PM 2.5 ปัญหาใหญ่ที่คนไทยต้องเผชิญ หนีไม่พ้น เรื้อรังมานาน โดยที่เราไม่เคยรู้ตัว
คำว่า ‘PM’ ที่เรียกๆ กันนั้น เป็นค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่วน ‘2.5’ คือ หน่วยนับฝุ่นละอองที่มีขนาด 2.5 ไมครอน ขนาดของมันเล็กมากจนมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือหากเทียบให้เห็นภาพก็เล็กมากเป็น 1 ใน 5 ของเส้นผมของมนุษย์ ฉะนั้น ด้วยความเล็กของ PM 2.5 จึงทำให้มันสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่การหายใจ
หลายมาตรการภาครัฐที่งัดขึ้นมาใช้ หวังปราบวายร้าย PM 2.5 แต่ก็ปราบไม่หมดสักที ไม่ว่าจะเป็น การฉีดน้ำขึ้นฟ้าที่หวังให้ ‘ฝุ่น’ ร่วงสลายลงสู่พื้น ที่แม้ว่าจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง ช่วงหนึ่ง แต่ก็ไม่สามารถกำจัดฝุ่นตัวร้ายนี้ไปได้
...
แล้วเราจะต้องทนอยู่กับสภาพขมุกขมัวของฝุ่นพิษ PM 2.5 ตลอดไปหรือ?
นอกจาก ‘เครื่องฟอกอากาศ’ ที่ต้องหาติดบ้าน เราจะกรองอากาศดีๆ ไว้สูดภายในบ้านได้อย่างไร?
หลายคนอาจรู้หรืออาจไม่รู้ และคาดไม่ถึงว่า ‘ต้นไม้’ ในกระถางเล็กๆ ก็สามารถช่วยกรองอากาศ ดูดซับฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้เช่นกัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาทุกท่านไปสำรวจข้างรั้วริมระเบียง เรียนรู้สรรพคุณ ‘ต้นไม้กรองอากาศ’ ที่ช่วยดูดซับ "สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า PM 2.5"
เริ่มกันที่
1.ไทรใบสัก ลำต้นสูงตรงและโอบล้อมด้วยใบขนาดใหญ่ทรงหยักพลิ้วสีเขียวสวยงาม อยู่ในที่แดดรำไรช่วยดูดซับสารพิษและฟอกอากาศให้สดชื่นได้
2.ลิ้นมังกร ไม่ต้องการแสงแดดหรือน้ำมากนัก เหมาะกับการปลูกในบ้าน ลักษณะพิเศษของพรรณไม้นี้จะคายออกซิเจนในตอนกลางคืน ซึ่งแตกต่างจากต้นไม้ชนิดอื่น ทำให้อากาศดี สดชื่น สามารถนำไปวางไว้ในห้องนอนได้
3.กล้วยไม้หวาย สามารถดูดไอระเหยจากสารเคมีจำพวกแอลกอฮอล์ ฟอร์มาลดีไฮด์ และคลอโรฟอร์มจากอากาศได้ดีเป็นพิเศษ
4.สับปะรดสี เป็นไม้ประดับสีสวยที่มีใบเป็นกลีบแข็งแผ่ออก โตช้า ดูแลง่าย และทนแล้งได้ดี แม้ว่าจะดูดสารพิษได้ไม่มาก แต่คายออกซิเจนดี เหมาะสำหรับปลูกไว้ในห้องนอน
...
5.พลูด่าง ไม้เลื้อยที่มีลำต้นอ่อนและเติบโตได้ง่ายในเขตร้อน เป็นอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยลดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ได้มากถึง 75% เมื่อเวลาผ่านไป 24 ชั่วโมง
6.เศรษฐีไซ่ง่อน ไม้ล้มลุกใบเรียวยาว ดอกสีม่วง จะปลูกใส่กระถางหรือแขวนริมหน้าต่างก็ได้ ช่วยดูดสารพิษจำพวกแอมโมเนียได้เป็นอย่างดี
7.กวักมรกต ต้นไม้ชื่อมงคลที่เชื่อกันว่า ใครปลูกแล้วจะมีเงินทองไหลมาเทมา และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในต้นไม้ฟอกอากาศได้ดี ด้วยเป็นไม้ก้านอวบน้ำ ใบเรียงตามยาวของก้าน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ที่สำคัญไม่ต้องรดน้ำบ่อย ดูแลง่าย
8.เงินไหลมา ไม้เลื้อยเถายาว ช่วยดูดซับสารพิษภายในบ้านได้เป็นอย่างดี เพราะต้องการน้ำมาก และคายความชื้นสูง จึงช่วยสร้างความสดชื่นให้กับอากาศบริเวณรอบ
9.เฟิร์น หลายชนิดช่วยดูดซับสารพิษอย่างฟอร์มาลดีไฮด์ หรือเฟิร์นขนาดใหญ่อย่าง ‘เฟิร์นดาบออสเตรเลีย’ นั้น นอกจะสามารถดูดซับฟอร์มาลดีไฮด์แล้ว ยังช่วยดูดสารพิษพวกไซลีนและโทลูอีนอีกด้วย
...
10.ว่านหางจระเข้ สมุนไพรที่มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากจะช่วยบำรุงผิวแล้วยังสามารถดูดสารพิษจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีนที่พบในสารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ ยาทาเล็บ และสีทาบ้าน
11.เดหลี ไม้ประดับที่มีดอกสีขาวคล้ายดอกหน้าวัว จะคายความชื้นสูง ช่วยดูดซับกลิ่นกาว อาซีโตนที่อยู่ในเครื่องสำอาง น้ำยาทาเล็บ น้ำยาลบคำผิด สารไตรคลอโรเอทิลีนที่อยู่ในเครื่องพิมพ์ รวมทั้งเบนซินและฟอร์มาลดีไฮด์ ถือเป็นไม้ที่ช่วยฟอกอากาศได้เป็นอย่างดี
12.วาสนาราชินี ไม้ประดับลำต้นกลมตรง ลักษณะใบเรียวยาว ที่สามารถดูดสารพิษภายในอาคารอย่างสารจำพวกฟอร์มาลดีไฮด์และไตรคลอโรเอทิลีนได้เป็นอย่างดี
เห็นสรรพคุณ "12 ต้นไม้กรองอากาศ" เรียบร้อย ทีนี้คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์คงต้องรีบสำรวจข้างรั้วริมระเบียงกันแล้วว่ามีติดบ้านอยู่หรือไม่ หากไม่มีคงต้องรีบไปหาซื้อมาติดบ้านกันสักต้นสองต้น
นี่เป็นเพียงวิธีการเล็กๆ เท่านั้นในการช่วยกรองอากาศบริสุทธิ์ให้กับปอดของเรา ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ขยายสเกลให้ใหญ่ขึ้นมาสักเล็กน้อยที่ต้องใช้ความร่วมแรงร่วมใจในการสร้างมันขึ้นมา ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เป็นทางรอดในระยะยาว
...
นั่นคือ Garden City หรือ ‘พื้นที่สีเขียว’
จากข้อมูลของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า หากมีพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมกับจำนวนประชากร (WHO กำหนดว่า เมืองใหญ่ควรมีอัตราพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตร.ม.ต่อคน แต่พื้นที่ กทม. อยู่ที่ 6.70 ตร.ม.ต่อคน) จะช่วยลดปริมาณฝุ่นละออง หรือ PM 2.5 ได้เฉลี่ย 7-24% โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปลูกเป็นป่านิเวศบริเวณถนนสาธารณะ จะช่วยป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นได้มากทีเดียว
ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ มีโอกาสได้สนทนากับ นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ถึงความเป็นไปและอนาคตของ Garden City หรือ ‘พื้นที่สีเขียว’ ในเมืองใหญ่ที่แสนจะแออัดอย่างกรุงเทพมหานครแห่งนี้
"ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มจากเดิมอย่างมาก เทียบกับอดีตที่มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยอยู่ที่ 6.70 ตารางเมตรต่อคน เป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 6.90 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งพื้นที่สีเขียวที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ คือ สวนลุมพินี, สวนจตุจักร, สวนวชิรเบญจทัศ หรือที่นิยมเรียกว่า ‘สวนรถไฟ’ เพราะมีพื้นที่มากถึง 1,000 กว่าไร่"
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากการสนทนากับ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. นั้นคือ แม้จะมีการขยายพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นเพื่อรองรับกับจำนวนประชากร แต่กลับพบว่า พื้นที่สีเขียวเดิมได้หายไปจากกรุงเทพฯ บางส่วน
"หากเป็นสวนขนาดใหญ่ไม่ค่อยลดหาย เพราะเป็นพื้นที่หรือสวนที่มีความยั่งยืน สามารถใช้เป็นพื้นที่ในระยะยาวได้ ยกเว้น สวนหย่อมในภาคเอกชน หรือเป็นพื้นที่ที่ว่างเปล่า ในเรื่องเหตุผลที่พื้นที่หายไปนั้น อาจสืบเนื่องมาจากการที่ประชาชนได้นำพื้นที่ไปใช้สอยประโยชน์ทางด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้พื้นที่สีเขียวสูญหายไปบ้าง"
ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดที่สุดในเรื่อง Garden City คงหนีไม่พ้น ‘สิงคโปร์’ ที่มีการออกกฎหมายและนโยบายรักษาต้นไม้ โดยไม่อนุญาตให้โค่นต้นไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป เพราะเป็นต้นไม้อนุรักษ์ แม้จะปลูกอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวก็ตาม หากจำเป็นต้องตัดต้นไม้ ต้องทำการปลูกต้นไม้ทดแทนเสมอ (อัตราส่วนต้องมากกว่าที่เสียไป) หากไม่สามารถปลูกทดแทนได้ ก็ไม่สามารถกระทำธุรกิจได้
นอกจากนี้ ‘สิงคโปร์’ ยังใส่ใจในเรื่องการออกแบบอาคาร ความเหมาะสมของต้นไม้ ไปจนถึงความเหมาะสมของสภาพดิน มีการทำประวัติบันทึกข้อมูลต้นไม้ในเมืองทุกต้น
แม้แต่ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ยังยืนยันว่า สิงคโปร์เข้มข้นและเข้มงวดมาก
"สิงคโปร์แตกต่างจากบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย ความรับผิดชอบ หรือนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการดูแล มีนโยบายชัดเจนในการดูแลรักษาต้นไม้ ฉะนั้น จึงมีกฎหมายและระเบียบที่ชัดเจน มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือในเรื่องการดูแลต้นไม้หรือพื้นที่สีเขียว ในด้านประเทศของเราก็ควรจะมีการปรับแก้ผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีการเร่งแก้ไขอยู่"
ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ทิ้งท้ายด้วยตัวอย่างจาก ‘สิงคโปร์’ ที่น่านำมาปรับใช้ในบ้านเราว่า สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียว 30 ตารางเมตรต่อคน สิงคโปร์เป็นเมืองที่เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นประเทศที่เป็น Garden City หรือ ‘เมืองในสวน’ ไม่ใช่สวนในเมือง.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- "ภัยแล้ง" เสียหายพันล้าน ลุ่มเจ้าพระยาสาหัส อีก 3 เดือน ฝ่าวิกฤติฤดูฝน
- "ไฟป่าออสเตรเลีย" เผาผลาญ ทำลายชีวิต สัญญาณเตือนภาวะสูญพันธุ์ครั้งใหญ่?
- "เทสโก้ โลตัส" เนื้อหอม? 3 ยักษ์ใหญ่ รุมชิงดีลแสนล้าน "ซีพี" ตัวเต็ง
- "ส่งด่วน" ล่องหน รับผิดชอบหลักพัน คดีความต้องตามเอง
- สังคม "ขี้เกียจ" ดัน 4 ดาวรุ่งธุรกิจโตแรง ปี 2563