ระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่า "คนไทยสร้างขยะกันแทบทุกวินาที" ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้นจาก 10 ปีก่อนมากกว่า 3 ล้านตัน อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของชุมชนเมืองและพฤติกรรมการกินอยู่ของคนในสังคม แค่ดื่มกาแฟแก้วหนึ่งก็มีขยะไปแล้ว 3 ชิ้น!! ใช้เยอะ ทิ้งเยอะ ทิ้งไม่เป็นที่กันก็มี ปี ๆ หนึ่ง "ขยะตกค้าง" เกือบ 10 ล้านตัน!!
ทีนี้ก่อนที่จะไปว่าเรื่องขยะตกค้าง มาดูกันก่อนว่า ปีหนึ่ง ๆ ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยเท่าไร?
ในส่วนของขยะมูลฝอยไม่ได้มีแค่พวกเศษอาหารอย่างเดียว แต่มีแยกเป็น ขยะย่อยสลาย (Compostable Waste), ขยะรีไซเคิล (Recyclable Waste), ขยะอันตราย (Hazardous Waste), ขยะทั่วไป (General Waste) ใน 4 ประเภททั้งหมดนี้ รวม ๆ กันแล้ว ปี 2561 มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 27.8 ล้านตัน (เป็นพลาสติกในขยะชุมชนกว่า 2 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.64 เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีปริมาณ 27.37 ล้านตัน แล้วถ้ามาเทียบดูกับชีวิตประจำวันของพวกเรา กินข้าวมื้อหนึ่ง มีทั้งเศษอาหาร เศษผัก เศษพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม บางคนมีซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กล่องโฟมอีก เฉลี่ยอัตราการเกิดขยะมากถึง 1.15 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน และมีแนวโน้มว่า ปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทยจะทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
...
และที่น่ากังวลคงหนีไม่พ้น "ขยะอันตราย"
กังวลทำไม? ทำไมต้องกังวล?
ในบรรดาขยะมูลฝอยกว่า 20 ล้านตันต่อปี มีขยะอันตรายมากกว่า 3 ล้านต้น ซึ่งถึงแม้จะมีสัดส่วนน้อยที่สุดของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่เจ้า "ขยะอันตราย" กลับสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศมากที่สุด ความน่ากลัวของมัน คือ มีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี และเป็นขยะอันตรายที่มาจากชุมชนมากถึง 638,000 ตัน หากเทียบให้เห็นภาพแบบง่าย ๆ ก็ประมาณพื้นที่สนามฟุตบอลขนาดมาตรฐานเกือบ ๆ 200 สนามทีเดียว
ปริมาณมากขนาดนี้ แล้ว "ขยะอันตราย" ที่ว่ามานี่มันมีอะไรบ้าง?
เอาง่าย ๆ ดูจากภายในบ้านเราก่อน ... เริ่มตั้งแต่หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาทำความสะอาด ปากกาเคมี หรือแม้แต่น้ำยาทาเล็บของคุณสาว ๆ เองก็ใช่ด้วย
ซึ่งปัญหาของขยะอันตราย คือ พวกเรามักจะทิ้งรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป!! โอกาสที่มันจะปนเปื้อนกับสิ่งแวดล้อมก็ย่อมมีสูง กระทบทีไม่ใช่แค่กับพืชไม้ใบหญ้าเท่านั้น แต่ "คน" และ "สัตว์" เองก็ไม่รอด
เท่านั้นยังไม่พอ ในบรรดาขยะอันตรายทั้งหมดเป็นซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 414,600 ตัน เพิ่มขึ้นทุกปีจนแทบจะกองเป็นภูเขา ยิ่งปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีมาแรงต้องวิ่งตามให้ทัน อย่างสมาร์ทโฟนนี่บางคนเปลี่ยนแทบรุ่นต่อรุ่น แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการจัดการอย่างถูกต้องเพิ่มขึ้น แต่แน่นอนว่า "ไม่เพียงพอ"
และยิ่งไปกว่านั้น ความน่าวิตกของประเทศไทยก็คือ มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกจากต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังมีการลักลอบทิ้งในหลายพื้นที่ของประเทศด้วย ในประเด็นนี้ ภาครัฐคงไม่อาจปล่อยวางเฉยได้ เพราะแค่ในประเทศก็มากโขอยู่แล้ว หากปล่อยปละละเลยให้มีการทำเช่นนี้ คงกลายเป็น "ขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง"
ขยะอันตราย "อันตราย" ขนาดไหน?
ขยะอันตราย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนแต่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น ทั้งตะกั่ว แมงกานีส ปรอท หรือแม้แต่สารหนู เมื่อมีการรั่วไหลและกระจายปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม หากเราได้รับสารพิษเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าจะทางใด ก็เหมือนกับการกิน "ยาพิษ" อย่างช้า ๆ อาการหลังได้รับสารพิษก็มีตั้งแต่อาการเบา ๆ อย่าง ปวดหัว ง่วงนอน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ระคายเคืองผิวหนัง ไปจนถึงค่อย ๆ มีผลต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อ เสี่ยงถึงขั้นความจำเสื่อม!!
และหากได้รับในปริมาณที่มากเกินก็เสี่ยงถึงขั้น "ตาย" ได้
...
ขยะตกค้าง?
การกำจัดขยะมูลฝอยในแต่ละปีไม่ได้กำจัดจนเกลี้ยงหมดประเทศซะทีเดียว แต่ละปียังมีปริมาณขยะตกค้างสะสมอยู่ไม่ใช่น้อย แล้วขยะตกค้างก็ไม่ได้เกิดจากใครไหนเลย เกิดจากพวกเรานี่ล่ะ ทั้งแอบเอาไปกองทิ้งไว้ แอบทิ้งตามพื้นที่สาธารณะ บ้างก็หย่อนลงน้ำ ตกค้างในทะเลก็มี ซึ่งปี 2561 มีขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องถึง 7.36 ล้านตัน
หากนำมาเทียบกับสนามราชมังคลากีฬาสถาน พบว่า 1 สนาม มีพื้นที่ 167,703 ตารางเมตร และมีความสูงแต่ละด้านไม่เท่ากัน แบ่งเป็น อัฒจรรย์ฝั่งกระถางคบเพลิงสูง 30 เมตร, อัฒจรรย์ฝั่งสกอร์บอร์ดสูง 35 เมตร, อัฒจรรย์ฝั่งไม่มีหลังคาสูง 55 เมตร และอัฒจรรย์ฝั่งมีหลังคาสูง 60 เมตร เมื่อนำมาคำนวณหาปริมาตรสนามราชมังคลากีฬาสถาน จะสามารถบรรจุขยะตกค้างได้ประมาณ 7,434,343 ลูกบาศก์เมตร
แล้วถ้าขยะตกค้างปี 2561 ที่มีปริมาณ 7.36 ล้านตันล่ะ จะต้องใช้กี่สนาม?
ทั้งนี้ จากปริมาณขยะตกค้าง 7.36 ล้านตัน เมื่อนำมาหารกับความหนาแน่นของขยะตกค้างที่บีบอัดเพื่อนำฝังกลบ ประมาณ 0.3 ตัน/ลูกบาศก์เมตร พบว่า ขยะตกค้างปี 2561 จะมีปริมาตรมากถึง 24,533,333 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับสนามราชมังคลากีฬาสถาน 3 สนามครึ่ง!!
...
แล้วถ้ายังไม่สามารถกำจัดขยะตกค้างสะสมให้หมดได้ 100% ภายในปี 2562 อย่างที่กรมควบคุมมลพิษตั้งเป้าไว้ ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีปริมาณขยะตกค้างประมาณ 8.86 ล้านตัน ก็เทียบเท่าปริมาตรสนามราชมังคลากีฬาสถานเกือบ 4 สนาม
และหากอีก 10 ปี ยังมีปริมาณขยะตกค้างเพิ่มอยู่อีก อยู่ที่ประมาณ 10.36 ล้านตัน อาจเทียบเท่ากับสนามราชมังคลากีฬาสถานถึง 4 สนามครึ่ง!!
...
หากมาดูข้อมูลสถิติปริมาณขยะมูลฝอยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) มีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ย 26.05 ล้านตัน โดยมีการส่งไปกำจัดที่สถานกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนและสถานีขนถ่ายขยะมูลฝอยชุมชนทั่วประเทศ 3,205 แห่ง แต่เปิดดำเนินการ 2,786 แห่ง ซึ่งจากข้อมูลการกำจัดขยะมูลฝอยช่วง 10 ปี น่าสนใจว่า ในการกำจัดทั้งหมดนั้นมีการกำจัดที่ถูกต้องเฉลี่ยเพียง 7.9 ล้านตัน แต่มีขยะกำจัดที่ไม่ถูกต้องมากถึง 12.55 ล้านตัน
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะใส่ใจ?
หากว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จำนวนขยะตกค้างเหล่านั้นเป็น "ขยะอันตราย" และมีขนาดเทียบเท่าปริมาตรสนามราชมังคลากีฬาสถาน ...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน