นานนับ 5 เดือน ที่ ‘ออสเตรเลีย’ ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ ‘ไฟป่า’ ที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง บ้านเรือนมอดไหม้ ต้นไม้น้อยใหญ่เหลือเพียงซากตอตะโก และที่เศร้ากว่านั้นกับการสูญเสียชีวิต "มนุษย์และสัตว์ป่า"
‘ออสเตรเลีย’ เป็นที่รู้กันดีว่า มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์และสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด บางชนิดไม่สามารถพบเห็นได้ในประเทศอื่นๆ เรียกได้ว่า มีที่ ‘ออสเตรเลีย’ ที่เดียวแห่งเดียวในโลก แต่แล้วความสูญเสียก็บังเกิด เมื่อเปลวไฟได้เริ่มต้นขึ้น ณ รัฐนิวเซาท์เวลส์
จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้ ไฟป่าความสูง 70 เมตร (ซิดนีย์ โอเปร่า เฮาส์ สูง 67 เมตร) ได้เผาผลาญกินพื้นที่มากกว่า 6 รัฐ (นิวเซาท์เวลส์, วิคตอเรีย, ควีนส์แลนด์, เซาท์ออสเตรเลีย, เวิสเทิร์นออสเตรเลีย และทัสมาเนีย) รวมกันแล้วขนาดมากถึง 8.4 ล้านเฮกตาร์ หรือราว 84,000 ตารางกิโลเมตร หากเทียบกับประเทศใดประเทศหนึ่งบนโลก ก็ต้องบอกว่า ไฟป่าในออสเตรเลียมีขนาดใหญ่กว่า ‘ศรีลังกา’ ซะอีก (ขนาด 65,610 ตารางกิโลเมตร) ขณะที่ การคาดการณ์ของนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมในต่างประเทศมองว่า ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 มาจนถึง 7 มกราคม 2563 ไฟป่าน่าจะเผาผลาญไปแล้วมากกว่า 163,169 ตารางกิโลเมตร จนทำให้ประชนต้องสละทิ้งบ้านเรือนตนเองและอพยพออกจากพื้นที่นับพันราย
...
ปัญหาของไฟป่าไม่ได้มีเพียงแค่การสูญเสียพื้นที่และบ้านเรือนแต่เพียงเท่านั้น จากการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นได้ทำให้อุณหภูมิในออสเตรเลียพุ่งสูงขึ้น ในช่วงเดือนธันวาคม 2562 อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 48.9 องศาเซลเซียส ซึ่งในวันที่ร้อนที่สุด คือ วันที่ 18 ธันวาคม 2562 มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งวันที่ 41.9 องศาเซลเซียส ส่วนวันที่ 8 มกราคม 2563 ก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 42 องศาเซลเซียส
เท่านั้นยังไม่พอการเผาไหม้ของไฟป่ายังทำให้เกิดเขม่าควันลอยคลุ้ง อย่าง ‘แคนเบอร์รา’ เมืองหลวงของออสเตรเลีย ที่เคยเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่คุณภาพอากาศดีที่สุดมาโดยตลอด ในวันนี้กลับติด 1 ใน 10 อันดับเมืองหลักที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุด แย่ยิ่งกว่าเมืองนิวเดลีของอินเดีย แย่ยิ่งกว่าเมืองธากาของบังกลาเทศ และแย่ยิ่งกว่าเมืองลาฮอร์ของปากีสถาน โดยวันที่เมืองแคนเบอร์รามีคุณภาพอากาศย่ำแย่ที่สุด คือ วันที่ 1 มกราคม 2563 เปิดทศวรรษใหม่ด้วยค่าความเข้มข้นเฉลี่ย PM2.5 ที่ 855.6 µg/m³ สูงเกินค่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) มากเกินกว่า 34 ครั้ง และถูกจัดให้อยู่ระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง (Hazardous Levels)
แล้วถ้าเป็นค่าความเข้มข้นเฉลี่ย PM2.5 ทั้งประเทศอยู่ที่เท่าไร?
หากนับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2562 ถึง 2 มกราคม 2563 ค่าความเข้มข้นเฉลี่ย PM2.5 ในออสเตรเลีย อยู่ที่ 200.1 µg/m³ ขณะที่ เมืองท่องเที่ยวยอดฮิตของไทยอย่าง ‘ซิดนีย์’ ก็แตะค่าความเข้มข้นเฉลี่ย 400 µg/m³ มาแล้ว
อีกหนึ่งความเสียหายที่เป็นความสูญเสียครั้งใหญ่จากวิกฤตการณ์ไฟป่าในออสเตรเลียครั้งนี้ คือ ชีวิตของชาวออสซี่และสัตว์ป่าหลากหลายชนิด โดย ณ ขณะนี้ (7 ม.ค. 63) มีชาวออสซี่เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 25 ราย และสัตว์ป่าหรือสัตว์ตามธรรมชาติ ที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ปีก และสัตว์เลื้อยคลาน (ยกเว้นแมลง ค้างคาว และกบ) ตายแล้วกว่า 500 ล้านตัว ในจำนวนนี้มี ‘โคอาล่า’ เกือบ 8,000 ตัว คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของประชากรโคอาล่าในรัฐนิวเซาท์เวลส์
ทั้งนี้ทั้งนั้นมีการคาดการณ์จากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ว่า ไฟป่าในครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายและคร่าชีวิตสัตว์ป่ามากถึง 1 พันล้านตัว
...
เมื่อวิกฤตการณ์ ‘ไฟป่า’ ในออสเตรเลีย กลายเป็นภัยธรรมชาติที่ทำลายทุกสรรพสิ่ง จนเกิดเป็นความวิตกกังวลของหลายฝ่ายว่า "หรือนี่คือ สัญญาณเตือนการก้าวเข้าสู่ภาวะการสูญพันธุ์?"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เปิดบทสนทนากับ ผศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของ ‘ภาวะการสูญพันธุ์’ หรือที่เรียกกันว่า The Sixth Mass Extinction
• สิ่งมีชีวิตที่โดนพราก การสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
ผศ.ดร.นันทชัย เริ่มต้นการสนทนาด้วยการเปิดอีกมุมมองถึง ‘ภาวะการสูญพันธุ์’ ว่า เป็นแค่การคาดการณ์โดยนักวิชาการเท่านั้น พื้นที่เหล่านี้สัตว์ป่าค่อนข้างปรับตัวได้ยาก ฉะนั้น การมีสิ่งเร้าไปทำลายพื้นที่ ทำลายระบบนิเวศ ทำให้ปัจจัยที่สำคัญของสัตว์ป่าหายไป โดยเฉพาะพื้นที่หากินกับพื้นที่ที่จะเป็นตัวปกคลุมให้สัตว์ป่าอาศัยอยู่ได้ แต่ ณ เวลานี้ มันหายไปเลยนับเป็นเรื่องที่เลวร้าย
...
"หากจะบอกว่าเป็นการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ (Mass Extinction) อาจเกินเลยไป ไฟป่าในออสเตรเลียครั้งนี้ไม่ได้ถึงขนาดในอดีต ที่มีภูเขาไฟระเบิดหรืออุกกาบาตทำลายล้างไดโนเสาร์ให้หายไปได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประชากรสัตว์ในพื้นที่ลดลงแน่นอน"
ผศ.ดร.นันทชัย ยังมีอีกหนึ่งข้อกังวลที่อาจเป็นผลกระทบตามมาจากการที่ประชากรสัตว์ลดลง ว่า อาจมีส่วนทำให้ความหลากหลายทางพันธุจักรน้อยลง ถ้าหากมีจำนวนประชากรที่น้อยเกินไปการปรับตัวของสัตว์ก็ยิ่งแย่ภายใต้สภาพของถิ่นที่อยู่อาศัยที่หายไป ถ้าสัตว์ปรับตัวไม่ได้เร็วเท่ากระแสวนของการทำให้ฉับพลัน กล่าวได้ว่า ตัวที่ทนทานไม่ได้ก็ต้องฉับพลันไปอย่างแน่นอน
สัตว์ที่อยู่ในทวีปออสเตรเลียส่วนใหญ่จะมีวิวัฒนาการที่แปลกแยกออกไปจากแผ่นดินใหญ่ โดยส่วนมากจะเป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มสัตว์มีถุงหน้าท้อง ที่มีการปรับตัว วิวัฒนาการปรับตัว ที่ไม่ค่อยมีคู่การแข่งขันมากนัก การปรับตัวในอากาศที่รุนแรงจากการเกิดไฟป่าจึงยากต่อการปรับตัว เพราะไฟป่าในออสเตรเลียไม่เหมือนกับไฟป่าในบ้านเราที่อยู่บนพื้นดิน ในออสเตรเลียจะเป็นการไหม้ในระดับเนินยอดเขา และมีความแห้งแล้งสูง ค่อนข้างเป็นการสร้างเชิงการทำลายหรือทำให้หมดไปจากพื้นที่ได้
...
"ในออสเตรเลีย สัตว์เกือบทุกตัวจะเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น เป็นกลุ่มสัตว์ที่เรียกกันว่า ‘ถุงหน้าท้อง’ โคอาล่าก็ไม่มีที่อื่น นอกจากออสเตรเลีย ในนิวซีแลนด์เองก็ไม่มี ในพื้นที่ที่มีการกระจายที่ค่อนข้างจำกัดก็อาจจะเป็นสัตว์ที่หาง่ายในระดับท้องถิ่น แต่ในระดับโลกมันหายาก ฉะนั้นกล่าวได้ว่า สัตว์กลุ่มนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น จิงโจ้ โคอาล่า หรือสัตว์อื่นๆ ที่มีถุงหน้าท้องแต่เป็นผู้ล่าทั้งหมด ถือว่าเป็นสัตว์หายากทั้งหมดของโลก แต่ว่าในภูมิภาคของเขาเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไป อีกทั้งในกลุ่มสัตว์ที่มีถุงหน้าท้องยังเป็นสัตว์ที่มีการปรับตัวไม่ดีอยู่แล้ว ในแนวโน้มมองว่า สิ่งที่ทุกคนกังวลในประเด็นเดียวกันหมด ก็คือ สัตว์มันจะปรับตัวได้ไหม เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยกับแหล่งอาหารถูกทำลายไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือในเวลาจำกัด"
ผศ.ดร.นันทชัย วิเคราะห์ข้อฉุกคิดอีกหนึ่งอย่างที่น่าสนใจนอกเหนือจาก ‘ภาวะการสูญพันธุ์’ นั้นคือ อนาคตหลังจากนี้ของสัตว์ป่าในออสเตรเลีย
"ในระยะยาวต้องรอฟังข่าวว่า สัตว์ป่ากว่า 300-500 ล้านตัวที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก ไปจนกระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่จะเป็นอย่างไร แต่สัตว์ที่มีการเคลื่อนที่สูง อย่าง ‘นก’ ไม่ได้น่าห่วงนัก สัตว์เลื้อยคลานที่สามารถหลบซ่อนในพื้นที่บางส่วนที่มีความชื้นในที่อยู่ใกล้กับลำน้ำก็ไม่ได้น่าเป็นห่วงเท่าสัตว์ที่มีความสามารถในการเคลื่อนที่ช้า เช่น โคอาล่า เพราะไม่ได้เป็นสัตว์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว สัตว์บางกลุ่มจึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์"
ส่วนสัตว์ที่อาศัยอยู่ใต้ดินต่ำกว่า 20-30 เซนติเมตร ผศ.ดร.นันทชัย มองว่า แทบไม่มีผลกระทบ แต่น่าห่วงว่า หลังจากไฟไหม้ "เมื่อขึ้นมาบนพื้นดินมันจะกินอะไร? ปรับตัวอย่างไร?" ตรงนี้เป็นบทบาทของมนุษย์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ มันจะกลายเป็นเรื่องของการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าและประชากรของสัตว์ป่า
"ภาพรวม คือ การจัดการสัตว์ป่าที่จะทำให้เกิดมิติใหม่ของแนวความคิดในการจัดการของพื้นที่นี้ ต้องปรับตัว นักวิชาการต้องมามองดูในเรื่องของเป้าการจัดการในอนาคต ว่า หลังจากป่าไหม้เสร็จเรียบร้อยแล้ว มันจะมีเป้าหมายของการจัดการอย่างไรต่อไป เป้าการจัดการระยะสั้นจะทำให้การจัดการสัตว์ป่าสามารถอยู่รอดต่อไปได้อย่างไร ในระยะสั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด"
• อดอยาก ปากแห้ง หลังไหม้มอดเสร็จ
