จริงหรือ? กับความเชื่อที่ว่า กิน ‘PrEP’ กับ ‘PEP’ ป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ โดยไม่ต้องใส่ ‘ถุงยางอนามัย’ แล้ว PrEP กับ PEP คืออะไร?
จาก "ความเชื่อ" นั้น
คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์คิดเห็นอย่างไร?
ในสมัยก่อน การติดเชื้อ ‘เอชไอวี’ (HIV) ถือเป็นสิ่งที่น่ากลัวและร้ายแรง การเข้าถึงการรักษายังไม่ทั่วถึงมากนัก แม้จะมีสถานรักษาพักฟื้นผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์รับดูแล แต่ด้วยกำลังที่มีก็ยังคงไม่เพียงพอ ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว ผู้ติดเชื้อเอชไอวีสะสมในไทยเคยมีจำนวนสูงสุดถึง 6.8 แสนคน ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่การแพทย์เจริญก้าวหน้า ทั้งการรักษาและการพัฒนา "ยาต้านไวรัส" ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2552 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปี 2560 อยู่ที่ 400,000 คน และ 3 ใน 4 ได้รับบริการ "ยาต้านไวรัส"
แล้วคนติดเชื้อเอชไอวีได้อย่างไร? ติดต่อช่องทางไหนบ้าง?
แน่นอนว่า การมีเพศสัมพันธ์ คือ ความเสี่ยงอันดับต้นๆ ของการติดเชื้อเอชไอวี
แต่รู้ไหม? ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้อยู่แค่การเป็นคู่รักชาย-ชาย หรือคู่รักชาย-หญิงเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับ "ช่องทาง" การมีเพศสัมพันธ์ด้วย
...
ศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลกับ ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ด้วยการเปรียบเทียบโอกาสเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวีของแต่ละช่องทางจากการมีเพศสัมพันธ์ 10,000 ครั้ง
1) ทางช่องคลอด : ฝ่ายรับ โอกาสเสี่ยง 8 ครั้ง และฝ่ายรุก โอกาสเสี่ยง 4 ครั้ง
2) ทางทวารหนัก : ฝ่ายรับ โอกาสเสี่ยง 138 ครั้ง และฝ่ายรุก โอกาสเสี่ยง 11 ครั้ง
ดังนั้น ภาพรวมสรุปได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ทาง "ทวารหนัก" และเป็น "ฝ่ายรับ" มีโอกาสเสี่ยงได้รับเชื้อมากกว่า
โดยเหตุผลที่ "ทวารหนัก" มีความเสี่ยงมากกว่าปกติ นั่นก็เพราะว่า "ทวารหนักไม่ใช่ช่องทางปกติ" เนื้อเยื่อภายในบอบบางและมีสารหล่อลื่นน้อยกว่าทางช่องคลอด จึงอาจทำให้มีอาการบาดเจ็บ เช่น เลือดหรือบาดแผล ซึ่งอาจเป็นส่วนที่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีได้
และอีกหนึ่งช่องทาง คือ ‘ออรัลเซ็กซ์’ หรือการมีเพศสัมพันธ์ทางปาก ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรุกหรือฝ่ายรับความเสี่ยงก็ยังต่ำอยู่ ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็น "ศูนย์"
ย้ำ! โอกาสเสี่ยงต่ำ แต่ไม่ได้เท่ากับ "ศูนย์"
• PrEP กับ PEP คืออะไร?
ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ เปิด 2 บทเรียน ทำความเข้าใจ PrEP กับ PEP หาคำตอบของ "ความเชื่อ" กินแล้วป้องกันติดเชื้อเอชไอวี โดยไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัย
แต่ก่อนอื่นนั้น ทำความเข้าใจกันก่อนว่า PrEP กับ PEP ไม่ใช่ "ชื่อยา" แต่เป็น "วิธีการ"
ข้อมูลจาก ศ. พญ.ศศิโสภิณ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า PrEP มาจากคำว่า Pre-Exposure Prophylaxis หมายถึงการกินยาต้านไวรัส "ก่อน" มีเพศสัมพันธ์ ใน 1 เม็ด มี 2 ชนิด คือ ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) ร่วมกับยาเอมทริซิตาบีน (Emtricitabine) และคนที่กิน คือ "คนที่ยังไม่ได้ติดเชื้อเอชไอวี"
ถามว่า "ไม่มีเชื้อเอชไอวี" แล้วทำไมต้องกิน?
คำตอบ คือ กินเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ในกรณีที่คิดว่าอาจมีความเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน, ชาย-ชายมีเพศสัมพันธ์, คู่นอนหลายคน, คู่นอนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือคู่ที่มีผลเลือดต่าง โดยกินครั้งละ 1 เม็ด วันละ 1 ครั้ง และต้องกินทุกวันให้มีปริมาณยามากพอที่จะป้องกันเชื้อไวรัสได้
...
