ระยะเวลาเพียงแค่ 2 ปี ประเทศไทยมี "เศรษฐีพันล้าน" หน้าใหม่เกิดเพียบ ตบเท้าเรียงตัวเข้าทำเนียบ BILLIONAIRES 2019 โดย FORBES เพิ่มอีก 11 คน จากเดิมปี 2560 มีแค่ 20 คน กลายเป็น 31 คน ขึ้นแท่นประเทศที่มี "เศรษฐีพันล้าน" มากที่สุดในอาเซียน แซงหน้า ‘สิงคโปร์’
ใครกันหนอ? "เศรษฐีพันล้าน" หน้าใหม่
ตีคู่ขับเคี่ยวกันมาทุกปี สำหรับอันดับ 1 และอันดับ 2 "เศรษฐีพันล้าน" เมืองไทย ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ผู้มั่งคั่ง 15.2 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 4.6 แสนล้านบาท แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ‘ซีพี’ และ ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ ผู้มั่งคั่ง 14.5 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 4.4 แสนล้านบาท แห่งไทยเบฟเวอเรจ หรือ ‘ไทยเบฟ’
หลัง ‘เจ้าสัวธนินท์’ เสียแชมป์ "เศรษฐีพันล้าน" เมืองไทย ให้กับ ‘เจ้าสัวเจริญ’ ถึง 3 ปีซ้อน นับตั้งแต่ปี 2559-2561
จาก 6.8 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.07 แสนล้านบาท) ในปี 2559 มาในวันนี้ ปี 2562 (ณ เดือน มี.ค.) ‘เจ้าสัวธนินท์’ มีความมั่งคั่งสุทธิ 15.2 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 4.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 8.4 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.5 แสนล้านบาท)
ยืนหนึ่ง "มหาเศรษฐีพันล้าน" แห่งเมืองไทย
...
แต่ความน่าสนใจไม่ได้มีแค่เหล่าเจ้าสัวที่ขับเคี่ยวกันอยู่บนชาร์ต BILLIONAIRES เท่านั้น ยังมี "เศรษฐีพันล้านหน้าใหม่" ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงระยะเวลา 2 ปี คือ ปี 2561-2562 (ถึงแค่เดือน มี.ค.) มากถึง 11 คน
จาก 20 คน กลายเป็น 31 คน ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ขึ้นแท่นแชมป์แห่งอาเซียน
ส่วนจะเป็นใครอย่างไรบ้างนั้น มาส่องกัน!!
1.สารัชถ์ รัตนาวะดี รู้จักกันดีในแวดวงพลังงาน แห่ง ‘กัลฟ์’ : 4.4 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.3 แสนล้านบาท)
2.ชูชาติ และ ดาวนภา เพชรอำไพ แห่งอาณาจักร ‘เมืองไทย ลิสซิ่ง’ : 2.4 พันล้านดอลลาร์ฯ (7.3 หมื่นล้านบาท)
3.ประจักษ์ ตั้งคารวคุณ แห่งธุรกิจสี ‘TOA’ : 2 พันล้านดอลลาร์ฯ (6.5 หมื่นล้านบาท)
4.นิติ โอสถานุเคราะห์ เศรษฐีหุ้นไทย แห่ง ‘โอสถสภา’ : 1.4 พันล้านดอลลาร์ฯ (4.2 หมื่นล้านบาท)
5.มนัส เจียรวนนท์ แห่งเครือ ‘ซีพี’ : 1.2 พันล้านดอลลาร์ฯ (3.6 หมื่นล้านบาท)
6.ยุพา เจียรวนนท์ แห่งเครือ ‘ซีพี’ : 1.2 พันล้านดอลลาร์ฯ (3.6 หมื่นล้านบาท)
7.พงเทพ เจียรวนนท์ ญาติของ ‘เจ้าสัวธนินท์’ : 1.2 พันล้านดอลลาร์ฯ (3.6 หมื่นล้านบาท)
8.ประทีป เจียรวนนท์ หลานของ ‘เจ้าสัวธนินท์’ และเป็นบิดาของดาราสาว ‘นาตาลี เจียรวนนท์’ : 1.2 พันล้านดอลลาร์ฯ (3.6 หมื่นล้านบาท)
9.สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ หญิงแกร่งแห่ง ‘ไทย ซัมมิท’ : 1.2 พันล้านดอลลาร์ฯ (3.6 หมื่นล้านบาท)
10.อนันต์ อัศวโภคิณ นักอสังหาริมทรัพย์แห่ง ‘แลนด์แอนด์เฮ้าส์’ : 1.1 พันล้านดอลลาร์ฯ (3.3 หมื่นล้านบาท)
11.ฉัตรชัย แก้วบุตตา แห่ง ‘ศรีสวัสดิ์’ : 1 พันล้านดอลลาร์ฯ (3 หมื่นล้านบาท)
จากบรรดา "เศรษฐีพันล้านหน้าใหม่" ที่เพิ่มขึ้นมาในช่วง 2 ปี ทั้ง 11 คน หลายๆ คนคงคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพราะล้วนแต่เป็นธุรกิจที่ผูกพันกับตลาดเมืองไทยมาอย่างยาวนาน ทั้ง ‘ศรีสวัสดิ์’, ‘แลนด์แอนด์เฮ้าส์’, ‘โอสถสภา’ เป็นต้น
และในจำนวนนี้ มีคนในตระกูล ‘เจียรวนนท์’ ถึง 4 คน กลายเป็นว่าในบรรดา "เศรษฐีพันล้าน" เมืองไทย ทั้ง 31 คน จะมีคนจากตระกูล ‘เจียรวนนท์’ ถึง 9 คนทีเดียว รวมขุมทรัพย์มากกว่า 35.3 พันล้านดอลลาร์ฯ (1 ล้านล้านบาท)
...
โลกแห่ง "เศรษฐีพันล้าน"
ยืนหนึ่งเหนือสุดแห่งพีระมิด "เศรษฐีพันล้าน" ทั่วโลก คงเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่เขาคนนี้ ผู้มั่งคั่ง 131 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือราว 4 ล้านล้านบาท นามว่า ‘เจฟฟ์ เบซอส’ (Jeff Bezos) หรือที่รู้จักกันดีในนาม “เจ้าพ่ออาณาจักรอเมซอน” (Amazon) ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2537
เขามั่งคั่งขนาดไหนน่ะหรือ?
คิดดูแล้วกันว่า เพียงเขาแบ่งหุ้นให้กับภรรยาที่ใช้ชีวิตคู่มานานถึง 25 ปี หลังจากที่ตัดสินใจหย่าขาดจากกัน 1 ใน 4 ของหุ้นอเมซอน หรือ 4% เท่านั้น ก็ทำให้ภรรยาของเขากลายเป็นผู้หญิงที่ร่ำรวยที่สุดในโลกทันที
ความยืนหนึ่งของ ‘เจฟฟ์’ ไม่เพียงแต่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านเท่านั้น เขายังถูกยกให้เป็นเบอร์ 1 ผู้นำด้านนวัตกรรม และ FORBES 400 ประจำปี 2562 อีกด้วย
...
