ปัจจุบันโลกเชื่อมถึงกัน จากประเทศสู่ทวีป จากทวีปสู่ทั่วโลก จนผู้คนเรียกว่า 'โลกไร้พรมแดน' นักศึกษาบางคนคงรู้สึกว่ามันคงจะดีไม่น้อยถ้าครั้งนึงในชีวิตขณะเป็น "นักศึกษา" ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ท่องเที่ยว เรียนรู้ภาษา และสารพัดกิจกรรมในต่างประเทศ

การที่นักศึกษาไทยจะไปทำงานหารายได้พิเศษในช่วงปิดเทอมในต่างประเทศได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะ "สหรัฐอเมริกา" แต่ปัจจุบันก็มี "เอเจนซี่" หลายบริษัทจัดโครงการ Work and Travel ให้ได้ไปทำงานผ่านเงื่อนไขต่างๆ ของแต่ละบริษัท โดยบางรายนักศึกษาต้องยอมเสียเงินแสนกว่าบาท วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะมาชำแหละ ว่า Work and Travel  ไปแล้ว Work หรือ ไม่ ได้เงินหอบกลับไทยจริงไหม หรือแค่ขายฝัน คำโฆษณาตามกระแส 

...

ไขคำตอบ Work and Travel ไฉนให้สิทธิ์เฉพาะ “นักศึกษา”

นายเอกวัฒน์ ไทยวัฒน์ ผู้จัดการบริษัท อเมริกัน เลิร์นนิ่ง จำกัด ก่อตั้งมาร่วม 16 ปี ตั้งแต่ปี 2546 เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวอย่างละเอียด โดยเริ่มอธิบายถึง Work and Travel ว่า เป็นการให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ถึงปริญญาโท ไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและทำงานที่ต่างประเทศ ด้วยวีซ่าประเภท J1 ในระยะเวลาสูงสุด 4 เดือน และสามารถอยู่เที่ยวต่อได้อีก 30 วันหลังวีซ่าหมดอายุ แต่ห้ามทำงานโดยเด็ดขาด

นายปวริศ คุณธรรมสถาพร อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมโครงการ Work and Travel เมื่อปี 2558
นายปวริศ คุณธรรมสถาพร อดีตนักศึกษาที่เคยเข้าร่วมโครงการ Work and Travel เมื่อปี 2558

ทุกปีมีนักศึกษาสมัครโครงการกว่าพันคน แต่จะคัดเหลือ 800 คน เพื่อความสะดวกต่อการดูแลให้ทั่วถึง โดยนักศึกษาเลือกไปทำงานได้ประเทศเดียวคือ สหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังมีหลายองค์กรนำไปดัดแปลง เป็นโครงการ Work and Travel ประเทศอังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างออกไป สาเหตุที่จำกัดสิทธิผู้เข้าร่วมโครงการ Work and Travel ได้แค่เฉพาะนักศึกษา เพราะนักศึกษานั้นต้องกลับมาไทยเพื่อศึกษาต่อ ทำให้เกิดปัญหา “โดดวีซ่า” หรือ “โรบินฮู้ด” น้อย

“โรบินฮู้ด คือบุคคลที่อยู่ทำงานหรือใช้ชีวิตต่อในสหรัฐอเมริกาด้วยเหตุผลบางประการ ทั้งที่วีซ่าหมดอายุแล้ว เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นกับนักศึกษาในโครงการของเรา” นายเอกวัฒน์ให้เหตุผล

งาน เงิน ไม่ตรงความต้องการ ปัญหาที่ "นักศึกษา" โชคร้ายอาจเจอ

อาชีพที่ให้นักศึกษาเลือกทำนั้น เป็นงานประเภทที่ไม่มีความซับซ้อนมาก อาทิ งานโรงแรม สวนสนุก อุทยาน ฯลฯ เนื่องจากเป็นงานที่เรียนรู้ได้รวดเร็ว จึงสะดวกต่อทั้งนายจ้าง และนักศึกษา แต่อย่างไรก็ดีมักเกิดปัญหา นักศึกษาได้งานทำที่ตัวเองไม่ถนัด หรือได้เงินไม่ตรงตามที่ต้องการ ซึ่งบริษัทได้แก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยกับนักศึกษา เกี่ยวกับความชอบ สังเกตลักษณะนิสัย และความต้องการก่อนจะส่งไปทำงานในต่างประเทศ และบริษัทได้มีอาชีพที่ตอบรับทุกความต้องการ ทำให้ปัญหาเดิมๆ ที่นักศึกษาได้งานไม่ดี อันตราย และถูกเอาเปรียบจากนายจ้างจึงหมดไป

ปัญหาต่างๆ ที่นายเอกวัฒน์ กล่าวข้างต้น ทางบริษัทจะแก้ไขโดยการประสานงานกับสถานทูตอเมริกาให้จัดการ ซึ่งทางบริษัทอเมริกัน เลิร์นนิ่งมีข้อมูลของนักศึกษาที่ร่วมโครงการทุกคน โดยเมื่อนักศึกษาหมดเวลา Work and Travel และกลับมาไทยต้องแจ้งกับบริษัทภายในระยะเวลาที่กำหนด

...

จากนั้นบริษัทจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้สถานทูตอเมริกา ซึ่งไฟล์ข้อมูลจะถูกเก็บไว้ 5 ปี หากมีการตกหล่น สถานทูตอเมริกาจะดำเนินการต่อไป ถ้าสถานทูตขอข้อมูลนักศึกษา ทางบริษัทต้องส่งให้ภายใน 1 ชั่วโมง ส่วนโครงการ Work and Travel นั้น ได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เนื่องด้วยสถานทูตอเมริกาออกกฎเข้มงวดขึ้นทุกปี อาทิ การตรวจสอบนายจ้าง ความปลอดภัยของงาน ทำให้องค์กรมีความน่าเชื่อถือและปลอดภัยมากขึ้น

“หากไม่มองเรื่องค่าใช้จ่าย ประสบการณ์ที่ได้รับนั้นคุ้มมาก เพราะหาโอกาสแบบนี้ตอนเรียนจบแล้วนั้น คงยาก” นายเอกวัฒน์กล่าว

แชร์ "ขั้นตอน" ละเอียดยิบ กว่าจะได้ Work and Travel 

นางสาวธิดา ภูคารัตน์ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Work and Travel ปี 2562 เผยขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการว่า ขั้นแรกต้องเลือกบริษัทที่ดี น่าเชื่อถือ ซึ่งตนเลือกบริษัท OEG : Overseas Ed Group เนื่องจากเป็นองค์กรแรกของไทย และมีชื่อเสียงที่ดี ต่อมาเป็นการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ โดยให้พูดคุยกับเจ้าของภาษา ผลคะแนนมีระดับ 1 ถึง 10 ซึ่งระดับภาษาที่ได้นั้น มีผลต่อการเลือกงาน 

...

จากนั้นให้เลือกงานที่ตนสนใจ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ สวัสดิการ และความน่าเชื่อถือของนายจ้าง เมื่อเลือกแล้วจะได้สอบสัมภาษณ์กับนายจ้าง ขั้นตอนต่อมาซึ่งเป็นลำดับสุดท้ายคือ สอบขอวีซ่า ซึ่งทั้งหมดนี้จะผ่านหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ "ภาษาอังกฤษ" ทั้งสิ้น เมื่อสอบผ่านทั้งหมดแล้ว จึงเตรียมตัวเดินทาง ซึ่งระหว่างรอ ควรศึกษาเงื่อนไขในเอกสารและรายละเอียดให้ถี่ถ้วน หาข้อมูลงานที่เราสนใจ นอกจากนี้ ควรศึกษากฎหมาย ข้อบังคับ การเก็บภาษี สภาพสังคม ของประเทศที่จะไปเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์

“สำหรับนักศึกษา การไปสหรัฐฯ วิธีนี้เป็นการเดินทางที่ง่ายที่สุดแล้ว เพราะปกติประเทศนี้ไม่ได้ขอวีซ่ากันง่ายๆ แต่ด้วยโครงการนี้ องค์กรคอยชี้แนะการขอวีซ่าให้ ซึ่งง่ายกว่าการไปขอเอง เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ไปฝึกภาษา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม”

เผยยอดเงิน ปูทางเปิดประสบการณ์ Work and Travel 

รายละเอียดค่าใช้จ่ายสำหรับ Work and Travel นางสาวธิดา ซึ่งกำลังร่วมโครงการ Work and Travel ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม จนถึงวันที่ 20 สิงหาคม ที่ นคร Safeway Mountain view มณฑลซานตาคลารา รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า โครงการของบริษัท OEG นั้นมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องด้วยเครดิต ชื่อเสียงที่ดี ประสบการณ์สูง และมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งตนเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด ประมาณ 140,000 บาท

...

แบ่งเป็นค่าจองงาน 6,500 บาท ค่าสัมภาษณ์กับนายจ้าง 69,000 บาท ค่าวีซ่า 9,500 บาท ค่าเดินทาง 25,000 บาท ค่าที่พัก และเงินติดตัวอีก 30,000 บาท เมื่อมีรายได้จากการทำงานแล้ว จะนำรายได้ไปใช้จ่ายหรือหมุนเงินต่อไป ทั้งนี้นักศึกษาบางราย เมื่อมาทำงานที่ต่างประเทศแล้วอาจเกิดเหตุการณ์ไม่ได้ดั่งใจ เช่น บางรายได้กำไร บางรายเท่าทุน และบางรายขาดทุน นั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้เงินของนักศึกษาเอง

นางสาวธิดา ภูคารัตน์ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Work and Travel ปี 2562
นางสาวธิดา ภูคารัตน์ นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Work and Travel ปี 2562

นางสาวธิดา ให้ข้อมูลเสริมอีกว่าการไป Work and Travel นั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ข้อดีคือการได้ฝึกใช้ภาษา ได้ท่องเที่ยว พบเจอผู้คนใหม่ๆ เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง รู้จักการแก้ไขปัญหา ทำให้เราเติบโตขึ้น แต่ข้อเสียคือ เราไม่สามารถทราบขีดจำกัดของเงินที่เราต้องเตรียมไว้ได้ เพราะไม่ทราบว่าต้องใช้จ่ายอะไรบ้าง นอกจากนี้เอกสารยังมีเงื่อนไขที่ยุ่งยาก ประกันอุบัติเหตุคุ้มครองไม่ครบ และค่ารักษาพยาบาลที่มีจำกัด

เธอเลือกทำงาน Fresh cut เหตุผลที่เลือกงานนี้ เนื่องจากเป็นงานที่ทำในห้าง ไม่ต้องออกแดด ตรงกับความต้องการของตัวเอง ซึ่งงานที่ตนได้ทำนั้น มีดีกว่าที่คิดไว้ อีกทั้งนายจ้างไม่เอารัดเอาเปรียบ และใจดีมากๆ เพราะเราเป็นนักศึกษาที่มากับวีซ่า J1 จึงไม่ต้องทำงานหนัก โดยทำงานวันละ 6-7 ชม. 5 วันต่อสัปดาห์ นอกจากนี้เธอกล่าวว่ารายได้ต่อวันนั้น เมื่อเทียบสัดส่วนแล้วคุ้มกว่ารายได้ขั้นต่ำต่อวันที่ไทยอย่างมาก

“Work and Travel ทำให้เราได้ฝึกภาษาอังกฤษมากขึ้น ซึ่งจำเป็นมากต่อการสมัครงานในปัจจุบัน เพราะบริษัทต่างๆ เริ่มใช้เกณฑ์คะแนนจากข้อสอบ TOEIC กับ TOEFL และภาษาอังกฤษยังจำเป็นกับอีกหลายๆ องค์กร”

เธอกล่าวให้แง่คิดอีกว่าเมื่อก่อนนักศึกษายังทราบข้อมูลไม่ดีพอ ไม่มีการนำมาบอกต่อในโซเชียลมีเดียเหมือนปัจจุบัน หลายรายจึงถูกคุกคาม เอารัดเอาเปรียบได้ง่าย แต่ปัจจุบันองค์กรได้เข้ามาคุ้มครองแล้ว นางสาวธิดาฝากความห่วงใยถึงนักศึกษาที่กำลังสนใจ Work and Travel ว่า ควรศึกษาข้อมูลให้ดี ตรวจสอบให้ถี่ถ้วน ทั้งเงื่อนไข กฎหมาย ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพื่อที่เราจะได้ไม่เสียเปรียบ เลือกงานที่ตัวเองชอบ อย่าตามกระแสหรือคำโฆษณา แล้วจะมีความสุข

เลือก "เอเจนซี่" ผิด ชีวิตเปลี่ยน ฉีกความฝัน พังความหวัง

ด้านนายปวริศ คุณธรรมสถาพร นักศึกษาที่เคยเข้าร่วมโครงการ Work and Travel ของบริษัทหนึ่ง เมื่อปี 2558 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า สิ่งที่ตนได้รับหลังเข้าร่วมโครงการ คือ ทักษะการใช้ภาษาที่ดีขึ้น ได้เรียนรู้เปิดรับประสบการณ์ใหม่ๆ ในต่างแดน ได้ฝึกการทำงานให้ดีและรวดเร็วขึ้น และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ ทางองค์กรจะให้ Tax Refund หรือการคืนภาษี แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายให้องค์กรเพิ่มเติม 

ส่วนค่าใช้จ่าย Work and Travel ทั้งหมดประมาณ 130,000 บาท จำแนกเป็นค่าโครง 55,000 บาท ค่าวีซ่า 8,500 บาท ค่าเครื่องบินไปกลับ 30,000 บาท เงินติดตัวไว้ใช้ 35,000 บาท ซึ่งตนรู้สึกว่า เฉพาะค่าโครงการอย่างเดียวถือว่าคุ้ม แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตนรู้สึกว่าไม่คุ้มเท่าไหร่ นอกจากนี้ ตนยังประสบปัญหาต้องเปลี่ยนงานและมลรัฐที่เลือกไว้ เนื่องจากองค์กรที่สหรัฐอเมริกาเปิดรับนักศึกษาจำนวนมาก จากหลายประเทศ กลายเป็นว่า "คนมาถึงก่อนมีสิทธิเลือกงานก่อน" ตนจึงไม่ได้งานตามที่ตกลงกันไว้

ทางองค์กรจึงจัดหางาน Part time ง่ายๆ ให้ทำก่อน อาทิ ยกของ ยกเก้าอี้ จัดอีเวนต์ ซึ่งได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 8 $ หรือประมาณ 250 บาท ได้ทำอาทิตย์ละ 3-4 วัน วันละ 7-8 ชั่วโมง ทำอยู่ประมาณเดือนกว่าๆ สุดท้ายจึงจำเป็นต้องตัดสินใจเปลี่ยนรัฐเปลี่ยนงาน เนื่องจากการหางานทำเองที่อเมริกาโดยไม่ผ่านองค์กร เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เงื่อนไขเยอะ จะเสียเวลาว่างไปโดยเปล่าประโยชน์ 

“เมื่อเปลี่ยนงานก็ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักเพิ่มขึ้น ไม่ได้เงินประกันคืน อีกทั้งค่าที่พักที่ต้องหาใหม่กลับมีราคาแพงกว่าที่องค์กรจัดหาให้ ส่วนค่าเดินทางไปต่างรัฐนั้นองค์กรออกค่าใช้จ่ายให้ แต่ขากลับต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เพราะเราจองตั๋วเครื่องบินกลับประเทศไว้ที่รัฐเดิม” 

อดีต Work and Travel เตือน ให้ระวัง ไปแล้ว "ได้ไม่คุ้มเสีย" 

นายปวริศ เปิดเผยข้อมูลอีกว่า ถือว่าตนโชคดีที่องค์กรในอเมริกาสามารถติดต่อให้ไปทำงานรัฐอื่นได้ ในขณะนั้นมีนักศึกษาที่ต้องย้ายรัฐถึง 10 กว่าคน ซึ่งทางองค์กรของไทยมีหน้าที่แค่พาไปอเมริกาและประสานงานเท่านั้น ไม่สามารถหางานให้ได้เพราะขอบเขตการรับผิดชอบมีอย่างจำกัด อีกทั้งพบข้อเสีย คือ ประสานงานช้ามาก ซึ่งตอนนั้นตนนั้นแจ้งปัญหาไม่ได้งานตรงกับที่ต้องการไปนานแล้ว แต่องค์กรใช้เวลาเกือบเดือนในการดำเนินการ เมื่อมีนักศึกษาไทยจำนวนมากแจ้งปัญหามากขึ้น องค์กรจึงเดินทางจากไทยมายังอเมริกาเพื่อมาแก้ปัญหาโดยตรง

อาชีพที่ตนได้ Work and Travel คือ House Keeper คอยทำความสะอาด จัดการโรงแรม อาทิ จัดเซตเตียงนอน ทำความสะอาดห้องน้ำ ได้รับค่าจ้างชั่วโมงละ 10$ หรือประมาณ 300 กว่าบาท รวมทิปที่แขกให้ถือว่าได้เงินเยอะทีเดียว แต่มีการจำกัดชั่วโมง ประมาณสัปดาห์ละ 50 ชั่วโมง

นายปวริศ ฝากเตือนว่า การไป Work and Travel เป็นเหมือนการเสี่ยงโชคถ้าได้นายจ้างดี เพื่อนดี งานดีก็ถือว่าโชคดี หลายคนประสบความสำเร็จจากการไป Work and Travel จนกลับไปร่วมโครงการอีกหลายปีติดต่อกัน ซึ่งความสำเร็จขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ข้อเสียที่ตนเจอคือ ค่าใช้จ่ายที่รู้สึกว่าไม่คุ้มสักเท่าไหร่ 

ค่อนข้างผิดหวังกับการทำงานของบริษัท ถ้าหากตนได้งานตามที่ตกลงไว้ตั้งแต่แรก คงไม่เกิดปัญหาการย้ายไปรัฐอื่น ทำงานอื่นที่ไม่ได้เลือกไว้จนต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เตรียมการไว้ ซึ่งตนนั้นสนใจโครงการ Work and Travel จากการเข้าไปอ่านตามเว็บไซต์ต่างๆ และคาดหวังว่าคงได้กำไรกลับมา แต่กลายเป็นว่าท้ายที่สุดแล้ว ตนได้เงินกลับมาเพียงครึ่งนึงของจำนวนเงินที่ลงทุนไปทั้งหมด แม้ว่าตนนั้น จะใช้จ่ายประหยัดในสหรัฐอเมริกาแล้วก็ตาม 

“รู้สึกว่าไม่คุ้มกับประสบการณ์ที่ได้สักเท่าไหร่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายทั้งหมด สามารถเอาเงินมาทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ได้อีกเยอะ ค่าใช้จ่ายที่เสียไป สามารถเอามาเปิดธุรกิจขนาดย่อมได้เลย” นายปวริศกล่าว

คำนวณละเอียด ทุ่ม Work and Travel แสนกว่าบาท คุ้ม หรือขาดทุน

คุ้มหรือไม่ เป็นอีกคำถามสำคัญ ก่อนที่พ่อแม่ หรือนักศึกษาจะตัดสินใจเลือกจ่ายเงินที่สูงหลักแสนเพื่อ Work and Travel กับเอเจนซี่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อไขข้อสงสัยทีมข่าวจึงลองคำนวณรายได้ โดยยกตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายจากโครงการ Work and Travel ของบริษัท อเมริกัน เลิร์นนิ่ง จำกัด ซึ่งระบุไว้ในเว็บไซต์ว่าสามารถแบ่งชำระได้ 3 งวด ดังนี้ งวดที่ 1 จำนวน 15,000 บาท งวดที่ 2 จำนวน 20,000 บาท งวดที่ 3 จำนวน 43,000 บาท รวม 78,000 บาท

และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ดังนี้ ค่า VISA Package จำนวน 8,500 บาท ค่าตั๋วเครื่องบิน 35,000-50,000 บาท (*ขึ้นอยู่กับสายการบิน เมือง หรือรัฐ) ค่าใช้จ่ายในการเลือกงาน แบ่งเป็น 2 แบบ คือ Mini Premium Location 4,000 บาท และ Premium Location 8,000 บาท ซึ่งหากนักศึกษาสนใจร่วมโครงการกับ บริษัท อเมริกัน เลิร์นนิ่ง จำกัดนี้ ต้องใช้เงินรวมทั้งหมด 125,500-144,500 บาท ทั้งนี้ ยังต้องมีค่า Pocket Money และค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำรองส่วนตัวก่อนได้รับค่าจ้างประมาณ 1,500$ หรือประมาณ 46,950 บาท

ค่าจ้างงานในอเมริกามีค่าแรงขั้นต่ำ 7.25$ ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 227 บาทต่อชั่วโมง ทีมข่าวลองคิดคำนวณค่าแรงที่ควรจะได้ พบว่าจากเงินที่นักศึกษาจ่ายเพื่อเข้าร่วมโครงการ Work and Travel จำนวนแสนกว่าบาทนั้น เมื่อเทียบกับจำนวนค่าแรงแล้วไม่คุ้มนัก หากแต่จะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อนักศึกษา ไม่กิน ไม่เที่ยวเลย ซึ่งค่าจ้างงานในอเมริกาแต่ละประเภท (ประมาณ 30-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.5-10$ ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 203-313 บาทต่อชั่วโมง ระยะเวลาทำงาน 2 เดือนครึ่ง-4 เดือน

ตัวอย่างเช่น ถ้าทำ 30-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
เฉลี่ยตกวันละ 4-6 ชั่วโมง
ค่าแรงต่อวัน 812-1,878 บาท
ค่าแรงต่อสัปดาห์ 6,090-12,520 บาท
ค่าแรงต่อเดือน 24,360-50,080 บาท

ค่าแรง 2 เดือนครึ่ง 60,900-125,200 บาท
ค่าแรงรวม 4 เดือน 97,440-200,320 บาท (* ยังไม่หักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าที่พัก)

และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในประเด็น โครงการ Work and Travel ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ต่อสายตรงไปยัง สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เพื่อให้ช่วยถ่ายทอดโครงการนี้ ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

*** โดยเฉพาะมาตรการใหม่ เรื่องการตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดีย ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง อยู่ในขณะนี้ *** 

Sarah Duffy Acting Consular Chief

ซึ่ง คุณซาราห์ ดัฟฟี่ หัวหน้ารักษาการกงสุลใหญ่ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย

ได้ให้คำตอบกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เอาไว้ดังต่อไปนี้ 

1.เหตุผลที่รัฐบาลสหรัฐฯ เปิดให้มีการขอวีซ่า J-1 ตามโครงการ Work & Travel 

What are the reasons the U.S. government permits J-1 visa application for Work and Travel program?

The Summer Work Travel program allows university students to live and work in the United States during their summer vacation. This builds new and lasting relationships between our two countries as students can share Thai language, culture, and customs with the Americans they meet while also learning about the United States, its values, and its people.

โครงการทำงานพิเศษและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อนเปิดโอกาสให้นิสิต/นักศึกษามหาวิทยาลัยได้ลองใช้ชีวิตและทำงานในประเทศสหรัฐอเมริกาในระหว่างช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศเนื่องจากนักศึกษาชาวไทยสามารถแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับภาษา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมไทยให้กับชาวอเมริกัน โดยที่ในขณะเดียวกันก็สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ค่านิยม และชาวอเมริกันด้วย

2.จำนวนผู้ขอวีซ่า J-1 จากประเทศไทย เพื่อร่วมในโครงการ Work & Travel ช่วงระหว่างปี 2014-2019 

How many Thai people have applied for J-1 visa for Work and Travel program in 2014-2019?

