‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ (Food Delivery) ไม่ได้เพิ่งมีแต่อย่างใด แต่เดิมใช้วิธียกหูต่อสายตรงถึงร้านอาหาร รอสัก 45 นาที สิ่งที่สั่งก็จะมาเสิร์ฟถึงมือ แต่แล้วก็มีคนมองเห็น "ช่องว่าง" เล็กๆ ที่ประจวบเหมาะกับยุคสมาร์ทโฟน 4G จึงทำให้ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่ แอปพลิเคชัน’ (Food Delivery Application) ถือกำเนิดขึ้น!!

‘ฟู้ด เดลิเวอรี่ แอปพลิเคชัน’ หรือที่เรียกกันง่ายๆ จนติดปากว่า "สั่งอาหารผ่านแอป" กำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนเมืองอย่างมาก ยิ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวเฉลี่ยถึง 10% ต่อปีทีเดียว และคาดการณ์ว่า ในปี 2562 ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ นี้จะมีมูลค่ารวมสูงกว่า 3.3-3.5 หมื่นล้านบาท

ฉะนั้น นี่ถือเป็นหนึ่งในโอกาสทองสำคัญสำหรับร้านอาหารต่างๆ ที่จะพุ่งเข้าจับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ให้หันมาลองลิ้มชิมรส ผ่านการใช้บริการของ "กลุ่มธุรกิจหน้าใหม่" ที่ใช้ "ช่องว่าง" เล็กๆ มาให้บริการ "สั่งอาหารผ่านแอป" โดยจากการคาดการณ์ โอกาสที่ร้านอาหารขนาดกลางและเล็ก หรือ SMEs เหล่านี้จะได้ส่วนแบ่งรายได้จากห่วงโซ่ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ อาจอยู่ที่ราวๆ 2.6 หมื่นล้านบาท (เฉียดๆ เท่ามูลค่ารวม ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่’ ด้วยซ้ำ)

...

อ้อ! โอกาสทองจาก "ช่องว่าง" เล็กๆ นี้ ไม่ได้มีเพียงแค่ "ร้านอาหาร" เท่านั้น ยังมีอีกหลายฝ่ายที่ได้รับส่วนแบ่งอันน่าสนใจจากห่วงโซ่ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่ แอปพลิเคชัน’ นี้ด้วย ทั้งคนขับรถมอเตอร์ไซค์ (ที่มีทั้งรับจ้างและคนทั่วไปหารายได้พิเศษและประจำ) ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนแบ่งรายได้ราวๆ 3.9 พันล้านบาท (สูงทีเดียว) ส่วนเจ้าของพื้นที่ "ช่องว่าง" เล็กๆ อย่างผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ก็คาดการณ์ว่าจะได้ส่วนแบ่งรายได้ราว 3.4 พันล้านบาท

แล้วหากลองมาดูกันแบบลึกๆ อีกทีกันล่ะ ใครจะเป็นคนเสีย ใครจะเป็นคนที่ได้ แล้วใครจะเป็นคนที่ได้มากที่สุด?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ หยิบยกมาทดสอบ "สั่งอาหารผ่านแอป" ผ่านผู้ให้บริการ 3 เจ้ายักษ์ใหญ่ที่รู้จักกันดี อย่าง ‘แกร็บ’ (Grab), ‘ไลน์แมน’ (LineMan) และ ‘ฟู้ดแพนด้า’ (Food Panda) จะเป็นอย่างไรมาติดตามไปพร้อมๆ กัน!

| หิวมาก กดเปิดแอป สั่งเมนูเดียวกัน ร้านเดียวกัน เจ้าไหนคุ้มสุด?

จากตัวเลขที่ห้อยป้ายด้านบน จะเห็นราคาที่ต้องจ่าย และเราก็ต้องตัดสินใจเลือก เริ่มที่ 1.เดินไปซื้อเอง 20 บาท, 2.สั่งผ่าน ‘แกร็บฟู้ด’ 54 บาท, 3.สั่งผ่าน ‘ฟู้ดแพนด้า’ 45 บาท และตัวเลือกที่ 4 สั่งผ่าน ‘ไลน์แมน’ 126 บาท

ตัวเลือกแรกตัดไป เพราะเราจะไม่เดินไปซื้อทานเอง (แม้ว่าหน้าร้านจะขายถูกก็ตาม) เราจะสั่งผ่านแอป

แล้วแต่ละแอปมันประกอบรวมกันเป็นราคานี้ได้อย่างไร?

ย้ำอีกครั้ง! ทีมข่าวฯ ทดลองกดสั่งผ่านทั้ง 3 แอป (ณ 17 ต.ค. 62) ด้วยการเลือกเมนูเดียวกัน คือ ก๋วยเตี๋ยวเรือเนื้อ แบบธรรมดา จำนวน 1 ถุง จากร้านอาหารร้านเดียวกัน มาส่งที่เดียวกัน หากดูผ่านแผนที่ในกูเกิล ถ้าเดินไประยะทางประมาณ 350 เมตร (เราจะไม่เดิน) แต่ถ้าขับรถระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร

ราคาแต่ละแอปเป็นอย่างไร?

เริ่มจาก ‘แกร็บฟู้ด’ ที่ราคากลางที่สุด คือ ราคา 54 บาท มาจากราคาค่าอาหาร 35 บาท (*ทวนความจำ หน้าร้าน 20 บาท) และค่าส่ง 19 บาท ซึ่งระยะทางที่ขึ้นในแอปเขียนว่า 2.7 กิโลเมตร

ส่วนอีก 2 แอป ที่มีราคาถูกที่สุดและแพงที่สุด ทำไมถึงเป็นราคานั้นมาแยกกันดู

รายแรก ‘ฟู้ดแพนด้า’ ราคาถูกที่สุด คือ 45 บาท เพราะค่าส่งในแอปเขียนว่า 0 บาท (?) ดังนั้น 45 บาท ที่เราต้องจ่ายจึงเป็นค่าอาหารทั้งหมด แต่!! หากสังเกตจะเห็นว่า ค่าอาหารแพงกว่า ‘แกร็บฟู้ด’ ถึง 10 บาท และแพงกว่าหน้าร้านถึง 25 บาท (ทั้งๆ ที่สั่งเหมือนกัน มันเพราะอะไร?)

รายสุดท้าย ‘ไลน์แมน’ ราคาแพงที่สุด คือ 126 บาท มาจากค่าอาหาร 35 บาท (เท่ากันกับ ‘แกร็บฟู้ด’) ที่เหลืออีก 91 บาท เป็นค่าส่ง แล้วค่าส่ง 91 บาทนี้มาจากอะไร? (แพงกว่าอาหาร)

...

91 บาท ที่ว่านี้ ภายในแอปเขียนรายละเอียดเอาไว้ชัดเจนว่า ค่าส่งเริ่มต้น 55 บาท และค่าส่งตามระยะทาง 36 บาท ซึ่งระยะทางนั้นในแอปเขียนไว้ว่า 3.2 กิโลเมตร (ตรงกับแผนที่กูเกิล แต่ ‘แกร็บฟู้ด’ แค่ 2.7 กม.)

เห็นแบบนี้แล้ว ก็อยู่ที่จะตัดสินใจ

แต่บอกไว้ก่อนว่า ราคาที่ถูกที่สุด ราคาที่แพงที่สุด ไม่ได้บ่งบอกว่าการให้บริการ "สั่งอาหารผ่านแอป" เจ้าไหนดีที่สุด เพราะแต่ละเมนู แต่ละปริมาณที่สั่ง แต่ละสถานที่ ก็มีผลในการแปรผันให้ราคาเปลี่ยนแปลงไป

ถึงคราวผ่าห่วงโซ่ธุรกิจ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่ แอปพลิเคชัน’ หรือ "สั่งอาหารผ่านแอป" กันบ้าง ว่า มีใครอยู่ในนี้บ้าง?

