"จีน" ดินแดนอารยธรรมที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปี มีการกล่าวขานและวิพากษ์กันในหลายแง่มุม หากจะเอาให้เท่าทันสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้ ก็คงต้องย้อนกลับมาเล่าและเท้าความถึงดินแดนจีนและการสูญเสีย ... "ฮ่องกง"

หลายๆ คนทราบกันพอคร่าวๆ แล้วว่า "ฮ่องกง" นั้นเคยถูกปกครองโดย "อังกฤษ" ในช่วงหนึ่ง ก่อนที่จะมีการส่งคืนให้กับ "จีน" และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ "คนฮ่องกง" บางส่วน (นับแสนคน) ลุกออกมาชุมนุมประท้วง ที่แรกเริ่มเดิมที คือ การต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน แต่ลึกๆ แล้ว ต้องการเรียกร้อง "อธิปไตย" ให้ตนเอง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายท่านมองว่า "คนฮ่องกงรุ่นหลัง" ไม่เคยมองว่าตนเองเป็น "คนจีน" แต่มองว่า พวกเขาคือ "คนฮ่องกงที่เป็นคนฮ่องกงบนผืนแผ่นดินฮ่องกง"

ในบริบทนี้ ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการธุรกิจสากลและอาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมให้ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ฟังว่า ฮ่องกงถูกปกครองโดยอังกฤษ แล้วในช่วงที่อังกฤษเข้ามาปกครองฮ่องกงนั้นก็ได้มีการสร้างการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างหลายๆ อย่างของฮ่องกง ทำให้พลเมือง ประชาชน ปรัชญา การแสวงหาความรู้ รวมถึงวัฒนธรรมหลายๆ อย่างรับมาจากอังกฤษเกือบทั้งหมด แม้ว่าคนฮ่องกงจะมีอัตลักษณ์เฉพาะเป็นจีนฮั่น จีนกวางตุ้ง เหมือนกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ระบบการคิดหลายๆ อย่างเป็นแบบอังกฤษ

ตร.ฮ่องกงยิงแก๊สน้ำตา ปะทะม็อบโยนระเบิดเพลิง ประท้วงสัปดาห์ที่12
ตร.ฮ่องกงยิงแก๊สน้ำตา ปะทะม็อบโยนระเบิดเพลิง ประท้วงสัปดาห์ที่12

...

เมื่อคำว่า "ระบบคิดแบบอังกฤษ" เข้ามามีอิทธิพลและทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิดและเกิดการเรียกร้องอธิปไตยให้ตนเอง ก็น่านึกย้อนว่า เหตุการณ์ครั้งจีนต้องสูญเสียฮ่องกงให้แก่อังกฤษเป็นเช่นไร

ประโยคสนทนาเริ่มต้นจาก "ฮ๋วง ยู่ยเจ๋" แผนกสารนิเทศและการต่างประเทศเพื่อสาธารณะ สถานเอกอัครราชทูตจีนแห่งประเทศไทย ที่บอกเล่าอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง "จีน-ฮ่องกง และอังกฤษ"

คำว่า "บังคับ" ในที่นี้เป็นผลมาจาก "สนธิสัญญานานกิงและข้อตกลงปักกิง" โดยการลงนามสนธิสัญญาฯ ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากจีนพ่ายแพ้สงคราม ที่รู้จักกันดีในนามว่า "สงครามฝิ่น" ซึ่งการลงนามสนธิสัญญาฯ ก็เพื่อหวังจะยุติสงครามกับทางอังกฤษ นอกจากการจ่ายค่าชดใช้ต่างๆ ทั้งในด้านค่าเสียหายจากการทำลายฝิ่น การจ่ายค่าปฏิกรณ์สงคราม และเปิดเมืองท่าแล้ว ยังต้อง "ยินยอม" ให้ "ฮ่องกง" กลายเป็น "เขตเช่า" ของอังกฤษไป

"สงครามฝิ่น" มีทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1834-1843 และครั้งที่ 2 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1856-1860 ในกาลนั้นหากเทียบกับปัจจุบันก็คงทำให้นึกถึง "สงครามการค้า" ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในเวลานี้ ที่จุดเริ่มต้นความบาดหมางมาจาก "การได้เปรียบดุลการค้า" ระหว่าง 2 ประเทศ ในคราแรกจีนได้เปรียบดุลการค้าอังกฤษอยู่มากเกือบ 30 ล้านดอลลาร์ฯ ทีเดียว แต่แล้วก็ถึงจุดพลิกผัน เมื่อจีนกลายเป็นฝ่ายเสียดุลการค้าให้กับอังกฤษ เนื่องด้วยสินค้า "ฝิ่น"

จีนไม่ได้รับผลกระทบแค่การขาดดุลการค้าเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นคือ "การเสพติดฝิ่น" ที่ระบาดไปทั่วแผ่นดินจีน แม้จะมีกฎหมายออกมาเข้มงวดมากแค่ไหน ก็ยังมีการลักลอบนำเข้าอยู่ไม่ขาดสาย การขัดแย้งระหว่างจีนและอังกฤษรุนแรงเข้าจนถึงขนาดที่ว่า รัฐบาลจีนนำฝิ่นที่ยึดเป็นของกลางได้ไปทำลายทิ้งและเทลงทะเล จนอังกฤษไม่พอใจและใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาปิดล้อมชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง แน่นอนว่า "ฮ่องกง" ก็เป็นส่วนที่โดนปิดล้อมด้วยเช่นกัน แต่ด้วยกำลังที่ไม่อาจต้านทาน ทำให้จีนพ่ายแพ้สงครามในที่สุด และลงนาม "สนธิสัญญานานกิง"

ผ่านไปกว่า 10 ปี ทางอังกฤษได้มีการเรียกร้องจีนเพื่อขอเจรจาแก้ไขสนธิสัญญานานกิง แต่ไม่เป็นผลและทางการจีนได้มีการจับกุมลูกเรือด้วยข้อกล่าวหา "โจรสลัด" แม้อังกฤษจะพยายามเรียกร้องให้จีนปล่อยตัว โดยอ้างว่า เรือดังกล่าวควรได้รับการปกป้องตามสนธิสัญญานานกิง แต่จีนกลับปฏิเสธ เกิดการปิดล้อมเมือง แต่ในครั้งนี้ มีฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐฯ ร่วมด้วย ทำให้จีนพ่ายแพ้สงครามอีกครั้งและมีการลงนามสนธิสัญญาเทียนจินเพื่อทำการสงบศึก แต่ก็มีเหตุให้บาดหมางอีกหน จากการที่อังกฤษบอกว่า จีนไม่ยอมทำตามข้อสัญญาในสนธิสัญญาฯ คือ การตั้งสถานทูตในปักกิ่ง จึงเกิดการสู้รบกันขึ้นในปักกิ่งและฮ่องกง สุดท้ายจีนยอมจำนนด้วยเกรงว่าชาติตะวันตกจะบุกยึดพระราชวังต้องห้าม หลังจากที่สูญเสียพระราชวังไปแล้ว 2 หลัง

...

ผลจากการพ่ายแพ้ทำให้จีนต้องยอมยก "ฮ่องกง" ให้อยู่ภายใต้อธิปไตยอย่างถาวรแก่อังกฤษ

แต่ในส่วนคำว่า "เช่าฮ่องกง 99 ปี" นั้น เดิมต้องบอกว่า ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษตามข้อตกลงของสนธิสัญญานานกิงตั้งแต่แรกแล้ว แต่ภายหลังที่อังกฤษคืนฮ่องกงให้แก่จีนนั้น เป็นการคืนพร้อมๆ กับที่ดินอื่นๆ ที่ทำสัญญาเช่า 99 ปี

"ฮ๋วง ยู่ยเจ๋" อธิบายให้ฟังเพิ่มว่า ช่วงระยะเวลา 99 ปี ที่ฮ่องกงตกเป็นของอังกฤษ คือ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1898-1997 และในระยะเวลา 50 ปีหลังจากนั้น ฮ่องกงจะยังอยู่ภายใต้การปกครองระบบพิเศษ หรือเรียกว่า "เขตบริหารพิเศษ" นั่นเอง

แล้วหลังจากหมดสิ้นระยะเวลา 50 ปี ฮ่องกงจะเป็นอย่างไร?

...

"ฮ๋วง ยู่ยเจ๋" ย้ำหนักแน่น และหยิบยกคำกล่าวของ "สี จิ้นผิง" ที่ยืนยันว่า ความมุ่งมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจในการที่จะร่วมกันพัฒนาภายใต้ระบอบการปกครองแบบ "1 ประเทศ 2 ระบบ" จะช่วยยกระดับและสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้แก่ "ฮ่องกง"

หากมองสถานการณ์ที่มีแต่จะรุนแรงมากขึ้นในตอนนี้แล้ว ก็ต้องบอกว่า ยากเหลือเกินที่ฮ่องกงจะแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่มีการวางรากฐานกันมาอย่างยาวนานนี้ ฮ่องกงไม่อาจขัดขวางความตั้งใจของจีนได้

สอดคล้องกับที่ครั้งก่อนที่มีโอกาสสนทนากับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ที่มองว่า จีนไม่มีทางปล่อยฮ่องกงไป 100% เพราะสิ่งที่จีนต้องการและเป็นความฝัน คือ จีนเป็นหนึ่งเดียว

การพ่ายแพ้ของจีนและการสูญเสียให้ชาติตะวันตก

ผลจากการพ่ายแพ้สงครามฝิ่นนำมาซึ่งข้อตกลงทางสนธิสัญญานานกิงและข้อตกลงปักกิ่ง ทำให้จีนต้องยอมกัดฟันเปิดเมืองท่าเพิ่มอีก 11 แห่ง มหาอำนาจชาติตะวันตก 4 ชาติ คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหรัฐฯ ต่างแห่แหนเข้ามาทำการค้าเสรี เสียภาษีนำเข้าไม่เกินร้อยละ 2.5 แถมยังสามารถเข้าแผ่นดินจีนได้อย่างอิสระ ต้องจำยอมสูญเสียดินแดนให้ชาติตะวันตกทำสัญญาเช่ารวมถึงฮ่องกง ยาวนาน 99 ปี นับเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของจีนเลยก็ว่าได้

...

