เพราะเคยเป็นเด็กพิเศษจึงเข้าใจความรู้สึกและความต้องการ “ครูพายุ” ยึดมั่นอุดมการณ์ ทุ่มชีวิตและจิตใจเพื่อเด็กด้อยโอกาส เด็กหูหนวก เด็กตาบอด และเด็กออทิสติก ที่ถูกมองข้าม สอนว่ายน้ำเพื่อให้มีชีวิตรอดหากจมน้ำ
“การว่ายน้ำทำให้ชีวิตผมได้กลับมาเป็นคนปกติ 13 ปีที่ทำมา ไม่เคยมีสักวินาทีที่ผมคิดทรยศกับอุดมการณ์ ไม่มีแนวโน้ม หรือสัญญาณใดๆ ว่าจะหมดรัก มีแต่รักเพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกนาที” นั่นคืออุดมการณ์ของ นายณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม หรือ ครูพายุ ที่ยึดปฏิบัติมาตลอด 13 ปี หลังจากได้ก้าวมาเป็น “ครูสอนว่ายน้ำ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ทั้งๆ ที่มีความฝันอยากเป็นสจ๊วต ไม่ได้อยากเป็นครูสอนว่ายน้ำ
ด้วยเคยเป็นเด็กสมาธิสั้น และการเรียนว่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ชีวิต “ครูพายุ” ดีขึ้นและกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งข้อมูลตัวเลขของไทยเมื่อปี 2547 มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 1,500 คนต่อปี ซึ่งขณะนั้นครูพายุไม่รู้ว่าตัวเลขเพิ่มขึ้นหรือลดลง ประกอบกับมีข้อมูลว่ามีเด็กอีกประมาณ 11 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นแค่ 2 ล้าน แต่อีก 9 ล้านคนว่ายน้ำไม่เป็น ครูพายุจึงตระหนักถึงความสำคัญของการว่ายน้ำ และมีเป้าหมายอยากให้เด็กทุกคนเอาตัวรอดจากการจมน้ำได้ ในปี พ.ศ. 2549 ครูพายุจึงเริ่มหันมาทุ่มเทเป็นครูสอนว่ายน้ำให้กับเด็กทั่วไป
...
“การว่ายน้ำเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่เด็กควรจะเรียน แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียน ต้องว่ายน้ำเป็น สิ่งที่ผมทำ ไม่รู้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดสถิติเด็กจมน้ำไหม แต่ผมรู้ว่าเด็กที่หลุดจากมือที่ผมและทีมสอนว่ายน้ำไป อย่างน้อยพวกเขาก็ปลอดภัยจากการจมน้ำ” ครูพายุ เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงเจตานารมณ์ในหน้าที่ครูสอนว่ายน้ำ
พลังคิดบวก อานิสงส์บุญ ศรัทธาตัวเอง เพื่อเด็กพิเศษรอดการจมน้ำ
“ครูพายุ” ไม่เพียงแต่มีความห่วงใยในเด็กปกติทั่วไปเท่านั้น ยังมีจิตเมตตาอันเป็นกุศลต่อเด็กพิเศษที่มักถูกมองข้าม หรือสังคมนึกถึงเป็นลำดับสุดท้าย โดยจัดทำโครงการสอนว่ายน้ำสำหรับ “เด็กหูหนวก” ขึ้นในปี พ.ศ. 2552 ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของ “คนหูหนวก” ที่ต้องว่ายน้ำเป็น เพื่อช่วยเหลือตัวเองได้หากจมน้ำ เพราะเด็กปกติที่ว่ายน้ำไม่เป็น หากจมน้ำสามารถร้องตะโกนให้คนช่วยได้ แต่สำหรับ “เด็กหูหนวก” ว่ายน้ำไม่เป็น พูดไม่ได้ หากจมน้ำ เสียชีวิตแน่นอน
ครูพายุอุทิศตัว ทุ่มเทสอนว่ายน้ำให้กับเด็กหูหนวกเพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้ในยามคับขัน โดยไปเรียนการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด (Swimming Survivor) ที่ประเทศออสเตรเลีย และเรียนภาษามือเพิ่มเติม ทั้งที่ไม่มีทุนทรัพย์ สระว่ายน้ำที่ลงทุนไปหลายแสนจากเงินที่ยืมคนอื่นอยู่ในภาวะขาดทุนและกำลังใกล้ปิดกิจการ ซึ่งขณะนั้นไม่ควรทำโครงการการกุศลด้วยซ้ำ แต่ครูพายุก็ตัดสินใจทำจนสำเร็จ ด้วยพลังแห่งการคิดบวก อานิสงส์แห่งบุญ และความศรัทธาในตัวเอง
