"เกษียณ" แล้วเราจะไปอยู่ไหน? ... เชื่อว่าหลายๆ คนต้องมีสักแวบที่คำถามนี้ผุดเข้ามาในหัว บางคนมีคำตอบ และบางคนก็ไร้คำตอบ

สมัยก่อนกว่าจะเกษียณก็ลากยาวกันถึงอายุ 60 ปี แต่สมัยนี้ เริ่มเกษียณกันตั้งแต่อายุ 55 ปี หรือบางรายก็ตั้งแต่ 50 ปี และไม่ใช่แค่กับคนไทยเท่านั้น ต่างชาติเองก็เช่นกัน ... แล้วพวกเขาเลือกไปใช้ชีวิตบั้นปลายกันที่ไหน? และเลือกกันจากอะไร?

หากจะตอบง่ายๆ ว่า "สถานที่ที่อยู่แล้วสบายใจ" ภาพที่ได้ก็คงจะกว้างมาก สบายใจของแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป แต่ถ้าเราลองมองถึง "ข้อจำกัด" ในการใช้ชีวิต สถานที่บั้นปลายยามเกษียณก็อาจจะเห็นภาพได้ชัดขึ้น

และหนึ่งใน "ข้อจำกัด" ที่หลายๆ คนหยิบยกมาใช้ในการตัดสินใจเลือกสถานที่บั้นปลายยามเกษียณก็คือ "เงิน"

"เงิน" ที่มีผลต่อการดำรงชีวิต

และเงินอีกนั่นแหละที่เป็นตัวแปรในการคำนวณ "ค่าครองชีพ"

ถ้าเป็นคนไทย หากคำนวณจาก "ข้อจำกัด" ที่เรียกว่า "เงิน" นี้ บางคนเลือกจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายยามเกษียณในต่างจังหวัด อยู่กับสวนกับไร่ อยู่กับลูกหลาน แต่สำหรับคนต่างชาติแล้ว หากไม่เป็นชนบทในประเทศตัวเอง ก็มักจะเลือกบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาอยู่ต่างแดน

และต่างแดนที่ว่าก็ต้อง "ค่าครองชีพ" ถูกกว่าประเทศที่ตัวเองอยู่ด้วย

...

โดยจากการจัดอันดับหลายๆ ครั้งของหลากหลายสำนัก หนึ่งในประเทศที่เป็นเป้าหมาย "วัยเกษียณ" ก็มี ‘ประเทศไทย’ รวมอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งจังหวัดยอดฮิตคงหนีไม่พ้น ‘เชียงใหม่’

ทำไม "ต่างชาติวัยเกษียณ" ถึงเลือกมาใช้ชีวิตบั้นปลายกันที่ ‘เชียงใหม่’ ...?

คำตอบ คือ "ค่าครองชีพถูก"

คนไทยอาจร้องเสียงสูงว่า "เชียงใหม่ค่าครองชีพถูกที่ไหนกัน!!" แต่สำหรับต่างชาติแล้ว ถือว่า "ถูกมาก" มีอันดับค่าครองชีพอยู่ที่ 276 จาก 467 เมืองในโลก

ทำไมถึงเลือกมาอยู่ที่ไทย?
"ค่าใช้จ่ายถูก"

คำตอบสั้นๆ จาก ‘Salvi’ หนึ่งในชาวต่างชาติที่เลือกเดินทางมาใช้ชีวิตบั้นปลายยามเกษียณในประเทศไทย ที่แม้จะเลือกมาอยู่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครแทนเชียงใหม่เมืองยอดฮิต ก็ยังยืนยันว่า "ค่าใช้จ่ายที่นี่ถูกกว่าประเทศบ้านเกิดตัวเอง"

ลมเย็นๆ ประมาณ 17.00 น. คือ ช่วงเวลาประจำของทุกวันอังคาร ณ ชุมชนย่านคลองหลอด ที่ ‘Salvi’ จะมาปรากฏตัว แน่นอนว่า ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ก็มีโอกาสได้พบเจอและพูดคุยกับเขา ในช่วงเวลานี้และสถานที่นี้ ที่เก่าเวลาเดิมถึง 2 ครั้ง

ไทยแลนด์ บ้านหลังที่ 2 ต่างชาติวัยเกษียณ

‘Salvi’ ชายชาวสวิตเซอร์แลนด์ วัย 51 ปี ที่ในทุกๆ ครั้งที่พบเจอก็มักจะสวมเสื้อยืด กางเกงผ้า และรองเท้าแตะ พ่วงมาด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

"ก่อนจะมาอยู่ที่นี่ก็หาข้อมูลก่อนว่าประเทศไหนค่าครองชีพถูก แล้วควรไปอยู่ที่ไหน ซึ่งผมเลือกประเทศไทย เพราะค่าครองชีพถูกกว่าหลายๆ ประเทศ ครั้งแรกที่มาก็ 5 ปีที่แล้ว รวมแล้วก็ 5 ครั้ง"

หากเทียบค่าครองชีพของไทยกับสวิตเซอร์แลนด์บ้านเกิดเมืองนอนของ ‘Salvi’ ก็ต้องบอกว่าถูกกว่ามาก และสามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ หากเทียบกับเงินบำนาญที่เขาได้รับในแต่ละเดือน

...

ก่อนจะเป็น "ชายเกษียณ" อย่างทุกวันนี้ เดิมนั้น ‘Salvi’ มีอาชีพเป็น ‘วิศวกรอิเล็กทรอนิกส์’ ซึ่งตลอดหลายสิบปีของการทำงาน เขาพูดติดตลกกับทีมข่าวฯ ว่า "แทบไม่ได้สื่อสารกับใครเท่าไร อยู่แต่กับโปรแกรม"

แต่แล้วด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ไม่คาดฝัน ทำให้ ‘Salvi’ ได้รับบาดเจ็บหนักบริเวณหลัง ส่งผลเป็นอาการปวดเรื้อรัง จนสุดท้ายจำต้องตัดสินใจ "เกษียณก่อนกำหนด"

และนั่นคือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเลือกจะหาที่พักกายและพักใจยามเกษียณ ที่แม้ไม่ได้มาอยู่พำนักระยะยาวตลอดชีวิตบั้นปลาย แต่ทุกครั้งที่ ‘Salvi’ อยากหลบหนีจากความหนาวเหน็บ เขาก็เลือกที่จะมาที่นี่

"ช่วงเดือนพฤศจิกายนลากยาวมาจนถึงกุมภาพันธ์ ที่สวิตเซอร์แลนด์อากาศหนาวมากๆ ทุกพื้นที่มีแต่น้ำแข็ง พอเย็นมากๆ ก็ปวดร้าวไปหมด ต้องกินยาถึงจะนอนหลับ"

หากเปรียบง่ายๆ ก็คงเป็นอาการหนาวเข้ากระดูกตามภาษาคนไทย

"ผมเลือกมาอยู่ที่ไทยช่วงเดือนพฤศจิกายน แล้วกลับสวิตเซอร์แลนด์ช่วงปลายเดือนเมษายน ผมชอบเมืองไทย เพราะเมืองไทยอากาศร้อน อากาศอบอุ่น และที่เลือกมาไทย ประเด็นหลัก คือ ค่าครองชีพถูก"

...

หลายคนอาจจะมองว่า ต่างชาติต้องได้เงินเกษียณหรือ ‘เงินบำนาญ’ เยอะ แต่สำหรับ ‘Salvi’ แล้ว เขาบอกว่า ได้รับเพียงเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไร พออยู่ได้ในสวิตเซอร์แลนด์ แต่อาจต้องประหยัดมากๆ

• ชีวิตเดินเท้าและเงินหลักร้อย

‘Salvi’ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็ก ไม่ใช่ต่างชาติเร่ร่อน และไม่ถึงกับเป็นต่างชาติสร้างครอบครัวใช้ชีวิตบั้นปลายลงหลักปักฐานในไทย แต่เขาเป็นเพียงคนคนหนึ่งที่เลือกมาใช้ ‘ชีวิตเดินเท้า’ เพื่อพักกายและพักใจในวัยเกษียณ ... เพียงครั้งคราวในช่วงหนาวเหน็บ

"ผมมาไทยแล้ว 5 ปี จากปีแรกจนปีนี้ ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาหารราคาถูกที่อยู่ข้างถนนอย่างพวก ‘สตรีทฟู้ด’ ก็ลดน้อยลง ในร้านอาหารก็แพงมาก ผมชอบสตรีทฟู้ดมาก ชอบมากๆ แต่หลังจากมีการจัดระเบียบก็หายไป แล้วสมัยก่อน 1 ดอลลาร์ แลกได้เยอะ แต่ตอนนี้เหลือนิดเดียว มันไม่ค่อยดีกับนักท่องเที่ยวเท่าไร" ‘Salvi’ หัวเราะหลังพูดจบ

...

