ทุกสายตาต่างจับจ้อง "ผู้ครอบครอง ‘เทสโก้ โลตัส’ ในไทยจะเป็นใคร?" ระหว่าง 3 ยักษ์ใหญ่ ‘ซีพี’, ‘ทีซีซี’ และ ‘เซ็นทรัล’ ที่คาดว่าจะตบเท้าเข้าร่วมชิงชัยดีลแสนล้านนี้

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ปี 2537 ‘โลตัส ซูเปอร์เซนเตอร์’ เปิดดำเนินการครั้งแรก ในนาม บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ภายใต้การบริหารงานของเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ‘ซีพี’ โดยตั้งอยู่ที่ ‘ห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์’ ย่านศรีนครินทร์ ก่อนที่ในปี 2541 ‘กลุ่มเทสโก้’ ค้าปลีกชั้นนำสัญชาติอังกฤษ จะเข้ามาบริหารงานแทนและเปลี่ยนชื่อเป็น ‘เทสโก้ โลตัส’

มาถึงปลายปี 2562 ใครจะคิดว่า ‘กลุ่มเทสโก้’ จะส่งสัญญาณปล่อยมือเครือข่ายค้าปลีกในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ หลังบริหารงาน ‘เทสโก้ โลตัส’ ในไทยมานานกว่า 22 ปี

จากสัญญาณการปล่อยมือ ‘เทสโก้ โลตัส’ ครั้งนี้ ก็มีการคาดการณ์ของสื่อต่างประเทศที่มองว่า ดีลซื้อกิจการ ‘เทสโก้ โลตัส’ ในไทย ที่มีการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ราว 3 แสนล้านบาท จะมีตัวเต็งเข้าชิงเป็น ‘3 ยักษ์ใหญ่’ แห่งวงการค้าปลีก ‘ซีพี’ ตระกูลเจียรวนนท์, ‘ทีซีซี’ ตระกูลสิริวัฒนภักดี และ ‘เซ็นทรัล’ ตระกูลจิราธิวัฒน์

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เปิดบทวิเคราะห์ดีลแห่งปี กับ ‘อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด ถึงความเป็นไปได้ ว่า "ใครจะเป็นผู้ครอบครอง ‘เทสโก้ โลตัส’ ในไทย?"

อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดัง
อ.ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดัง

อาจารย์ธันยวัชร์ ย้อนอดีตของ ‘เทสโก้ โลตัส’ ให้ได้ฟังก่อนว่า เดิมนั้นเป็นของ ‘ซีพี’ มาก่อน จากนั้นได้นำเอา ‘แม็คโคร’ และ ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ เข้ามา พอมาถึงปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ‘ซีพี’ จึงขาย ‘โลตัส ซูเปอร์เซนเตอร์’ และ ‘แม็คโคร’ ออกไป แต่ก่อนที่จะมาถึงดีลแห่งปีนี้ ‘เจ้าสัวธนินท์’ ก็เคยประกาศว่า "หาก ‘เทสโก้ โลตัส’ ขาย ก็จะซื้อ" เหมือนกับการขายลูกออกไป เมื่อพ่อแม่ใหม่ไม่เป็นที่ต้องการก็ต้องซื้อกลับคืนมา อย่างเช่น การซื้อ ‘แม็คโคร’ กลับมา

หากถามว่า อะไรคือจุดดึงดูดใจของ ‘เทสโก้ โลตัส’ ที่ทำให้ ‘3 ยักษ์ใหญ่’ แห่งวงการค้าปลีก ตบเท้าชิงดีลในยุคที่คนนิยมซื้อของออนไลน์?

