แม่วัย 37 ปี ต้องรีบยุติการตั้งครรภ์ หลังคุณหมอตรวจพบ “ครรภ์เป็นพิษ” แม่และลูกเสี่ยงเสียชีวิต หลังคลอดลูกน้ำหนักแค่ 4 ขีดกว่าและยังมีลมหายใจ พ่อแม่สุดดีใจ ทีมแพทย์ รพ.รามาธิบดี ช่วยลูกจนรอดชีวิตและเติบโตโดยไร้สภาวะแทรกซ้อนใดๆ!
แทบไม่น่าเชื่อว่าจากเด็กน้ำหนัก 4 ขีด กลายมาเป็นลูกสาวที่น่ารักสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง เรื่องราวอันน่ายินดีที่มีโอกาสเกิดได้น้อยนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจาก “ตาร์” ผู้เป็นพ่อ โดยเขาหวังให้เรื่องราวของครอบครัว เป็นกรณีเคสศึกษาให้กับวงการแพทย์ และแม้ในความโชคร้ายก็เป็นความโชคดีที่ รพ. 2 แห่ง ไม่มีเตียงนอนจึงมีส่วนทำให้ลูกรอดชีวิต
...
ทีมแพทย์ รพ.รามาฯ ชุบชีวิตเด็กน้ำหนัก 4.5 ขีด
“ตาร์” ผู้เป็นพ่อย้อนเล่าเหตุการณ์ ในวันที่รู้ข่าวร้ายภรรยาท้อง 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน ต้องเจอสภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” เมื่อ เม.ย. 59 ขณะพบหมอตามนัดเพื่อรับยา ซึ่งภรรยาไม่ได้มีสภาวะผิดปกติใดๆ สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี แต่หลังการตรวจ พบ “ไข่ขาวรั่ว” คุณหมอระบุ “ครรภ์เป็นพิษ” ต้องรีบยุติการตั้งครรภ์โดยเร็ว
รพ. เครื่องมือไม่พร้อม จึงติดต่อไปยังอีก รพ. พบว่าเตียงไม่ว่าง ผู้เป็นพ่อจึงติดต่อปรึกษาพี่สาว ซึ่งเป็นพยาบาลอยู่ รพ.รามาธิบดี ให้ช่วยตรวจสอบเตียง พบว่ามีว่าง ภรรยาจึงถูกส่งตัวมาผ่า Cesarean section คือการผ่าตัดทางหน้าท้องเพื่อนำตัวเด็กทารกในครรภ์ออกมาทางแผลผ่าตัดด้านหน้ามดลูก ที่ รพ. รามาฯ ด้วยความเร่งด่วน
“พอรู้ว่าต้องยุติการตั้งครรภ์ เสียใจมาก เพราะเป็นท้องแรกของครอบครัวก็ทำใจไว้แล้ว หลังผ่าคลอดลูกหนัก 4 ขีดกว่า ตัวเล็กมาก ออกมาแล้วอยู่ตู้อบ 4 เดือนครึ่ง ลุ้นใจหายใจคว่ำตลอด สภาพจิตใจย่ำแย่เป็นห่วงลูก ตอนนี้ลูกมีสุขภาพเป็นปกติทุกอย่าง ไม่มีสภาวะแทรกซ้อนใดๆ ทีมแพทย์ พยาบาลเก่งมากๆ ทำให้ลูกรอดชีวิต จากเด็ก 4 ขีด ไม่น่าเชื่อว่าลูกจะมาถึงวันนี้ อายุ 3 ขวบ หนัก 4.9 กิโลกรัม ลูกยิ้มเก่ง เป็นเด็กอารมณ์ดี ดื้อซน เหมือนเด็กปกติทั่วไป” ผู้เป็นพ่อกล่าวความรู้สึก
รู้ทัน “ภาวะครรภ์เป็นพิษ” ปลอดภัยทั้งแม่และลูก
“ภาวะครรภ์เป็นพิษ” อันตรายต่อแม่และลูกแค่ไหน เรามาทำความรู้จักและเข้าใจอย่างถูกต้องจาก จาก ผศ.ดร.พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สาขาวิชาสูติศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
ภาวะครรภ์เป็นพิษ (preeclampsia) เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงระหว่างตั้งครรภ์ที่ส่งผลต่อสุขภาพแม่และทารก อาจมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้ สาเหตุของภาวะครรภ์เป็นพิษยังไม่ทราบแน่ชัด พบได้ในสตรีตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดี แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ตั้งครรภ์อายุน้อยกว่า 20 ปี หรือมากกว่า 35 ปี, เป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก, น้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐานขณะท้อง, ตั้งครรภ์แฝด
...
บางรายอาจไม่มีอาการเตือนใดๆ ส่วนใหญ่จะมีอาการถ้าอายุครรภ์เกิน 5 เดือน ปัจจุบันในไทยยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดครรภ์เป็นพิษอย่างมีประสิทธิภาพ แต่มีงานวิจัยที่พยายามนำวิธีการการตรวจคัดกรองประเมินความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ อาทิ ตรวจอัลตราซาวนด์ การเจาะเลือดที่ต้องใช้เทคโนโลยี โรงพยาบาลทั่วไปทำไม่ได้ เพราะมีราคาแพง
เมื่อตรวจเจอ “ครรภ์เป็นพิษ” หลักการรักษา ผศ.ดร.พญ.ภัทรวลัย ให้ข้อมูลกับทีมข่าวฯ ว่าต้องยุติการตั้งครรภ์ทันที ซึ่งขึ้นอยู่กับการประเมินอายุครรภ์ด้วย ในบางทีก็ก้ำกึ่งระหว่างเด็กจะตายหรือจะรอด บางทีก็อาจจะรอดได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยหมอต้องเป็นคนประเมิน “ไข่ข่าวรั่ว” คืออาการหนึ่งของครรภ์เป็นพิษ
...
“การเลือกใช้วิธียุติการตั้งครรภ์ หากอายุครรภ์เล็กๆ ก็จะเหน็บยาให้แท้งออกมา แต่ในบางรายอาจจะช้ามาก กว่ามดลูกจะเปิดและเด็กแท้งออกมา ต้องใช้เวลาเยอะ แม่อาจจะแย่ก่อน ในบางรายจึงจำเป็นต้องผ่าคลอด เพราะถ้าปล่อยไว้นานอันตรายจะเกิดกับแม่” ผศ.ดร.พญ.ภัทรวลัย อธิบาย พร้อมแนะนำ หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเข้าข่ายเกิดภาวะ “ครรภ์เป็นพิษ” ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนเพื่อดูแลให้ปลอดภัยทั้งแม่และลูกได้
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ
...