แม้จะมีเสียงก่นด่าของชาวออสซี่ถึงรัฐบาลออสเตรเลียให้ได้เห็นบนหน้าสื่อต่างประเทศอยู่เป็นระยะ แต่ ผศ.ดร.นันทชัย ยังเชื่อว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะมีแนวทางการจัดการถิ่นที่อยู่อาศัยให้กลับคืนมาได้ แต่อาจต้องใช้ระยะเวลาที่มากหน่อย (รัฐบาลออสเตรเลียคาดการณ์งบประมาณการฟื้นฟูที่ 4.5 หมื่นล้านบาท)
"การจะฟื้นฟูให้กลับคืนมาเลยคงเป็นไปได้ยาก ฉะนั้น คิดว่าสิ่งที่ทางรัฐบาลออสเตรเลียจะทำต่อไปนั้น คือ การติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งหลายพื้นที่ในโลกก็เคยเกิดขึ้นในลักษณะที่เกิดไฟป่าเช่นนี้เหมือนกัน เช่น อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตน เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทุกคนต่างก็กลัวว่า สัตว์ป่าและป่าไม้จะสูญเสียระบบนิเวศ แต่ปัจจุบัน ด้วยกลไกการจัดการที่มีอยู่ในสหรัฐอเมริกาก็สามารถทำให้อุทยานแห่งชาติเยลโลว์สโตนมีหน้าตาเปลี่ยนไปไปอีกแบบหนึ่งที่น่าสนใจ นี่จึงเป็นผลกระทบเชิงลบในช่วงแรก แต่เป็นผลกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการจัดการในตัวประชากรสัตว์ป่าและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าตามมา ทำให้สามารถเอาชนะความเลวร้ายที่เกิดขึ้นนี้ได้"
ผศ.ดร.นันทชัย กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ อีกกว่า หากปล่อยให้ป่าทดแทนตามธรรมชาติหลังไฟป่าไปแล้ว ก็ใช้เวลาเป็นหลักร้อยถึงพันปี โดยเฉพาะในพื้นที่เขตอบอุ่น ที่เป็นพื้นที่บริเวณตรงนั้น แต่โดยทั่วไปในความคิดของตนนั้น ในเรื่องการทดแทนที่จะกลับมาเป็นแบบเดิมมันก็อาจจะเป็นคำถามหนึ่ง แต่ในอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจและสำคัญกว่า คือ ในช่วงที่ไม่เป็นแบบเดิม เราจะจัดการพื้นที่อย่างไรเพื่อให้สัตว์ป่าสามารถมีชีวิตและสืบพันธุ์ต่อไปได้ ส่วนตัวคิดว่า คำถามนี้จึงเป็นคำถามหลักที่นักวิชาการพยายามจะหาคำตอบอยู่ เพราะว่าการจัดการป่ากับการจัดการสัตว์เป็นของที่จะต้องดำเนินไปร่วมกันมันจะแยกออกจากกันไม่ได้
"ต่อไปพื้นที่ที่ไม่รุนแรงนักก็ฟื้นตัวได้เร็ว แต่ในพื้นที่ที่รุนแรงมันก็ฟื้นช้า ถามว่าจะฟื้นแบบไหน ในมุมมองตนเชื่อว่า ออสเตรเลียมีนักจัดการป่าไม้ที่ค่อนข้างจะใส่ใจในเรื่องของการจัดการโครงสร้างป่าไม้อยู่แล้ว ไม่ต้องไปห่วงเขา เขาทำได้แน่ ในเรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วงในระยะยาว แต่ในระยะสั้นเป็นห่วงในเรื่องประชากรสัตว์ป่า ว่า มันหายไปจนกระทั่งมันไม่สามารถฟื้นคืนมาได้หรือเปล่า"
ปิดบทสนทนากับ ผศ.ดร.นันทชัย สิ่งที่น่าคิดและน่าเฝ้าติดตาม คือ หลังจากนี้ ‘สัตว์ป่า’ ผู้รอดชีวิตจะใช้ชีวิตกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- "เทสโก้ โลตัส" เนื้อหอม? 3 ยักษ์ใหญ่ รุมชิงดีลแสนล้าน "ซีพี" ตัวเต็ง
- "ส่งด่วน" ล่องหน รับผิดชอบหลักพัน คดีความต้องตามเอง
- สังคม "ขี้เกียจ" ดัน 4 ดาวรุ่งธุรกิจโตแรง ปี 2563
- "กองทุน SSF" ฉบับเข้าใจง่าย ตอบโจทย์ อายุต่ำกว่า 50 มั่นใจวินัยออมเป๊ะ
- "ฉลาม" นักล่าแห่งท้องทะเล ที่ถูกล่าโดยไม่ตั้งใจ สู่วิกฤตการณ์ "Food Loss"