หากลองคิดดูว่า ณ เวลานี้ที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและฮ่องกงสั่นคลอน ชาติมหาอำนาจเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทหรือฉวยโอกาสแทรกแซงเกมการเมืองหรือไม่

ผศ.ดร.ดุลยภาค มองว่า ชาติมหาอำนาจตะวันตกยังคงเคารพกิจการภายในของจีนอยู่ เป็นอำนาจของรัฐบาลปักกิ่งตามระบอบ 1 ประเทศ 2 ระบบ ที่สำคัญ ฮ่องกงไม่มีกองทัพเป็นของตนเอง มีแต่กองตำรวจ ฉะนั้น ชาติตะวันตกสดับรู้ดีว่า ฮ่องกงทำได้แค่การเคลื่อนไหวของม็อบ จะไปไกลกว่าการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์คงไม่ได้ แล้วต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงจะประท้วงได้ผลขยับมากขึ้น สุดท้าย ก็ต้องเจอกับอิทธิพลของกองทัพจีน ฝ่าไม่ได้อยู่ดี นี่เป็นสิ่งที่ชาติตะวันตกรู้อยู่แล้ว

อีกเรื่อง คือ ใน 1 ประเทศ 2 ระบบ เรื่องนโยบายการต่างประเทศต้องสงวนไว้ให้รัฐบาลปักกิ่ง หมายถึง สถานทูต ทูตานุทูต การดำเนินการในระดับความสัมพันธ์แบบรัฐต่อรัฐ ฉะนั้น ชาติตะวันตกรู้ข้อจำกัดตรงนี้

"สิ่งที่ชาติตะวันตกทำได้ เท่าที่ลองประเมิน อาจเป็นลักษณะการพยายามโน้มน้าวให้มีการเจรจาระหว่างกันเพื่อให้จบลงโดยที่ไม่มีการนองเลือด การเจรจาในที่นี้ คือ อาจเพิ่มพลังต่อรองกับทางกลุ่มม็อบฮ่องกงให้สามารถขึ้นไปเจรจากับรัฐบาลฮ่องกงหรือปักกิ่ง อันนี้น่าจะเป็นเกมที่ชาติตะวันตกพอเล่นได้"

ในส่วนที่คนส่วนใหญ่มักยกเหตุการณ์ฮ่องกงมาเทียบกับเหตุการณ์ "เทียนอันเหมิน" นั้น ผศ.ดร.ดุลยภาค ก็มองว่า "มันต่างกัน"

  • พื้นที่ฮ่องกงมีขนาดเล็ก เป็นเขตบริหารพิเศษ ต้องข้ามช่องน้ำเข้ามาปราบบนเกาะฮ่องกงที่สนามบิน การระดมกำลังเป็นแสนๆ เข้ามาจัดการในเขต ข้ามมหาสมุทร หรือว่าเต็มๆ ได้แค่เกาลูน ไกลกว่านั้นลำบาก จำกัดวงเฉพาะอยู่เหมือนกัน
  • สภาพฮ่องกงพิเศษ เป็นสังคมนานาชาติ มีการติดต่อกับต่างชาติค่อนข้างเยอะ จีนจึงต้องระมัดระวังในการส่งคนมาปราบ แต่จีนก็รู้ เพราะเอาเข้าจริงก็ส่งหน่วยเฉพาะที่ใช้ในการเปรียบซินเจียงกับทิเบตมาแล้ว ซึ่งได้ผลปราบราบคาบเลย ทีนี้เขาจะแบ่งตรงนี้มาเพื่อปราบม็อบที่ฮ่องกง ก็อาจจะเป็นอีกอ็อพชันหนึ่ง

"ฉะนั้น สรุปได้ว่า มันมีอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนเทียนอันเหมิน สำคัญคือว่า เทียนอันเหมินเกิดขึ้นในปี 1989 ตอนนั้นกองทัพจีนยังไม่มีนวัตกรรมในการปราบจลาจลโดยละม่อม ใช้การซัดแบบเต็มพิกัดเลย ในวันนี้เวลาเปลี่ยน ถ้าปราบจริงๆ จีนคงต้องการทดสอบให้เห็นด้วยว่า จีนอดทนอดกลั้นมาประมาณหนึ่ง และการปราบของจีนจะไม่ซ้ำรอยเทียนอันเหมิน จีนต้องการพิสูจน์ตัวเองก็ได้ ต้องตามดู"

สุดท้าย สถานการณ์ "จีน-ฮ่องกง" จะไปจบที่จุดไหน คงต้องตามดูอย่างที่ ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวไว้ แต่ก็พอจะคาดเดาได้ว่า อนาคต "ฮ่องกง" คงหนีไม่พ้นการอยู่ภายใต้ระบอบ "1 ประเทศ 2 ระบบ" อย่างที่ "ฮ๋วง ยู่ยเจ๋" ย้ำหนักแน่นว่า "ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน".

ข่าวแนะนำ :