ส่วน PEP มาจากคำว่า Post-Exposure Prophylaxis หมายถึงการกินยาต้านไวรัส "หลัง" มีเพศสัมพันธ์มาแล้ว หรือมีความเสี่ยงมาแล้ว อาทิ ถุงยางฉีกขาด, มีเพศสัมพันธ์กับผู้ใช้สารเสพติด, ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และใช้เข็มร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งจะกินยาต้านไวรัส 3 ชนิด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่จะพิจารณาเลือกสูตรยา โดยต้องกิน 28 วัน หลังจากนั้นจะต้องเข้าพบแพทย์อีกครั้งเพื่อติดตามอาการและตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวี แบ่งระยะเวลาการตรวจเลือดเพื่อติดตามว่ามีการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ โดยจะมีการเจาะเลือดก่อนกิน PrEP เพื่อตรวจว่าไม่ได้มีการติดเชื้อมาก่อน และหลังจากนั้น 1 เดือน และ 3 เดือน
และที่สำคัญ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เน้นย้ำว่า กรณีที่มีความเสี่ยง เช่น ถุงยางฉีกขาด ควรเข้าพบแพทย์ให้เร็วที่สุดภายใน 2-3 ชั่วโมง เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ควรเกิน 72 ชั่วโมง
ดังนั้น การกินยาต้านไวรัส ทั้ง PrEP และ PEP ต้องมีการปรึกษาแพทย์ทุกครั้งและติดตามการรักษาสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่ใช้ PrEP แพทย์จะนัดทุก 3 เดือน และจ่ายยา รวมถึงเช็กเลือดทุก 3 เดือน เช็กการทำงานของไต และตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี เพราะอาจเสี่ยงต่อการที่เชื้อจะดื้อยาได้
...
• PrEP และ PEP กินไม่ตรงเวลา เท่ากับที่กินมาเสียเปล่า?
ทวนความจำ : PrEP ต้องกินทุกวัน ส่วน PEP ต้องกิน 28 วัน
คำว่า "PrEP ต้องกินทุกวัน" ทุกวันนั้นยาวนานแค่ไหน? และ "PEP ต้องกิน 28 วัน" ถ้ากินไม่ครบจะเป็นอะไรหรือไม่?
ศ. พญ.ศศิโสภิณ ให้ข้อมูลจากคำถามนี้ ว่า PrEP ต้องกินทุกวันไปเรื่อยๆ วันละ 1 เม็ด จนกว่าจะไม่มีความเสี่ยงแล้ว แต่คำว่า "กินไปทุกวันเรื่อยๆ นั้น" มีระยะเวลากำหนด สามารถหยุดได้หลังมีความเสี่ยงครั้งสุดท้าย 4 สัปดาห์
จากการศึกษา ณ ขณะนี้ พบว่า หากกินบ้างไม่กินบ้าง หรือกินไม่ครบ เมื่อถึงจุดที่ระดับยาลดจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ประสิทธิภาพจะแกว่งอยู่ที่ 50-60% แต่ถ้ากินครบทุกวัน ประสิทธิภาพ PrEP จะสูงถึง 90% ขึ้นไป
ส่วน PEP นั้น ประสิทธิภาพยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน แต่เป็นการอนุมานจากการศึกษาที่มีในอดีตบวกกับการอนุมานค่าตัวเลขที่มีการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก จึงมีการอนุมานประสิทธิภาพ PEP ไว้อยู่ที่ประมาณ 70-80% แต่ต้องกินครบ 28 วัน
...
แล้วตรวจเอชไอวีกี่วันรู้ผล?
การตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีหลักๆ มีด้วยกัน 3 วิธี
1) ตรวจดูภูมิที่ร่างกายสร้างต่อเชื้อ ที่เรียกว่า anti-HIV สามารถตรวจพบได้หลังจากที่ติดเชื้อไปแล้ว 3 สัปดาห์
2) NAT คือ การวัดสารพันธุกรรมของเชื้อ สามารถตรวจพบได้ที่ประมาณ 7-10 วันหลังจากมีการติดเชื้อ
และ 3) การตรวจหาแอนติเจน ที่เรียกว่า พี24 สามารถตรวจพบได้ที่ประมาณ 2 สัปดาห์
ซึ่งการตรวจหาการติดเชื้อที่ใช้ส่วนใหญ่ในโรงพยาบาลทั่วไป คือ ชุดตรวจที่ตรวจได้ทั้งภูมิที่ร่างกายสร้างและพี 24 ที่สามารถตรวจพบได้หลังมีการติดเชื้อที่ 2 สัปดาห์ แต่ช่วงเวลา 7 วันแรกยังไม่มีการตรวจวิธีใดๆ สามารถตรวจได้ เนื่องจากยังมีปริมาณเชื้อที่น้อยมากและร่างกายยังไม่มีการสร้างภูมิมาต่อต้านเชื้อ
• ตอบคำถามความเชื่อ "กิน PrEP-PEP ป้องกันติด HIV ไม่ต้องใส่ถุงยางอนามัย"
มาถึงการหาคำตอบของ "ความเชื่อ" ที่มีกระแสอยู่พักนึงว่า PrEP และ PEP คือ คู่แข่งสำคัญของ ‘ถุงยางอนามัย’ เพราะป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยที่ไม่ต้องใส่อะไรป้องกัน
PrEP และ PEP ป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้จริงหรือไม่?
คำตอบ คือ จริง!!
PrEP และ PEP สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่... ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ไม่ได้!!
ศ. พญ.ศศิโสภิณ ให้ข้อมูลว่า จากการศึกษา ณ ขณะนี้ ทั้งในส่วน PrEP และ PEP เป็นการศึกษาที่ใช้ร่วมกับถุงยางอนามัย ซึ่งการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีมีหลายวิธี และ PrEP กับ PEP ก็เป็นตัวเลือกหนึ่งในการป้องกันเท่านั้น ฉะนั้น วิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ใส่ถุงยางอนามัยควบคู่ไปกับการกินยา หากกินยาเพียงอย่างเดียวไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้
หากย้อนกลับไปเปิดดูรายงานสถานการณ์โรคในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2552-2561 พบว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอัตรา 31.22 เพิ่มเป็น 64.77 ต่อประชากรแสนคน
แค่ปี 2561 เพียงปีเดียว สำนักระบาดวิทยาก็ได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากถึง 42,943 ราย และโรคติดต่อที่พบมากที่สุด คือ โรคหนองใน 9,776 ราย มีอัตราป่วยสูงสุด 66.32 ต่อประชากรแสนคน ที่น่าสนใจ คือ กลุ่มอายุที่ป่วยสูงสุดอยู่ที่ 15-24 ปี หากเปรียบเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา เพิ่มสูงถึง 3.81 เท่า และโดยภาพรวมเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อีกหนึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีอันตรายสูง คือ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (Congenital Syphilis) ที่เกิดจากการติดเชื้อในเพศหญิงทั้งก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจมีภาวะแทรกซ้อนสูงถึง 50-80% ต่อการตั้งครรภ์และทารก เช่น การแท้ง, ตายหลังจากคลอด และเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด
จากระบบเฝ้าระวังการติดเชื้อเอชไอวี (HIV sero-surveillance system: HSS) ของสำนักระบาดวิทยา ปี 2561 พบว่า กลุ่มอายุ 15-24 ปี ยังคงเป็นกลุ่มที่ถูกตรวจพบมากที่สุด จากการฝากครรภ์ 35,649 ราย มีผลซิฟิลิสเป็นบวก 150 ราย และการคลอดลูก 504,131 ราย เป็นผลบวก 1,572 ราย หากนับตั้งแต่ปี 2557-2561 พบว่า อัตราผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 3.56 เท่า โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่าน อัตราหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิฟิลิสและโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ฉะนั้นแล้ว จากข้อมูลของ ศ. พญ.ศศิโสภิณ เห็นได้ว่า การกิน PrEP กับ PEP ร่วมกับการใช้ถุงยางอนามัยก็จะเป็นการป้องกัน 2 ขั้นตอน รวมถึงป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างอื่นด้วย เพราะหากพลาดติดโรคติดต่อบางประเภท อาจไม่ได้ส่งผลแค่กับเราเพียงคนเดียว แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงคู่รักหรือคู่นอน และอาจลากไปจนถึงทารกที่กำลังจะเกิดมาด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- ปัญหาบ้านแตก! สอนคนแก่เล่นโซเชียลฯ เตือน "ข่าวปลอม" แก๊งลวงรักออนไลน์
- 3 เดือนคืนทุน 5 แสน อดีตหนุ่มออฟฟิศ ปลูกผักขาย โกยเงินเดือนละครึ่งล้าน
- PARASITE เมื่อส่วนผสมลงตัว ในวันที่ "ออสการ์" ยอมเปิดกะลา
- ท้องฟ้าคือหลังคา คนไร้บ้าน ไม่ไร้หัวใจ ภาพย้อนแย้งในเมืองกรุง
- รำลึก "Kobe Bryant" อัจฉริยะบาสเกตบอล โลกไม่ลืม