อย่าคิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แค่ลูกไม่อยากไปโรงเรียน แม่สุดช็อก! ลูกวัยแค่ 8 ขวบ คิดไม่อยากมีชีวิต เหตุเข้าเรียนก่อนเกณฑ์ รับวิชาการมากเกินไป กดดัน ถูกเพื่อนแกล้ง เครียดสะสมจนป่วยเป็นโรคซึมเศร้า (Depression) มา 3 ปี สัญญาณสำคัญที่พ่อแม่ควรตระหนักรู้ 

อาจเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อ หรือบางคนอาจจะคิดว่าเป็นไปได้ไงที่เด็กเรียนแค่ ป.3 จะป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า” และคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ได้เหมือนอาการที่เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ถ้าไม่เจอกับตัวเองก็คงไม่เข้าใจ เฉกเช่น “น้อย” (นามสมมติ) หญิงสาววัยกลางคนในจังหวัดหนึ่งของภาคใต้ ที่วันนี้ได้มาเปิดเผยเรื่องราวสุดช็อกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เมื่อลูกสาววัยแค่ 8 ขวบ จากเด็กสดใส ร่าเริง กลายเป็นคนเงียบ ไม่ค่อยพูดกับใคร กระทั่งป่วยเป็น “โรคซึมเศร้า”

บันทึกแรกของการรักษา เด็กอายุแค่ 8 ขวบ บอกหมอ
บันทึกแรกของการรักษา เด็กอายุแค่ 8 ขวบ บอกหมอ "คิดไม่อยากมีชีวิตอยู่" ซึ่งเป็นอาการของคนป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า"

...

“พาลูกไปหาหมอครั้งแรกเมื่อ 31 พ.ค. หลังหมอคุยกับลูกก็บอกว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า ตอนแรกไม่เชื่อ เพราะเข้าใจว่าโรคนี้เป็นแต่กับผู้ใหญ่ หมอเห็นท่าทางไม่เชื่อเลยบอกอีกว่า ลูกบอกไม่อยากอยู่บนโลกนี้แล้ว คิดจะตายแล้ว แม่จึงเชื่อหมอสนิทใจ และรู้สึกช็อกเหมือนกัน หมอบอกตอนนี้ลูกเหมือนเดินอยู่บนเส้นด้าย มีโอกาสพลัดตก ร่วงหล่นได้ทุกเวลา นี่คือความรู้สึกปวดร้าวหัวใจของผู้เป็นแม่ที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวตนของเธอกับลูกได้ เนื่องด้วยไม่อยากให้ใครรู้ และเกรงว่าลูกจะถูกล้อจนมีอาการหนักกว่าเดิม

ปฐมเหตุความหวังดีของ “พ่อ แม่” อาวุธร้าย ทำลายลูกโดยไม่รู้ตัว

หลังทราบข่าวร้ายจากคุณหมอ ได้ฟังเรื่องราวความจริงต่างๆ ของลูกที่ต้องเจอในโรงเรียน เธอนึกย้อนเหตุการณ์ต่างๆ ตามยิ่งทำให้เธอรู้สึกเสียใจ และไม่คาดคิดว่าความหวังดีของ “พ่อ แม่” จะเป็นอาวุธร้าย ทำลายลูกโดยไม่รู้ตัว สาเหตุของโรค หลังคุณหมอได้คุยกับลูกของเธอ ระบุว่าเกิดจากปัจจัยหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะ “อายุเข้าเรียนต่ำกว่าเกณฑ์”

ซึ่งลูกของน้อย (นามสมมติ) เข้าเรียน ป.1 ตั้งแต่อายุ 5 ขวบปลายๆ ทำให้เริ่มรู้สึกเก็บกดและเครียดกับการเรียน เนื่องด้วยเข้าเรียนไว และรับวิชาการมากเกินไป จึงเข้ากับเพื่อนๆ ไม่ค่อยได้ เพราะอายุที่แตกต่างกับเพื่อนร่วมห้องถึง 2 ปี ซึ่งตามเกณฑ์ปกติเข้าเรียน ป.1 ต้องมีอายุ 7 ขวบ

“ตอนหมอบอกว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้า แม่ได้ยินร้องไห้ไม่อายหมอเลย ไม่คิดว่าการที่น้องเก็บกดจากการเรียน การที่อายุต่างจากเพื่อนจะมีผลขนาดนี้ รู้ว่าพ่อแม่หวังดีกับลูก แต่สุดท้ายความหวังดีอาจทำร้ายลูกไม่รู้ตัว เด็กบางคนรับได้ แต่เด็กบางคนอาจจะรับไม่ได้ อยู่ที่หลายๆ อย่างด้วย บางคนจำใจรับ ไม่ต้องการแต่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าบอก พ่อแม่บางคนคิดว่าไม่เกี่ยว แต่พอเจอกับตัวเองก็เพิ่งมาเข้าใจเหมือนกัน” เธอกล่าวด้วยน้ำเสียงสลด

