10 ข้อปฏิบัติ "กักกันตัวเอง" 14 วัน หลัง "ผีน้อย" จากเกาหลีใต้กลับไทย นอกจากสวมหน้ากากอนามัย พึงระวัง "การจูบ" สามารถ "แพร่เชื้อโควิด-19" ได้

2 เดือนกว่ากับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า “โควิด-19” ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกฝ่ายเฝ้าติดตาม ร่วมด้วยช่วยกันลดการแพร่ระบาด เพราะโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ จึง “แพร่ง่าย” อีกทั้งยังไม่มีวัคซีนป้องกัน คนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ส่งผลให้ “ติดเชื้อ” ได้ง่าย

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ณ วันที่ 4 มี.ค. 63 เวลา 11.36 น. จำนวนทั้งสิ้น 93,158 ราย ในประเทศจีน 80,270 ราย ประเทศอื่น 12,845 ราย สำหรับประเทศไทย 43 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรักษาในโรงพยาบาล 11 ราย กลับบ้านแล้ว 31 ราย เสียชีวิต 1 ราย

เป็นที่ทราบกันดี “เชื้อโควิด-19” ติดต่อกันได้ 2 กรณี จากละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplets) ไอ จาม รดกันในระยะใกล้ 1 เมตร และมือสัมผัส (Contact) ละอองฝอยจากน้ำมูก น้ำลาย ที่ติดอยู่ในส่ิงต่างๆ ในที่สาธารณะ อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ปุ่มกดลิฟต์ แล้วนำมือมาสัมผัส ปาก จมูก ตา นอกจากนี้การแสดงความรักและแสดงออกทางเพศด้วย “การจูบ” ก็ทำให้เสี่ยงติดเชื้อ “โควิด-19” ได้เช่นกัน

...

กักตัว 14 วัน ห้ามพลั้งเผลอ "จูบพิฆาต" 

การจูบทำให้ติด “เชื้อโควิด-19” ได้อย่างไร นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นพ.ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อเท็จจริงกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ยืนยัน “ติดได้แน่นอน ถ้าเกิดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอาการป่วยไม่สบายด้วยเชื้อโควิดขณะกักตัว 14 วัน”

แรงงานไทยผิดกฎหมายในเกาหลีใต้ หรือที่เรียกกันว่า “ผีน้อย” ที่กำลังทยอยเดินทางกลับไทย หรือผู้ที่กลับมาจากการเดินทางในประเทศอื่นๆ ที่มีการระบาด เพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น เมื่อกลับถึงไทย หากตรวจพบมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง จะถูก “แยกกัก” ส่งตัวไปสถานพยาบาลเพื่อนำสู่ระบบการตรวจรักษาที่เหมาะสมต่อไป

คนที่ไม่ป่วย ถึงอย่างไรก็จำเป็นต้องกักกันตัวเองอยู่ในพื้นที่เฉพาะที่พัก (Self-Quarantine at home) เพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน เพราะมีโอกาสได้รับเชื้อ โดยต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตาม 10 ข้อบังคับของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คือ

1. อยู่ที่บ้าน รายงานตัว และจำกัดคนเยี่ยม

2. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

3. ปิดฝาชักโครกทุกครั้งที่กดล้าง ลดการฟุ้งกระจายของไวรัส

4. ไอ และจามใส่กระดาษทิชชู

5. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลล้างมือทันทีที่ทิ้งทิชชู

6. เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท

7. งดรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น และแยกของใช้ส่วนตัว

8. ล้างจานด้วยน้ำยาล้างจานก่อนใช้เสมอ

9. ยืนห่างจากผู้อื่นมากกว่า 1 เมตร

10. หากต้องออกจากบ้าน ห้ามใช้ขนส่งสาธารณะโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้อีกสิ่งสำคัญที่พึงระวังขณะกักกันตนเองที่บางคนอาจจะเผอเรอ หรือคิดไม่ถึง นั่นคือ “การจูบ”

“การกักตัว 14 วัน เรียกว่าเป็นผู้ต้องสงสัย ไม่มีอาการเจ็บป่วย แต่มีโอกาสอาจจะเป็นได้ เพื่อความไม่ประมาท สวมหน้ากากอนามัยอยู่ในบ้าน ล้างมือให้สะอาด แยกใช้สิ่งของ ห้องนอนร่วมกับผู้อื่น ควรทานอาหารแยกสำรับ ไม่คลุกคลีกับผู้อื่น งดกิจกรรมทางสังคม หยุดเรียน หยุดไปทำงาน แนะนำให้หลีกเลี่ยงการจูบ การหอม คลุกคลี หอมลูก หอมหลาน ใส่หน้ากากอนามัย” นพ.รุ่งเรือง แนะนำ

...