Thailand is one of the top ten countries in the world in terms of the number of total Summer Work Travel participants. From 2017 to 2019 the number of participants from Thailand has increased by around 20 percent, demonstrating how popular this program is for Thai university students.

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศ 1 ใน 10 อันดับของโลกที่มีจำนวนผู้สมัครวีซ่าโครงการทำงานพิเศษและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อนสูงสุด ในช่วงระหว่างปีค.ศ. 2017 ถึง 2019 จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ซึ่งแสดงถึงความนิยมอย่างสูงของนักศึกษามหาวิทยาลัยไทยที่มีต่อโครงการนี้

3.จำนวนของผู้ที่ถูกปฏิเสธวีซ่า J-1 ช่วงระหว่างปี 2014-2019  

How many people have had their J-1 visa application denied during 2014-2019?

The vast majority of applicants are approved. This summer there are well over five thousand Thai students in the U.S. participating in the Work Travel Program.

ผู้สมัครวีซ่าส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติวีซ่า ปิดเทอมภาคฤดูร้อนปีนี้มีนักศึกษาไทยจำนวนมากกว่าห้าพันคน ที่ได้เข้าร่วมโครงการทำงานพิเศษและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อน

4.มาตรการใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะขอตรวจสอบ บัญชีโซเชียลมีเดียย้อนหลัง 5 ปี ครอบคลุมถึงการขอวีซ่า J-1 ด้วยหรือไม่ หากปฏิเสธ จะมีผลอย่างไร การโพสต์ลักษณะใด ถือว่าเข้าข่ายที่จะไม่ได้รับวีซ่า และข้อมูลการโพสต์ต้องห้าม จะถูกรักษาเป็นความลับหรือไม่ 

Will the new USG requirement for social medial handles over the past five years affect J-1 visa application? What are the consequences of one’s refusing to provide the required information? What kind of social media posts will result in denial of visa application? Will prohibited post contents be kept confidential?

Collecting this additional information from visa applicants will strengthen our process for vetting visa applicants and confirming their identity. This information will be used for identity resolution and to determine whether an applicant is eligible for a U.S. visa under U.S. law. 

and increase security for both U.S. citizens and Thais travelling to the U.S. Americans value freedom of speech, and simply expressing your opinion on political or other issues does not affect your U.S. visa application.

We recommend that all applicants complete the application as fully and honestly as possible to avoid any delays in processing. Failure to provide accurate and truthful responses in a visa application may result in denial of the visa by a consular officer. All information collected in the visa application process is considered confidential. and is strictly protected under U.S. law.

การเก็บข้อมูลโซเชียลมีเดียเพิ่มจากผู้สมัครวีซ่าเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการพิจารณาคำร้องวีซ่า และยืนยันอัตลักษณ์ของผู้สมัคร โดยที่ข้อมูลนี้จะถูกใช้ในการยืนยันอัตลักษณ์และการพิจารณาคุณสมบัติในการได้รับวีซ่าของผู้สมัครภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ  และเป็นการยกระดับความปลอดภัยให้กับทั้งคนอเมริกันและคนไทยที่เดินทางมายังสหรัฐฯ ชาวอเมริกันยึดมั่นในหลักการเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) การแสดงความคิดเห็นโดยทั้วไป ทั้งในประเด็นการเมืองและเรื่องอื่นๆจะไม่มีผลกระทบต่อการสมัครขอวีซ่าสหรัฐฯของท่าน

ทางสถานทูตฯ แนะนำว่าผู้สมัครทุกท่านควรจะกรอกแบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าให้ครบถ้วนและตรงตามความจริง หากท่านให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ คำร้องขอวีซ่าของท่านอาจได้รับการปฏิเสธโดยเจ้าหน้าที่กงสุล ข้อมูลทั้งหมดในแบบฟอร์มคำร้องขอวีซ่าจะถือเป็นความลับ และได้รับการคุ้มครองอย่างเข้มงวดภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ

5.เหตุใด นักศึกษาอาชีวศึกษาของไทย จึงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้ 

What are the reasons vocation school students are not allowed to participate in this program?

