คนดังแห่งเมืองพัทลุง อดีตแชมเปียนส์เวทีมวยลุมพินี 2 เส้น รับโล่เกียรติคุณ “ลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่” แนะทุก “แม่” มีพระคุณที่สุด ไม่ว่าจะแม่ผู้ให้กำเนิด พระแม่โพสพ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี จงดูแลชีวิต “แม่” ผู้ให้กำเนิดให้ดีที่สุดกว่าชีวิตตัวเองแล้วจะพบความเจริญ...
เป็นประจำของ “วันแม่” ทุกปี ที่สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานโล่รางวัลแก่ผู้ได้รับคัดเลือกให้เป็น “ลูกผู้มีความกตัญญูอย่างสูงต่อแม่” ซึ่งในวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2562 นายวิวัตร ชูอุบล วัย 40 ปี หรือ ขุนพินิจ เกียรติตะวัน หรือ "โกไลแอต" อดีตแชมป์เวทีมวยลุมพินี 2 เส้น และเหรียญทองวูซูกีฬาซีเกมส์ ยอดมวยในดวงใจของใครหลายคน เป็นบุคคลหนึ่งใน 102 คนที่ได้รับรางวัลนี้ จากการที่สำนักงานเทศบาลตำบลอ่างทอง จังหวัดพัทลุง ที่เขาทำงานลูกจ้างส่วนราชการ ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่สันทนาการ ได้ส่งประวัติและคุณสมบัติตามที่สภาสังคมสงเคราะห์ประกาศไว้
“ทางเทศบาลส่งประวัติไป ผมไม่คิดว่าจะได้ด้วยซ้ำ ผมไม่ได้คาดหวัง เพราะผมทำกับแม่มาตลอดเป็นชีวิตประจำวันอยู่แล้ว รางวัลที่ได้จะยกให้กับแม่ผม ส่วนประวัติที่ส่งไปผมจะเก็บเป็นของชำร่วยงานศพของผม "คนเรารู้วันเกิดแต่ไม่รู้วันตาย" ผมได้ทำไว้แล้ว วันนี้ เวลานี้ ต่อไปนี้อีก 1 ชั่วโมง ถ้าเกิดผมเป็นอะไรขึ้นมา ผมไม่มีอะไรติดค้างกับแม่แล้ว เพราะผมได้ทำทุกวัน ไม่มีอะไรต้องเสียใจว่ายังไม่ได้ทำอะไรให้แม่ เพราะผมทำให้แม่ตลอดเวลา” อดีตแชมป์มวยไทย 2 เส้นลุมพินี เปิดใจกับทีมข่าวฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
...
ฟ้าลิขิตให้เป็น "นักมวย" ทั้งที่ชอบ "ฟุตบอล" มากกว่า
ความกตัญญูกตเวทีต่อแม่ของนายวิวัตรนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่เด็ก ซึ่งมีพี่น้องรวม 3 คน นายวิวัตรเป็นบุตรคนโต ครอบครัวทำอาชีพเกษตรกร สวนยางพารา ด้วยความที่ฐานะทางบ้านไม่ได้ร่ำรวย นายวิวัตรจึงต้องช่วยงานพ่อแม่ทุกอย่าง ทั้งเก็บยาง กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า และช่วยดูแลน้องๆ หลังจากเลิกเรียนก็กลับมาเลี้ยงวัวก่อนทำการบ้าน ในวันหยุดก็ต้องเลี้ยงวัวแทนพ่อแม่ ไม่มีเวลาไปเที่ยวเล่นเหมือนเด็กคนอื่นๆ
เมื่ออายุ 12 ปี เห็นข้างบ้านมีกระสอบมวยก็ไปเตะเล่นทุกวันๆ จนอยากต่อยมวย จึงขออนุญาตให้พ่อฝึกหัดมวยไทยให้ แต่พ่อไม่สอนเพราะเป็นลูกคนโต ถ้ามัวแต่ฝึกมวยแล้วใครจะช่วยงานบ้าน นายวิวัตรจึงชวนน้องชายไปเอาแกลบจากโรงสีข้าว มาใส่กระสอบทำเป็นกระสอบเตะมวยด้วยตัวเอง อยู่ที่บ้านประมาณ 1 ปี พ่อเห็นถึงความพยายามจึงฝึกหัดมวยไทยให้ แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามบ่น ห้ามท้อ ต้องทำให้ถึงที่สุด นายวิวัตรมีความตั้งใจ มุ่งมั่น และอดทน ฝึกซ้อมอย่างหนักในขณะที่ฝึกมวยก็ต้องช่วยงานบ้านไปด้วย
