ถึงเวลาเตรียมรับมือ "ไวรัสอุบัติใหม่" แห่งทศวรรษ ปี 2020 ที่ว่ากันว่า ความรุนแรงอาจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ‘ซาร์ส’ เมื่อปี 2545
ย้อนกลับไปครั้งนั้น ‘ซาร์ส’ (SARS) เริ่มต้นขึ้นในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศจีน และค่อยๆ แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 รายใน 37 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตเกือบ 800 รายทั่วโลก
และในครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน ‘2019-nCoV’ หรือ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ก็มาจากประเทศจีนเช่นกัน โดยมีจุดเริ่มต้นที่ตลาดขายอาหารทะเลแห่งหนึ่งภายในมณฑลอู่ฮั่น ซึ่งจากถ้อยแถลงสั้นๆ ของทางการจีน ณ ขณะนี้ พบว่า มีผู้ติดเชื้อ 41 รายทั่วประเทศ และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย
สถานการณ์ดูเหมือนจะควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้ แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 นอกประเทศจีนถึง 3 ราย คือ ประเทศไทย 2 ราย และประเทศญี่ปุ่น 1 ราย
...
โดยผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในประเทศไทยทั้ง 2 ราย ได้อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ภายใต้มาตรการการควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO)
ซึ่งจากตัวเลขการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั้ง 3 รายนั้น ศูนย์วิจัยลอนดอน (MRC Centre for Global Infectious Disease Analysis at Imperial College in London) มองว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยสำคัญ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจมีจำนวนมากกว่าที่ทางการจีนรายงาน
ทางศูนย์วิจัยลอนดอนจึงได้หยิบยกข้อมูลการจราจรทางอากาศระหว่างประเทศของสนามบินอู่ฮั่นมาคำนวณ เพื่อหาความเป็นไปได้ของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ภายในมณฑลอู่ฮั่น ณ วันที่ 12 มกราคม 2563 ว่าแท้จริงแล้วควรมีประมาณเท่าใดถึงสามารถแพร่กระจายไปยังนอกประเทศจีนได้ถึง 3 ราย
และผลลัพท์ที่ได้ก็น่าตกใจพอสมควร เพราะประมาณการตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในมณฑลอู่ฮั่นอาจมีมากถึง 1,723 ราย
สูงกว่าที่ทางการจีนรายงานถึง 42 เท่า!!
ทำให้สนามบินของนานาประเทศทั่วโลกต่างยกระดับมาตรการการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศจีนให้เข้มข้นขึ้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่กระจายสู่ประชากรในประเทศตนเอง
เพราะจนถึงตอนนี้ ทางการจีนก็ยังไม่มีการแถลงการณ์ถึงรายละเอียดที่แน่ชัดของ ‘ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019’ แต่อย่างใด
แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็ยอมรับว่า ข้อมูลของไวรัสชนิดนี้มีค่อนข้างน้อย
อีกทั้งยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะสามารถแพร่พันธุ์จากคนสู่คนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศหวาดวิตก
นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลชื่อดังของไทย มากว่า 17 ปี เปิดเผยข้อมูลกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อก่อโรคหวัดหรือปอดอักเสบอยู่แล้ว สาเหตุการเกิดไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังตอบไม่ได้ชี้ชัด แต่ข้อมูลจากทีมวิจัยจุฬาฯ ซึ่งติดตามเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ๆ และมีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่แล้ว ได้ถอดรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ไทย
...
นำไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกลางของจีนที่ถอดรหัสพันธุกรรมไว้ พบว่า เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ไทยถอดรหัสพันธุกรรมมีความใกล้เคียงกับที่จีน ซึ่งเป็นไวรัสโคโรน่าที่พบอยู่ใน ‘ค้างคาว’ แต่พาหะนำเชื้อเข้าสู่คนยังไม่สามารถยืนยันข้อมูล เนื่องจากฐานข้อมูลกลางของจีนไม่ได้ลงรายละเอียด
‘ไวรัสโคโรน่า’ ที่เคยระบาดในมนุษย์ มีทั้งหมด 6 สายพันธุ์ สำหรับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่กำลังระบาด เป็นสายพันธุ์ที่ 7 แม้ยังไม่พบพาหะนำเชื้อเข้าสู่คน แต่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 สามารถแพร่เชื้อติดต่อได้จากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การสัมผัสคนป่วย หรือ พื้นผิวที่คนป่วยสัมผัสไว้ ซึ่งอาจมีน้ำมูก น้ำลาย เสมหะปนเปื้อน และเกิดจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการหายใจ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายช่องทาง เช่น เยื่อบุทางเดินหายใจ ตา จมูก ปาก จากการ ไอ จาม หรือ ละอองฝอยที่ฟุ้งจากฝุ่น
• จำแนกไม่ได้ ลักษณะใดป่วยหนัก เฝ้าระวังอาการทางเดินหายใจ
...