คำตอบจากอาจารย์ธันยวัชร์ คือ ธุรกิจประเภทนี้ยังมีพลังอยู่

"ส่วนใหญ่คนช็อปปิ้งออนไลน์ไม่ค่อยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ถ้าหากมองว่า ธุรกิจประเภทนี้ไม่ดี ‘เจ้าสัวเจริญ’ จะซื้อ ‘บิ๊กซี’ ทำไม แล้ว ‘เซ็นทรัล’ ก็ไปซื้อ ‘บิ๊กซี’ ในเวียดนาม ‘อาลีบาบา’ ก็เข้ามาซื้อห้างสรรพสินค้า ‘อเมซอน’ ก็เข้ามาซื้อซุปเปอร์มาร์เก็ตยี่ห้อหนึ่งในสหรัฐอเมริกา แสดงว่าออนไลน์ไม่ได้ครอบงำไปทุกหมวดในสินค้าที่ประชาชนเลือกซื้อ ถ้าเปิดโอกาส ‘ซีพี’ น่าจะสนใจ เพราะเป็นของเขามาก่อน แล้วมันทำให้ ‘ซีพี’ ครอบครองธุรกิจรีเทล (ค้าปลีก)"

อาจารย์ธันยวัชร์ ย้อนกลับไปครั้ง ‘เจ้าสัวธนินท์’ นำ ‘เทสโก้ โลตัส’ (หรือ ‘โลตัส ซูเปอร์เซนเตอร์’ ในสมัยนั้น) กับ ‘แม็คโคร’ เข้ามาในไทย ซึ่งในครั้งนั้น ‘เซ็นทรัล’ ได้รับผลกระทบ เพราะ ‘เซ็นทรัล’ เติบโตมาจากการเป็นห้างสรรพสินค้า ก่อนที่ ‘เซ็นทรัล’ จะนำ ‘บิ๊กซี’ และ ‘คาร์ฟู’ เข้ามา แต่ตอนหลัง ‘เซ็นทรัล’ ก็ต้องตัด ‘บิ๊กซี’ และ ‘คาร์ฟู’ ทิ้งไป รวมถึงตัด ‘ท็อปส์’ ทิ้งไปด้วย (หลังจากนั้นก็ซื้อกลับคืน) แต่ ‘เซ็นทรัล‘ ไม่ซื้อ ‘บิ๊กซี’ ในไทย แต่กลับไปซื้อ ‘บิ๊กซี’ ในเวียดนามแทน ฉะนั้น แสดงว่า ‘เซ็นทรัล’ ไม่ได้ต้องการ เพราะถ้าต้องการก็ต้องเอา ‘บิ๊กซี’ กลับมาก่อน

...

"ที่ ‘เซ็นทรัล’ ไปซื้อ ‘บิ๊กซี’ ที่เวียดนาม เพราะตลาดเวียดนามกำลังโต 80 กว่าล้านคน เป็นตลาดที่มีคนหนุ่มสาวเยอะ อดีตเวียดนามเคยเกิดสงคราม ประชากรจึงไม่เพิ่ม มาเพิ่มตอนหลังปี 2518 ตอนนั้นเวียดนามมีอายุค่อนข้างน้อยหากเทียบกับไทย การบริโภคจึงสูงขึ้น"

‘3 ยักษ์ใหญ่’ ซื้อ ‘เทสโก้ โลตัส’ ผูกขาดตลาดค้าปลีก?

...

ประเด็นนี้ อาจารย์ธันยวัชร์ มองว่า ถ้าไทยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นก็อาจเข้าข่ายการผูกขาด เพราะ ‘แม็คโคร’ และ ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ ก็เป็นของ ‘ซีพี’ ซึ่งต้องดูที่ยอดขายว่ากี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะเข้าข่ายการผูกขาด ไม่แน่ใจว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้จะมีความเข้มข้นขนาดไหน เพราะเท่าที่เห็นมาก็ไม่ค่อยมีการบังคับใช้ คือ มีกฎหมาย แต่อาจไม่ได้บังคับใช้แบบเข้มข้น