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำตัวละครภายในห่วงโซ่ "สั่งอาหารผ่านแอป" ที่มีมูลค่าสูงถึง 3.5 หมื่นล้านบาท นี้ก่อน

โดยตัวละครตัวแรกจะเป็นใครไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ "ลูกค้า" เรียกว่าเป็นตัวเอกเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าไม่มีตัวละคร "ลูกค้า" ห่วงโซ่นี้ก็อาจจะไม่เกินหรือเติบโตได้อย่างที่เห็นกันทุกวันนี้

ส่วนตัวละครที่เหลือ ได้แก่ คนขับ, ร้านอาหาร และที่เพิ่งเกิดมาจาก "ช่องว่าง" เล็กๆ ก็คือ "แอปพลิเคชัน"

...

ห่วงโซ่ ‘แกร็บฟู้ด’

จากเงิน 54 บาท ที่ "ลูกค้า" จ่ายให้กับ "แอปพลิเคชัน" นั้น จะแปลงเป็นค่าอาหาร 35 บาท และค่าส่ง 19 บาท ซึ่งร้านอาหารบอกกับทีมข่าวฯ ว่า ทางร้านจะได้ค่าอาหารจำนวนเต็ม 35 บาท แต่ในส่วนนี้มันก็ไม่เต็มซะทีเดียว เพราะต้องหักส่วนแบ่งให้กับแอปประมาณ 25-30% สุดท้ายแล้ว ค่าอาหารก็อาจได้ไม่เต็มจำนวน

ส่วน "คนขับ" นั้น รายได้ที่แอปให้นั้นมาจาก 3 ส่วนด้วยกัน (*อ้างอิงจากประกาศหน้าเว็บไซต์ ‘แกร็บฟู้ด’) คือ ค่าส่งอาหาร 50 บาท, ค่าส่งจากลูกค้า 10 บาท และโปรโมชั่นลูกค้า รวมแล้วประมาณ 60 บาท (ณ 17 ต.ค. 62) แต่รายได้ที่ว่านั้น สุดท้ายได้ไม่เต็มจำนวนเช่นกัน เพราะต้องหักค่าคอมมิชชั่น หรือ ค่าบริการให้แอป อย่างละ 15% (ค่าส่งอาหาร+ค่าส่งจากลูกค้า) รวมๆ แล้วประมาณ 30%

สรุป ‘แกร็บฟู้ด’ ได้อะไรบ้าง?

คำตอบ : ค่าบริการจากลูกค้า, ส่วนแบ่งจากร้านอาหาร และค่าบริการแอปจากคนขับ คร่าวๆ ก็ประมาณ 50-60% จากห่วงโซ่ทั้งหมด

...

ห่วงโซ่ ‘ฟู้ดแพนด้า’

จากเงิน 45 บาท ที่ "ลูกค้า" จ่าย (ค่าอาหารล้วนๆ) ทางร้านอาหารบอกกับทีมข่าวฯ ว่า อาจไม่ได้เต็มจำนวนเช่นกัน เพราะเมื่อรวมยอด "สั่งผ่านแอป" ทั้งหมดตลอดเดือนแล้ว ก็ต้องเจียดจ่ายส่วนแบ่ง หรือ ค่าคอมมิชชั่น ให้กับแอปประมาณ 30%

ส่วน "คนขับ" จากที่ทีมข่าวฯ ได้สอบถาม ทราบว่า รายได้คิดตกเป็นชั่วโมง อยู่ที่ราวๆ 20-50 บาท (*อาจมีการเปลี่ยนแปลง) และค่ารอบเริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาท (*อาจมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน) ซึ่งทางแอปจะเป็นคนให้กับคนขับ (เหมือน ‘แกร็บฟู้ด’) รวมแล้วหักภาษี 3% ที่เหลือก็จะเป็นรายได้ที่ได้รับจริง

สรุป ‘ฟู้ดแพนด้า’ ได้อะไรบ้าง?

คำตอบ : ส่วนแบ่งจากร้านอาหารประมาณ 30% ต่อเดือน

ตัดมาที่ ห่วงโซ่ ‘ไลน์แมน’

มาถึงแอปที่ 3 ที่มีความแตกต่างกับ 2 แอปแรก ตรงที่มีการจับมือกับ ‘Wongnai’ (วงใน)
ซึ่งได้มีการวางโมเดล ค่าส่ง 10 บาท เรียกเก็บคอมมิชชั่นจากร้านค้าที่เข้าร่วม 25-30%
และระบบ RMS หรือระบบการจัดการร้านค้าจาก Wongnai ให้ร้านอาหารใช้ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
เป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับร้านค้าในการจัดการออเดอร์

ส่วนคนขับที่ดูแลโดย Lalamove ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ของไลน์แมน ซึ่งรายได้มาจาก
2 ส่วน คือ ค่าจัดส่งเริ่มต้น 55 บาท และค่าส่งตามระยะทาง ที่คิดกิโลเมตรละ 9 บาท
และเมื่อรวมรายได้แล้ว Lalamove จะต้องแบ่ง % ตามสัดส่วนให้แก่คนขับ

สรุป ‘ไลน์แมน’ ได้อะไรบ้าง?
คำตอบ ส่วนแบ่งจากร้านอาหารเฉพาะที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 25-30%

(*แจ้งอีกครั้ง ข้อมูล ณ วันที่ 17 ต.ค. 62 ดังนั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนหรือรายละเอียดค่าคอมมิชชั่นและรายได้)

จากห่วงโซ่ 3 ตัวอย่างที่ว่ามานี้ แน่นอนว่า คนที่กุมห่วงโซ่มีอยู่ 2 ตัวละคร คือ ลูกค้าและแอปพลิเคชัน ถ้าไม่มีลูกค้า "ช่องว่าง" นี้คงไม่เกิด และถ้าไม่มีแอปพลิเคชัน "ช่องว่าง" นี้ก็คงไม่ถูกเติมเต็ม

พูดง่ายๆ ว่า ห่วงโซ่ ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่ แอปพลิเคชัน’ นี้ ให้ประโยชน์ได้กับทุกฝ่าย "ลูกค้า" เอง แม้จะต้องเสียเงิน แต่ก็ได้รับของที่ตอบโจทย์ความต้องการ (แม้จะมีผิดพลาดหัวร้อนกันบ้าง) "คนขับ" เองก็ถือเป็นโอกาสเพิ่มรายได้พิเศษ ซึ่งหลังจากนี้ก็ต้องมาติดตามดูต่อว่า สัดส่วนรายได้ที่บอกว่า 3.9 พันล้านบาท ในปี 2563 จะลดลงหรือไม่

ในส่วนของ "ร้านอาหาร" ที่ได้รับผลกระทบพร้อมๆ กับข้อดี คือ ได้ขยายฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มสาขาหรือระบบขนส่ง แต่จากการถูกหักค่าคอมมิชชันให้กับแอปก็อาจทำให้กำไรลดลง หากสังเกตดูภายในแอปต่างๆ ก็จะเห็นว่า ร้านอาหารขนาดกลางและเล็กหลายๆ ร้าน เลือกใช้วิธี "บวกค่าอาหารเพิ่ม" จากราคาหน้าร้านปกติ หวังเอาส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาหักลบกับค่าคอมมิชชั่นที่ต้องเสียไป

เพราะการที่ร้านอาหารเข้ามาอยู่ได้ในแอปภายใต้สถานการณ์การแข่งขันที่สูง ไม่ได้เป็นการการันตีว่า ร้านอาหารจะได้ออเดอร์เพิ่มขึ้นหรือเยอะตามที่ตั้งเป้าไว้

ส่วนการเลือกเข้าไปอยู่ในแอปพลิเคชั่นไหนแล้วคุ้มค่าที่สุดสำหรับ "ร้านอาหาร" นั้น คงต้องพิจารณากันให้ลึก มองย้อนไปดูรูปแบบธุรกิจตัวเองและต้นทุนของร้าน ว่า สุดท้ายแล้ว รายได้กับโอกาสที่เข้ามา หักลบกลบเทียบมันโอเคแล้วใช่หรือไม่?

สุดท้าย หากมีคำถามว่า ‘ฟู้ด เดลิเวอรี่ แอปพลิเคชัน’ หรือ "สั่งอาหารผ่านแอป" จะอยู่ไปได้อีกยาวนานแค่ไหน หากดูจากสถานการณ์ประเทศไทยยามนี้ คงบอกว่า อยู่ไปได้อีกยาวๆ 2-3 ปีข้างหน้าทีเดียว.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง