ผ่านมายาวนานกว่า 6 ปี ยืดเวลาก่อสร้างมาแล้วถึง 3 ครั้ง "สถานที่ประกอบแต่กรรมดี" มูลค่ากว่าหมื่นล้าน ที่ประชาชนเฝ้ายลโฉมยังคงไม่แล้วเสร็จ บรรดา ส.ส. และ ส.ว. จำต้องระหกระเหินทำงานที่ "ออฟฟิศชั่วคราว" ค่าเช่าวันละ 3 แสนบาท!! ...
สัปปายะสภาสถาน ... สถานที่ประกอบแต่กรรมดี
กว่าจะมาถึงอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หากย้อนกลับไปในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีการประชุมครั้งแรกที่ "พระที่นั่งอนันตสมาคม" จากนั้นขยับขยายเป็น "อาคารรัฐสภาแห่งที่ 2" เริ่มก่อสร้างเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2513 บริเวณถนนอู่ทองใน เขตดุสิต ณ ขณะนั้น ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 51,027,360 บาท รวมระยะเวลาก่อสร้าง 850 วัน
...
และเมื่อจำนวนสมาชิก ส.ส.-ส.ว. เพิ่มมากขึ้นตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งข้าราชการที่ต้องปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ จึงเกิดเป็นแนวคิดโครงการก่อสร้าง "อาคารรัฐสภาแห่งที่ 3" แต่กว่าจะมีการหารือจัดหาสถานที่ (ปลาย ก.ค. 51) ออกแบบ เริ่มก่อสร้าง มาจนถึงวันนี้ เรียกว่า นานนับ "ทศวรรษ"
อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ หรือ "สัปปายะสภาสถาน" มีความหมายทางธรรมว่า สถานที่ประกอบแต่กรรมดี มีพื้นที่อาคาร 3.9 แสนตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร(เกียกกาย) เขตดุสิต ซึ่ง "สถาบันอาศรมศิลป์" อธิบายถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบว่า การออกแบบเป็นตามหลักการสถาปัตยกรรมไทยแบบไตรภูมิตามความเชื่อคติพุทธ โดยมีอาคารเครื่องยอดสถาปัตยกรรมตั้งอยู่บริเวณกลางอาคาร แสดงถึงโอกาสที่จะยกฐานะของรัฐสภาไทยสู่ระดับโลก ในส่วนของห้องพระสุริยัน (ห้องประชุม ส.ส.) และห้องพระจันทรา (ห้องประชุม ส.ว.) มีการนำสัญลักษณ์ "ขวัญ" มาเป็นองค์ประกอบหลัก เปรียบเสมือนขวัญของรัฐสภาและประเทศ
ในวันนี้ก่อสร้างมากว่า 6 ปีแล้ว ยังไม่พร้อมเปิดให้ใช้บริการ บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จึงจำเป็นต้องไปทำงาน ณ ศูนย์ประชุม บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ แจ้งวัฒนะ เป็นการชั่วคราว แต่มีค่าเช่าที่แรงไม่หยอก ตกเดือนละ 11 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 3.7 แสนบาท
ประชุมสภาฯ ดุเดือดเผ็ดมันกันมา 5 ครั้ง ท่านผู้อ่านคิดว่าอย่างไร?
มหากาพย์การก่อสร้าง 6 ปี ยืดเวลา 3 ครั้ง
เดิมทีแล้ว การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่มีกำหนดสร้าง 900 วัน คือ นับตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2556-24 พฤศจิกายน 2558 แต่ด้วยสารพัดปัญหา(?) ทำให้มีการขอยืดเวลาถึง 3 ครั้ง
...
... ไล่เรียงตั้งแต่
ครั้งที่ 1 ขอขยายเวลาเพิ่มอีก 387 วัน เป็นสิ้นสุด 15 ธันวาคม 2559 ให้เหตุผลว่า การส่งมอบพื้นที่ล่าช้า
ครั้งที่ 2 ขอขยายเวลาเพิ่มอีก 421 วัน เป็นสิ้นสุด 9 กุมภาพันธ์ 2561 ให้เหตุผลว่า เกิดปัญหาการขนย้ายมูลดินออกจากโครงการก่อสร้าง
ครั้งที่ 3 ขอขยายเวลาเพิ่มอีก 674 วัน เป็นสิ้นสุด 15 ธันวาคม 2562 ให้เหตุผลว่า เกิดความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่โรงเรียนโยธินบูรณะ ฯลฯ
...
รวมแล้วระยะเวลาการก่อสร้างตามสัญญา 2,382 วัน ซึ่งตอนนี้เหลือเวลาอีกแค่ 184 วันเท่านั้น แต่คืบหน้าเพียง 63.93%!! (ณ วันที่ 14 มิ.ย. 62) น้อยกว่าเป้าถึง 13.62% เฉลี่ยแล้วสร้าง 6 ปี ก่อสร้างได้ปีละ 10.66%!!
แล้วคุณผู้อ่านคิดว่า 184 วันที่เหลือ จะสามารถสร้างครบ 100% ทันตามกำหนดหรือไม่?
ลองคิดคร่าวๆ กำหนดเดิม 900 วัน ขยายเวลามาเป็น 2,382 วัน เท่ากับการก่อสร้างล่าช้า 1,482 วัน ค่าปรับ 12 ล้านบาทต่อวัน (ตามสัญญาเดิม) รวมแล้วต้องจ่ายเท่าไร?
คำตอบ คือ ผู้รับจ้างต้องจ่ายค่าปรับ 1.8 หมื่นล้านบาท!! "มากกว่า" งบประมาณการก่อสร้างถึง 6 พันล้านบาท (งบประมาณการก่อสร้าง 1.2 หมื่นล้านบาท) สามารถก่อสร้างอาคารรัฐสภาเพิ่มได้อีกแห่ง
...
แต่!! ผู้รับจ้าง "ไม่ต้อง" ควักเงินจ่ายค่าปรับสักบาท เพราะรัฐสภา "ยินยอม" ให้ขยายเวลาก่อสร้าง
ล่าสุด มีแววว่า กำหนดการแล้วเสร็จปลายปี 2562 อาจกระทบอีก โดยจากเอกสาร รายงานความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ประจำเดือนพฤษภาคม 2562 แจ้งว่า มีจำนวนแบบและรายละเอียดมาก ทำให้แบบรูปและรายละเอียดขัดแย้งกัน หรือแบบไม่สมบูรณ์ รวมถึงจำนวนแรงงานก่อสร้างมีไม่เพียงพอกับพื้นที่และปริมาณงาน ทำให้งานสถาปัตยกรรมคืบหน้าเพียง 32% เท่านั้น!!
ซึ่งขณะนี้ มีจำนวนแรงงานประมาณ 2,500-3,500 คนต่อวัน มีการแบ่งการทำงาน 2 ช่วงเวลา คือ 07.00-17.00 น. และ 18.00-02.00 น. โดยช่วงเดือนพฤษภาคมมีความคืบหน้าก่อสร้าง 1.40%
แต่สารพัดปัญหา(ฉาว) ไม่ได้มีแค่การก่อสร้างที่ยืดแล้วยืดอีก แต่มีทั้งกรณีการใช้ไม้สัก 5,000 ต้น เพื่อประกอบการก่อสร้าง ลานจอดรถ หรืออย่างระบบไอซีที 8 พันล้าน ก็เกิดปัญหาเฉกเช่นเดียวกัน ราคาไมโครโฟนล่อไป 1.2 แสนบาท นาฬิกาเรือนละ 7 หมื่นบาท ทีวีเครื่องละ 1.7 แสนบาท เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลกโซเชียล ซัดราคาแพงเว่อร์เกินราคาตลาดกว่าครึ่ง จนสุดท้าย ถูกปัดตกให้กลับไปทบทวนใหม่ และหั่นงบลงเหลือ 3 พันล้าน
แม้ตอนนี้จะได้ผู้รับจ้างงานไอซีทีแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะราบรื่น เพราะยังเหลือส่วนงานอื่นๆ อีก ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดมาพอสมควร
หรือต้องยินยอม "ขยายเวลา" อีกรอบ?
สถานที่ประกอบแต่กรรมดี ... เงินเดือนเหยียบแสน
ก่อนที่ ส.ส. และ ส.ว. จะได้เข้าไปนั่งทำงานใน "สถานที่ประกอบแต่กรรมดี" มูลค่าหมื่นล้าน มาย้อนดูรายได้ต่อเดือนของพวกเขากัน
จากเอกสาร สิทธิประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2556 ระบุ ส.ส. จะได้รับเงินต่อเดือน 113,560 บาท แบ่งเป็น เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท และเงินเพิ่ม 42,330 บาท รวมแล้ว ส.ส. 500 คน ต้องจ่ายทั้งสิ้น 56,780,000 บาท
ส่วน ส.ว. ได้รับเงินต่อเดือน 113,560 บาท แบ่งเป็น เงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาท และเงินเพิ่มอีก 42,330 บาท รวมแล้ว ส.ว. 250 คน ต้องจ่ายทั้งสิ้น 28,390,000 บาท
ขณะเดียวกัน หากคิดเป็นรายได้ต่อวันของ ส.ส. และ ส.ว. ตกคนละ 3,785 บาท!!
ใน 1 เดือน ต้องจ่าย ส.ส. และ ส.ว. ทั้ง 750 คน รวม 85,170,000 บาท!! ในจำนวนนี้ยังไม่ได้คิดเงินเดือนในตำแหน่งประธานสภาฯ รองประธานสภาฯ ผู้นำฝ่ายค้าน และคณะทำงานทางการเมืองของท่านๆ รวมแล้วมากกว่า 30 คน
ออฟฟิศมูลค่าหมื่นล้าน ที่ก่อสร้างมานานกว่า 6 ปี บวกค่าตอบแทนพนักงานอีกเดือนละเกือบร้อยล้าน ปีหนึ่งๆ ใช้งบประมาณมากโข
หากปลายปี 2562 นี้ ได้ฤกษ์ใช้งานตามกำหนดสัญญา (โรคเลื่อนไม่กำเริบ)
อยากฝากไว้ว่า "ใช้กันให้คุ้มนะครับท่าน"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน