สุดยอดคุณพ่อ คอยส่งเสริม “ความชอบ” ของลูกที่เริ่มจากการทำแจก กลายเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เดือนละ 2 หมื่น แนะวิธีเลี้ยงลูกและการบริหารเวลา บ้านไหนมีลูกติดมือถือควรทำตาม
จากงานอดิเรกที่ลูกชาช่า หรือเด็กหญิงณัชชา กอสิงหวัฒนา ชอบทำ “คุกกี้” เพราะแม่มักชวนกันเข้าครัวอบคุกกี้ เค้กไข่ไต้หวัน บราวนี่ เค้กกล้วยหอมเป็นประจำ ไปแจกเด็กๆ ตามมูลนิธิ สถานสงเคราะห์ เพื่อน ครู เพื่อนบ้าน เพื่อนที่ทำงานของพ่อ แม่ ทุกๆ 3 วัน อยู่ครึ่งปีแต่ด้วยรสชาติอร่อยถูกปาก จึงเกิดการบอกต่อปากต่อปาก อีกทั้งแรงยุของคนรอบข้างให้ทำขาย และเริ่มมีออเดอร์ไม่มากจากพ่อ แม่ของเพื่อน เพื่อนๆ ของพ่อและแม่ เด็กหญิงณัชชาจึงเริ่มทำคุกกี้ขายในเดือน ก.ย. 62 ตามกำลังที่ทำไหว ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ชาช่าสายดาร์ก” นำไปสู่การสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ เดือนหลักพัน
ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งเดือน ณ วันที่ 27 ต.ค. 62 “คุกกี้ข้าวโอ้ต” มียอดออเดอร์ทั้งสิ้น 2,500 ชิ้น และมีออเดอร์เพิ่มมากขึ้นจากแม่เพื่อนที่โรงเรียนสั่งคุกกี้ไปแจกพนักงานที่ออฟฟิศ เพื่อนของพ่อสั่งคุกกี้แจกลูกทัวร์ขณะเดินทางเที่ยวต่างประเทศ และออเดอร์จากโลกออนไลน์ ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นๆ จนปัจจุบันสร้างรายได้เดือนประมาณ 2 หมื่น ขายคุกกี้ไปเกือบ 2,000 ห่อ
...
เปลี่ยนความชอบ เป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้เดือน 2 หมื่น
เบื้องหลังความสำเร็จที่ได้มาโดยไม่คาดหวังของชาช่านอกจากแม่แล้ว คือ นายองอาจ กอสิงหวัฒนา ผู้เป็นพ่อ ซึ่งคอยสนับสนุน และบันทึกคลิปวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวการทำขนมของลูก เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในฐานะพ่อรู้สึกดีใจที่งานอดิเรกของลูกที่ชอบทำ สร้างรายได้ให้ลูก มีเงินเก็บเพื่อซื้อสิ่งที่อยากได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเขา ซึ่งยอดตัวเงินที่ได้ไม่ว่าจะน้อยหรือมากไม่สำคัญ แต่ถือว่า “คุ้มค่า” เพราะทำให้ลูกมีความรับผิดชอบ และรู้ว่ากว่าจะได้เงินมาต้องเหนื่อยแค่ไหน
“ดีใจที่งานอดิเรกของลูกสร้างรายได้ให้ลูก คนเป็นพ่อก็ได้แค่สนับสนุนในสิ่งที่ลูกชอบ บางทีก็ดูรู้ว่าลูกเหนื่อย แต่ผมก็ดูออกว่าลูกมีความสุข และสนุกที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เพราะมีคนอยากกินคุกกี้ของลูก บางทีก็สงสารลูก เสาร์อาทิตย์ไม่ได้ไปเที่ยวเหมือนเด็กคนอื่น แต่ที่ได้คุยกัน ลูกก็ไม่ได้รู้สึกน้อยใจ ผมบอกลูกบ่อยๆ ว่ามีคนที่เขาเหนื่อยกว่าเราเยอะ ลูกลำบากวันนี้อาจจะไม่ได้สบายในวันหน้า แต่ลูกจะมีภูมิต้านทานความลำบาก ผมเชื่อแบบนั้น” ผู้เป็นพ่อเล่าความรู้สึก
พร้อมย้อนเล่าความหลังยืนยันว่าลูกสนุกและมีความสุขที่ได้ทำ ครั้งหนึ่งนายองอาจพาลูกไปส่งคุกกี้ข้าวโอ๊ตให้ลูกค้า และถามลูกว่า "เหนื่อยใช่ป่ะล่ะ นี่แหละ ชีวิตจริงๆ ของคนที่ต้องทำมาหากินนะลูก" พอลูกตอบกลับว่า "ก็เหนื่อยอ่ะป๊า แต่ก็สนุกดีนะแถมได้เงินด้วย" นายองอาจจึงสอนลูกว่า "หนูรู้ป่ะ ความจริง หนูยังเด็กเกินไปที่จะต้องมาเหนื่อยทำคุกกี้ขายแบบนี้ แต่ก็มีเด็กอีกหลายคน ที่เขาเหนื่อยกว่าเราเยอะมาก การที่หนูทำคุกกี้ขาย สิ่งที่หนูได้คือ การได้เรียนรู้ชีวิตก่อนคนอื่น ถึงจะเหนื่อย แต่หนูได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้วได้เงิน บางคนเขาต้องยอมทำในสิ่งที่เขาไม่ชอบเพื่อแลกกับเงิน"
เด็กควรมี “งานอดิเรก” หนทางช่วยลูกห่างจอมือถือ ลองชวนเข้าครัว
จากงานอดิเรกที่สร้างรายได้ เมื่อมีออเดอร์ขนมมากขึ้น นายองอาจก็ไม่รีรอที่จะสนับสนุน “ความสุข” ของลูกด้วยการซื้อเตาอบให้เป็นเงิน 25,000 บาท ทั้งๆ ที่ตั้งใจไว้ว่าจะนำเงินก้อนนี้ซื้อมอเตอร์ไซค์มือสองไว้ขี่เล่นแถวบ้าน ถึงจะมีคำถามจากเพื่อนว่า “คุ้มหรือไม่คุ้มที่ซื้อเตาอบใหม่ให้ลูกอบคุกกี้ขาย" แต่นายองอาจก็ไม่รู้สึกเสียดายเงิน เพราะสิ่งที่ทำให้ลูก คุ้มค่ากว่าราคาเตาอบ เพราะลูกได้ทำในสิ่งที่ชอบ มีคนชอบคุกกี้ของลูก และสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด คือ ลูกได้เรียนรู้ชีวิต เรียนรู้ความลำบาก มีวินัย ห่างไกลจอมือถือมากขึ้นมาอยู่หน้าเตา
...
“ORDER มากแค่ไหน ลูกก็ไม่บ่น ลูกบอกผมว่า "หนูดีใจที่มีคนรอกินคุกกี้ของหนู" เขาจะดีใจมากที่มี order ทุกวัน เลิกเรียน กลับมาทำขนมส่ง ปกติลูกไม่ค่อยติดมือถือ ตอนนี้ยิ่งไม่ค่อยมีเวลาเล่นมือถือ เอาไว้เปิดเพลงฟังตอนทำขนมไปแค่นั้น จนแทบไม่มีเวลาเล่นมือถือเลย อันนี้เป็นผลพลอยได้ ลูกใครติดมือถือ ลองชวนเข้าครัวดู เด็กๆ มักชอบทำขนม ลองหาอะไรทำไปพร้อมๆ กัน แล้วเด็กจะห่างมือถือไปเอง”
คุกกี้กล่องแรก แฝง"ความฮา" และ "ความภาคภูมิใจ"
การที่ลูกเป็นแม่ค้าแต่เด็ก นายองอาจเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ช่วยสร้างวินัยให้ลูกโดยอัตโนมัติ เมื่อนายองอาจได้รับอินบ็อกซ์ออเดอร์ก็จะลิสต์ให้ลูกกับภรรยา แล้วทั้งสองก็จะช่วยกันทำหลังเลิกเรียน วันเสาร์ และเย็นวันอาทิตย์ ลูกจะเตรียม ทำ อบ แพ็ก ส่ง แจ้งเลขส่งให้ลูกค้า รวมถึงไปส่งให้ถึงบ้าน ในลูกค้าที่อยู่ละแวกบ้าน แต่ถ้าช่วงที่ตัองสอบ นายองอาจก็จะหยุดรับออเดอร์
...
การทำขนมขาย นายองอาจยอมรับว่าทำให้เขาและภรรยา ได้เรียนรู้อะไรมากมายไปพร้อมกับลูก โดยเฉพาะการส่งคุกกี้กล่องแรกที่ไปรษณีย์ไปให้ลูกค้า ซึ่งนายองอาจคอยเป็นผู้สนับสนุนลูกทุกอย่าง พาไปซื้อกล่อง ให้ลูกแพ็กเอง เขียนเอง หัดส่งเองเมื่อเวลาบ่ายสามโมง
คุกกี้กล่องแรกที่ส่งให้ลูกค้า สร้างความภูมิใจให้ลูกและนายองอาจอย่างมาก เมื่อส่งเสร็จทั้งสองได้แต่ภาวนาให้ไปรษณีย์อย่าโยนกล่อง เพราะกลัวคุกกี้แตก เนื่องจากไม่ได้ใส่กันกระแทก แต่ผลสุดท้ายก็ได้รู้ว่าคุกกี้ไม่แตก แถมสภาพกล่องไม่บุบเสียหาย แถมไปรษณีย์ไทยส่งไว ของถึงมือลูกค้าในวันรุ่งขึ้นเวลา 11.00 น. แต่ต้องทำให้ครอบครัว “กอสิงหวัฒนา” ฮาทั้งบ้านจนท้องแข็ง เพราะคุกกี้ถูกส่งมาที่บ้าน เนื่องจากลูกเขียนสลับระหว่างช่องผู้รับกับผู้ส่ง
“ลูกได้สูตรทำขนมจากการดูยูทูบบ้าง ตามหนังสือสูตรขนม แต่โดยมาลูกจะดูสูตรจากออนไลน์ เขาชอบทำขนม ตั้งแต่ 5-6 ขวบ เมื่อก่อนให้เงินลูกจะสอนว่า "ใช้ประหยัดๆ นะลูก" ตอนนี้ลูกหาเงินเอง ทำเอง แพ็กเอง ส่งเอง กลายเป็นว่าผม ไม่ต้องบอกให้ใช้ประหยัด เพราะลูกรู้แล้วว่า เหนื่อยขนาดไหนกว่าจะหาเงินได้ เรื่องเงินที่ขายขนมได้ ผมไม่เคยไปยุ่งเลย ให้แม่ลูกเขาไปจัดการเอง”
...
แบ่งปันได้ ไม่ต้องรอรวย ทำขายได้ ต้องทำแจกได้
การทำขนม ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว โดยเฉพาะเวลาที่อยู่ในครัวกับลูก ไม่ว่าจะเวลาทำกับข้าวหรือเวลาทำคุกกี้ มันเป็นเวลาที่นายองอาจได้สอน ได้คุย ได้เล่าอะไรให้ลูกฟัง และได้ฟังอะไรที่ลูกเล่า และสิ่งหนึ่งที่นายองอาจมักสอนลูกเสมอๆ ว่า การทำบุญ ให้ทาน บริจาคเงิน ทรัพย์ และสิ่งของตามสมควรเป็นสิ่งดีและถือเป็นการทำความดีอย่างนึง แต่ไม่สอนลูกทำบุญหรือให้ทานเพื่อหวังผลตอบแทน
ไม่จำเป็นต้องมีมากมายแล้วค่อยแบ่งปัน ซึ่งลูกก็เชื่อฟัง และทำคุกกี้แจก แบ่งเงินที่ได้จากการขายคุกกี้มาซื้อของบริจาคมูลนิธิเด็ก และแบ่งเงินที่ได้จากการทำคุกกี้ขาย มาบริจาคที่โรงเจกับอาม่า เพื่อเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าอาหารที่ทำในโรงครัวด้วย
“ผมพยายามสอนลูกให้รู้จักการแบ่งปัน ด้วยการทำให้ลูกเห็นว่าถึงเรามีไม่มาก แต่เราก็แบ่งปันได้ ทุกวันนี้ ผมดีใจที่ลูกรู้จัก นึกถึงคนอื่นเสมอ ถ้ามีเยอะกว่านี้ เราจะแบ่งปันเยอะกว่านี้ พ่อแม่อย่าสอนอย่างเดียว ต้องทำให้ลูกเห็น อย่าบังคับเกินไป แต่ต้องบังคับในสิ่งที่ถูกต้อง ลูกชาช่าชอบทำขนม ทำอาหารก็เพราะผม ภรรยา พาเข้าครัวประจำ ทำและสอนเขา การสอนลูก อย่าบอกว่า ไม่มีเวลา มันสอนกันได้ทุกเวลา ขอเพียงให้เวลา กับเข้าใจ ครอบครัวเราไม่มีเวลาส่วนตัว ทุกเวลาเป็นเวลาส่วนรวม เราไปไหนไปด้วยกันหมด
ในฐานะพ่อ ยอมรับว่าภูมิใจ ที่ได้เห็นความรับผิดชอบ ความคิดที่โตขึ้นทุกวันของลูก ด้วยวัยก็จะมีงอแงเวลามีการบ้านเยอะ เพื่อนชวนแล้วอยากไป แต่ติดรับออเดอร์ ผมก็จะแบ่งเวลาให้ลูก ชะลอออเดอร์ เมื่อลูกสอบ ผมจะบอกว่า ต้องรบกวนรอนิดนึง เพราะทำไม่ทันจริงๆ" นายองอาจกล่าว
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