แล้วถ้าหากรวม 5 อันดับแรก "มหาเศรษฐีพันล้าน" ทั่วโลก มีขุมทรัพย์มากกว่า 450 พันล้านดอลลาร์ฯ (13.6 ล้านล้านบาท) แบ่งเป็น
1.เจฟฟ์ เบซอส อาณาจักร ‘อเมซอน’ : 131 พันล้านดอลลาร์ฯ (4 ล้านล้านบาท)
2.บิล เกตส์ อาณาจักร ‘ไมโครซอฟต์’ : 96.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.9 ล้านล้านบาท)
3.วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนสมญานาม ‘เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา’ : 82.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.5 ล้านล้านบาท)
4.เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ และครอบครัว อาณาจักร ‘หลุยส์ วิตตอง’ : 76 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.3 ล้านล้านบาท)
5.คาร์ลอส สลิม เฮลู และครอบครัว อาณาจักร America Movil : 64 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.9 ล้านล้านบาท)
ส่วน 5 อันดับแรก "มหาเศรษฐีพันล้าน" เมืองไทย ก็เป็นตระกูล ‘เจียรวนนท์’ ไปแล้ว 3 คน ไล่เรียงตั้งแต่ อันดับ 1 ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’, ‘อันดับ 4 ‘สุเมธ เจียรวนนท์’ และอันดับ 5 ‘จรัญ เจียรวนนท์’
...
ส่วนอีก 2 คน คือ อันดับ 2 ‘เจริญ สิริวัฒนภักดี’ อาณาจักร ‘ไทยเบฟ’ และอันดับ 3 ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ และครอบครัว อาณาจักร ‘คิง เพาเวอร์’ รายนี้เป็นมหาเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดในอาเซียนอีกด้วย มีความมั่งคั่งสุทธิ 5.9 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.8 แสนล้านบาท) ขุมทรัพย์รวมกันมากถึง 44.5 พันล้านดอลลาร์ฯ (1.4 ล้านล้านบาท)
แค่ 5 คนนี้ ก็มีความมั่งคั่งเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของมหาเศรษฐีพันล้านในเมืองไทยทั้งหมด
แล้วพนักงานกินเดือนแบบเราๆ ถ้าอยากรวยแบบ "เจ้าสัว" ที่ว่าๆ มานี้ จะต้องทำงานกันหามรุ่งหามค่ำกันกี่ปี?
เมื่อพนักงานกินเงินเดือนสหรัฐฯ อยากรวยเหมือน "เจ้าสัว"
พนักงานกินเดือนในสหรัฐอเมริกามีรายได้ขั้นต่ำหลังจากหักภาษี เดือนละ 3,138 ดอลลาร์ฯ หรือราว 9.5 หมื่นบาทต่อเดือน
ซึ่งถ้าอยากรวยมั่งคั่งเหมือนอย่าง ‘เจฟฟ์’ เจ้าพ่ออเมซอน ต้องทำงาน 42 ล้านเดือน หรือ 3.5 ล้านปี!!
แต่ถ้าเกิดอยากรวยเท่า ‘ธนินท์’ เจ้าสัวซีพี ก็จะลดเวลาทำงานลงเหลือ 4.8 ล้านเดือน หรือ 4 แสนปี!!
ขณะที่ กลุ่มคนผู้ใช้แรงงาน ที่มีค่าแรงขั้นต่ำ (สหรัฐฯ ไม่ได้คิดแบบบ้านเรา เขาคิดเป็นชั่วโมง ไม่ใช่เหมารายวัน) ตกชั่วโมงละ 7.25 ดอลลาร์ฯ หรือราว 219 บาท (บางรัฐอาจจะได้มากกว่าคล้ายเมืองไทยที่แบ่งโซนค่าแรง)
ถ้าทำงานกันเต็มวันละ 8 ชั่วโมง ใน 1 เดือนก็จะได้ค่าแรงประมาณ 5.2 หมื่นบาท หากกินข้าว 3 มื้อ ในร้านอาหารราคาย่อมเยาทั่วไป ที่ตก 15 ดอลลาร์ฯ ต่อมื้อ (454 บาท) เดือนหนึ่งจะมีเงินเหลือเก็บ 11,700 บาท
จากเงินเหลือเก็บถ้าอยากออมไว้เพื่อรวยแบบ ‘เจฟฟ์’ ต้องใช้เวลา 28 ล้านปี แต่ถ้าอยากรวยแบบ ‘ธนินท์’ ต้องใช้เวลา 3.3 ล้านปี!!
แล้วมาลองดูพนักงานกินเดือนในไทยกันบ้าง
เมื่อพนักงานกินเงินเดือนไทย อยากรวยเหมือน "เจ้าสัว"
ต้องทำงานตัวเป็นเกลียวกันกี่ปีกว่าจะรวยเหมือน "เจ้าสัว"
เริ่มจากพนักงานเงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาท หากอยากรวยเหมือน ‘เจฟฟ์’ ก็ต้องทนทำงานไปยาวๆ 22 ล้านปี แต่ถ้าอยากรวยแบบ ‘ธนินท์’ ก็ยาวไม่ต่างกัน 2.6 ล้านปี
เทียบกันแล้วต่างกับพนักงานกินเงินเดือนในสหรัฐฯ ถึง 6 เท่า
พูดง่ายๆ ในขณะที่ พนักงานสหรัฐฯ รวยเท่าความมั่งคั่งของ ‘เจ้าสัวธนินท์’ แล้ว แต่พนักงานไทยยังมีเงินแค่ 1 ใน 4 เท่านั้นเอง
แล้วหากเทียบกับแรงงานบ้านเรา ที่ได้ค่าแรงขั้นต่ำตกวันละ 308 บาท (น้อยกว่าสหรัฐฯ เกือบ 3 เท่า) ตกเดือนละ 9,240 บาท กินอาหาร 3 มื้อ ในร้านอาหารราคาย่อมเยา เฉลี่ย 60 บาทต่อมื้อ ตกวันละ 180 บาท จะมีเงินเหลือเก็บจากค่ากิน 3,840 บาท
เห็นชัดเลยว่า ค่ากิน 3 มื้อ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 4 ของค่าแรงต่อเดือนแรงงานในสหรัฐฯ ขณะที่ แรงงานไทยกลับมีค่ากินต่อเดือนเป็น 1 ใน 2 ของค่าแรงต่อเดือน
ฉะนั้น ถ้าแรงงานไทยอยากรวยเหมือน ‘เจฟฟ์’ ต้องใช้เวลา 87 ล้านปี และถ้าอยากรวยเหมือน ‘ธนินท์’ ต้องใช้เวลา 10 ล้านปี!!
ถามว่า จากตัวเลขเหล่านี้ คุณผู้อ่านมองเห็นอะไรหรือไม่?
มหาเศรษฐีพันล้าน, พนักงานกินเงินเดือน หรือผู้ใช้แรงงาน
3 นิยาม 3 ความหมาย จาก 3 สถานะที่ว่ามานี้ กำลังแสดงคำตอบที่เรียกว่า "ช่องว่าง"
ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยที่กว่าจะมีเท่ากันก็ใช้เวลานานเป็นล้านๆ ปี.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- "ไทย" ดินแดนเศรษฐีพันล้านอาเซียน อยากมั่งคั่งเหมือน "เจ้าสัว" ต้องทำงาน 2 ล้านปี
- "ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ" จากหนังฉายคั่นกลาง สู่ตำนานรักฮ่องกงฟีเวอร์
- "แฟรงก์ อบาเนล" ต้นฉบับนักต้มตุ๋นขั้นเทพ "เป็นใครก็ได้ที่อยากเป็น"
- จาก "บูเช็คเทียน" กลยุทธ์ "ทูตแพนด้า" พันล้าน "ช่วงช่วง" ตาย ส่อจ่ายมากโข
- สัญญาณอันตราย "มะเร็ง" โรคร้ายจ่ายแพง ชายเป็น "มะเร็งเต้านม" ได้
ข้อมูลอ้างอิง :
- State Minimum Wages | 2019 Minimum Wage by State (01/07/2019) : NCSL (National Conference of State Legislatures)
- While top CEOs make a median salary of $1 million a month, a typical worker in Mississippi pulls in $3,138. Here’s the median monthly earnings of full-time workers in every state - Andy Kiersz (19/03/2019) : BUSINESS INSIDER
- Cost of Living : NUMBEO
- ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) : กระทรวงแรงงาน