ไม่มีอาการ = ไม่แพร่เชื้อ สายด่วน 24 ชม. แจ้งผู้เสี่ยงป่วย "โควิด-19"

ไม่มีอาการ = ไม่แพร่เชื้อ คือคำจำกัดความของ นพ.รุ่งเรือง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย การกักตัว 14 วันที่บ้าน ประชาชนให้ความร่วมมือดี มีเพียงส่วนน้อยที่ไม่รับผิดชอบ ทำให้ส่วนรวม ทำให้สังคมเดือดร้อน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาอาจจะดำเนินการกับผู้ที่ไม่รับผิดชอบ ไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดโดยใช้กฎหมายมาเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้จะทำให้เกิดสถานการณ์การระบาดของโรค

กรณีเกิดพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 จำนวน 1 คน ทีมแพทย์ต้องติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอีก 20-40 คนทันที ดังนั้น หากใครรู้ตัวว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ ควรดูแลตัวเองเพื่อคนใกล้ชิด และคนในสังคม หรือหากพบผู้เสี่ยงป่วย COVID-19 โทรแจ้งสายด่วน 1422 ทั้งหมด 30 คู่สาย ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

...

จากนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข จะประสานรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคลงพื้นที่โดยสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกัน (PPE) พีพีอี หรือ Personal Protective Equipment เป็นอุปกรณ์ป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ติดต่อโรค ซึ่งเป็นไปตามหลักองค์การอนามัยโลก พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ไปรับผู้มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์ถึงที่บ้าน หรือที่พักทันที

“การกักตัวเอง 14 วัน ควรหลีกเลี่ยงไปในที่สาธารณะที่มีคนหนาแน่น ให้สังเกตอาการของตัวเอง หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย โทรแจ้ง 1422 แล้วรอรถพยาบาลมารับถึงที่พักพาไปพบแพทย์ทันที เพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้สารคัดหลั่งแพร่เชื้อคนใกล้ชิด” นพ.รุ่งเรือง อธิบาย

เคยป่วย "โรคโควิด-19" โอกาส "ป่วยซ้ำ" ได้อีกหรือไม่?

วัคซีนป้องกัน โควิด-19 นพ.รุ่งเรืองเปิดเผยข้อมูลว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาทั้งในจีนและอีกหลายๆ ประเทศ คาดว่าอีกไม่นานน่าจะได้คิดค้นได้สำเร็จ เพราะฉะนั้นการช่วยกันป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ และลดการแพร่ระบาด “โควิด-19” ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

เชื้อโควิด-19 ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ การล้างมือให้สะอาดและบ่อยครั้ง ก่อนกินอาหาร ก่อนและหลังเข้าห้องน้ำ และสัมผัสผู้อื่น และที่สำคัญ ถ้าไม่มั่นใจว่ามือสะอาด ไม่ควรนำมือจับปาก จมูก ตา หากประชาชนประพฤติตนด้วยหลักสุขภาพที่ดีจะช่วย กินอาหารร้อน (ปรุงสุก) ยืดโอกาสที่ประเทศไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 คือ โรคเกิดขึ้นในประเทศ แต่มีการขยายวงการระบาดเพิ่มขึ้น

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นพ.ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นพ.ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข

...

หากป่วยโรคโควิด-19 แล้วหายดี ทั้งตัวผู้ป่วยและคนใกล้ชิดรู้สึกเกิดความกังวลและกลัวว่าอาจกลับมาป่วยได้อีก ในความเป็นจริง นพ.รุ่งเรือง ยืนยันว่า “ไม่ป่วยซ้ำ” แต่มีโอกาสติดเชื้อ เพราะโดยธรรมชาติของโรคกลุ่มโคโรนาไวรัส และธรรมชาติทางไวรัสวิทยา หากเคยมีประวัติป่วยแล้ว ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน มีโอกาสติดเชื้อแต่ไม่ป่วย หรือมีอาการรุนแรง หรือแทบไม่มีอาการ

“ด้วยธรรมชาติของเชื้อโควิด-19 รวมถึงข้อมูลวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่ป่วยซ้ำ การติดเชื้อโควิด-19 หรือเชื้อไวรัสอื่นๆ ร่างกายจะมีภูมิต้านทานขึ้น เหมือนได้ฉีดวัคซีน และจะเป็นการช่วยป้องกันการติดเชื้อใหม่” นพ.รุ่งเรือง กล่าว.

ข่าวน่าสนใจ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่

reporter.thairath@gmail.com  หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