ป.1 เรียนดี เกรด 4 ทุกวิชา เริ่มมีระเบิดเวลา "โรคซึมเศร้า"

สาเหตุของโรคด้วยปัจจัยอื่นๆ คุณหมอเล่าให้เธอฟังว่า เด็กแต่ละอายุจะมีการพัฒนาการต่างกัน เช่น เด็กอายุ 3 เดือนกับเด็กอายุ 6 เดือน แม้จะห่างกันแค่ 3 เดือน แต่จะมีความแตกต่างกันหลายๆ อย่าง ทั้งอารมณ์ พัฒนาการต่างๆ ความคิด ซึ่งลูกของเธอจากการได้พูดคุย เคยโดนเพื่อนแกล้งเล่น ขังในห้องน้ำ จนทำให้ลูกไม่อยากไปเรียน เพราะไม่มีความสุข

...

“น้อย” (นามสมมติ) บอกเหตุผลกับทีมข่าวฯ ที่ส่งลูกเข้าเรียนก่อนเกณฑ์ เนื่องด้วยต้องทำงาน ตอนลูกเรียนอนุบาลไม่ได้มีปัญหาอะไร ก่อนย้ายมาเข้า ป.1 ที่โรงเรียนแห่งใหม่ สอบถามและแจ้งครูที่รับเข้าเรียนว่าอายุลูกไม่ถึงเกณฑ์เรียนได้ไหม จะให้ซ้ำชั้นหรือเปล่า เมื่อครูบอกไม่เป็นอะไร เธอจึงตัดสินใจให้ลูกเข้าเรียน ป.1 แต่ระหว่างเรียน เธอคอยถามไถ่ด้วยความห่วงใยกับครูประจำชั้นตลอดว่าลูกเรียนได้ไหม ก็ได้รับคำตอบว่าเรียนได้ดี และยังได้เกรด 4 ทุกวิชาด้วย

ใบนัดพบแพทย์ เพื่อยืนยันว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเด็กอายุแค่ 8 ขวบจะป่วยด้วยโรคนี้
ใบนัดพบแพทย์ เพื่อยืนยันว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าเด็กอายุแค่ 8 ขวบจะป่วยด้วยโรคนี้

...

“ครูบอกเรียนได้ เรียนดี คนเป็นแม่ก็ให้ลูกเรียนต่อเรื่อยๆ ตอนเรียน ป.1 เป็นปกติดี พอ ป.2 เริ่มเป็นคนเงียบ ถามไม่ตอบ เวลาเรียนจะนั่งเศร้า เหม่อลอย ต่อมามีอาการชอบเก็บตัวคนเดียวในห้อง ชวนไปไหนก็ไม่ไป ไม่อยากเจอเพื่อน ไม่อยากเข้าสังคม จากเด็กร่าเริงกลายเป็นเด็กที่เงียบ ไม่ค่อยพูดกับใคร” ผู้เป็นแม่ค่อยๆ ไล่เรียงเล่าอาการผิดปกติของลูก

เช็กลิสต์ “ลูกรัก” เข้าข่าย “โรคซึมเศร้า” หลังกลับจากเรียน

กระทั่งอยู่ ป.3 เปิดเทอมได้ 1 อาทิตย์ ลูกอายุใกล้จะ 8 ขวบ ส่วนเพื่อนร่วมห้องอายุ 9 ขวบ บางทีเล่น หรือหยอกกัน ลูกปรับตัวกับเพื่อนไม่ได้ และเรียนวิชาการเยอะเกินสำหรับเด็กจะ 8 ขวบ จนลูกสาวเครียด เบื่อ รู้สึกไม่รับรู้ และเร่ิมมีอาการหนัก คือ ไม่อยากไปโรงเรียน เมื่อถึงเวลาจะไปโรงเรียนลูกจะร้องงอแง พอใกล้ถึงโรงเรียนจะมีอาการสั่น จิกตามเข็มขัดนิรภัย ไม่ยอมลงจากรถ ถึงโรงเรียน เมื่อครูถามจะไม่ตอบไม่พูด มีอาการเหม่อลอย ซึ่งทราบจากหมอว่าเป็นอาการกำลังใช้ความคิด

ผลการเรียน ป. 1/2 ได้เกรด 4 ทุกวิชา
ผลการเรียน ป. 1/2 ได้เกรด 4 ทุกวิชา

...

หลังเลิกเรียน กลับถึงบ้าน ลูกมักเก็บตัวอยู่คนเดียวในห้อง พาไปเที่ยวบางทีจะขอกุญแจรถไปอยู่คนเดียวในรถ ไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากเจอเพื่อน ไม่อยากคุยกับใคร อาการของลูกจะไม่สนุก เมื่อเจอคนเยอะๆ วุ่นวาย เสียงดัง อาการจะเริ่มออก จะมีความเครียด และมีอาการหนักขึ้น กระทั่งตัดสินใจพาลูกไปพบหมอเมื่อปลายเดือน พ.ค. เพราะลูกคุยพูดเสียงดัง ตะคอก ต่อมาก็พูดโดยไม่มองหน้า ไม่สบตาใคร และเริ่มระบายออกด้วยการใช้ความรุนแรงกับสุนัข

“ป.3 เปิดเทอมได้ 1 อาทิตย์ อาการลูกเริ่มเป็นหนัก ปกติกลับจากโรงเรียน จะมากอดมาหอมแก้มแม่ทุกครั้ง พอมีอาการลูกจะไม่คุย ไม่มองหน้าใครเลย ชอบขังตัวเองคนเดียวอยู่ในห้อง ชวนไปไหนก็ไม่ไป ที่บ้านเลี้ยงหมาไว้ พี่เขยสังเกตเห็นว่าลูกมักไปเล่นกับหมา แล้วใช้ความรุนแรงกับหมา หลังๆ เริ่มมีอาการกัดเล็บเวลาเครียดด้วย” ผู้เป็นแม่เล่าด้วยน้ำเสียงเป็นกังวล

"ซึมเศร้า" โรคทางกรรมพันธุ์ เรียนช้าหน่อย แต่ดีกว่ากดดันลูก

ด้านการรักษา คุณหมอให้ยามากิน นัดพบทุก 2 อาทิตย์ และเดือนละครั้ง เพื่อติดตามอาการและประเมินการรักษาผลจากยาที่ให้กิน มีปฏิกิริยาอะไรบ้าง ซึ่งจากเดิมให้กินยาวันละมื้อ แค่ตอนเช้า แต่ยังไม่ได้ผล ตอนนี้หมอเปลี่ยนยา และเพิ่มขนาดยาให้มากขึ้น สำหรับพ่อแม่ในการช่วยบำบัดอาการของลูก คุณหมอแนะนำวิธีเธอว่า ต้องเข้าใจลูกให้มากขึ้น คอยสังเกตอาการลูก ถ้าเริ่มมีอาการ ให้กอดหรือพูดคุยกับลูก หากิจกรรมให้ทำ ไม่กดดันลูก มีเวลาให้ลูกมากขึ้น โดยเธอจะให้ลูกเรียนดนตรี เพื่อดนตรีจะช่วยบำบัดลูกได้อีกทาง ขณะนี้เธอกำลังรวบรวมข้อมูล

จากเด็กสดใสร่าเริง ป่วยเป็น
จากเด็กสดใสร่าเริง ป่วยเป็น "โรคซึมเศร้า" ต้องกินตอนเช้า กับก่อนนอน ครึ่งเม็ด เพื่อรักษาอาการ

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ จากการสอบถามน้าๆ ทำให้เธอรู้ว่าลูกของป้าเคยป่วยและโดดตึกฆ่าตัวตาย ทำให้เธอวิตกกังวลความปลอดภัยของลูก เพราะลูกบอกหมอแล้วว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว ถ้าวันใดวันหนึ่งลูกคิดกระโดดตึกจะทำอย่างไร โรคซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยทางความรู้สึก ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นตอนไหน เธอจึงป้องกันด้วยการย้ายให้ลูกมาอยู่โรงเรียนเล็กๆ ที่ไม่มีตึกสูง ในห้องมี 10 กว่าคน เพื่อให้ครูได้ดูแลทั่วถึง โรงเรียนมีพักเบรก เรียนแค่ไม่กี่วิชา

“ลูกเพิ่งไปพบหมอมา 3 ครั้ง กินยาตามหมอสั่ง อาการค่อยๆ เร่ิมดีขึ้น ลูกได้พูดระบายให้หมอฟังหมด วันที่ 18 กับ 24 ก.ค.นี้ หมอนัดไปทำแบบประเมินว่าลูกมีอาการดีขึ้นไหม ยังมีอาการหวาดกลัว อาการผิดปกติมากแค่ไหน แม่อยากให้เรื่องนี้ที่เกิดกับครอบครัวแม่ ให้คนอื่นรับรู้ ได้นำไปแก้ไขก่อนที่จะสาย บางทีให้ลูกเข้าเรียนก่อนวัย ก็ไม่ได้เป็นผลดี ให้ลูกโตและพัฒนาไปตามวัยดีกว่า ช้าหน่อยแต่ดีกว่าไปกดดันลูก เด็กแต่ละคนไม่ได้เหมือนกันทุกคน” น้อย (นามสมมติ) กล่าวให้ทิ้งท้ายเตือนสติ.

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่