“แรกๆ พ่อไม่สอน เพราะไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากให้ลูกเจ็บตัว แต่มันเหมือนโชคชะตาฟ้าลิขิตให้ผมต้องเป็นนักมวย ทั้งที่จริงๆ แล้วผมชอบฟุตบอลมากกว่า ทุกวันนี้มีคนถามว่าตอนเด็กอยากต่อยมวยเพราะอะไร ผมก็ยังหาคำตอบไม่ได้ (หัวเราะ) เวลาต่อยมวย ผมไม่เคยคิดถึงการมีชื่อเสียง ต่อยเสร็จก็ให้พ่อแม่เก็บเงินไว้ ”
สร้างบ้าน 3 ล้าน พ่อแม่ต้องสบายก่อนลูก
พอนายวิวัตร อายุ 17-18 ปี ฝึกหัดมวยจนเก่ง ก็ได้ขึ้นชกในเวทีต่างๆ รวมถึงเวทีชื่อดังอย่าง “ลุมพินี” ใน กทม. จนมีชื่อเสียงโด่งดังระดับแชมป์หลายเวที ในชื่อ “ขุนพินิจ เกียรติตะวัน” ระหว่างนี้เขาก็ได้ฝึกกีฬาวูซู จนได้เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และได้รับเหรียญทอง กีฬาวูซู ประเภท 60 กิโลกรัม และเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์เอเชียที่ประเทศพม่า ได้รับเหรียญเงิน กีฬาวูซู ประเภท 60 กิโลกรัม
สิ่งที่นายวิวัตรทำมาตลอด คือ แบ่งเบาภาระพ่อแม่ นำเงินน้ำพักน้ำแรงที่ได้จากการแข่งขันชกมวยมาส่งตัวเองและน้องจนทั้งคู่เรียนจบปริญญาตรี แม้กระทั่งเงินแต่งงาน และแบ่งให้พ่อแม่ใช้มาตลอดจนปัจจุบัน เมื่อเลิกต่อยมวยใน ปี 45 กลับมาอยู่บ้านเกิด เขาก็สร้างบ้านให้พ่อแม่ในราคา 3 ล้านกว่าบาท ตามทฤษฎีความเชื่อ ความกตัญญูของเขาที่ยึดปฏิบัติมาตลอด ว่าให้ให้พ่อแม่สบายก่อนแล้วผมค่อยสบายทีหลัง
...
“ผมไม่เคยบอกรักแม่ แต่จะทำทุกอย่างให้แม่มีความสุข ทุกครั้งที่ไปซีเกมส์ ผมจะโทรหาแม่ทุกครั้งก่อนลงแข่งต่อยมวย ผมต้องขอพรจากแม่ คำอวยพรจากพ่อแม่เป็นคำอวยพรที่ออกมาจากก้นบึ้งหัวใจ ไม่มีใครหวังดีเท่ากับพ่อแม่เรา การให้แม่ที่ดีที่สุดคือ การเป็นคนดี แต่สิ่งที่ผมภาคภูมิใจที่สุด คือ ซื้อสร้อยทอง 1 บาท ข้อมือทอง 1 บาทให้แม่ในวันเกิดของผม เพราะครั้งหนึ่งก่อนหน้านั้นผมไม่รู้ว่าเกิดอะไร แม่ต้องขายสร้อยทองทั้งที่ไม่อยากขาย ตอนนั้นผมยังเด็ก ไม่ได้ต่อยมวย ตั้งแต่นั้นผมประกาศกับตัวเองว่าจะซื้อสร้อยคืนแม่มาให้ได้ และผมก็ทำได้ วันที่ซื้อทองมาให้แม่ แม่ร้องไห้มีความสุขมาก”
การ "กตัญญูกตเวที" ดีกว่าซื้อสังฆทานถวาย "พระ" อานิสงส์เยอะกว่า
ปัจจุบันนายวิวัตรเลิกต่อยมวยเป็นอาชีพมา 25 ปี แล้ว นอกจากงานประจำเป็นพนักงานจ้างของเทศบาลตำบลอ่างทอง เขาได้เปิดบ้านเป็นสถานที่ฝึกหัดมวยไทยให้กับผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยสอนในช่วงเช้าก่อนมาทำงาน ตอนเย็นหลังเลิกงาน และในวันเสาร์ วันอาทิตย์ นอกจากนี้ นายวิวัตรยังได้อุทิศตนเป็นวิทยากรสอนมวยไทยให้สถานศึกษา และมีโอกาสเดินทางไปเผยแพร่มวยไทยในต่างประเทศ หลายๆ ประเทศ แม้จะมีภารกิจที่มากมาย แต่นายวิวัตรก็ไม่เคยลืมที่จะทำหน้าที่ลูกด้วยดีเสมอมา และไม่ว่าจะทำสิ่งใด สุขหรือทุกข์ก็จะนึกถึง “แม่” เป็นคนแรก
...
“บุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ การทำดีกับพ่อแม่ คนเลวที่สุดคือ ทำให้พ่อแม่เสียน้ำตา ผมสอนน้องแบบนี้ตลอด ทุกคนในครอบครัวจะรู้ว่าผมรักแม่ขนาดไหน เวลาน้องไม่สบายใจก็บอกให้มาปรึกษาผม ห้ามไปบอกแม่ เพราะเราโลกกว้าง จะทำใจได้มากกว่าแม่ ผมทำน้ำดื่มยี่ห้อตัวเองขาย โหลแรกได้มาผมก็เอาไปให้แม่ดื่มก่อนขาย ถือเป็นมงคลชีวิต ถ้าผมฝันร้าย ไม่สบายใจ ผมก็จะเอาน้ำใส่กะละมัง ล้างเท้าแม่แล้วให้แม่เหยียบศีรษะผม
...
การกตัญญูกตเวทีมันดีกว่าซื้อสังฆทานไปถวายพระ ผมไม่ใช่ลืมพระ ก็ทำบุญกับพระปีละ 4-5 ครั้ง แต่ที่สำคัญคือผมทำกับพ่อแม่ไม่เคยขาด ทุกวันเกิดของผม ของลูก ผมจะไม่ทำบุญ แต่จะซื้ออะไรก็ได้ที่แม่ พ่ออยากกิน หรืออยากได้ พ่อแม่ไม่เคยบอก เพราะจะเสียดายเงิน แต่ผมจะสังเกตดูว่าเขาอยากได้อะไร ให้ดูแลพ่อแม่ขณะท่านมีชีวิตอยู่ให้ดีที่สุดกว่าชีวิตเรา ถ้าท่านจากไปแล้ว แม้จะวางกับข้าวมือละแสนหน้าโลง แม่ก็ไม่ได้กินหรอก ซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ ใส่ในโลง แม่ก็ไม่ได้ใช้หรอก การดูแลคนที่เรารักมันได้บุญมาก อานิสงส์เยอะกว่า
บรรดาแม่ๆ ทุกอย่างมีบุญคุณกับผมหมด ไม่มีแม่ผมก็ไม่ได้เกิด ไม่มีพระแม่โพสพก็ไม่ได้กินข้าว ไม่มีพระแม่คงคงก็ไม่มีน้ำใช้ ไม่มีพระแม่ธรณีก็ไม่มีแผ่นดินอยู่ อะไรที่เรียกว่าแม่ มีพระคุณหมด" อดีตแชมป์มวยไทย ผู้ได้รับรางวัล “ลูกผู้มีความกตัญญูอย่างสูงต่อแม่” ประจำปี 62 กล่าวแง่คิดฝากทิ้งท้าย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : ความจนบีบให้เป็น "เด็กช่าง" สานฝันวัยเด็ก ขอเหนื่อยแทนแม่ ขี่มอ'ไซค์ไปกลับ 40 โล
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