16 ปี PPE ชุดพิทักษ์แพทย์ กำราบ "โรคอุบัติใหม่" เผย 20 ขั้นตอนสุดพิถีพิถัน สวม ถอด ชุด ไม่ให้สัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ 2019

บุคลากรทางการแพทย์ แม้จะเป็นผู้ที่มีความรู้ในการรักษาและป้องกันโรคเป็นอย่างดียิ่ง แต่เพื่อความปลอดภัยในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคอุบัติใหม่ต่างๆ การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ จำเป็นต้องใช้ PPE

หลายคนสงสัย PPE คืออะไร บุคลากรทางการแพทย์ของไทยต้องใช้ PPE แบบเดียวกันกับจีนหรือไม่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบเพื่อเป็นความรู้ที่ถูกต้องจาก นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

...

16 ปี PPE พิทักษ์แพทย์ กำราบ "โรคอุบัติใหม่"

ความเป็นมาของ PPE (พีพีอี) ที่ใช้ในเมืองไทย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า เริ่มขึ้นเมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา ในปี 2547 ที่ประเทศไทยเกิดโรคติดต่ออุบัติใหม่ คือ “ไข้หวัดนก” และโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ต่อมา คือ เมอร์ส ซาร์ส นิปาห์ เฮนดร่า อีโบล่า กระทั่งล่าสุด ‘โคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019’ ที่เริ่มขึ้นปลายเดือน ธ.ค. 62

โคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 นพ.รุ่งเรือง เน้นย้ำ สามารถแพร่ติดต่อผ่านละอองน้ำมูกน้ำลาย จากการไอจามในระยะ 1 เมตร การใส่หน้ากากอนามัยป้องกันโรค และพฤติกรรมสุขอนามัยที่ดี คือ กินร้อน ช้อนกลาง หมั่นล้างมือเป็นสิ่งเพียงพอสำหรับบุคคลทั่วไป แต่สำหรับบุคลากรทางการแพทย์แล้วการใส่หน้ากากอนามัยนั้นยังไม่เพียงพอ

การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่สงสัยจะติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จำเป็นต้องใช้ ชุดอุปกรณ์ป้องกัน (PPE) พีพีอี หรือ Personal Protective Equipment เป็นอุปกรณ์ป้องกันและคุ้มครองความปลอดภัยในการดูแลผู้ป่วย เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ติดต่อโรค ซึ่งเป็นไปตามหลักองค์การอนามัยโลก

ชุด PPE เพื่อป้องกันการติดเชื้อโคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่บุคลากรทางการแพทย์ของไทยจะใช้ในกรณีแพทย์เข้าไปตรวจดูคนไข้ที่เป็นโรค หรือมีประวัติเสี่ยง ซึ่งต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน (PPE) ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโรค อันประกอบด้วย

1. ชุดกาวน์รัดคลุมศีรษะ
2. หน้ากาก N95
3. แว่นตา
4. ถุงมือ หากต้องการทำหัตถการคนไข้ คือการรักษาผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เช่น เจาะเลือด ทำแผล ให้น้ำเกลือ การฉีดยา เป็นต้น จะมีเครื่องป้องกันเพิ่ม คือ กระบังป้องกันใบหน้า (face shield)

...

“แพทย์ต้องสวมเครื่องป้องกันมาก เพราะต้องตรวจคนไข้อย่างใกล้ชิดมาก เวลาทำหัตถการบางอย่างเช่น พ่นยา การดูดเสมหะ จะมีละอองฝอยฟุ้งกระจายจึงจำเป็นต้องใส่หน้ากาก face shield ป้องกันละอองฝอยฟุ้งเข้าตา” นพ. รุ่งเรืองให้เหตุผล