สำหรับอาการหากป่วยด้วยไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ระบุว่า ไม่สามารถจำแนกหรือระบุได้แน่ชัด ว่า อาการลักษณะใดคือป่วยหนักหรือไม่หนัก เนื่องจากโดยธรรมชาติของการติดเชื้อไวรัส ความรุนแรงในการก่อโรคของแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่รับเชื้อตัวเดียวกัน นั่นเพราะปัจจัยทางพันธุกรรมและภูมิต้านทานของแต่ละคน ซึ่งคนที่ฉีดวัคซีนโอกาสป่วยหนักจะน้อยกว่า หรือคนที่เคยสัมผัสเชื้อมาก่อนก็จะมีภูมิต้านทานบางส่วนในการป้องกันโรคในครั้งถัดไป รวมถึงความอ่อนแอของร่างกายแต่ละคน บางคนอายุเยอะ มีโรคประจำตัวก็จะมีอาการหนัก
จากข้อมูลที่ผู้ป่วยติดเชื้อมารักษาในไทย พบอาการป่วยด้วย ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 น่าจะเกิดอาการทางเดินหายใจ ซึ่งมีลักษณะหลายกลุ่ม ตั้งแต่เป็นหวัดเพียงเล็กน้อยไปจนถึงการป่วยรุนแรงจนเสียชีวิต อาทิ อาการคล้ายไข้หวัด คือ น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ, กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไอ หรือเป็นกลุ่มอาการปอดอักเสบซึ่งมีทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง
...
"ข้อมูลในไทยยังมีความจำกัด ยังมีข้อมูลน่อยมาก เพราะทางจีนปล่อยข้อมูลน้อยมาก และไม่ได้ปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของอาการเจ็บป่วย จึงไม่ทราบแน่ชัดในสัดส่วนของคนป่วยว่าอาการลักษณะใดคือป่วยหนัก หรือไม่หนัก ซึ่งคุณสมบัติของการติดเชื้อไวรัสโดยธรรมชาติความรุนแรงในการก่อโรค ของแต่ละคนจะมีอาการไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถจำแนกอาการได้โดยตรง ต้องอาศัยการตรวจจากห้องปฏิบัติการ โรคติดต่อลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย จะไม่มีข้อมูลวิจัยในอดีตมาตอบได้ว่าระยะแพร่เชื้อนานเท่าไหร่ ตามธรรมชาติโรคที่อุบัติใหม่จะไม่มีวัคซีนป้องกัน" นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้ออธิบาย
ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่เพิ่งอุบัติใหม่ วิธีป้องกัน และลดความเสี่ยง เตือนสติตัวเองไม่ให้เอามือไปแคะจมูก แคะปากโดยไม่จำเป็น หากใครเพิ่งกลับจากมณฑลอู่ฮั่นแล้วมีอาการผิดปกติ ป่วยเกิน 14 วัน ควรไปตรวจโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพราะหากตรวจพบเร็วรักษาเร็ว มีโอกาสหาย
จากทั้งหมดทั้งมวล ช่วงเวลาที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดสำหรับ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ คงหนีไม่พ้นช่วงตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งคาดว่าจะมีประชากรจีนเดินทางท่องเที่ยวสู่เมืองใหญ่และต่างประเทศมากกว่า 1.4 พันล้านคน
และเราไม่มีทางรู้เลยว่า ในจำนวน 1.4 พันล้านคนนั้น จะมีผู้ติดเชื้อ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019' หรือไม่.
ข่าวน่าสนใจ
- LIFE STORY : ดูถูกหยามเหยียด สุดท้ายหนีไม่พ้นมือ "สัปเหร่อ" (คลิป)
- อายุ 12 รายได้พิเศษเดือน 2 หมื่น จากแจกสู่อาชีพทำเงิน พ่อเผยวิธีเลี้ยงลูก
- เผยโฉม "ผู้ร้ายตัวจริง" ที่ซุกซ่อนใน PM 2.5 หลบในบ้านก็หนีไม่พ้น
- รักแท้ของแม่ หยุดรักษามะเร็งชนิด 1 ในล้าน ยอมตายให้ลูกเกิด (คลิป)
- 3 นาทีคดีดัง : วินาศกลางเวหา เลาด้าแอร์ (คลิป)
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