“ผมเชื่ออานิสงค์แห่งการมองโลกในแง่บวก จริงๆ คนเรามีปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่จะมองปัญหานั้นอย่างไร นอกจากการมองบวกแล้ว สิ่งที่ผมมีตลอดเวลาคือ การศรัทธาในตัวเอง ผมไม่เคยหมดหวังในตัวเอง ทุกครั้งที่จะทำอะไร จะใช้ความเชื่อนำเหตุผล เพราะหากไม่เชื่อแล้ว เราคงแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มใครจะหมดศรัทธาในตัวเราไม่เป็นไร แต่คนที่ยืนอยู่หน้ากระจก ต้องไม่หมดศรัทธาตัวเอง”
เปิด "เทคนิค" สอนเด็กหูหนวก ตาบอด ออทิสติก ว่ายน้ำเป็น
นอกจากครูพายุจะสอนว่ายน้ำให้เด็กพิการทางการได้ยินแล้ว ต่อมาได้ขยายสู่โครงการสอนว่ายน้ำในเด็กตาบอด และเด็กบกพร่องทางสติปัญญา หรือ เด็กออทิสติก ด้วย ซึ่งการสอนเด็กแต่ละประเภทต้องใช้ความอดทนและศึกษาธรรมชาติของเด็กเหล่านั้น โดยเด็กที่หูหนวก ตาบอด จะมีสมองและการรับรู้จะปกติ
...
เทคนิคการสอนว่ายน้ำ เด็กหูหนวกจะใช้ภาษามือ เด็กตาบอดจะใช้เทคนิคจับ คลำ สอน 13 ขั้นตอนจนว่ายน้ำเป็นท่า สำหรับเด็กออทิศติก จะมีปัญหาด้านการรับรู้ จะสอนและสื่อสารทางไหนก็ยาก เทคนิคที่ใช้คือ นันทนาการ การว่ายน้ำเป็นจะไม่เป็นไปตามคาด ซึ่งดูตามความเหมาะสมและทักษะของเด็กแต่ละคน ซึ่งครูพายุทุ่มเทถึงขั้นไปเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับเด็กพิเศษ
“การสอนเด็กว่ายน้ำให้ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกและท่องไว้เสมอ คือต้องมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม ใดๆ หากทำแล้วมีความสุขก็จะเกิดการเต็มใจทำ ให้ความร่วมมือ และพร้อมเรียนรู้ เมื่อไหร่ปราศจากความสุข เด็กจะรู้สึกว่าโดนบังคับ ต้องทำทุกอย่างให้เด็กมีความสุข เพราะหลังจากมีความสุข เราจะใส่เนื้อหาอะไรลงไปก็แสนง่ายดาย เพราะแท้จริงแล้ว งานของเด็ก คือ “การเล่น”แต่จะเล่นอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ นั้นคือการบ้านของครู”
...
วุ่นวาย บ้านหลังใหญ่ขึ้น วุ่นวายขึ้น แต่เกิดประโยชน์แก่มวลชนมากขึ้น
ตลอดเกือบ 10 ปี ที่ครูพายุได้มอบโอกาส ช่วยต่อชีวิตให้กับเด็กพิการและเด็กพิเศษด้วยหัวใจของคนเป็น “ครู” ทำให้โครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กพิการ เด็กพิเศษ ขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต ต่อมาด้วยความมุ่งมั่นนำความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่มีมาช่วยเหลือสังคม ครูพายุจึงได้จัดทำโครงการเพื่อการกุศล “สระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส” เป็นการยกสระว่ายน้ำผ้าใบขนาดใหญ่ไปให้เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงการว่ายน้ำได้ง่าย
เมื่อถามถึงความภูมิใจ ครูพายุ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า 13 ปีที่มุ่งมั่นสอนว่ายน้ำให้กับเด็กทุกประเภท สิ่งที่ภูมิใจ ไม่ใช่จำนวน 9 สาขาของโรงเรียนสอนว่ายน้ำในจังหวัดเชียงใหม่ และจำนวนครูสอนว่ายน้ำทั้งสิ้น 36 คน แต่สิ่งที่ภูมิใจ คือ ได้สร้างคุณค่าทางสังคม (Social Impact) ให้คน จ.เชียงใหม่ สอนเด็กว่ายน้ำเป็นแล้วประมาณ 11,000 คน และในจำนวนนี้มีเด็กพิการและเด็กด้อยโอกาส ว่ายน้ำเป็นพันกว่าคน
...
“ทุกสิ้นปี เวลานั่งสรุปตัวเลขเด็กว่ายน้ำเป็น ผมรู้เลยว่าเด็กเหล่านั้นจะปลอดภัยและไม่จมน้ำ นั่นคือผลลัพธ์ที่ผมภูมิใจ จึงไม่มีแม้แต่วินาทีเดียว ที่คิดออกจากการเป็นครูสอนว่ายน้ำ และสิ่งที่ผมภูมิใจอีกอย่างคือ ผมมีโอกาสได้ถ่ายทอดประสบการณ์และวิชาครูสอนว่ายน้ำให้รุ่นน้องหลายรุ่น บ้านครูพายุสอนว่ายน้ำหลังใหญ่ขึ้น วุ่นวายขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็เกิดประโยชน์แก่มวลชนมากขึ้น”
"ว่ายน้ำ" ช่วยระบายแรงขับ เสริมสร้างการเจริญเติบโตของเด็ก
การว่ายน้ำเป็น นอกจากจะเป็นอาวุธป้องกันไม่ให้เด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำแล้ว ครูพายุให้ข้อมูลเพิ่มว่า การว่ายน้ำยังเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่ช่วยลดแรงขับอันมหาศาลในเด็กได้อย่างดี เนื่องจากในน้ำมีแรงหนืดมหาศาล ต้องใช้พลังงานมากกว่ากิจกรรมบนบก 3-4 เท่า จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือแปลกที่หลังจากว่ายน้ำแล้ว ลูกหมดแรง สลบไสลหลับลึกนานกว่าปกติ และช่วงนี้เองร่างกายจะหลั่งโกรท ฮอร์โมน (Growth hormone) ออกมา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็กด้วย
จากความตั้งใจทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม โดยเฉพาะเด็กพิการมากว่า 13 ปี ครูพายุมีโอกาสได้รับรางวัลอันทรงเกียรติมากมาย อาทิ สุดยอดบุคคลทำดี 2553, 10 บุคคลตัวจริง บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต, ศิษย์เก่าดีเด่น คณะการสื่อสารมวลชน มช. และรางวัลอันทรงเกียรติ 'บุคคลดีเด่นที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่คนพิการ' จาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งรางวัลที่ได้รับ เป็นสิ่งตอกย้ำเจตนารมณ์ของครูพายุให้สร้างโอกาสสำหรับเด็กพิการ เด็กพิเศษ และเด็กด้อยโอกาสต่อไป
เนื่องด้วยวันนี้เป็น “วันครูแห่งชาติ” อาชีพที่ยิ่งใหญ่ ไม่เบียดเบียนคนอื่น ได้บุญกุศล เพราะได้สร้างคน ในฐานะครูสอนว่ายน้ำเด็กพิเศษมา 13 ปี “ครูพายุ” เข้าใจความรู้สึกของ "ครูการศึกษาพิเศษ" เป็นอย่างดี ว่าต้องทุ่มเทพลังกาย พลังใจมากแค่ไหน และหัวใจสำคัญของการเป็น “ครูสอนเด็กพิเศษ” คือ ต้องทำด้วยความรัก” ขออย่าท้อแท้ หากไม่สอนพวกเขา คนโชคดีคือครูที่สบาย แต่คนโชคร้ายคือเด็ก
“การว่ายน้ำเป็นกีฬาที่สำคัญ และจำเป็น บางคนอาจมองว่าผมสอนแค่เด็กเพียงคนเดียว แต่ผมว่าเรากำลังสร้างคนว่ายน้ำเป็น 1 คน ที่ไม่รู้ว่าในอนาคตเขาอาจจจะสามารถไปช่วยคนอื่นให้รอดจากการจมน้ำได้ เด็กพิเศษ หรือเด็กพิการก็เหมือนไข่ คนที่กะเทาะเปลือกให้เขาคนแรกคือครู ซึ่งเป็นคนที่เด็กศรัทธาที่สุด ดังนั้นครูที่สอนเด็กพิเศษ จะทำด้วยความชอบไม่ได้ ต้องทำด้วยความรัก” ครูพายุอดีตนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทย (อายุ 14-18 ปี) และครูสอนว่ายน้ำพิเศษกล่าวทิ้งท้าย
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