออกจากข้อหาคุกคามทางเพศ ราวกับใบไม้ร่วง

และแน่นอน หนึ่งในจำนวนนั้น คือ คนดังที่สุดคนหนึ่งของ Hollywood นั่นก็คือ นักแสดงมากฝีมือ Kevin Spacey ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมล่วงละเมิดนักแสดงหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อตอนที่อายุได้เพียง 14 ปี แถมหลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเปิดเผยออกมา ได้ปรากฏว่า ชายหนุ่มออกมาเปิดโปงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักแสดงชื่อดังอีกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ Kevin Spacey ถูกแบนจากโลกภาพยนตร์ รวมถึงต้องไปรักษาอาการเสพติดเซ็กซ์ในเวลาต่อมา

ซึ่งการผนึกกำลังสร้างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี 2017 นี้เอง ทำให้นิตยสาร Time ยกย่องให้เหล่าชายและหญิง ผู้กล้าทั้งหลายที่ออกมาทวงคืนความยุติธรรมจากการถูกกดขี่ทางเพศเป็นบุคคลแห่งปี โดยตั้งชื่อให้ว่า "the Silence Breakers," หรือ “ผู้ทลายความเงียบงัน”

แล้วในที่สุด...แสงไฟเล็กๆ ที่ค่อยๆ รวมตัวกัน จนกลายเป็นไฟสปอร์ตไลท์เหล่านั้น ก็สามารถพุ่งทะลุออกจากหลุมดำที่คราคร่ำไปด้วยกามราคะได้สำเร็จ เมื่อ Harvey Weinstein ที่ถูกกระแสสังคมกดดันจนถูกไล่ออกและยอมลาออก จากสารพัดบริษัทและสมาคมที่ตัวเองทำงาน หรือเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม Hollywood ถูกสังคมรุมประณาม เมียทิ้ง และถูกดำเนินคดี ตั้งแต่มีการตีแผ่เรื่องอื้อฉาว

ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2020 คณะลูกขุนได้ตัดสินว่า อดีตขาใหญ่แห่ง Hollywood ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืน ซึ่งหากในวันที่ 11 มี.ค. 2020 นี้ เขาถูกพิพากษาว่า มีความผิดจริง ก็จะต้องเข้าไปนอนในคุกนานถึง 25 ปี

Thanos แห่ง Hollywood ถูกเหล่า Avenger รุมสังหารโหด พ่ายแพ้ลงอย่างสิ้นลาย โดยไม่ทันจะได้ดีดนิ้วเสียด้วยซ้ำไป!

เมื่อ Metoo เดินหน้า อเมริกันชนจึงถูกใจ 7 สิ่งนี้

     1.หลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกาออกกฏหมาย ห้ามใช้ข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูล (ลับ) ต่อสาธารณชน หรือ (nondisclosure agreements) ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามและการประพฤติผิดทางเพศ ซึ่งถือเป็นข้อตกลงที่บรรดาผู้มั่งมีและผู้มากอิทธิพลมักจะนำมาใช้ปิดปากบรรดา "เหยื่อ" ทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในขวากหนามสำคัญที่เหล่าเซเลปทั้งหลาย สามารถใช้เงินหรืออิทธิพลในมือบีบบังคับให้เหยื่อยอมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว เพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นกระบวนการทางกฏหมายมาได้ยาวนานหลายทศวรรษ

     2.มีการแก้ไขกฏหมายการคุกคามทางเพศในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา ที่แต่เดิมให้คลอบคลุมเฉพาะ "พนักงานประจำ" ขยายไปสู่บรรดา Freelance ซึ่งเป็นผลให้ศิลปิน ดารานักแสดง ช่างแต่งหน้า และพนักงานขับรถ Uber และอื่นๆ ได้รับอานิสงส์ความคุ้มครองทางกฏหมายเพิ่มเติม

     3.เหล่าพลังหญิงใน Hollywood ได้ร่วมกันก่อตั้งกองทุน ที่มีชื่อว่า Time’s Up Legal Defense Fund เพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฏหมายแก่บรรดาเหยื่อที่ถูกคุกคามทางเพศที่มีรายได้น้อย ซึ่งนับตั้งแต่มีการก่อตั้งในปี 2018 กองทุนดังกล่าวสามารถระดมเงินบริจาคได้มากกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และได้ช่วยเหลือเหยื่อไปแล้วกว่า 3,600 คน

     4."Tipped minimum wage" เศษทิปที่ตรึงเหยื่อจากการขัดขืน เมื่อถูกคุกคามทางเพศ "Tipped minimum wage" คือ กฏที่เจ้าของร้านอาหารในสหรัฐอเมริกา จะต้องจ่ายเงินส่วนต่างสมทบให้กับพนักงานเสิร์ฟในกรณีที่เมื่อคิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมงแล้ว ค่าแรงบวกทิปที่ได้นั้น น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำ

ด้วยเหตุนี้เอง พนักงานเสิร์ฟ โดยเฉพาะสาวๆ จึงไม่ค่อยกล้าโต้ตอบหรือเอาเรื่อง บรรดาลูกค้าหื่นกามทั้งหลาย ด้วยเหตุว่า หากทำเช่นนั้น นอกจากจะไม่ได้ทิปแล้ว เจ้าของร้านอาหารก็อาจจะฉวยโอกาสอ้างเรื่องการบริการที่ย่ำแย่กับลูกค้ามาเป็นข้ออ้างที่จะไม่จ่ายเงินสมทบที่เป็นส่วนต่างให้ด้วย

แต่หลังเกิดปรากฏการณ์ Metoo หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้เคลื่อนไหว หาทางแก้ไขกฏ Tipped minimum wage แล้ว

     5.สภาคองเกรสสหรัฐฯ มีการปรับกระบวนการที่เอื้อให้บรรดาเจ้าหน้าที่ในรัฐสภาและบุคคลากรทางการเมือง สามารถต่อสู้กับการถูกคุกคามทางเพศ จากบรรดา "ท่านผู้ทรงเกียรติ" ได้มากขึ้น เนื่องจากหลังการขับเคลื่อน Metoo ออกสู่สาธารณชนเป็นวงกว้าง พบว่า มี ส.ส. และ ส.ว. ของสหรัฐฯ จำนวนมากถูกกล่าวหาว่า มี "พฤติกรรมไม่เหมาะสม"

ไม่ว่าจะเป็น ทั้งการห้ามมิให้นักการเมืองนำเงินภาษีมาใช้สำหรับการต่อสู้ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามทางเพศ หรือการแก้กฏหมายให้บรรดาเจ้าหน้าที่ในรัฐสภาและบุคคลากรทางการเมือง ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ย ที่จะมีกำหนดระยะเวลา 90 วันก่อน จึงจะสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีกับท่านผู้ทรงเกียรติที่กระทำพฤติกรรมน่าละอายได้

     6.เหยื่อเริ่มได้รับความยุติธรรมและได้รับเงินเยียวยามากขึ้น

ผู้เสียหายบางรายได้รับเงินชดเชยจากบาดแผลที่ถูกกระทำ โดยกรณีศึกษาสำหรับประเด็นนี้ คือ การที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนยอมจ่ายเงินชดเชยก้อนโตให้กับนักกีฬาเยาวชนกว่า 163 คน ที่ถูก DR.LARRY NASSAR อดีตแพทย์ทีมยิมนาสติก ทีมชาติสหรัฐอเมริกา และแพทย์เวชศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยกระทำการล่วงละเมิดทางเพศ

โดยหลัง DR.LARRY NASSAR ถูกศาลตัดสินจำคุกจากความผิดดังกล่าว ได้ปรากฏข้อมูลว่า เขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของทางมหาวิทยาลัยมิชิแกนเพียงผู้เดียวที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน่าละอายนี้ ทางมหาวิทยาลัยจึงถูกกล่าวหาว่าเพิกเฉยและล้มเหลวในการปฏิบัติและดูแลนักกีฬา

เมื่อเรื่องอื้อฉาวนี้แพร่ออกสู่สาธารณชนเป็นวงกว้าง ทางมหาวิทยาลัยมิชิแกนจึงเสนอเงินเยียวยาก้อนโตถึง 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งตัวเลขนี้ ว่ากันว่า น่าจะมีมูลค่าสูงที่สุดเท่าที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาเคยต้องจ่ายให้กับคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยเหยื่อทั้งหมดร้อยกว่าคน ได้รับเงินเยียวยาอยู่ที่คนละ 250,000 - 2,500,000 เหรียญสหรัฐฯ

     7.อเมริกันชนและชาวโลกจับมือกันผลักดันประเด็นการคุกคามทางเพศเป็นวาระแห่งโลกอย่างจริงจัง

หลังบรรดาผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อต่างเริ่มส่งเสียงและเรียนรู้ไปด้วยกันว่า เขาและเธอมิได้อยู่เพียงลำพัง นอกจากนี้ มันยังไม่ได้ช่วยเปลี่ยนเฉพาะเรื่องปัญหาการคุกคามทางเพศ แต่มันยังรวมไปถึงความคิดในเรื่องเพศและอำนาจของชาวอเมริกันได้จำนวนไม่น้อย เพราะทุกๆ เสียงที่เรียกร้องออกมานั้น มันได้ส่งผลกระทบไปยังทุกภาคส่วนของสังคมโลก อย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน

เมื่อ Metoo วิวัฒน์ตัวเองไปสู่ การรณรงค์เพื่อความไม่เสมอภาคทั้งมวล

"ปัจจุบันแคมเปญ MeToo ไม่ใช่เพียงการรณรงค์ให้ผู้หญิงออกมาเปิดเผย เรื่องที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศอีกต่อไปแล้ว มันได้กลายพันธุ์ไปเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อความไม่เสมอภาคทั้งมวล"

คุณมณฑิรา นาควิเชียร เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ องค์การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (UN Women) มองปรากฏการณ์ Metoo ที่กำลังส่งเสียงดังขึ้น ดังขึ้น และดังขึ้น ทั้งในประเทศไทยและนานาชาติ กับ ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’

จะเห็นได้ว่า MeToo มันไม่ใช่เรื่องของผู้หญิงเพียงอย่างเดียวอีกแล้ว จริงอยู่ที่จุดเริ่มต้นมันมาจากผู้หญิง แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว มันเป็นเรื่องของทุกคน ทุกเพศทุกวัย ที่ถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม แม้แต่เพศเดียวกันก็ยังมีการปฏิบัติต่อกันอย่างไม่เท่าเทียม มีชนชั้นแบ่งแยกในเพศตัวเองอีกที ซึ่งอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ เช่น ความแตกต่างของช่วงวัย ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือสถานะทางสังคม MeToo ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อความไม่เสมอภาคในสังคม

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่จะทำให้แคมเปญนี้สำเร็จได้ คือ ต้องมีบรรยากาศที่เอื้อให้มีการถกเถียงอย่างเสรี พร้อมสำหรับการตรวจสอบและการนำเรื่องราวมาเปิดเผย เพราะในบางประเทศ การพูดเรื่องการเหยียดเพศ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือวัฒนธรรมใครเป็นใหญ่ มันกลายเป็นเรื่องธรรมดา คุ้นชิน จนไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา

‘คุณมณฑิรา’ กล่าวปิดท้ายว่า ในอนาคตเราคงต้องฝากความหวังไว้ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ในวัย Gen Z ซึ่งเป็นวัยที่มีความสำคัญมากในช่วงระยะเวลานี้ ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความเสมอภาคทางเพศและความหลากหลายทางเพศ มันกลายเป็นสิ่งที่เด็กวัยนี้เสพเป็นชีวิตประจำวันไปแล้ว จึงสามารถมองเห็นว่า การถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศเป็นหนึ่งในความอยุติธรรมในสังคม

Reese Witherspoon

"การถูกคุกคามทางเพศนั้น เมื่อใดที่นึกถึงมันเป็นเรื่องยากมากที่จะข่มตัวเองให้หลับได้ลง และมันยากที่จะคิด หรือจะบอกเล่าให้ใครฟังได้"

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ฉันถูกทำร้าย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นเพิ่งอายุเพียง 16 ปี ตอนนั้นฉันรู้สึกโกรธมาก แต่ผู้จัดการส่วนตัวบอกฉันให้เงียบเอาไว้ เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่ออนาคตในวงการบันเทิงได้

ฉันเคยผ่านประสบการณ์การถูกคุกคามทางเพศมาแล้วหลากหลายรูปแบบ แต่ที่ผ่านมา ฉันไม่อยากจะพูดถึงมันนัก แต่หลังจากได้รับฟังเรื่องราวของหญิงสาวที่หาญกล้ามาแชร์ประสบการณ์เลวร้ายต่างๆ ที่ตัวได้เองได้พบเจอมา ปัญหาในเรื่องนี้จะไม่ถูกซุกอยู่ใต้พรม หรือไม่ถูกพูดถึงอีกต่อไป ฉันอยากเรียกร้องให้ทุกคนช่วยกันพูด และพูดให้ดังขึ้น เพราะในเวลานี้ ฉันรู้สึกว่าไม่ได้อยู่เพียงลำพังเหมือนตอนที่เริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงอีกแล้ว

Jennifer Lawrence

"มันเป็นทั้งการถูกย่ำยีศักดิ์ศรี และทำให้ฉันรู้สึกอับอายมาก"

ในช่วงที่ฉันเริ่มต้นก้าวเท้าเข้าสู่วงการบันเทิง ฉันถูกโปรดิวเซอร์และผู้คัดเลือกนักแสดง สั่งให้ลดน้ำหนัก 6.8 กิโลกรัม ให้ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างแน่นอน แต่ฉันก็ต้องจำใจยอมรับมัน

แถมในระหว่างนั้น โปรดิวเซอร์หญิงยังสั่งให้ฉันเปลือยกายเข้าไปตั้งแถวร่วมกับผู้หญิงคนอื่นๆ อีก 5 คน พร้อมกับตะโกนออกมาว่า คนอื่นๆ เขาผอม และผอมกว่าเธอมาก แต่แล้วเมื่อฉันไปพบกับโปรดิวเซอร์ชายอีกคน เขากลับพูดกับฉันว่า ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมใครๆ ถึงบอกว่าคุณอ้วน เพราะหุ่นของคุณมันโคตรสมบูรณ์แบบ

ประสบการณ์ในเรื่องนี้ ทำให้ฉันรู้สึกติดอยู่ในกับดักแห่งความหวาดระแวง จนไม่เหลือความมั่นใจในตัวเอง จนกระทั่งต้องไปเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ เพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปในอาชีพนักแสดง

จากนี้ต่อไป เราจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียว เพื่อปกป้องสิทธิของพวกเรา

Lady Gaga

"ตอนนั้น ฉันยังเยาว์และไม่รู้เดียงสา"

เลดี้ กาก้า ยอมรับเป็นครั้งแรกต่อสาธารณชนเมื่อปี 2014 ว่า ตอนอายุเพียง 19 ปี เธอถูกโปรดิวเซอร์ชื่อดังข่มขืน และเพลงของเธอที่มีชื่อว่า “Swine” นั้น มีเนื้อหาสื่อถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

Shiori ito

"ฉันมั่นใจว่า คดีนี้คือ กรณีศึกษาสำคัญสำหรับก้าวต่อไปในการดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศของประเทศญี่ปุ่น"

Shiori ito นักข่าวอิสระและสาวแกร่งสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของ Metoo บนดินแดนอาทิตย์อุทัย ผู้หาญกล้าฟ้องร้องเอาผิด Noriyuki Yamaguchi ผู้ประกาศข่าวชื่อดังระดับประเทศ และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา

จนกระทั่งได้รับชัยชนะ ศาลพิพากษาให้เธอได้รับเงินเยียวยา 3.3 ล้านเยน จากคู่กรณี และอดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดังถูกกระแสสังคมกดดัน จนกระทั่งต้องลาออกจากสถานีโทรทัศน์ TBS (Tokyo Broadcasting System)

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ หลังจากเธอแจ้งความว่าถูกข่มขืนในปี 2017 สิ่งที่ต้องเผชิญในเวลานั้นกลับมีแต่การถูกข่มขู่และคุกคามจากโลกโชเชียลมีเดีย จนทำให้เธอและครอบครัวรู้สึกไม่ปลอดภัยถึงขั้นต้องเดินทางออกนอกประเทศ

"ระบบยุติธรรมในประเทศญี่ปุ่นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง หลังจากไปแจ้งความในช่วงระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับพยายามกีดกันฉันออกจากกระบวนการเดินหน้าตามกฏหมาย หนำซ้ำยังมีพฤติกรรมหยามเหยียดเกียรติยศศักดิ์ศรีในแต่ละขั้นตอนของการสอบสวนด้วย

ฉันค่อยๆ ทรุดลงไปกองกับพื้น จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ 3-4 คน เข้ามาสอบสวนฉันพร้อมกับกล้องวิดีโอ ทั้งหมดทำกับฉันราวกับตุ๊กตาเด็กเล่น เอาตัวฉันไปจุดนั้นจุดนี้ พร้อมๆ กับถ่ายรูป ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับการข่มขืนซ้ำแต่สิ่งที่ทำให้ฉันเสียใจอย่างยิ่ง คือ การที่เจ้าหน้าบางคนพูดว่า ฉันยังคงติดต่ออยู่กับคู่กรณี แทนที่จะไปติดตามจับกุมเขา".

ข่าวน่าสนใจ :

หมายเหตุ :

  • *O.G. เป็นคำแสลงของฝรั่ง ย่อมาจากคำว่า Original Gangster ใช้พูดถึงบุคคลที่ให้ความรู้สึกว่า เท่ เจ๋ง น่านับถือ