"หาก ‘เทสโก้ โลตัส’ อยู่ในมือ ‘ซีพี’ คนที่ลำบาก คือ Supplier เพราะหลักการแข่งขัน ‘พลังของผู้ซื้อจะมาก เมื่อซื้อทีจำนวนมาก’ สมมติ ‘ซีพี’ มี ‘เทสโก้ โลตัส’ มี ‘แม็คโคร’ มี ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ ยอดขายอาจเข้าสู่ 7-8 แสนล้านบาทเลยก็ได้ ตอนนี้ ‘ซีพีออลล์’ ที่เป็นคนทำ ‘เซเว่นอีเลฟเว่น’ บวกยอดขาย ‘แม็คโคร’ ยอดขายประมาณ 5.6 แสนล้านบาท หากบวก ‘เทสโก้ โลตัส’ เข้าไปอาจเป็น 7 แสนกว่าล้านบาท คิดว่าการซื้อของ 7 แสนล้านบาท เวลาคุยกับ Supplier มันจะมีพลังในการต่อรอง ส่วนผู้บริโภคอาจจะไม่เจอปัญหาเท่าไร เพราะผู้บริโภคมีทางเลือกเยอะ"

...

สำหรับสถานการณ์ค้าปลีกนั้น อาจารย์ธันยวัชร์ ยอมรับว่า รุนแรงมาก เพราะออนไลน์มีอิทธิพลค่อนข้างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

"ตัวที่รุกหนักๆ แพลตพอร์มที่เป็นมาร์เก็ตเพลส คือ ลาซาด้าและช้อปปี้ ทำให้คนรุ่นใหม่หันไปซื้อในแพลตฟอร์มนี้แทนที่จะไปซื้อในห้างสรรพสินค้า จึงทำให้ ‘เซ็นทรัล’ ปรับตัวลงออนไลน์ ส่วน ‘บิ๊กซี’, ‘แม็คโคร’ และ ‘เทสโก้ โลตัส’ ก็ยังมีคนซื้อเยอะอยู่ เพราะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค"

และในส่วนของการเปลี่ยนชื่อแบรนด์หลังซื้อกิจการ อาจารย์ธันยวัชร์ มองว่า หากเป็นกรณี ‘ซีพี’ ได้ครอบครอง ก็คงต้องตัด ‘เทสโก้’ ทิ้ง ให้เหลือแค่ ‘โลตัส’ แต่หากเป็นกรณีเจ้าอื่น คิดว่าไม่น่าจะเปลี่ยน เพราะแบรนด์แข็ง เหมือนที่ ‘เจ้าสัวเจริญ’ ซื้อ ‘บิ๊กซี’ ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยน

หลังจากนี้ ‘อุตสาหกรรมค้าปลีก’ ต้องปรับตัวอย่างไรในยุคค้าออนไลน์?

อาจารย์ธันยวัชร์ แนะกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า อุตสาหกรรมการค้าปลีกต้องใช้บิ๊กดาต้าเข้ามาเพื่อเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าให้มากที่สุด สหรัฐอเมริกาตอนนี้ คน GEN Z มาเดินห้างสรรพสินค้า และ GEN Y ไม่เดิน, GEN X น้อยลง ส่วน GEN Z ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี หันมาเดินห้างสรรพสินค้ามากขึ้น ห้างสรรพสินค้าในประเทศนี้ถึงเยอะ เพราะมีข้อมูลลูกค้า มีการวิเคราะห์ว่า ลูกค้ารุ่นใหม่ต้องการแบบไหน ก็จะการดีไซน์ห้างสรรพสินค้าให้เข้ากับรสนิยมของลูกค้า ดังนั้น ไทยจึงต้องมีข้อมูลลูกค้าให้มากที่สุด ควรจับมือกับผู้เช่าเพื่อนำข้อมูลลูกค้ามาดีไซน์ให้เหมาะสมกับลูกค้า.

ข่าวอื่นๆ :

อ้างอิง :

  • ข้อมูลนิติบุคคลและประเภทธุรกิจในประเทศไทย โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ณ วันที่ 3 มกราคม 2563
  • Ek-chai Distribution System Co., Ltd.