‘Salvi’ ได้เงินบำนาญราวๆ 2,000 ดอลลาร์ต่อเดือน หรือราว 64,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 31.47 บาท) และในทุกๆ ปี ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพอีก 7,000 ดอลลาร์ฯ (220,000 บาท) หลังหักค่าประกันเบ็ดเสร็จแล้วเหลือใช้ราว 1,417 ดอลลาร์ หรือ 45,000 บาท ซึ่งเขาบอกว่า ถ้ากลับไปใช้ชีวิตที่สวิตเซอร์แลนด์คงไม่ไหว ค่าครองชีพสูง ต้องใช้อย่างประหยัดมากๆ แต่ถ้าอยู่ที่ไทยก็จะสบายกว่า

"แต่ละวันที่อยู่ที่ไทย ผมจะจ่ายเงินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ 100-500 บาทต่อวันไม่เกินนั้น บางวันก็ใช้แค่ 100 บาท"

การใช้ชีวิต ‘Salvi’ ในแต่ละวันไม่มีอะไรมาก ไม่พิเศษ และไม่ว้าว มีแค่ "ชีวิตเดินเท้า" เท่านั้น

‘Salvi’ เลือกอยู่ห้องพักเล็กๆ รวมกัน 14 คนโดยไม่รู้จัก ที่จ่ายคืนละ 100 บาท ได้เพียงแค่เตียงเล็กๆ เป็นพื้นที่ส่วนตัว แม้จะต้องทนนอนฟังเสียงกรนจนแทบไม่ได้หลับ แต่เขาก็มองเป็นเรื่องตลก

ทุกเช้า ‘Salvi’ ก้าวออกจากห้องพัก แล้วก็เดิน เดิน เดิน เดินไปเรื่อยๆ เป้าหมายยามเที่ยง คือ ‘ห้องสมุด’ ซึ่งหนังสือที่เขาเลือกหยิบมาอ่านก็ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชีพที่เขาเคยทำมาตลอดหลายสิบปี ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และฟิสิกส์

เมื่อทีมข่าวฯ ถาม ‘Salvi’ ว่ามีกิจกรรมอื่นๆ อีกไหมนอกจากอ่านหนังสือ เขาตอบว่า "เดิน" ก่อนจะหัวเราะ

วันๆ หนึ่ง ‘Salvi’ เดินราวๆ 30 กิโลเมตรต่อวัน ถามว่าทำไมเขาต้องเดิน เขาบอกว่า เดินเล่น เดินเที่ยว เดินออกกำลังกาย

‘Salvi’ คือคนที่ทำงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ แต่กลับไม่ชอบเล่นโซเชียลมีเดีย เขาบอก "ผมไม่ชอบเฟซบุ๊ก" และ "ผมไม่ชอบซิมการ์ด" เขาบอกว่าถ้าต้องซื้อซิมการ์ดใช้ในขณะที่อยู่เมืองไทย พอกลับไปสวิตเซอร์แลนด์ก็ใช้ไม่ได้แล้ว ที่สำคัญเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากไปอีก หากจะเล่นอินเทอร์เน็ตเช็กข่าวสาร ก็ใช้ไวไฟฟรีตามที่สาธารณะ

"ผมมีอีเมล แต่ผมไม่ได้อ่านทุกวัน บางเวลา"

คนไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ มิตรภาพริมถนน

ชายสวิสที่ชอบอ่านหนังสือฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทำงานกับโปรแกรม อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ค่อยได้สนทนากับใคร กลับชอบใช้ ‘ชีวิตเดินเท้า’ และมีเพื่อนเป็น ‘คนไร้บ้าน’

มิตรภาพที่ไม่ได้มีการผูกพันลึกซึ้ง มีเพียงแค่การทักทายกันว่า "เฮ้!" ในทุกครั้งที่เจอหน้า เป็นเพื่อนที่ไม่มีการนั่งจับเข่าคุยกันปรับทุกข์ แต่อุ่นใจทุกครั้งที่ได้เจอ

"ผมอาจไม่ได้รู้จักทุกคนที่อยู่ที่นี่ ตอนที่เจอพวกเขาครั้งแรก ผมไม่รู้ว่าผมรู้สึกยังไง ที่ถนนข้าวสาร ผมเจอพวกเขานอนอยู่บนฟุตปาท ผมก็รู้สึกเศร้า แต่ก็มีเพื่อนบางคนที่ไม่ได้นอนหลับบนถนน ผมไม่รู้ว่าเขามีบ้านหรือเปล่า แต่ผมโอเคที่ได้ใช้เวลาอยู่กับพวกเขา"

หากถามถึงแผนในอนาคตของชีวิตบั้นปลาย ‘Salvi’ ก็ตอบทิ้งท้ายแบบคนที่ผ่านประสบการณ์มามากตลอดช่วงอายุ 51 ปี ว่า "มันยากที่จะคิด มันยากที่จะพูด ผมไม่รู้เลย หากว่าจะต้องตาย หลังจากนี้อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด".

ข่าวน่าสนใจ :