11 ขั้นตอน สวมชุด PPE รัดกุม มิดชิด ปลอดภัย ก่อนปฏิบัติหน้าที่

อุปกรณ์ป้องกัน (PPE) ตามแผนยุทธศาสตร์ ไทยมีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา มีการใช้ที่เพียงพอ และมีอุปกรณ์ที่สั่งจากต่างประเทศ และผลิตได้ในไทย เมื่อแต่งกายด้วยชุด PPE แล้วสามารถเข้าใกล้ผู้ป่วยได้ "ทุกระยะ" หลักการในการสวม PPE ดังนี้ 1. ล้างมือ 2. สวมถุงหุ้มขา (Leg Cover) 3. สวมชุดป้องกันร่างกาย (กันน้ำ) 4. สวมรองเท้าบูตแล้วล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล 5. สวมถุงมือคู่ที่ 1 6. สวมหน้ากาก N95 7. สวมแว่นป้องกันตา 8. ดึงฮู้ด ด้านหลังชุดมาคลุมศีรษะให้ครอบแว่นตาและใบหน้าและรูดซิปชุดป้องกันให้มิดชิด ปิดปาก 9. สวมเสื้อพลาสติกกันน้ำ 10. สวมถุงมือคู่ที่ 2 และขั้นตอนสุดท้าย 11. สวมหน้ากาก Face Shield จากนั้นพร้อมปฏิบัติหน้าที่

...

ชุด PPE ของไทย ขอบคุณภาพจากสำนักระบาดวิทยา
ชุด PPE ของไทย ขอบคุณภาพจากสำนักระบาดวิทยา

“การสวมหน้ากากอนามัยต้องทำการ Fit Test ใช้มือทั้งสองทาบที่หน้ากาก แล้วหายใจเข้าหน้ากากจะยุบตัว หายใจออกหน้ากากจะพองตัว ซึ่งเป็นการใส่ที่ปลอดภัยแล้วก็สวมหน้ากากอนามัย ใส่อุปกรณ์ครบแล้ว สำรวจความเรียบร้อยแล้วก็เข้าพื้นที่ปฏิบัติงานได้” นพ.รุ่งเรืองอธิบาย

...

9 ขั้นตอนสุดพิถีพิถัน ถอดชุด PPE ไม่ "สัมผัสเชื้อโรค"

ในแต่ละครั้งเมื่อบุคลากรทางการแพทย์เข้าไปดูแลผู้ป่วย หลังปฏิบัติหน้าที่เสร็จ จะต้องออกมาถอดชุด PPE ในห้องแยกจากบุคลากรทั่วไป และต้องปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและป้องกันการแพร่ติดต่อตามขั้นตอน ดังนี้ 1. เหยียบผ้าที่ชุบน้ำยาฆ่าเชื้อซึ่งอยู่หน้าห้อง 2. ดึงเสื้อพลาสติกกันน้ำด้านหน้าพร้อมถุงมือชั้นนอกออก 3. ถอด Face shield โดยใช้มือจับสายรัดด้านหลัง 4. รูดซิปแล้วถอดฮู้ดชุดป้องกันน้ำและถุงมือยาง 5. ถอดชุดออกพร้อมรองเท้าบูต 6. ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล 7. ถอด Leg cover โดยพยายามไม่สัมผัสภายนอกของถุง แล้วล้างมือ 8. ถอดแว่นป้องกันแล้วล้างมือ 9. ถอดหน้ากาก N95 แล้วล้างมือ

“PPE มีทั้งใช้แล้วทิ้งคือ ชุด และมีการนำมารียูส คือ หน้ากาก Face shield โดยทำความสะอาด อบฆ่าเชื้อ การดึงผ้าพลาสติกกันนั้น สิ่งที่ต้องระวัง อย่าให้ด้านนอกของชุดป้องกันสัมผัสร่างกายเด็ดขาด ควรพับหรือม้วนด้านในออกมาด้านนอก การดึงชุดป้องกันก็ต้องระวังให้ดึงชุดไปด้านหลัง จับและค่อยๆ ถอดชุดให้หลุดจากไหล่ ลำตัวอย่างระมัดระวังแล้วทิ้งลงถุงขยะติดเชื้อ แล้วทำความสะอาดร่างกายด้วย” นพ.รุ่งเรืองให้เหตุผล

การสวมใส่และการถอดชุด PPE ที่ต้องทำตามลำดับขั้นตอนทุกอย่างอย่างเคร่งครัดว่าอุปกรณ์ชิ้นใดนำออกก่อนหรือหลังนั้น นพ.รุ่งเรืองเน้นย้ำทิ้งท้ายว่า นั่นเป็นเพราะเพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์และการควบคุมการแพร่ติดต่อเชื้อโรค ซึ่งเป็นระบบที่ยึดปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2547 เป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว และไม่มีบุคลากรแพทย์ไทยได้รับการติดเชื้อจากโรคอุบัติใหม่ทั้งหลายที่เกิดขึ้น จึงขอให้ประชาชนมั่นใจในการทำงานของทีมแพทย์ไทย

ข่าวน่าสนใจ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่