This program is designed specifically for university students. There are other similar exchange visitor programs that have different requirements, such as the camp counselor program or the intern program. More info can be found at: https://travel.state.gov/content/travel/en/us-visas/study/exchange.html

โครงการนี้ออกแบบมาเพื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยโดยเฉพาะ อันที่จริงแล้วเรามีโครงการแลกเปลี่ยนอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขในการสมัครแตกต่างกัน อาทิ โครงการผู้นำกิจกรรมในค่าย หรือโครงการฝึกงาน ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://travel.state.gov/content/travel/en/us-visas/study/exchange.html

6.อะไรคือปัญหาที่ นศ.ไทยส่วนใหญ่ พบบ่อย และติดต่อมาที่สถานทูตสหรัฐฯ เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา ด้วยวีซ่า J-1ตามโครงการ Work & Travel

What are the common problems Thai students have and contact the U.S. Embassy for assistance with, after entering the United States with J-1 visa for Work and Travel program?

The vast majority of students have a wonderful experience, and many return for a second summer. However, if a student feels they are mistreated they should contact the 1-866-283-9090 (24 hours a day, 7 days a week), a Department of State helpline created to ensure the health and safety of its exchange participants. Students have a right to be treated fairly and to report abuse without retaliation or threat of program cancellation.

นักศึกษาส่วนใหญ่ได้รับประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม หลายคนกลับมาเข้าร่วมโครงการเป็นครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม หากผู้ร่วมโครงการรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม โปรดโทรไปแจ้งได้ที่เบอร์ 1-866-283-9090 ซึ่งเป็นหมายเลขสายด่วนของกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่สามารถติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับรองความปลอดภัยให้กับผู้ร่วมโครงการแลกเปลี่ยน นักศึกษาทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และมีสิทธิแจ้งร้องเรียนหากได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกส่งกลับหรือถูกยกเลิกโครงการ

7.พบปัญหาผู้เข้าร่วมโครงการ Work & Travel ทำผิดสัญญาและหลบหนีเข้าไปพำนักในสหรัฐฯ บ้างหรือไม่ ในช่วงระหว่างปี 2014-2019 คนนักเรียนไทย ถูกจับและส่งกลับกี่คน

Are there cases where Work & Travel participants break the contract, illegally enter and stay in the United States? During 2014-2019, how many Thai students have been arrested and deported?

In every visa category there are people who misuse or overstay their visa. The majority of Thai visa recipients use their visa appropriately and travel to the U.S. without any issues.

ไม่ว่าจะเป็นวีซ่าประเภทใดก็มีผู้ใช้วีซ่าผิดเงื่อนไขหรืออยู่เกินระยะเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ตามคนไทยที่ได้รับวีซ่าส่วนใหญ่ใช้วีซ่าอย่างเหมาะสมและเดินทางเข้าออกประเทศสหรัฐฯ ได้โดยไม่มีปัญหา

8.อยากมีคำแนะนำใด สำหรับผู้สนใจที่จะเข้าร่วมในโครงการ Work & Travel บ้าง

Do you have any suggestion for those interested in participating in Work & Travel program?

Study hard, do well in school, and practice your English! We look forward to seeing you at the Embassy during your interview at next year’s work and travel season.

ตั้งใจเรียนและฝึกทักษะภาษาอังกฤษให้ดี พวกเราหวังว่าจะได้เจอทุกคนในการสัมภาษณ์วีซ่าเพื่อเข้าร่วมโครงการทำงานพิเศษและท่องเที่ยวภาคฤดูร้อนที่สถานทูตฯ ในปีหน้านะคะ หัวหน้ารักษาการกงสุลใหญ่ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่